กองทุนรวมตลาดเงิน
กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) คือ อะไร
กองทุนรวมตลาดเงิน คือ กองทุนรวมตราสารหนี้ (Fixed-income Fund) ประเภทหนึ่ง ที่มีนโยบายนำเงินที่ระดมทุนได้จากการขายหน่วยลงทุน (Unit Trust) ไปลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นทั้งของภาครัฐ และภาคเอกชนที่มีคุณภาพ ทั้งใน และต่างประเทศ ซึ่งมีกำหนดการชำระคืนเมื่อทวงถาม หรือไม่เกิน 397 วันนับตั้งแต่วันที่ลงทุน นอกจากนี้ ยังรวมถึงการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ หรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างตามที่สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. อนุญาต หรือเห็นชอบให้กองทุนลงทุนได้ เช่น บัตรเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ เงินฝากแบบออมทรัพย์ เงินฝากแบบประจำ เป็นต้น (จะไม่มีการลงทุนในตราสารทุนเลย)
ทั้งนี้ หากพิจารณาจากคำศัพท์ภาษาอังกฤษแต่ละคำที่ประกอบกันขึ้นจนเป็นชื่อของกองทุนรวมตลาดเงิน ก็จะพบว่า
· Fund หมายความว่า กองทุนรวมตลาดเงินนี้ เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่ง ซึ่งมอบหมายให้ผู้จัดการกองทุน(Fund Manager) ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุนมาทำหน้าที่นำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์ หรือสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ตามนโยบายที่กำหนดไว้ล่วงหน้า เพื่อสร้างผลตอบแทนให้แก่กองทุน แล้วนำมาเฉลี่ยคืนให้กับนักลงทุนแต่ละรายตามสัดส่วนที่ได้ลงทุนไว้ในกองทุนรวมนั้นๆ
· Money Market หรือตลาดเงิน คือ ตลาดการเงินที่เกี่ยวข้องกับการระดมเงินทุนโดยการออกจำหน่ายหลักทรัพย์ระยะสั้นประเภทต่างๆ ที่มีอายุการไถ่ถอนไม่เกิน 1 ปี ซึ่งหลักทรัพย์ดังกล่าวเหล่านั้นสอดคล้องกับนโยบายการลงทุนของกองทุนรวมตลาดเงินที่มุ่งเน้นการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น และเงินฝากเป็นหลักอยู่นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม กองทุนรวมตลาดเงินยังมีลักษณะที่สำคัญที่ควรรู้ ดังต่อไปนี้
· เป็นกองทุนเปิด (Open-ended Fund) ที่มีสภาพคล่องสูง โดยนักลงทุนสามารถซื้อขายหน่วยลงทุนได้ทุกวันทำการผ่านทางตัวแทนขายของ บลจ. หรือทางระบบอินเตอร์เน็ต หรือแม้แต่ทาง ATM ก็ย่อมได้ โดยธุรกรรมการซื้อหน่วยลงทุน จะเกิดขึ้นทันทีในวันที่ซื้อ แต่นักลงทุนจะทราบราคาซื้อ และจำนวนหน่วยลงทุนที่ได้รับในวันรุ่งขึ้น สำหรับธุรกรรมการขายคืนหน่วยลงทุน หากนักลงทุนสั่งขายในวันที่ขาย (วันที่ T) จะยังไม่ได้รับเงินจากการขายในทันที แต่จะได้รับเงินภายใน 1 วันทำการนับจากวันที่ทำรายการขายนั้น (วันที่ T+1) ทั้งนี้ก็เพราะนักลงทุนจะต้องคอยจนกว่ากองทุนจะมีการคำนวณมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (Net Asset Value: NAV) ต่อหน่วยของกองทุนรวมขึ้น ณ สิ้นวันทำการเสียก่อน แล้วจึงประกาศราคาหน่วยลงทุนที่ขายได้ให้รับทราบในเช้าวันทำการถัดไป
· กำหนดระยะเวลาการเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรกไม่ต่ำกว่าเจ็ดวัน โดยการจัดสรรหน่วยลงทุนให้แก่บุคคล หรือกลุ่มบุคคลใดๆ ต้องไม่เกินร้อยละห้าสิบของจำนวนหน่วยลงทุนที่ได้จำหน่ายแล้วทั้งหมด นอกจากนี้ หากมีการกำหนดเงื่อนไข หรือข้อสงวนสิทธิในการจำหน่ายหน่วยลงทุน ต้องไม่มีลักษณะเป็นการจำกัดกลุ่มนักลงทุน อันจะทำให้ไม่มีการกระจายการจำหน่ายหน่วยลงทุนอย่างเพียงพอ
· กำหนดให้ต้องดำรงอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ หรือ Portfolio Duration ที่กองทุนได้ลงทุนไว้ ณ ขณะใดขณะหนึ่งไม่เกิน 3 เดือน โดย Portfolio Duration ก็คือ อายุถัวเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักของกระแสเงินสดที่ได้รับจากทรัพย์สินของกองทุนรวมนั้น ซึ่งคำนวณตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่สมาคมบริษัทจัดการลงทุนกำหนด
· ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เป็นกองทุนรวมตลาดเงิน ประเภทใดประเภทหนึ่งดังต่อไปนี้
o กองทุนรวมตลาดเงินในประเทศ ที่ไม่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ และสินทรัพย์ดังต่อไปนี้
ü ตราสารหนี้ หรือสินทรัพย์สกุลเงินตราต่างประเทศ
ü ตราสารหนี้ หรือสินทรัพย์ที่เสนอขายในต่างประเทศ
ü ตราสารหนี้ หรือสินทรัพย์ที่ผู้ออก หรือคู่สัญญาเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ
ü ตราสารหนี้ หรือสินทรัพย์สกุลเงินตราต่างประเทศ
ü ตราสารหนี้ หรือสินทรัพย์ที่เสนอขายในต่างประเทศ
ü ตราสารหนี้ หรือสินทรัพย์ที่ผู้ออก หรือคู่สัญญาเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ
นอกจากนี้ ต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน (Fully Hedge) ตลอดเวลาที่มีการลงทุนในตราสารหนี้ และสินทรัพย์ดังกล่าวนั้น
· กรณีกองทุนรวมตลาดเงินในประเทศ สามารถลงทุนได้ทั้งในตราสารหนี้ภาครัฐที่มีอายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี เช่น พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนตั๋วเงินคลัง และในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีอายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้
o ตราสารหนี้ภาคเอกชนนั้นต้องได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของตัวตราสารเอง (Issue Rating) หรือของตัวผู้ออกตราสาร (Issuer Rating) จากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับการยอมรับจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ว่า อยู่ในระดับที่สามารถลงทุนได้ (Investment Grade) ยกเว้นกรณีหุ้นกู้ด้อยสิทธิ (Subordinated Bond) ที่จะต้องได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของตัวตราสารเองอยู่ในระดับที่สามารถลงทุนได้เท่านั้น
o ต้องไม่มีการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับที่สามารถลงทุนได้ (Non-Investment Grade หรือ Speculative Grade) และตราสารหนี้ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Unrated Securities) อย่างไรก็ตาม กองทุนอาจมีไว้ซึ่งตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับที่สามารถลงทุนได้ เฉพาะกรณีที่ตราสารหนี้นั้นได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับที่สามารถลงทุนได้ ในขณะที่กองทุนเข้าไปลงทุนเท่านั้น
นอกจากนี้ กองทุนรวมตลาดเงินอาจลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ หรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างตามที่สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. อนุญาต หรือเห็นชอบได้ เช่น บัตรเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ เงินฝากแบบออมทรัพย์ เงินฝากแบบประจำ รวมถึงสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) โดยสามารถลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุน (Hedging) หรือเพื่อเป็นการเพิ่มการบริหารจัดการลงทุนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น (Efficient Portfolio Management) แต่จะต้องไม่มีการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง (Structured Note) อยู่แต่อย่างใด
· เพิ่มโอกาสในการได้รับผลตอบแทนในอัตราที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากแบบออมทรัพย์ เนื่องจากมีผลตอบแทนในส่วนของตราสารหนี้ซึ่งโดยทั่วไปมักสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากมาเฉลี่ยอยู่ในผลตอบแทนของกองทุนรวมด้วยนั่นเอง โดยผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนจะอยู่ในรูปของกำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุน (Capital Gain) เป็นหลัก ไม่มีนโยบายการจ่ายเงินปันผล นักลงทุนประเภทบุคคลธรรมดาจึงได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้แต่อย่างใด หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ได้รับผลตอบแทนแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยนั่นเอง นอกจากนี้ สำหรับกรณีของกองทุนรวมตลาดเงินที่มีนโยบายการลงทุนในต่างประเทศบางส่วน ยังช่วยเพิ่มโอกาสให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับอัตราผลตอบแทนตลาดเงินในต่างประเทศอีกด้วย
· แม้ว่าจะเป็นกองทุนรวมที่มีมืออาชีพทำหน้าที่บริหารจัดการลงทุนแทนให้ อีกทั้งยังมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องในการซื้อขาย (Liquidity Risk) อยู่ในระดับที่ต่ำมาก (เนื่องจากเป็นกองทุนเปิดที่สามารถซื้อขายหน่วยลงทุนได้ทุกวันทำการ) แต่นักลงทุนก็ไม่อาจทราบผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนที่แน่นอนได้ เนื่องจากผลตอบแทนของกองทุนรวมตลาดเงินนั้นจะขึ้นอยู่กับผลตอบแทนของตราสารหนี้ หรือสินทรัพย์ที่กองทุนได้เข้าไปลงทุนนั่นเอง หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ กองทุนรวมตลาดเงินก็ยังคงมีความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากตราสารหนี้ หรือสินทรัพย์ที่กองทุนได้เข้าไปลงทุนแฝงอยู่ เช่น ความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาด (Interest Rate Risk) ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ (Default Risk หรือ Credit Risk) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากนโยบายการลงทุนของกองทุน จะพบว่า
o การเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดจะมีผลกระทบต่อความผันผวนของราคาตราสารหนี้ไม่เท่ากัน โดยตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือสั้น ความผันผวนของราคาตราสารหนี้ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดจะน้อย ในทางตรงกันข้าม หากอายุคงเหลือของตราสารหนี้ยาว ความผันผวนของราคาตราสารหนี้ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดก็จะมากขึ้นตาม เนื่องจากกองทุนรวมตลาดเงินมีนโยบายที่เน้นการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นเป็นหลัก จึงได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดค่อนข้างน้อย ส่งผลให้มีความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดอยู่ในระดับต่ำ
o กองทุนรวมตลาดเงินมีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งโอกาสที่ภาครัฐจะไม่ชำระหนี้คืนให้แก่กองทุนนั้น มีโอกาสเป็นไปได้น้อยมากจนถึงแทบจะไม่มีโอกาสเลยก็ว่าได้ นอกจากนี้ แม้ว่ากองทุนจะมีการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนรวมอยู่ด้วย แต่ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากมายแต่อย่างใด เนื่องจากตราสารหนี้ภาคเอกชนดังกล่าวนั้นจะต้องได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับที่สามารถลงทุนได้ หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีความเสี่ยงต่ำ และด้วยเหตุนี้เอง จึงสามารถกล่าวได้ว่า กองทุนรวมตลาดเงินได้รับผลกระทบจากการผิดนัดชำระหนี้ในระดับที่ต่ำมาก
สำหรับกรณีของกองทุนรวมตลาดเงินที่มีนโยบายการลงทุนในต่างประเทศบางส่วน แน่นอนว่า ย่อมต้องมีความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange Rate Risk) และความเสี่ยงของประเทศที่กองทุนได้เข้าไปลงทุน (Country Risk) เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการลงทุนในประเทศอีกด้วย
· การวัดผลการดำเนินงานของกองทุนต้องเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark) ที่ทางสมาคมบริษัทจัดการลงทุนเป็นผู้กำหนดขึ้น ซึ่งในกรณีนี้ก็คือ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากเฉลี่ยประเภทบุคคลธรรมดา วงเงิน 1 ล้านบาท (ถ้ามี) ระยะเวลา 3 เดือนของธนาคารพาณิชย์ 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ทั้งนี้ หากพิจารณาเปรียบเทียบการลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน กับการฝากเงินแบบออมทรัพย์กับธนาคารพาณิชย์ จะพบว่า
· การลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน มีมืออาชีพ หรือผู้จัดการกองทุนบริหารจัดการลงทุนแทนให้ แต่การฝากเงินแบบออมทรัพย์ ผู้ฝากเป็นผู้บริหารจัดการเงินของตนเอง
· การลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน แม้ว่า จะมีค่าธรรมเนียมในการบริหารจัดการลงทุน แต่ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ได้รับจากการลงทุนก็ยังสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับจากการฝากเงินแบบออมทรัพย์อยู่ดี
· การลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน เมื่อลงทุนแล้ว หากต้องการขายหน่วยลงทุนเพื่อทำกำไร ผลกำไรที่นักลงทุนประเภทบุคคลธรรมดาได้รับ ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ ในขณะที่การฝากเงินแบบออมทรัพย์ ผู้ฝากจะต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับ โดยจะถูกหัก ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15
· การลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน นักลงทุนไม่มีทางทราบผลตอบแทนจากการลงทุนล่วงหน้าได้เลย แม้ว่าจะสามารถอ้างอิงผลตอบแทนย้อนหลังที่มีการเปิดเผยกันตามปกติได้ แต่ผลตอบแทนในอดีตก็ไม่ได้เป็นหลักประกันถึงผลตอบแทนที่จะได้รับในอนาคต ซึ่งต่างจากการฝากเงินแบบออมทรัพย์ ที่ผู้ฝากรู้ตั้งแต่ต้นแน่ๆ ว่า จะได้รับดอกเบี้ยเงินฝากในอัตราเท่าใด
· การลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน เมื่อซื้อในวันไหน ก็จะได้หน่วยลงทุนภายในวันนั้น แต่ถ้าเป็นการขายหน่วยลงทุน นักลงทุนจะยังไม่ได้รับเงินจากการขายภายในวันนั้นในทันที โดยจะได้รับเงินภายใน 1 วันทำการนับจากวันที่ทำการขาย ในทางตรงกันข้าม การฝากเงินแบบออมทรัพย์ ผู้ฝากสามารถฝาก และถอนเงินได้ในทันที หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ เงินฝากแบบออมทรัพย์มีสภาพคล่องที่สูงกว่านั่นเอง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเฉพาะกรณีการขายหน่วยลงทุนเท่านั้น ที่ทำให้นักลงทุนได้รับเงินช้าไปอีกเพียงแค่วันเดียว จึงอาจกล่าวได้ว่า กองทุนรวมตลาดเงินมีสภาพคล่องที่ใกล้เคียงกับเงินฝากแบบออมทรัพย์ได้
แม้ว่า นักลงทุนจะไม่ทราบผลตอบแทนล่วงหน้า และการขายหน่วยลงทุนจะไม่ได้รับเงินภายในทันที แต่การลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน ก็ชดเชยให้ด้วยผลตอบแทนในอัตราที่สูงกว่าเงินฝากแบบออมทรัพย์ นอกจากนี้ หากพิจารณาเปรียบเทียบกับการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นด้วยตนเองโดยตรงแล้ว จะพบว่า การลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงินมีข้อได้เปรียบอยู่หลายประการ คือ
· มีผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการลงทุนมาช่วยบริหารจัดการลงทุนแทนให้
· ไม่ต้องใช้เงินลงทุนเริ่มต้นจำนวนมากๆ แต่ก็สามารถลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีความเสี่ยงต่ำได้หลายๆ ตัวในคราวเดียวกัน
· มีอำนาจในการต่อรองสูงกว่า จึงสร้างโอกาสในการลงทุนได้มากกว่า
· มีขนาดของเงินลงทุนใหญ่กว่า จึงกระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้ดีกว่า
· สำหรับนักลงทุนประเภทบุคคลธรรมดา กำไรที่เกิดจากการขายหน่วยลงทุนไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ ในขณะที่ผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ทุกประเภท นักลงทุนจะต้องเสียภาษีเงินได้ โดยจะถูกหัก ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15
ประโยชน์จากการลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน
· เป็นทางเลือกในการออมเงินแทนการเก็บเงินไว้ในรูปแบบของเงินฝากแบบออมทรัพย์ เนื่องจาก ในช่วงระยะเวลาที่เท่ากัน กองทุนรวมตลาดเงินให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ขณะที่มีสภาพคล่องแทบจะใกล้เคียงกัน
· เป็นทางเลือกในการลงทุนที่เหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการความมั่นคงของเงินลงทุน และสามารถรับความเสี่ยงได้ต่ำ เนื่องจากเป็นการลงทุนที่มีสภาพคล่องสูง และให้ผลตอบแทนในอัตราที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากแบบออมทรัพย์ อีกทั้งผลกำไรจากการขายหน่วยลงทุนก็ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ และยังมีความเสี่ยงจากการลงทุนในระดับที่ต่ำด้วย
· เป็นทางเลือกในการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่ไม่เพียงแต่ต้องการผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ในประเทศ หากยังต้องโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับอัตราผลตอบแทนตลาดเงินในต่างประเทศ ก็สามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงินที่มีนโยบายการลงทุนในต่างประเทศบางส่วนได้
· เป็นที่พักเงินซึ่งยังไม่ได้ถูกนำไปใช้ในการลงทุน หรือเพื่อรอจังหวะในการลงทุนที่เหมาะสม โดยจะช่วยเพิ่มมูลค่าเงินลงทุนที่มีอยู่ให้แก่นักลงทุนที่ต้องการลงทุนเพิ่มเติม หรือต้องการสลับ หรือโยกย้ายเงินจากทางเลือกในการลงทุนประเภทหนึ่งไปยังอีกทางเลือกหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถตัดสินใจได้ทันทีในขณะนั้น ก็สามารถนำเงินมาลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงินเป็นการชั่วคราว และเมื่อตัดสินใจได้ว่า จะเลือกลงทุนในทางเลือกใดแล้ว ก็ค่อยขายหน่วยลงทุนออกไปเพื่อนำเงินไปลงทุนในทางเลือกนั้นๆ ในภายหลัง
· ใช้ในการจัดสรรเงินลงทุน (Asset Allocation) ให้เกิดความสมดุล และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น
o หากเป็นการจัดสรรเงินลงทุนในระยะสั้นที่เน้นความเสี่ยงต่ำ ก็สามารถใช้กองทุนรวมตลาดเงินเป็นตัวเสริมในการลงทุนควบคู่ไปกับสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ได้
o หากเป็นการจัดสรรเงินลงทุนในระยะยาวเพื่อเก็บเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ ก็อาจเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงินให้มากขึ้น และลดน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงประเภทอื่นๆ ให้น้อยลง
o หากเป็นการจัดสรรเงินลงทุนที่มุ่งแสวงหาโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น ก็สามารถลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงินที่มีความเสี่ยงต่ำควบคู่ไปด้วย เพื่อช่วยในเรื่องของการกระจายความเสี่ยง และประคองมูลค่าของพอร์ตลงทุนไม่ให้เสียหายจนมากเกินไป เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น เป็นต้น
· สามารถใช้หน่วยลงทุนของกองทุนรวมตลาดเงินมาเป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์ได้ (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข และการพิจารณาของแต่ละธนาคาร) นอกจากนี้ สำหรับนักลงทุนประเภทบุคคลธรรมดาที่เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ประเภทบัญชีเงินสด (Cash Account) กับบริษัทนายหน้าค้าหลักทรัพย์ (Broker) ไว้ ก็สามารถนำหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตลาดเงินมาใช้เป็นหลักประกัน เพื่อคำนวณวงเงินซื้อขายหลักทรัพย์ตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่กำหนดเอาไว้ที่ร้อยละ 15 ได้ จากเดิมที่จำกัดอยู่เพียงแค่การใช้เงินสด หรือหุ้นเป็นหลักประกันเท่านั้น (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข และการพิจารณาของแต่ละบริษัทนายหน้าค้าหลักทรัพย์)
· มีกลไกปกป้องผู้ถือหน่วยลงทุนผ่านทางสํานักงาน กลต.
ความแตกต่างระหว่างกองทุนรวมตลาดเงิน และกองทุนรวมตราสารหนี้
อย่างที่ได้กล่าวเอาไว้แล้วตั้งแต่ต้นว่า กองทุนรวมตลาดเงินเป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ประเภทหนึ่ง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีนโยบายการลงทุนในตราสารประเภทเดียวกัน คือ เงินฝาก และตราสารหนี้ โดยจะไม่มีการลงทุนในตราสารทุนแต่อย่างใด ทว่ากองทุนรวมตลาดเงินกลับมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากกองทุนรวมตราสารหนี้ ดังต่อไปนี้
· กองทุนรวมตลาดเงิน มีนโยบายการลงทุนในเงินฝาก และตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีคุณภาพ ซึ่งมีกำหนดการชำระคืนเมื่อทวงถาม หรือไม่เกิน 397 วันนับตั้งแต่วันที่ลงทุน โดยต้องดำรงอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ที่กองทุนได้ถือครองไว้ ณ ขณะใดขณะหนึ่งไม่เกิน 3 เดือน ในขณะที่กองทุนรวมตราสารหนี้ สามารถแบ่งตามอายุเฉลี่ย (Portfolio Duration) ของพอร์ตการลงทุนออกเป็น กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น (Short-term Fixed-income Fund) และกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะยาว (Long-term Fixed-income Fund) ซึ่งมีนโยบายการลงทุนที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้
o กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น มีนโยบายลงทุนในเงินฝาก และตราสารหนี้ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยตราสารหนี้ที่ลงทุนอาจมีอายุคงเหลือน้อยกว่า หรือมากกว่า 1 ปีก็ได้ แต่กองทุนต้องดำรงอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ที่กองทุนได้ถือครองไว้ ณ ขณะใดขณะหนึ่งไม่เกิน 1 ปี
o กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะยาว มีนโยบายลงทุนในเงินฝาก และตราสารหนี้ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยตราสารหนี้ที่ลงทุนอาจมีอายุคงเหลือน้อยกว่า หรือมากกว่า 1 ปีก็ได้ แต่กองทุนต้องดำรงอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ที่กองทุนได้ถือครองไว้ ณ ขณะใดขณะหนึ่งมากกว่า 1 ปีขึ้นไป
· กองทุนรวมตลาดเงิน เป็นกองทุนเปิดที่สามารถซื้อขายหน่วยลงทุนได้ทุกวันทำการ แต่กองทุนรวมตราสารหนี้สามารถเป็นได้ทั้งกองทุนเปิดที่ซื้อขายหน่วยลงทุนได้ทุกวันทำการ หรือเป็นกองทุนเปิดที่มีการกำหนด หรือระบุระยะเวลาในการเสนอขาย และรับซื้อคืนหน่วยลงทุนไว้ เช่น ทุก 3 เดือน ทุก 6 เดือน เป็นต้น ก็ได้
· กองทุนรวมตลาดเงิน จะให้ผลตอบแทนในอัตราที่ต่ำกว่า และมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้อยกว่า เนื่องจากเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น และมีอายุเฉลี่ยในการถือครอง ณ ขณะใดขณะหนึ่งไม่เกิน 3 เดือน ในขณะที่กองทุนรวมตราสารหนี้ จะให้ผลตอบแทนในอัตราที่สูงกว่า เพื่อชดเชยระยะเวลาในการลงทุนของกองทุนที่ยาวกว่านั่นเอง
· การวัดผลการดำเนินงานของกองทุนรวมตลาดเงิน จะเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเฉลี่ยประเภทบุคคลธรรมดา วงเงิน 1.0 ล้านบาท (ถ้ามี) ระยะเวลา 3 เดือนของธนาคารพาณิชย์ 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในขณะที่กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น จะเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเฉลี่ยประเภทบุคคลธรรมดา วงเงิน 1 ล้านบาท (ถ้ามี) ระยะเวลา 1 ปีของธนาคารพาณิชย์ 3 แห่งดังกล่าวข้างต้น แต่สำหรับกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะยาว จะเปรียบเทียบกับดัชนีพันธบัตรตราสารหนี้รัฐบาล (Government Bond Index) ที่จัดทำขึ้นโดยสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (The Thai Bond Market Association หรือ ThaiBMA)
แน่นอนว่า ทั้งกองทุนรวมตลาดเงิน และกองทุนรวมตราสารหนี้ต่างก็เป็นทางเลือกในการลงทุนที่เหมาะกับนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้ต่ำ อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุนมีเป้าหมายในการลงทุนระยะสั้น ต้องการภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาด และความมั่นคงของเงินลงทุนเป็นหลัก ก็ควรเลือกลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน ในทางกลับกัน หากนักลงทุนมีเป้าหมายในการลงทุนที่ยาวนานขึ้น อีกทั้งต้องการได้รับผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นภายใต้ระดับความเสี่ยงที่ไม่สูงจนเกินไป ก็ควรเลือกลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ (จะเลือกลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น หรือระยะยาวขึ้นอยู่กับเป้าหมายในการลงทุนของนักลงทุนแต่ละคนเป็นหลัก)
นอกจากนี้ เมื่อนำแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตมาพิจารณาร่วมด้วย จะพบว่า หากนักลงทุนคาดการณ์ว่า แนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดจะเป็นขาขึ้น สัดส่วนการลงทุนทั้งในกองทุนรวมตลาดเงิน และกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นก็จะเพิ่มมากขึ้นตาม เนื่องจากตราสารหนี้ระยะสั้นจะได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยจากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ที่มีอายุยาวกว่า และเมื่อตราสารหนี้ระยะสั้นที่กองทุนได้เข้าไปลงทุนหมดอายุลง ก็สามารถนำเงินไปลงทุนต่อในตราสารหนี้ตัวใหม่ซึ่งให้อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ถือเป็นการเพิ่มโอกาสในการได้รับผลตอบแทนเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดอีกด้วย ในทางตรงกันข้าม หากนักลงทุนคาดการณ์ว่า แนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดจะเป็นขาลง สัดส่วนการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะยาวจะเพิ่มขึ้น เพื่อล็อกอัตราดอกเบี้ยที่สูงๆ เอาไว้ จะได้ไม่เสียโอกาสในการที่จะได้รับดอกเบี้ยในอัตราที่สูง เมื่อมีการปรับตัวลดลงของอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดจริงๆ นั่นเอง
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที