จากกระแสนี้ทำให้ฉบับนี้เราจะต้องไปพูดคุยกับผู้ประกอบการแบบครบวงจรของไก่ตั้งแต่ขั้นตอนการเลี้ยงจนถึงโรงชำแหละ ซึ่งทางผู้เขียนก็ได้รับเกียรติจากผู้บริหารระดับสูง 2 ท่าน ขอแนะนำท่านแรกก่อนนะคะ ท่านเป็นประธานกรรมการ บริษัท ซันฟู้ด อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด คุณสมเกียรติ ตั้งใจอาวรณ์ ส่วนท่านที่สองคือ คุณสุข เจริญกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซันฟีด จำกัด ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจกันสักเล็กน้อยว่า ทั้ง 2 บริษัทนี้ ถือเป็นองค์การเดียวกันค่ะ ซึ่งบริษัทฯ ที่จะกล่าวถึงต่อ ๆ ไปขอหมายถึงบริษัทซันฟีดซึ่งเป็นภาพรวมในระหว่างการสนทนา...
เริ่มต้นทั้งผมและคุณสุข เราต่างเป็นผู้บริหารอยู่ในธุรกิจอาหารสัตว์มาก่อน รวมทั้งมีเพื่อน ๆ ที่เคยเรียนด้วยกันมา แล้วก็คิดกันว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะมาเปิดเป็นบริษัทของตัวเองสักที เนื่องจากเราก็มีประสบการณ์แล้ว เงินลงทุนก็มีบ้างแล้ว มีทีมงานที่มีแนวคิดเดียวกันที่อยากจะมาเป็นผู้ประกอบการ ให้สมกับความท้าทายที่อยากจะเป็น จึงมาลงตัวที่โรงงานอาหารสัตว์ เป็นบริษัทซันฟีดในทุกวันนี้ คุณสมเกียรติกล่าวคุณสุข กล่าวเสริมว่า อาหารสัตว์ที่ว่านี้เป็นอาหารของสัตว์บกที่เป็นสัตว์เศรษฐกิจ เช่น หมู เป็ด ไก่ เป็นต้น ซึ่งหลัก ๆ ในช่วงแรกบริษัทฯ จะผลิตแล้วขายให้กับเอเย่นต์ เพื่อขายให้กับเกษตรกรที่อยู่ตามพื้นที่การเลี้ยงสัตว์ทั่ว ๆ ไปของประเทศไทย โดยมีทีมขายของบริษัทฯ ออกไปแนะนำผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้าได้มีโอกาสทดลองใช้ เพื่อสนองตอบกับนโยบายหลักของบริษัทฯ ที่เน้นสินค้าคุณภาพ
หลังจากที่มีข่าวว่าประเทศไทยประกาศเรื่องไข้หวัดนก จึงมีเรื่องของการจัดการมาตรฐานในส่วนของฟาร์มเข้ามามาก ซึ่งโรงเรือนเลี้ยงไก่ของบริษัทฯ ที่ตั้งอยู่ จ. สระบุรี ก็พลอยโดนผลกระทบนี้ด้วย เนื่องจากเป็นโรงเรือนที่ตั้งอยู่บนเขตพื้นที่อันตราย สัตว์ปีกต้องถูกทำลายไปด้วย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค
แต่ด้วยมีการจัดเตรียมมาตรฐานฟาร์มที่ดี ด้วยวิธีการจัดการที่ถูกต้องอยู่แล้ว เช่น การติดตั้งอุปกรณ์ที่ทำให้อากาศในโรงเรือนเหมาะสมกับการเจริญเติบโต ทำให้ลูกค้าบริษัทฯ ที่เป็น Contact Farm โดยส่วนใหญ่ปรับตัวได้ดี จึงสามารถเลี้ยงไก่ที่ยังหลงเหลืออยู่ต่อไปได้โดยทำกำไรให้กับลูกค้าเกษตรกรต่อได้อยู่ ซึ่งจะดูตรงกันข้ามกับธุรกิจการเลี้ยงไก่โดยรวมของประเทศที่ลดลงไปประมาณ 50%
แม้ว่าจะมีระบบการจัดการที่ดีก็จริง แต่นั่นก็ยังทำให้เนื้อไก่สดจากประเทศไทยถูกสั่งห้ามนำเข้าในบางประเทศอยู่ดี เพราะฉะนั้น ก็หมายความว่า เดิมที่เคยเน้นธุรกิจส่งออกเนื้อไก่สดเป็นส่วนใหญ่ ก็ต้องหยุดกิจการนี้โดยสิ้นเชิง บริษัทฯ จึงต้องหันมาเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์องค์การใหม่ ไปพร้อม ๆ กับทีมงานที่มีความคล่องตัว สามารถปรับเปลี่ยนไปตามความเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว เพราะทุกคนมีใจที่จะสู้อยู่แล้ว ทำให้บริษัทฯ สามารถพลิกฟื้นวิกฤติตรงนั้นมาเปลี่ยนเป็นโอกาสใหม่ ๆ ซึ่งวันนี้ก็พบว่า มีโอกาสจำนวนมากที่ถูกมองข้ามไป ซึ่งวันนี้กลับมามองแล้วพบว่าควรจะทำอะไรกับตรงนั้นได้ดี คุณสมเกียรติ กล่าวไว้เช่นนั้น
นี่ไม่ใช่แค่วิกฤติเดียวที่กลุ่มธุรกิจเลี้ยงไก่ประสบจนกลายเป็นบทเรียนที่ดีแล้ว ซึ่งบทเรียนก่อนหน้านี้คุณสุขเล่าให้ฟังว่า ช่วงปี 2545 เป็นเรื่องของการใช้สารไนโตรฟูรัน (Nitrofuran) เป็นยาปฏิชีวนะที่ใส่ในอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นยาที่ถูกห้ามใช้ แต่ในบ้านเราก็ยังมีการลักลอบกันใช้อยู่ เรื่องการตรวจพบสารตกค้างของยาประเภทนี้ในสินค้าของบริษัทฯ แทบจะไม่มีเลย เพราะระบบการจัดการคุณภาพและความปลอดภัยที่ถูกกำหนดไว้อย่างเป็นมาตรฐานนั่นเอง
คุณสมเกียรติเพิ่มเติมต่ออีกว่า เมื่อเทียบกับภาพรวมของประเทศแล้วไนโตรฟูรันกับไข้หวัดนก ผลกระทบเทียบกันไม่ได้เลย ไนโตรฟูรันเมื่อเกิดแล้วจะเกิดกับประเทศใน EU เท่านั้นเอง ที่ระบุว่า หากตรวจพบเมื่อใดให้ตีกลับหรือทำลายทิ้ง ขณะเดียวกันด้วยความเข้มงวดของทางราชการก็มีการไปตรวจสอบยาประเภทนี้ว่ายังมีเกษตรกรลักลอบนำไปใช้อยู่อีกหรือไม่ ใช้ระยะเวลาอยู่ประมาณปีหนึ่ง ในการตรวจหาสารตกค้าง เพราะฉะนั้น ผลกระทบโดยตรงในทางธุรกิจจึงไม่มีผลในแง่ของทางจิตวิทยา ที่ทำให้คนกลัวและก็ไม่มีผลต่อการระงับการส่งออกด้วย จะมีก็แต่การทำลายไก่ที่ถูกตรวจพบสารประเภทนี้และสินค้าที่ต้องถูกขนกลับมาเท่านั้นเอง ส่วนไข้หวัดนกเอง ทันทีที่ถูกประกาศสินค้าจะไม่สามารถส่งออกไปได้ทั้งสุกและดิบ
และที่ร้ายกว่านั้นอีกก็คือ จาการกระพือข่าวทำให้คนในประเทศเราเองต่างก็ตื่นกลัวกับข่าวนี้ไปด้วย ว่าถ้าทานไก่แล้วจะเป็นโรคไข้หวัดนกไปต่าง ๆ นานา ซึ่งจนถึงวันนี้ ก็ยังไม่พบว่ามีผู้ป่วยที่ป่วยเพราะเกิดจากการทานไก่ โดยสาเหตุส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตก็เนื่องจากการสัมผัสสัตว์ปีก ไม่ว่าจะเป็นสารคัดหลั่งก็ตาม โดยปราศจากการป้องกันที่ดีตั้งแต่ต้น ซึ่งในแง่ทางวิทยาศาสตร์แล้ว ถ้าทานไก่ที่ปรุงสุก อุณหภูมิเกินกว่า 72 องศา ก็ถือว่าปลอดภัย
อีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่า ผู้บริโภคไม่ใช่ไม่มั่นใจในตัวบริษัทผู้ผลิต แต่ผู้บริโภคเกิดความกลัวเพราะไม่ได้รับการสื่อสารที่ชัดเจน จึงขอเลี่ยงไปก่อน โดยเลือกที่จะไม่บริโภค และหันไปบริโภคเนื้อสัตว์ประเภทอื่นแทน
เมื่อผู้บริโภคต่างพากันหยุดบริโภคสัตว์ปีก อะไรเกิดขึ้นบ้างคงพอจะทราบกันดี ดังนั้น จึงมีผู้ประกอบการบางรายเร่งโฆษณาประชาสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง เพื่อเรียกความมั่นใจของผู้บริโภคให้กลับคืนมา ในแง่ของการสร้างความมั่นใจในตัวสินค้านั้น คุณสมเกียรติกล่าวว่า
บริษัทฯ ยังคงทำหน้าที่ในส่วนของการรักษาคุณภาพต่อไป ไม่ว่าจะเป็นระบบที่มีอยู่แล้ว อาทิ HACCP GMP SQF (Safe Quality Food) 2000 ISO 9001 : 2000 ISO 14001 ISO/IEC 17025 พวกนี้เป็นหน้าที่ที่เราต้องพยายามรักษาคุณภาพและความปลอดภัยให้ลูกค้ามีความมั่นใจอย่างต่อเนื่อง ส่วนหน้าที่ในการแจ้งข่าวสาร ป้อนข้อมูลที่ถูกต้องให้กับผู้บริโภครู้ว่าที่ถูกต้องควรทำอย่างไรเป็นของทางราชการ
ในอดีตที่ผ่านมา มาตรฐานของแต่ละโรงงานจะมีไม่เท่ากัน โดยในขณะนี้ลูกค้าที่เลี้ยง Contact Farm จะต้องมาเข้าสู่ระบบเดียวกันทั้งหมด เพราะเชื่อว่าการเข้าสู่ระบบเดียวกันทั้งมาตรฐานสินค้าแล้ว จะสร้างให้เกษตรกรมีความยั่งยืนในอาชีพ คุณสุข กล่าวเสริม
การให้ความสำคัญกับคุณภาพเป็นหลักอยู่แล้ว สารต้องห้ามต่าง ๆ จึงไม่จำเป็นต้องใช้ให้มันเกิดผลกระทบตามมาในอนาคต คุณสมเกียรติชี้แจงให้ทราบว่า
อาหารต้องมีการคัดเลือกแหล่งวัตถุดิบ ซึ่งวัตถุดิบที่เข้ามาต้องมีการตรวจวัดตามหลัก HACCP ว่ามีสารอะไรบ้างที่เป็นสารต้องห้าม ซึ่งต้องมีการคัดกรองตั้งแต่ตรงนั้น โดยเมื่อผ่านกระบวนการคัดกรองแล้ว ก็หมายถึงว่า เป็นวัตถุดิบที่เรามั่นใจได้ว่าไม่มีสิ่งที่ทำให้มีผลต่อเนื่องที่จะถึงผู้บริโภคได้ เมื่อวัตถุดิบถูกต้องจึงเข้าสู่กระบวนการที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานต่อไป ไม่ว่าจะเป็น GMP หรือ SQF เพราะฉะนั้น อาหารสัตว์ที่ออกมากว่าจะถึงตัวสัตว์มั่นใจได้ 100% ว่าอาหารของบริษัทฯ ปลอดภัย ไม่มีสารตกค้าง เหมาะที่จะใช้กับสัตว์เลี้ยงจริง ๆ ในส่วนของฟาร์มเอง บริษัทฯ มีมาตรฐานฟาร์ม โดยการคัดเลือกอุปกรณ์ที่ถูกต้อง และเหมาะสม เมื่อถูกต้องตามมาตรฐานที่กำหนดไว้สัตว์ก็จะไม่ป่วย เมื่อสัตว์ไม่ป่วยก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาให้สัตว์กิน จะทำให้เราสามารถควบคุมเนื้อก่อนที่จะเข้าโรงงานชำแหละ
เคยเห็นโฆษณาในโทรทัศน์ก่อนที่จะเข้าไปในฟาร์มเลี้ยง จะต้องมีการอาบน้ำด้วย ของโรงงานที่สระบุรีก็ต้องทำเช่นนี้ด้วยเช่นกันเพราะเชื้อโรคมันไม่ได้แยกว่าคนนี้เป็นใคร มันสามารถติดตัวคนได้เหมือนกันหมด
เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้แล้ว เพื่อเรียกความมั่นใจให้กลับคืนมา ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ของแต่ละองค์การ แต่ที่บริษัทฯ เองได้เปิดฟาร์มให้ลูกค้าได้เข้าไปเยี่ยมชมมาตรฐานการเลี้ยง แม้กระทั่งระบบห้องอาบน้ำ ณ วันนี้ มาตรฐานกรมปศุสัตว์ได้กำหนดให้ทุกฟาร์มมีที่อาบน้ำเช่นเดียวกันหมดแล้ว แม้แต่เกษตรกรเองก็ต้องอาบน้ำก่อนเข้าไปในฟาร์มเหมือนกัน
นี่เป็นเพียงคำบอกเล่าจากผู้บริหารทั้ง 2 ท่าน ผ่านตัวอักษร คงเทียบกันไม่ได้กับระยะเวลาที่ต้องเผชิญกับปัญหานั้น ๆ แต่ที่แน่ ๆ ทุก ๆ อย่างก็สามารถผ่านพ้นมาได้ ซึ่งถ้าเป็นผู้ประกอบการเล็ก ๆ อาจต้องปิดกิจการไปเลยก็ได้ โดยทั้งหมดนี้ทั้ง 2 ท่าน กล่าวว่าต้องยกให้กับทีมงานที่เข้มแข็งเหล่านั้น อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังคงต้องพยายามสร้างทีมงานขึ้นมาเรื่อย ๆ เพื่อสร้างความมั่นคงให้ธุรกิจที่จะต้องเติบโตต่อไปในระยะยาว ให้สอดคล้องกับนโยบายที่กำลังดำเนินอยู่ เพราะเชื่อมั่นว่าการที่มีทีมงานที่แข็งแกร่ง และมีระบบการบริหารจัดการที่ดี ก็จะสามารถตอบโจทย์ตัวใหญ่ขององค์การ สามารถฟันฝ่าอุปสรรคและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้
ระบบที่บริษัทฯ หมายถึงในที่นี้ ยกตัวอย่างเช่น TQM (Total Quality Management) ที่ค้นพบว่ายังขาดความเชี่ยวชาญในการจัดการ จึงได้เชิญวิทยากรจาก ส.ส.ท. มาเป็นที่ปรึกษาในการทำระบบนี้ ซึ่งเริ่มเมื่อปี 2546 ที่ผ่านมานี้เอง
การที่คนกลุ่มหนึ่งจะตัดสินใจมาร่วมลงทุนลงแรงประกอบธุรกิจอะไรสักอย่าง สิ่งหนึ่งที่จะต้องเตรียมไว้ก็คือ เตรียมตัวและเตรียมใจไว้ให้พร้อม เพื่อที่จะยอมรับและเผชิญกับทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเข้มแข็ง เพราะทุก ๆ ธุรกิจไม่มีอะไรประสบความสำเร็จได้อย่างง่ายดายเหมือนเราพลิกฝ่ามือ มีสิ่งซึ่งผู้บริหารทั้ง 2 ท่านนี้ อยากจะฝากไว้ในตอนท้ายว่า
สำหรับกรณีไข้หวัดนกนี้ บริษัทฯ ไม่ได้เตรียมใจไว้ล่วงหน้ามาก่อนเลย ซึ่งจริง ๆ แล้วเหตุการณ์เช่นนี้ยังก็ไม่เคยเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้มาก่อน เดิมซึ่งเคยแต่เตรียมเรื่องของการแข่งขัน การลดต้นทุนต่าง ๆ ความเสี่ยงตรงนี้แทบจะไม่ได้มองเลย แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้แล้วทำให้ต้องหันกลับมาพิจารณาความเสี่ยงตรงนี้ด้วย
ซึ่งธุรกิจแบบเราวันนี้ ที่ยังสามารถอยู่บนตลาดได้มักจะเป็นกลุ่มที่มีมาตรฐาน ตราบใดที่เรายังยึดบนพื้นฐานของมาตรฐานที่เป็นอยู่นี้ การส่งออกก็จะสามารถกลับมาได้อีก จำนวนการเลี้ยงไก่ก็จะเพิ่มขึ้นมา ธุรกิจก็จะมีการพัฒนาไปข้างหน้ามากขึ้น อย่าฉกฉวยเอาโอกาสเพื่อให้ส่งออกได้ โดยการลดมาตรฐานลง มันก็เหมือนกับถอยหลังเข้าคลอง คุณสุขกล่าว
บริษัทฯ ตระหนักอยู่เสมอว่า เราต้องซื่อตรง ความหมายซื่อตรงก็คือ ตัวผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่เราต้องซื่อตรง เพื่อให้มั่นใจว่าเขานั้นได้ประโยชน์จากการใช้ผลิตภัณฑ์จากเรา แต่ต้องยอมรับเสียก่อนว่า ถ้าเราเริ่มต้นด้วยสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เมื่อออกไปสู่คนจำนวนมาก ๆ สักวันหนึ่งเขาก็จะมองเห็น แล้ววันนั้น ด้วยความซื่อตรงของเราก็ย้อนกลับมาให้เราได้ทำธุรกิจได้ใหญ่ขึ้น เป็นที่รู้จัก มากขึ้น และสามารถต่อยอดต่อไปได้เรื่อย ๆ คุณสมเกียรติ กล่าวทิ้งท้ายไว้
ท้ายสุดนี้ ขอขอบคุณทั้งคุณสมเกียรติ ตั้งใจอาวรณ์ และ คุณสุข เจริญกิจ เป็นอย่างสูง ที่เปิดโอกาสให้เข้าไปสัมภาษณ์ ในครั้งนี้ และขอเป็นกำลังใจให้บริษัทฯ ยึดมาตรฐานที่ดีนี้ต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อปากและท้องของเราค่ะ...อย่าลืมนะคะทุกท่าน อาหารที่เรารับประทานกันอยู่ ถ้าเราทำให้สุกก่อนโดยผ่านกระบวนการความร้อน และไม่ทานแบบสุก ๆ ดิบ ล่ะก็ รับรองว่าปลอดภัยแน่นอน และถ้าคุณผู้อ่านต้องการให้ไขข้อข้องใจเรื่องไข้หวัดนก สามารถติดต่อไปได้ที่ 0-2653-4550-4 หรือเข้าไปที่เว็บไซต์ www.dld.go.th ค่ะ...สวัสดี
Interview : อารีย์ ยิ่งวิริยะวัฒน์
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที