Nu_Petch

ผู้เขียน : Nu_Petch

อัพเดท: 16 ส.ค. 2012 09.38 น. บทความนี้มีผู้ชม: 6033 ครั้ง

เป็นธรรมดาของผู้ประกอบการค่ะ เมื่อกิจการที่สร้างมากับมือเริ่มลงตัว มีทีมบริหารไว้คอยดูแล ไฟของการเป็นผู้ประกอบการจนลุกโชน ให้ลองหาสิ่งใหม่ ๆ มาทำ ซึ่งหลักแรก ๆ ที่ผู้ประกอบการที่ใช้ในการเลือกขยายกิจการมักมาจากชอบส่วนตัว อยากทำนู่น อยากทำนี่ เพิ่มขึ้นนอกจากนั้น ผู้ประกอบการมักจะดูถึงทรัพยากรที่มีอยู่ในองค์กร เช่น จุดดี จุดเด่นอะไรที่ควรนำมาใช้ในการขยายกิจการ และจะดีมาก หากธุรกิจที่คุณต้องการขยายนั้น มี Life cycles ที่แตกต่างจากธุรกิจหลักของคุณ เพราะนั้นคือ ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในช่วงที่ธุรกิจหลักไม่ยุ่งมาก เพื่อสร้างรายได้ตลอดทั้งปี แต่ก่อนที่คุณจะเริ่มขยายธุรกิจ ลองวิเคราะห์ถึงหัวข้อเหล่านี้ก่อนดีกว่าค่ะ ว่าคุณพร้อมขยายกิจการขนาดไหน


ขยายธุรกิจอย่างไรให้ Sure

                หากว่าความสำเร็จของธุรกิจคุณ เกิดจาก location ที่เยี่ยมยอด  คุณอาจต้องดูว่า คุณจะทำอย่างไรเพื่อหา location  เหมาะ ๆ ได้อย่างนี้อีก ที่ตรงกับความต้องการของกลุ่มลูกค้า หรือหากความสำเร็จอยู่ที่การที่ลูกค้าได้คุยกับคุณโดยตรง เพราะชื่อเสียงของคุณในด้านนั้น ๆ นี่ก็ต้องลองดูว่า เราต้องสร้างระบบอย่างไร เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกว่า พวกเขาจะได้คุณภาพที่ดีเช่นกัน โดยที่คุณอาจจะไม่จำเป็นต้องอยู่ที่นั่น ลองคิดถึง  ร้านชลาชล หรือร้านเสริมความงามที่มีหลายสาขาสิคะ ที่ร้านชลาชล ไม่ใช่ว่าคุณจะเข้าไปที่ร้านแล้วเจอคุณสมศักดิ์ ชลาชล สักหน่อย แต่ด้วยชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของร้าน นั่นทำให้ความสนใจของลูกค้าที่มีต่อร้านมากขึ้น เรียกว่ารู้สึกดีกว่าเข้าร้านทำผมที่ “ ไม่มียี่ห้อ ” หรือหากความสำเร็จของร้านอยู่ที่ traffic หรือลูกค้าจากร้านใกล้ ๆ ที่เกี่ยวเนื่องดึงเข้ามา ก็ลองดูว่า เราสามารถนำจุดแข็งนั้นๆ มาใช้ที่ร้านใหม่ได้ อย่างไร

                สาเหตุหลัก ๆ ที่หลายท่านยังรีรอ ไม่ยอมเปิดสาขาใหม่ หรือขยายธุรกิจอย่างที่ใจต้องการ  ก็เป็นเพราะทรัพยากรที่ยังไม่เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคนที่ต้องฝึกใหม่ หาใหม่ หรือเรื่องของเงินทุน ที่ต้องใช้มากในการเปิดสาขาใหม่หรือขยายตลาด ทั้งเรื่องของสถานที่ การตกแต่งต่างๆ รวมทั้งเรื่องของคนที่ต้องจ้างเพิ่ม เป็นต้น โดยเงินทุนที่ใช้ อาจจะมาจากกำไรที่เก็บออมจากธุรกิจเก่า หรืออาจต้องขอกู้เพิ่มจากครอบครัว หรือธนาคารก็ได้ ดังนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจขยายธุรกิจ ลองทบทวนดูว่า งบประมาณที่ต้องใช้ น่าจะเป็นเท่าไหร่ และธุรกิจเก่าของเรา สามารถที่จะเดินได้ด้วยดีหรือไม่ หากว่าคุณต้องใช้เวลาไปทุ่มทุนให้กับร้านใหม่ นั่นคือ ต้องมั่นใจสุด ๆ ว่า กิจการร้านเดิมที่มีอยู่นั้น อยู่ตัวแล้ว  และคุณสามารถใช้เวลากับร้านใหม่ได้อย่างเต็มที่ อย่าลืมลองทำเป็นแผนการเงินของธุรกิจมา เพื่อจะได้ทราบว่าธุรกิจนี้ต้องใช้เงินเท่าไหร่ น่าจะมีรายได้เท่าไหร่ คุ้มหรือไม่ จริงอยู่นะคะ คุณอาจทำธุรกิจตัวนี้ขึ้นมา “ เอามัน”  แต่หากว่ามันมากระทบหรือสร้างความเสี่ยงให้กับธุรกิจหลักของคุณซึ่งดีอยู่แล้ว มันอาจทำให้คุณไม่เหลืออะไรเลยก็ได้

                ก่อนเริ่มทำอะไรใหม่ๆ แน่ใจแล้วหรือธุรกิจเดิมของคุณ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ไม่เช่นนั้น ผู้ประกอบการจะกลายเป็นคนจับปลาสองมือ แล้วท้ายที่สุด ทำได้ไม่ดีสักอย่างก็เป็นได้ ดังนั้น ก่อนขยายธุรกิจ อย่าลืมมั่นใจก่อนว่า คุณได้มอบหมายงานที่ต้องทำให้กับทีมงานของคุณอย่างครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว และการขยายธุรกิจใหม่ จะกระทบการทำงานในธุรกิจเดิมของคุณหรือไม่ โดยเฉพาะหากเกิดเหตุการณ์เฉพาะหน้าขึ้น

                พวกเขารู้สึกไม่เห็นด้วย ดีใจสุด ๆ เมื่อรู้ว่าคุณขยายธุรกิจ หรือทำหน้า “เอ๋อ ๆ”  หากทราบว่าคุณขยายธุรกิจมาทำสิ่งเหล่านี้ลองมองดูว่า ธุรกิจใหม่นี้เป็นสิ่งที่ใกล้เคียงกับธุรกิจเดิมหรือไม่ เมื่อมองในภาพรวมแล้วมันเป็นสิ่งที่ส่งเสริมกันหรือไม่ อย่างไร

                ธุรกิจใหม่ที่คุณจะขยายนี้ มันน่าจะประสบความสำเร็จมากน้อยอย่างไร เพราะบางที ผู้ประกอบการอาจจะฮึกเหิมกับความสำเร็จกับธุรกิจตัวก่อน ทำให้ลืมหรือให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ตลาด ลูกค้าคู่แข่งน้อยเกินไป ดังนั้น อย่าลืมกำหนดเวลา และจำนวนเงินลงทุนสำหรับธุรกิจใหม่เอาไว้ รู้ว่าเมื่อไหร่ควรที่จะถอย จะหยุด หากว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นไม่ work

                หากผู้ประสบการณ์รู้สึกว่า ตนเองพร้อมแล้ว หลังจากที่ลองคำนึงถึงหัวข้อเหล่านี้ ก็ขอเชิญเริ่มการวางแผนการตลาดของธุรกิจใหม่ที่ต้องการจะทำได้เลย ซึ่งจริงๆ แล้ว การเติบโตไปสู่ธุรกิจใหม่นั้น ทำได้หลายวิธี เช่น

                การสร้างสินค้าตัวใหม่ขึ้นมา แต่ผู้ประกอบการต้องคำนึงด้วยว่า หากมีสินค้าใหม่ๆ ออกมา ทำอย่างไรสินค้าตัวเก่าของเราจะไม่ล้าสมัย ตกรุ่น และสินค้านั้นสามารถสร้างหรือเพิ่มความแข็งแกร่งของตราสินค้าคุณได้ มากไปกว่านั้น อีกหนทางหนึ่งที่น่าสนใจคือ มองหาว่าลูกค้ากลุ่มเดิมของเราที่ซื้อสินค้าของเราอยู่ ต้องการสินค้าอะไรเพิ่มเติมที่พอจะเสนอขายได้บ้าง เพราะการขายสินค้าเก่านั้น มักจะง่ายดายกว่าขายสู่ลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เสมอ

                การหาตลาดใหม่ให้กับสินค้าตัวเก่า เช่นการขยายตลาดไปต่างประเทศ การทำหรือขายแฟรนไชล์ของสินค้าตัวเดิม การเปิดสาขาใหม่เพื่อให้ลูกค้ารู้จักเราได้มากขึ้น เช่นการเปิดเชนร้านอาหาร เป็นต้น แต่ ก่อนอื่น อย่าลืมคำนึงว่า  อะไรคือจุดสำคัญที่ทำให้ร้านเดิมแรกเริ่มของเราประสบความสำเร็จ และสิ่งเหล่านั้น สามารถนำมาขยายผลต่อกับร้านอื่นได้หรือไม่ เพราะหากความสำเร็จของร้านอยู่ที่ทำเล อยู่ที่พนักงาน ลองดูว่า เราจะทำอย่างไรเพื่อให้ร้านที่สอง ร้านที่สามของเรา สามารถประสบความสำเร็จได้ดังเช่นร้านแรก หรือการสร้างแฟรนไชส์ซึ่งคุณต้องมั่นใจว่าคุณมีมาตรฐานที่ดีพอในการควบคุมแฟรนไชสของคุณให้อยู่ในมาตรฐานที่คุณตั้งไว้

                เพิ่มสาขาใหม่ ก่อนเพิ่มสาขาใหม่ อย่าลืมทำการศึกษาก่อนว่า หากเราเปิดสาขาใหม่แล้ว ยอดขายของสาขาเก่าจะลดลงหรือไม่  และยอดของสองสาขาที่เพิ่มขึ้นรวมกัน จะมากกว่าการเปิดสาขาเดียวหรือไม่ เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่จะเสียไป ดังนั้น ก่อนที่จะเปิดสาขาใหม่ ลองวิเคราะห์ดูก่อนว่า ธุรกิจที่เราทำอยู่นั้น จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีหลายสาขา เช่น หากเราทำร้านอาหาร ร้านทำผม การมีหลาย ๆ ร้านก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดี แต่หากธุรกิจของคุณ เป็นธุรกิจที่ค่อนข้าง specialize และลูกค้าน่าจะวิ่งมาหาคุณอยู่แล้ว  การเปิดสาขาใหม่ก็อาจไม่จำเป็นนัก เพราะนอกเหนือจากความยุ่งยากซับซ้อนในการทำงาน ที่เพิ่มขึ้นแล้ว ค่าใช้จ่ายก็อาจจะต้องเพิ่มเป็นเท่าตัวโดยที่รายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้น ขนาดนั้น

                นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายหนทางที่สามารถนำมาทดแทนการเปิดสาขาใหม่แล้วสาขาเพิ่มรายได้ กำไร ให้เราได้ โดยลงทุนน้อยกว่า เช่น การทำหน้าร้าน online เป็นเว็บไซด์ การทำแค๊ตตาล็อคให้ลูกค้าได้เลือกซื้อ การทำเป็นสินค้า delivery ( เช่นในกรณีที่เป็นร้านอาหาร ) มีวิธีการมากมายเลยนะคะ ที่จะทำให้ลูกค้าสามารถเจอเราและซื้อของจากเราได้มากขึ้น ก็ลองวิเคราะห์ดูให้เหมาะสมกับธุรกิจของคุณนะคะ                                                                                                                                                    เมื่อคุณต้องการที่จะขยายสาขาของธุรกิจ ลองดูกันดีกว่าว่าค่ะ ว่าสิ่งที่คุณต้องการจะทำน่าที่จะประสบความสำเร็จหรือไม่ และตรงจุดใด ที่เราจะต้องเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงจาก Positioning เดิมของร้านเก่า เพื่อที่จะให้เข้ากับสถานที่ใหม่มากขึ้น หรือว่า เราสามารถที่จะใช้จุดแข็ง จุดขายเดิมๆ มาได้เลย โดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร

                ลองคิดง่าย ๆ นะคะ สยามสแควร์ กับสยามเซ็นเตอร์ แค่ข้ามฝั่งกันมา แต่กลุ่มลูกค้าก็ไม่สนใจแล้ว เพราะกลุ่มลูกค้าที่เดินสยามสแควร์จะเด็กกว่า รายได้โดยรวมจะต่ำกว่าสยามเซนเตอร์ ดังนั้น เราอาจจะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง เพื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

                จริงอยู่นะคะ เวลาสร้างกิจการ คุณจะมีระบบในการทำงานหรือมีสินค้าของคุณอยู่แล้ว แต่ในขณะเดียวกัน หากเราสามารถที่จะ specialize หรือว่าทำให้แต่ละสาขามีความพิเศษหรือว่าตรงใจกลุ่มลูกค้าของสถานที่นั้น ๆได้ก็จะดี ยกตัวอย่างเช่น หากคุณเปิดร้านอาหารแน่นอนว่า คุณจะต้องมีเมนูเด็ด ๆ ประจำร้านมีวิธีการแต่งร้านที่เป็นเอกลักษณ์อยู่ แต่หากว่าคุณสามารถสร้างจุดเด่นที่เหมาะสมกับ location และกลุ่มลูกค้านั้นๆ เช่น หากทำร้านอาหารที่สยาม วิธีการตกแต่งอาจจะให้ mood and tone หรือ ลักษณะของร้านดูสดใสขึ้น มีเมนูพิเศษราคาย่อมเยา สำหรับทานกลางวันโดยไม่กระเทือนกระเป๋ามากนัก ด้วยวิธีนี้ จะทำให้ร้านของคุณในแต่ละสาขา ดูมีเสน่ห์ขึ้น ดูพิเศษ และแตกต่างกันในแต่ละสาขาค่ะ

 

 

 

ที่มา : ธุรกิจเล็ก ไม่ใช่แค่เงินล้าน

โดย : แคทลียา  ท้วมปะถม

 

 

               

ในแต่ละวัน เราหลีกเหลี่ยงไม่ได้เลยที่จะต้องเจรจากับผู้อื่น ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ เช่นการตกลงว่าจะไปทานอาหารกลางวันที่ไหนดี จนถึงเรื่องที่มีผลกระทบกับองค์กรอย่างสูง     

ดังนั้น มาลองดูกันนะคะ ว่าข้อผิดพลาดที่มักเกิดขึ้นบ่อย ๆ กับการตกลงเจรจากับผู้อื่นนั้น มีอะไรบ้าง

  1. ลืมมองปัญหาหรือความต้องการของอีกฝ่ายหนึ่ง

  หากเรามองปัญหาหรือคิดแต่ปัญหาของเราด้านเดียว โดยลืมเอาตัวเราไปนั่งแทนที่อีกฝ่ายเราจะเสียโอกาสในการเจรจา ให้ได้ข้อตกลงที่ดีที่สุดและเรา จะไม่สามารถได้ข้อสรุปที่สามารถ  “ แก้ปัญหา ”  ของทั้งสองฝ่ายได้

    ทังสองฝ่าย มักต้องการในสิ่งที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น การเข้าใจถึงถึงความต้องการที่แตกต่างกันของแต่ละฝ่าย จะทำให้เรารู้ว่า สิ่งใดที่อีกสิ่งต้องการ และสิ่งนั้นสำคัญกับเรามากเพียงใด อะไรที่เราสามารถให้ได้โดยที่ไม่ต้องเสียอะไรมากนัก

          เช่น หากต้องการขายสินค้าที่ราคาสูง โดยที่ลูกค้ามีความต้องการ ในสินค้านั้น ๆ อยู่แล้ว แต่ติดปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายที่สูงจนเกินไป สิ่งที่เราสามารถทำได้เพื่อให้ Deal ของเราสัมฤทธิ์ผล อาจจะเป็นเรื่องของการผ่อนจ่ายไร้ดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้ลูกค้าสามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้น หรือการลดราคาลงโดยที่อาจจะตัด spec บางอย่างที่ลูกค้าไม่ต้องการก็เป็นได้

              มากไปกว่านั้น หลายต่อหลายครั้งที่เราพูดมากไป และฟังน้อยไป ดังนั้น อย่าลืมฟังข้อเสนอและความต้องการของอีกฝ่ายให้ชัดเจนที่สุด เพื่อที่จะได้หาข้อตกลงที่เยี่ยมยอดนะคะ

  1. อย่าใช้ตัวเลขเป็นข้อต่อรอง ให้มองที่ผลที่จะได้รับมากกว่า

หลายๆ ครั้งที่ข้อตกลงถูกมองเน้นเพียงส่วนเดียวนั้นคือส่วนของราคาซึ่งจริงๆ แล้ว ราคาของทุกอย่างในโลกนั้น สามารถที่จะปรับขึ้น ปรับลงได้ตามคุณภาพหรือปริมาณของของ นึกง่ายๆ นะคะ แพ็กกระดาษ A4 ที่ใช้ในสำนักงานที่มีขายในร้านทั่วๆไปนั้นมีหลายราคา ตั้งแต่ถูกมาก จนถึงแพงมาก ซึ่งตรงนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพ จำนวน grams และปริมาณของ จำนวนกระดาษ ดังนั้น หากเราดูกันดี ๆ  บางครั้งกระดาษที่เราดูเผินๆ ว่าเหมือนกัน แต่มีราคาที่แตกต่างกัน อาจจะถูกซ่อนไว้ด้วยหลายๆ สิ่ง เช่น บาง pack มี 70 กรัม 80 กรัม หรือบาง  pack ที่กรัมเท่ากัน จำนวนกระดาษอาจจะแตกต่างกันเช่น 500 แผ่น หรือ 450 แผ่น เป็นต้น ดังนั้นหากเราสามารถแจกแจงถึงความเป็นมาเป็นไป  ของความแตกต่างทางด้านราคาได้ นั่นจะสามารถทำให้การเจรจาเป็นไปได้อย่างโปร่งใส และอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงมากขึ้น

 

  1. ไม่ยอมลบความรู้สึกของการเป็น “ ฝ่ายตรงข้าม ” 

              สิ่งที่ทำให้การเจรจาไม่ได้ผล คือ ทั้งสองฝ่ายมักจะคิดว่า อีกฝ่ายหนึ่ง เป็นฝ่ายตรงข้ามกัน และสิ่งที่เราต้องทำ คือการทำอย่างไรก็ได้ เพื่อให้ “ ชนะ ” ฝ่ายตรงข้าม ซึ่งการเจรจากันนั้น ไม่ใช่ว่าจะมีฝ่ายหนึ่งแพ้ ฝ่ายหนึ่งชนะ เสมอ สองฝ่ายสามารถชนะกันได้ทั้งคู่ ดังนั้น สิ่งแรกที่ผู้เจรจาควรทำ คือ สร้างบรรยากาศที่เป็นมิตร สร้างความรู้สึกคุ้นเคย เพื่อร่วมกันหาข้อตกลงที่ดีที่สุด นั่นคือ win – win situation

              ยกตัวอย่างเช่น นักอนุรักษ์ป่ากับชาวนา ชาวไร่ ไม่ต้องการให้มีการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ ซึ่งจะเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม แต่ในขณะเดียวกัน การสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ ก็สามารถที่จะมีประโยชน์กับพวกเขาเช่นเดียวกัน ดังนั้น การหาข้อตกลงก็อาจจะเป็น การสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ ในขณะที่ย่อมลงมา ที่สามารถรักษาสิ่งแวดล้อมได้ และสร้างสายน้ำตลอดทั้งปีซึ่งก็จะสร้างประโยชน์ได้ให้กับชาวนา ชาวไร่เช่นกัน

  1. มองหา the sign

หลาย ๆ คนบอกว่า “ หากเราเข้าใจว่า ฝ่ายตรงข้ามคิดอย่างไรก็ดีสิเนอะ ”  ซึ่งจริงๆ แล้ว คุณสามารถรู้ได้ผ่านทาง Non – verbal communications หรือผ่านทางท่าทาง  การวางตัว การเคลื่อนไหว ของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ บางทีกระจ่างชัดกว่าสิ่งที่พูดออกมาเสียอีกยกตัวอย่างเช่น การเม้มปาก การขยี้ตา การกอดอก ที่จะแสดงถึงความไม่มั่นใจในสิ่งนั้น ๆ

                หากคุณเห็นสิ่งเหล่านี้ ลองถามออกไปเลยนะคะ ว่าอีกฝ่ายรู้สึกอย่างไร                                        “ เป็นอย่างไรบ้างคะ อยากที่จะให้แก้ไขอะไรบ้างหรือเปล่า ? ”   เป็นต้น เพื่อให้อีกฝ่ายพูดในสิ่งที่เขาคิดออกมา  หรือการจับหูโดยธรรมชาติแล้วการจับหูของฝ่ายตรงกันข้ามคือการพยายามส่ง signal ให้เราหยุดพูดและขอให้เขาได้พูดบ้างนะคะ

                นอกจากนี้ เป็นธรรมดาที่ผู้ฟังจะแสดงสีหน้า อามรณ์ออกมาเมื่อได้ยินข้อเสนอต่างๆ เช่น หากคุณพรีเซนต์ผลงานมาเรื่อยๆ พูดถึงสิ่งที่จะได้รับ จนมาถึงเรื่องของราคา เช่น “ ทั้งหมดนี้ ในราคา 25,000 บาท เท่านั้น ”  และในช่วงเวลา 1 วินาทีนั้นเอง หากคุณได้เห็นยิ้มมุมปาก จากอีกฝ่าย นั่นแปลว่า ราคาที่คุณมอบให้นั้น ถูกกว่าที่เขาคิด แต่หากเขาทำหน้าเหวอ นี่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้คุณทราบว่า ราคาของคุณแพงไปนั่นเอง อย่าลืมลองสังเกต  1   วินาทีมีค่านั่นนะคะ เพื่อชัยชนะในการเจรจาค่ะ

  1. เข้าใจ BATNAS ( Best alternative to a negotiated agreement )

                เรื่องของ BATNA ถูกนำมาพูดถึงบ่อยครั้งเมื่อเราพูดถึงการเจรจาต่อรอง หากพูดง่ายๆ BATNA คือสิ่งที่จะเกิดขึ้น หากการเจรจา ไม่สำเร็จนั่นคือ  หากเราตกลงเรื่องของการขาย BATNA  ของการขายก็คือ ลูกค้าออกจากดีลไปซึ่ง ทำให้เงินที่ควร จะเป็นของคุณไปตกอยู่ที่มือของคนอื่น  หรือนอนแอ้งแม้งอยู่ในกระเป๋าสตางค์ของลูกค้าเหมือนเดิม

                ยกตัวอย่างเช่นหากคุณต้องการที่จะขายโฆษณา สักหน้าหนึ่งสำหรับสินค้าสักอย่าง วางราคาไว้ประมาณหนึ่ง แต่หากสินค้าของคุณทราบว่า หากไม่ซื้อโฆษณาหน้านั้น คู่แข่งของเขาก็จะได้หน้านั้นไปแทน ดังนั้นหากลูกค้าของคุณทราบว่า เขาต้องแย่งหน้านี้กับคู่แข่งตัวฉกาจของเขาความสนใจในตัวสินค้า ก็จะมากขึ้น ผลหรือคะ?  นอกจากที่จะขายได้ง่ายขึ้นแล้ว ราคาที่ได้ก็จะสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เสียอีก

              ดังนั้น อย่าลืมแก้ไขมุมมองผิดๆ ก่อนที่จะเข้าสู่การเจรจานะคะ เพื่อชัยชนะของคุณ

 

People ask me what  I do for fun , I said I work. ” J. Peter Grace,Presidene & CEO W.R. Grace & Company

 

 

 

 

ที่มา : ธุรกิจเล็ก ไม่ใช่แค่เงินล้าน

โดย : แคทลียา  ท้วมปะถม

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที