นับแต่ภาคราชการไทยได้มีการปฏิรูประบบบริหารงานบุคคลครั้งใหญ่ตามกฎหมายเมื่อปี 2551 ที่ผ่านมา โครงสร้างการจำแนกตำแหน่งในราชการไทยนับได้ว่าเปลี่ยนแปลงไปมากพอสมควรนับจากอดีต ถอยหลังกลับไปตั้งแต่ พศ.2471 ที่เราเริ่มมีการตราและบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการพลเรือน ผลจากพัฒนาการของระบบบริหารงานบุคคลภาครัฐที่ผ่านมา ทำให้โครงสร้างการจำแนกตำแหน่งของราชการบ้านเราเป็นไปตามลักษณะอาชีพและประเภทของข้าราชการ ตัวอย่างเช่น ข้าราชการครูก็ใช้ระบบจำแนกตำแหน่งแบบ Academic Rank Classification (ARC) ในขณะที่ข้าราชการทหารและตำรวจก็ใช้ระบบจำแนกตำแหน่งแบบ Rank Classification (RC) ส่วนข้าราชการพลเรือนสามัญใช้ระบบจำแนกตำแหน่งแบบ Position Classification (PC)
การนำระบบจำแนกตำแหน่งแบบต่างๆ ดังกล่าวมาใช้นั้น แม้จะมีความแตกต่างกันในแง่โครงสร้าง หากแต่ก็เป็นไปเพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะอาชีพและความก้าวหน้าในอาชีพของข้าราชการประเภทต่างๆ ในขณะที่อาจจะไม่เหมาะสมหากนำระบบการจำแนกตำแหน่งแบบอื่นมาใช้ เป็นต้นว่า ข้าราชการทหารและตำรวจปฏิบัติงานตามสายบังคับบัญชาที่เป็นชั้นยศ บังคับให้เส้นทางความก้าวหน้าของตำแหน่งงานก็จะจำแนกตามชั้นยศ ในขณะที่ ข้าราชการครูจะต้องพัฒนาความรู้ทางวิชาการเป็นด้านหลัก ความก้าวหน้าของตำแหน่งงานก็จะจำแนกไปตามขั้นของวิทยฐานะที่สามารถไต่ไปถึงได้ และสำหรับข้าราชการพลเรือนสามัญ ระดับชั้นของตำแหน่งที่จำแนกสูงต่ำ ก็เป็นสิ่งที่แสดงระดับของการบังคับบัญชานั่นเอง
อย่างไรก็ตาม กระแสการบริหารงานบุคคลในมิติงานการจำแนกตำแหน่งของระบบราชการไทยปัจจุบัน เดินมาถึงพัฒนาการใหม่ของการนำเอาระบบ Broadbanding มาปรับใช้กับระบบจำแนกตำแหน่ง ซึ่งได้ทำให้การจำแนกตำแหน่งตามระดับชั้นที่เดิมมีหลายระดับและหลายสายอาชีพมีจำนวนชั้นน้อยลง พร้อมกับสามารถครอบคลุมตำแหน่งทุกตำแหน่งให้อยู่ในโครงสร้างตำแหน่งใหม่ที่มีเพียงไม่กี่ระดับ
ระบบการจำแนกตำแหน่งแบบใหม่ที่ใช้กันอยู่นี้ จึงเป็นการขยายขอบเขตของตำแหน่งงานๆ หนึ่งให้สอดคล้องกับการจัดระดับความก้าวหน้าในอาชีพที่ยึดโยงกับทักษะ ความรู้ในงาน สมรรถนะและผลการปฏิบัติงาน
ด้วยเหตุที่ ระบบ Broadbanding เป็นระบบที่ลดความแตกต่างของระดับตำแหน่งงานลงให้มีระดับใกล้เคียงกันมากที่สุด ความจำเป็นที่จะต้องประเมินค่างานเปรียบเทียบระหว่างตำแหน่งงานหนึ่งกับมาตรฐานกำหนดตำแหน่งหรือกับตำแหน่งงานอื่น ๆ ก็จะมีน้อยลง และถือว่าเป็นผลดีต่อการบริหารตำแหน่งในองค์การ
นอกจากนี้แล้ว การออกแบบระบบจำแนกตำแหน่งแบบ Broadbanding ยังมีประโยชน์อื่น ๆ อีก ได้แก่
1) การลดค่าใช้จ่ายขององค์กร (Cost management) หากองค์กรมุ่งเน้นไปที่การเลื่อนตำแหน่งโดยไม่อิงกับความสามารถของบุคคลในด้านทักษะ ความรู้ในงาน สมรรถนะ และผลการปฏิบัติงานจะทำให้องค์การต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจ่ายค่าตอบแทนที่สูง ระบบ Broadbanding จะช่วยให้องค์กรจ่ายค่าตอบแทน รวมทั้งเลื่อนระดับตำแหน่งโดยยึดโยงกับทักษะ ความรู้ในงาน สมรรถนะ และผลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน
2) การให้อิสระในการบริหารตำแหน่ง (Freedom to manage) ระบบ Broadbanding ให้อิสระในการตัดสินใจบริหารตำแหน่งและจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้บริหารองค์การได้มากขึ้น ดังนั้นการจ่ายค่าตอบแทนที่อิงกับระดับตำแหน่งแบบเดิมก็จะเปลี่ยนเป็นการบริหารงบประมาณด้านบุคลากรเพื่อจ่ายค่าตอบแทนตามทักษะ ความรู้ในงาน สมรรถนะ และผลการปฏิบัติงานของบุคลากรแทน นอกจากนั้น
3) การจ่ายค่าตอบแทนที่อิงกับสมรรถนะและผลการปฏิบัติงาน (Merit Pay) การจ่ายค่าตอบแทนเดิมขึ้นอยู่กับประเภทของตำแหน่งงาน ดังนั้น หากตำแหน่งงานใดมีค่าของงานสูงก็จะมีการกำหนดค่าตอบแทนที่สูงตามไปด้วย แต่ระบบ Broadbanding นอกจากจะเน้นที่ค่าของงานแล้วยังเน้นเรื่องทักษะ สมรรถนะ และความรู้ของผู้ปฏิบัติงานควบคู่ไปด้วยโดยการจ่ายค่าตอบแทนจะขึ้นอยู่กับทักษะ สมรรถนะและผลการปฏิบัติงานของบุคคล ดังนั้น ผู้ปฏิบัติงานก็จะต้องพยายามเร่งพัฒนาทักษะ สมรรถนะ และความรู้ของตนให้สอดคล้องกับระดับตำแหน่งเพื่อให้ได้ค่าตอบแทนที่สูงขึ้นด้วย
4) การสร้างการทำงานเป็นทีม (Team) ระบบ Broadbanding เป็นระบบที่ง่ายต่อการสร้างการทำงานเป็นทีม เนื่องจากระบบ Broadbandingที่เหมาะสมจะช่วยลดความแตกต่างในด้านสถานะของระดับตำแหน่งงาน ดังนั้น สมาชิกในทีมจะลดความกังวลในเรื่องของความแตกต่างในด้านบทบาทและสถานะ และจะมีความรู้สึกว่าเป็นการปฏิบัติงานกับผู้ร่วมปฏิบัติงานในระดับเดียวกัน
5) การบริหารความก้าวหน้าของสายงาน (Career Management) การลดจำนวนระดับตำแหน่งและการปรับขอบเขตของชั้นงานจะช่วยทำให้ผู้ปฏิบัติงานมองเห็นความก้าวหน้าในสายงานได้ชัดเจนขึ้น นอกจากนั้นการเปลี่ยนลักษณะงานจะไม่เพิ่มขึ้นหรือลดลง เนื่องจากมีไม่กี่กลุ่มประเภทตำแหน่ง และบุคลากรก็จะสามารถปรับเปลี่ยนกลุ่มประเภทตำแหน่งได้ตามประเภทของงาน ความเป็นสากลของระบบจำแนกตำแหน่งแบบ Broadbanding คือการจำแนกความแตกต่างระหว่างระดับตำแหน่ง (ชั้นงาน) ได้ชัดเจนขึ้นและทำให้องค์กรมีสายบังคับบัญชาที่สั้นลง ง่ายต่อการจัดโครงสร้างองค์กรให้สอดคล้องกับระบบค่าตอบแทน นอกจากนั้นยังช่วยทำให้เกิดความคล่องตัวในการย้ายกลุ่มตำแหน่งเพิ่มขึ้น
แม้ว่าการจัดระบบจำแนกตำแหน่งแบบ Broadbanding จะถือเป็นระบบที่มีความเป็นสากล เป็นระบบตำแหน่งงานและค่าตอบแทนที่ใช้กันแพร่หลายในต่างประเทศโดยได้รับความสำเร็จทั้งองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งระบบ Broadbanding นี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบระบบจำแนกตำแหน่งและค่าตอบแทนของร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที