ฉบับนี้ต้องขอแสดงความยินดีย้อนหลังกับนายกสมาคมส่งเสริมคุณภาพคนใหม่ ซึ่งรับตำแหน่งโดยนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี สมาชิก ส.ส.ท. หมายเลข 1-92-0010 อดีตเจ้าของคอลัมน์ Safety Digest และ Quality Times
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี (ผู้ตรวจราชการ กระทรวงอุตสาหกรรม) ได้เปิดใจผ่านทาง TPA News ว่า หลังจากได้รับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมส่งเสริมคุณภาพแห่งประเทศไทย ด้วยคะแนนเอกฉันท์จากสมาชิกสมาคมฯ ว่าจะผลักดันเรื่อง คุณภาพ ให้เป็นเครื่องมือหลักสำหรับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมของไทย โดยอาศัย คิวซีซี เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จในการนำธุรกิจอุตสาหกรรมไทย สู่ระดับ World Class ให้ได้
ความมุ่งมั่นดังกล่าวนี้จะสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐบาลที่ส่งเสริมและผลักดันให้ประเทศไทยเป็นสังคมของผู้ประกอบการโดยมี SMEs และ OTOP เป็นฐานรากที่สำคัญ ซึ่งการที่จะทำให้ธุรกิจอุตสาหกรรมเหล่านั้นเติบโตอย่างยั่งยืนได้นั้น จะต้องปูพื้นด้วย คิวซีซี เพื่อให้เกิดจิตสำนึกแห่งคุณภาพในการปรับปรุงกิจการให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
คิวซีซี (QCC) มาจากคำเต็มว่า Quality Control Circle ซึ่งหมายถึง กระบวนการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบโดยกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน เพื่อปรับปรุงคุณภาพงาน (สินค้าหรือบริการ) โดยใช้ข้อมูลจริง (Fact) จึงมีหลายท่านเรียกคิวซีซีว่า กิจกรรมกลุ่มเพื่อการสร้างเสริมคุณภาพ หรือ กิจกรรมกลุ่มเพื่อการปรับปรุงงาน
กิจกรรม คิวซีซี ในบ้านเรามีประวัติยาวนานมากว่า 30 ปีแล้ว คือ เริ่มในประเทศไทยประมาณปี 2518 โดยกลุ่มบริษัทไทยที่ร่วมทุนกับญี่ปุ่น หลังจากที่ได้เห็นถึงความสำเร็จของธุรกิจ อุตสาหกรรมญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากได้นำคิวซีซีไปใช้เพื่อปรับปรุงแก้ปัญหาหน้างาน และนำไปสู่นวัตกรรมใหม่ ๆ
บริษัทแรกที่เริ่มกิจกรรมคิวซีซีในบ้านเราก็คือ บริษัท ไทยบริดสโตน จำกัด ซึ่งต่อมาได้แพร่หลายอย่างรวดเร็วในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์
ญี่ปุ่นได้เริ่มกิจกรรมคิวซีซีมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนทำให้ญี่ปุ่นสามารถพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมของตนเองจากที่ผลิตสินค้าด้อยคุณภาพกลายมาเป็นผู้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงจนเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกในปัจจุบัน
จึงถึงเวลาที่ธุรกิจอุตสาหกรรมของไทยจะต้องหันกลับมาทบทวนเรื่องคิวซีซีกันอย่างจริงจังแล้ว เนื่องจากมีวิกฤตการณ์อยู่รอบด้านที่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจอุตสาหกรรมไทยลดลง
การเริ่มกิจกรรมคิวซีซีในยุคนี้จึงไม่ใช่ทำด้วยรูปแบบเดิม ๆ แต่จะต้องมีทิศทางและวิธีการใหม่ ๆ ในการทำงาน ซึ่งผู้บริหารระดับสูงจะต้องเป็นผู้กำหนดและกระจายมาสู่ผู้ปฏิบัติระดับล่างอย่างมีประสิทธิภาพ โดยทำการกำหนดตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงาน (ผลของการปรับปรุงงาน) อย่างชัดเจนในทุกระดับ
การเสริมสร้างความรู้และการพัฒนาทักษะของพนักงานอย่างต่อเนื่อง และทำแบบชาญฉลาดด้วยกิจกรรมคิวซีซีรูปแบบใหม่ จะทำให้องค์กรมีพนักงานพันธุ์ใหม่ที่มีความรู้และความสามารถใหม่ ๆ (Knowledge-based Worker) ซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อความอยู่รอดและเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจอุตสาหกรรมในปัจจุบัน
นายกสมาคมส่งเสริมคุณภาพแห่งประเทศไทยคนใหม่ (นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี) ได้เน้นทิ้งท้ายว่า มีโครงการที่จะร่วมมือกับหลาย ๆ หน่วยงาน อาทิ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และหน่วยงานต่าง ๆ ในการผลักดันให้เกิด วัฒนธรรมแห่งคุณภาพ (Quality Culture) เพื่อการสร้าง คุณภาพคน-คุณภาพงาน อันเป็นพื้นฐานที่สำคัญยิ่งของการปรับปรุงกิจการอย่างต่อเนื่อง เพื่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ธุรกิจอุตสาหกรรมและสังคมไทยอย่างยั่งยืนต่อไป
Interview : อารีย์ ยิ่งวิริยะวัฒน์
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที