ปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง คือเรื่องของTQM ตอน สำหรับ SMEs ต้องยอมรับความหลากหลาย
กระแสโลกาภิวัฒน์ในปัจจุบัน ทำให้การติดต่อสื่อสารและการเดินทางทั่วโลกเป็นไปอย่างรวดเร็วและราคาถูกด้วย
ผู้คนจึงสามารถโยกย้ายถ่ายเทไปมาหาสู่กันอย่างสะดวกสบายและมีจำนวนมากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะการเคลื่อนไหลของข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็วในระบบITซึ่งเป็นเหตุให้วัฒนธรรมของแต่ละสังคมได้รับผลกระทบและเปลี่ยนแปลงไปด้วย
ทุกวันนี้ประเทศต่างๆและองค์กรๆจึงหลีกเลี่ยงผลกระทบอันเกิดจากกระแสโลกาภิวัตน์ไม่ได้ ทำให้หลายๆองค์กรต้องเจอกับปัญหา วัฒนธรรมในการทำงานร่วมกันของพนักงานที่เกิดจากความแตกต่างทั้งทางด้านการศึกษา ภูมิหลัง สภาพแวดล้อมทางครอบครัว เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ศาสนา และอื่นๆ
วัฒนธรรมองค์กร หรือวัฒนธรรมในการทำงาน จะมีผลต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวของการทำ TQM เป็นอย่างมาก เพราะมีอิทธิพลต่อวิธีคิด-วิธีการทำงาน ของแต่ละคนในทีมงาน
ความแตกต่างกันของแต่ละบุคคลและความหลากหลายทางวัฒนธรรมทำให้แต่ละคนมีความคิดและวิธีการทำงานแตกต่างกันไป
ดังนั้น แต่ละประเทศหรือแต่ละองค์กรจึงจำเป็นต้องมีวิธีการบริหารจัดการความแตกต่างของบุคคลและความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยการสร้าง วัตถุประสงค์ร่วม หรือ เป้าหมายร่วม เพื่อความเป็นเอกภาพขององค์กรในการปฏิบัติการต่างๆ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกันนั้น
ในบรรดาผลกระทบทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากความแตกต่างและความหลากหลายในด้านต่างๆของสมาชิกทีมงานนั้น ผลกระทบที่เราต้องให้ความสำคัญและระมัดระวังมากที่สุดก็คือเรื่องของ การติดต่อสื่อสาร (communication)
เพราะการติดต่อสื่อสาร จะสร้างความเข้าใจได้ในระดับต่างกัน ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน หรือคลาดเคลื่อนต่างกันก็ได้
รูปแบบในการติดต่อสื่อสารของผู้ชายและผู้หญิงก็แตกต่างกัน ถ้อยคำบางถ้อยคำหรือวิธีการบางอย่างที่เป็นที่ยอมรับได้ในหมู่ผู้ชาย แต่จะมีความอ่อนไหวมากในการใช้สื่อสารกับผู้หญิง ผู้บริหาร-หัวหน้างาน และสมาชิกทีมจึงควรระมัดระวังในเรื่องนี้
นอกจากนี้ วัฒนธรรมของแต่ละเชื้อชาติ ศาสนา ท้องถิ่น ก็ทำให้การติดต่อสื่อสารมีปัญหาได้เช่นกันด้วย
รวมทั้ง บุคลิกภาพ และ ลักษณะนิสัย ส่วนบุคคลของสมาชิกในทีมงาน ก็สามารถสร้างปัญหาในการติดต่อสื่อสาร ซึ่งมีผลเสียต่อการประชุมทีมงานได้ด้วย
หลายต่อหลายครั้งที่เราได้พบกับคนที่มักพูดเสียงดังเป็นนิสัยในเวลาเสนอความคิดเห็นในที่ประชุมก็พูดเสียงดังโหวกเหวก ซึ่งจริงๆแล้วไม่มีอะไรแอบแฝงเบื้องหลัง แต่อาจทำให้สมาชิกในกลุ่มบางคนไม่พอใจและเกิดเป็นปากเสียงกันก็มี
ยิ่งในสังคมที่ไม่นิยมพูดแสดงความคิดเห็นกันอย่างเปิดเผยในที่ประชุมในบ้านเราด้วยแล้ว ลักษณะของการสื่อสารในที่ประชุมจึงมีเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งต่างจากองค์ประชุมที่มีสมาชิกประเภทคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่แย่งกันแสดงความคิดเห็น ทำให้หัวหน้ากลุ่มต้องใช้ทักษะของการประนีประนอมสูงมาก
ดังนั้นในการทำงานเป็นทีม จึงต้องยอมรับในความหลากหลายของวัฒนธรรมและความแตกต่างของสมาชิกแต่ละคน (ไม่ใช่ปฏิเสธหรือมองข้ามไป)
เรื่องที่สำคัญก็คือ หัวหน้าทีมต้องมีความสามารถในการผลักดันให้สมาชิกทุกคนสามารถใช้ศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่ เพื่อบรรลุ เป้าหมายร่วม กันได้
อ้างอิง : วิฑูรย์ สิมะโชคดี, (2547, กุมภาพันธ์). ปรับปรุงอย่างต่อเนื่องคือเรื่องของTQM. For Quality.10(76), 79-80
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที