TPA Magazine

ผู้เขียน : TPA Magazine

อัพเดท: 24 พ.ย. 2006 09.59 น. บทความนี้มีผู้ชม: 5801 ครั้ง

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้เขียนและเจ้าหน้าที่จากส่วนการตลาดสิ่งพิมพ์ ฝ่ายสำนักพิมพ์ ได้ไปพบลูกค้าโครงการ Library@Company เพื่อไปส่งมอบโปรแกรม TPALib และหนังสือร่วมรายการต่าง ๆ ที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม ภาคที่ 9 จังหวัดชลบุรี (ศภ. 9)


ความร่วมมือแบบบูรณาการที่เป็นรูปธรรม

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้เขียนและเจ้าหน้าที่จากส่วนการตลาดสิ่งพิมพ์ ฝ่ายสำนักพิมพ์ ได้ไปพบลูกค้าโครงการ Library@Company เพื่อไปส่งมอบโปรแกรม TPALib และหนังสือร่วมรายการต่าง ๆ ที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม ภาคที่ 9 จังหวัดชลบุรี (ศภ. 9) พร้อมกับเยี่ยมชม “ห้องสมุดคลัสเตอร์ชิ้นส่วนยานยนต์และเครื่องจักร ชลบุรี” โดยมี คุณสมบัติ เตมียสถิต รองกรรมการผู้จัดการ บจก. บี.ที. โอโต้พาร์ต และประธานกลุ่มคลัสเตอร์ชิ้นส่วนยานยนต์และเครื่องจักร ชลบุรี และ คุณวันเพ็ญ รัตนกังวาล หัวหน้าส่วนพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม ภาคที่ 9 ให้การต้อนรับ ซึ่งต้องขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

นอกจากจะไปส่งของที่กล่าวไว้ในข้างต้นแล้ว พวกเราก็ถือโอกาสนั่งพูดคุยกับทั้งสองท่านต่อ นั่งพูดคุยร่วม ๆ ชั่วโมง ก็ทำให้ทราบว่า ห้องสมุดคลัสเตอร์ฯ เมื่อถูกสร้างขึ้นมาก็เท่ากับเป็นการเปลี่ยนแนวความคิดในกลุ่มผู้ประกอบการ เพราะปกติจะหาความรู้ทางด้านเทคโนโลยีด้วยการแนะนำบอกต่อ แต่ตอนนี้หันกลับมาบอกต่อในรูปของห้องสมุด เพราะจังหวัดชลบุรีจะหาแหล่งความรู้ต่าง ๆ ในรูปของหนังสือค่อนข้างยาก

เพื่อให้คนรู้จักรักการอ่านมากขึ้น และเพิ่มทักษะทางปัญญา ห้องสมุดคลัสเตอร์ฯ แห่งนี้จึงได้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ ภาครัฐและองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) โดย ศภ. 9 เอื้อเฟื้อสถานที่

จากเท่าที่เดินสำรวจดูบริเวณรอบ ๆ นั้น จริง ๆ แล้วห้องสมุดคลัสเตอร์ฯ ถือว่ายังไม่เสร็จครบถ้วนสมบูรณ์นัก เนื่องจากยังต้องมีการจัดหาหนังสือและสื่อประเภทต่าง ๆ เข้ามาอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อรองรับความต้องการของผู้ประกอบการในแถบ ศภ. 9 (ได้แก่ จังหวัดสมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี สระแก้ว นครนายก) ในอนาคตมากขึ้น

คุณวันเพ็ญได้เล่าถึงปัญหาการหยิบยืมหนังสือจากห้องสมุดที่ผ่านมาให้ฟังว่า เป็นเพราะการจัดเก็บระบบฐานข้อมูลที่ยังไม่ดีพอ ทำให้หนังสือดี ๆ หลายเล่มสูญหายไปบ้าง ซึ่งผู้ที่จะมาขอยืมต่อจึงไม่มีให้ยืม โดยการได้เข้าร่วมโครงการฯ นับเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยบริหารจัดการห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ถ้ากิจกรรมในห้องสมุดไม่มีอะไรน่าสนใจ เพียงแค่ก้าวเข้ามาหยิบหนังสือ แล้วก้มหน้าก้มตาอ่านอย่างเดียว บรรยากาศก็เงียบเหงาเกินไป หรือการใช้เวลาเป็นวัน ๆ ในการเดินทางไปห้องสมุดใหญ่ ๆ เพื่อแทรกคิวกับผู้ใช้บริการคนอื่น ๆ หรือหนังสือมีไม่ตรงกับความต้องการ อะไรทำนองนี้ ซึ่งถ้าเบื้องต้นยังไม่สามารถจัดโครงสร้างให้ดี ความต้องการที่อยากให้คนเลิกปฏิเสธการอ่านก็คงจะไม่ได้ผลอะไร

คุณสมบัติจึงได้แสดงความคิดเห็นให้พวกเราฟังว่า การที่ห้องสมุดจะสามารถดึงดูดความสนใจให้คนเข้ามาใช้บริการมันไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ จริงอยู่พวกเขาอยากได้ความรู้แต่ไม่อยากเข้าห้องสมุด ซึ่งโดยพฤติกรรมการอ่านหนังสือของคนไทยมักจะเป็นเช่นนั้น และปัจจุบันหนังสือที่พิมพ์ออกมามักจะมีบทนำที่น่าสนใจของเรื่องนั้น ๆ ไว้ บางเรื่องก็สามารถสรุปไว้ได้ดีมากขนาดว่าไม่ต้องเปิดอ่านเนื้อหาข้างในก็สามารถเข้าใจความได้ทันที การบริโภคหนังสือเช่นนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับอาหารจำพวกฟาสต์ฟู้ด

อย่างไรก็ตาม แนวความคิดของกลุ่มผู้บริหารห้องสมุดคลัสเตอร์ฯ ที่ต้องการทำให้ห้องสมุดแห่งนี้มีชีวิตให้ได้นั้น คาดว่าในอนาคตห้องสมุดคลัสเตอร์ฯ ก็คงจะสำเร็จเป็นรูปเป็นร่างตามวัตถุประสงค์แล้วล่ะ ทางสมาชิกของ ส.ส.ท. ที่อยู่แถบ ศภ. 9 เองก็ตามที่ต้องการจะหาหนังสือ ส.ส.ท. มาอ่านก็คงจะง่ายขึ้นและสะดวกมากขึ้น

ท้ายสุดนี้ ถ้าหากสมาชิก ส.ส.ท. มีหนังสือที่ดีน่าอ่าน นอกจากจำพวกวิชาการแล้ว อยากจะวางไว้ในห้องสมุดคลัสเตอร์ฯ ให้เพื่อน ๆ ได้อ่าน ก็ติดต่อไปยังห้องสมุดคลัสเตอร์ฯ ที่ ศภ. 9 ได้เลย



Interview: อารีย์ ยิ่งวิริยะวัฒน์


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที