กรุงเทพฯเป็นเมืองที่เติบโตเร็วที่สุดเมืองหนึ่งในเอเชีย ความหนาแน่นของชุมชมเมืองเกิดขึ้นอย่างไม่มีรูปแบบที่แน่นอนและขาดระเบียบแบบแผน ชุมชนเกิดใหม่ๆ พบเห็นได้แถบชานเมืองตั้งใจกลางกรุงเทพฯและปริมณฑล การขยายตัวของความเจริญได้เกิดพร้อมกับปัญหาต่างๆ เช่น การจราจรติดขัด มลพิษทางอากาศ มลพิษทางเสียง น้ำเสีย ขยะ น้ำท่วม และดินทรุด ฯลฯ
ปัญหาดังกล่าวมักจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การเพิ่มของประชากรกรุงเทพ ฯที่เพิ่มอย่างรวดเร็วเฉลี่ย 6 % ต่อปี มีผลให้อุตสาหกรรมก่อสร้างเฟืองฟู แนวโน้นของการก่อสร้างจะขยายขึ้นอีกหลายเท่าตัว จากข้อมูลพบว่าประชากรกรุงเทพ ฯ (ที่มีทะเบียนบ้าน) ราว 7.4 ล้านคนแต่จริงๆ มีอยู่กว่า 10 ล้านคน อีก 20 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็นกว่า 12.6 ล้านคน (ที่มีทะเบียนบ้าน) ขณะที่ตัวเลขของประชนกรจริงกว่า 18 ล้านคน การเพิ่มของจำนวนประชากรและการขยายตัวของกรุงเทพ ฯ แบบไม่มีขอบเขตที่แน่นอนจะทำให้ปัญหาต่างๆ มีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะส่งผลให้ปัญหาน้ำท่วมและการระบายน้ำมีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต
นับตั้งแต่การเริ่มพัฒนาเมืองโดยย้ายเมืองหลวงจากธนบุรีมาอยู่ที่กรุงเทพ ฯจนถึง พ.ศ.2496 อันเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ประชากรเพิ่มมากขึ้นประกอบกับการขยายเมืองเปลี่ยนจากการขุดคลองเป็นสร้างถนนปัญหาที่เกิดตามมาคือน้ำไม่พอใช้ต้องพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับและสังคมแห่งชาติสมัยแรกๆ มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประเทศจากเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรม กรุงเทพ ฯถูกทำให้ขยายตัวมากทั้งสองฝั่งเจ้าพระยา โดยไร้ระเบียบแบบแผนและควบคุมไม่ได้เช่นในปี 2514 ขยายตัวประมาณ 174 ตร.กม. ขณะที่ปี 2530 ขยายตัวไปถึง 300 ตร.กม.
การวางแผนพัฒนากรุงเทพ ฯ และเมืองบริวารในอนาคต
ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองของกรุงเทพ ฯในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา นับว่ามีความสำคัญต่อการวางแผนพัฒนาเมืองใหญ่ในอนาคตและช่วยให้เข้าใจต่อปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพ ฯ มีส่วนให้การวางแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการระบายน้ำในอนาคต โดยแนวโน้มการพัฒนาในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าการขยายตัวของกรุงเทพฯ นับวันจะกลายเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ขึ้นทุกวัน ปัญหาน้ำท่วมที่เพิ่มขึ้นในอนาคตพบว่าอาจจะมีความเกี่บวข้องกับการขยายตัวของชุมชนเมือง และการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร โดยเฉพาะความไม่เหมาะสมของพื้นที่กรุงเทพ ฯ ในการเป็นที่ตั้งของเมืองใหญ่ เนื่องจากอยู่ในบริเวณที่ราบน้ำท่วมถึง
ผศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล และทีมงานซึ่งศึกษาวิจัยเรื่องอิทธิพลของธรณีวิทยาต่อปัญหาน้ำท่วมและการระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลางตอนล่างของประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนการวิจัย(สกว.) ซึ่งได้ศึกษาและทำแผนที่พื้นที่เสียงภัยเป็นแบบจำลอง 3 มิติของสภาพน้ำท่วมและข้อเสนอเกี่ยวกับการบริหารลุ่มน้ำ
สำหรับกรุงเทพ ฯมีข้อเสนอแนะว่า ควรย้ายความเจริญเติบโตและและความหนาแน่นของประชากรของกรุงเทพ ฯ ในอนาคตออกไปสู่เมืองบริวาร โดยจำกัดการเจริญเติบโตของกรุงเทพ ฯไว้ที่ขนาดปัจจุบัน นำมาตรฐานทางด้านผังเมืองมาใช้ จำกัดขอบเขตที่แน่นอนเพื่อไม่ให้เมืองขยายออกไป จัดหาพื้นที่ศักยภาพเพื่อย้ายความเจริญที่จะเกิดขึ้นในอนาคตออกไปสู่พื้นที่ที่เหมาะสม การแก้ไขปัญหาในระยะยาวต้องมีการวางแผนอย่างมีระบบและต้องได้รับการตอบสนองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การย้ายความเจริญของกรุงเทพ ฯไปสู่เมืองบริวาร จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถป้องกันและชลอไม่ให้ปัญหาน้ำท่วมทวีความรุนแรงในอนาคต
มีการเสนอแผนพัฒนากรุงเทพ ฯ และปริมณฑลให้เป็นแบบ “Bangkok Multipolis” ให้กรุงเทพ ฯเป็นศูนย์กลางหลายเมืองและจำกัดขอบเขตไว้ชัดเจน ไม่ให้ชุมชนเมืองขยายตัวไปจังหวัดรอบนอกอย่างที่เป็นในปัจจุบัน ให้มีการพัฒนาเมืองบริวารขึ้นมาใหม่อีก 4 แห่ง คือ ราชบุรี สุพรรณบุรี สระบุรี และฉะเชิงเทรา
เมืองทั้ง 4 จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางความเจริญในด้านต่างๆ สกัดกั้นไม่ให้คนเข้าอยู่ในเขตกรุงเทพ ฯมากขึ้น แต่ละเมืองมีระบบป้องกันน้ำท่วม มีขอบเขตชุมชนเมืองอย่างชัดเจน สามารถรับรองจำนวนประชากร 3 – 5 ล้านคน ในรัศมีไม่เกิน 100 กม. มีระบบขนส่งมวลชนที่ทันสมัย เชื่อมระหว่างเมือง เป็นต้น ที่สำคัญต้องมีแผนแม่บทเพื่อรองรับการพัฒนาเมืองแบบ Multipolis มีกฎหมายในควบคุมการใช้ที่ดิน กำหนดให้เมืองบริวารแต่ละเมืองและกรุงเทพ ฯ มีขอบเขตจำกัดที่แน่นอนไม่ปล่อยให้แต่ละเมืองที่การเติบโตแบบไร้ทิศทางอย่างในอดีต นอกจากนั้นยังต้องมีการวางแผนน้ำท่วมในชุมชนเมือง และชุมชนเกษตรกรรมมีการเสนอแนวทางพัฒนาระบบทางระบายร่วม ทั้งฝั่งตะวันออกและตกของแม่น้ำเจ้าพระยา และมีมาตรการในการควบคุมการใช้ที่ดินในบริเวรแก้มลิงธรรมชาติ
แผนแบบบทป้องกันน้ำท่วมโดยการใช้สิ่งก่อสร้างในพื้นที่ศึกษา
หน่วยงานของรัฐบาลที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วมมีอยู่หลายหน่วยงานทั้งระดับกระทรวง กรม และกอง เป็นต้น พบว่าสภาพปัจจุบันการดำเนินงานมีทั้งซับซ้อนกันและต่างคนต่างทำไม่มีความสอดคล้องกัน โดยเฉพาะทุกหน่วยงานของตนเองเป็นหลักไม่ได้มองภาพรวมของปัญหาที่แท้จริง บางครั้งเป็นการแก้ไขปัญหาแบบย้ายปัญหาจากพื้นที่หนึ่งไปวันอีกพื้นที่หนึ่งเป็นต้น
ปัจจุบันโครงการสร้างพื้นที่ปิดล้อมกำลังจะมีการดำเนินงานขยายผลอีกหลายเมืองในบริเวณที่ราบภาคกลางตอนล่าง ปัญหาการขาดหน่วยงานดูแลที่เกี่ยวกับแผ่นแม่บทการป้องกันน้ำท่วมโดยการใช้สิ่งก่อสร้างเป็นหลัก ปล่อยให้แต่ละหน่วยงานต่างคนต่างทำ โดยมิได้คำนึงว่าการป้องกันแบบใช้สิ่งก่อสร้างนั้นอาจจะมาเกินความจำเป็นหรือไม่ โดยเฉพาะผลที่ตามมาคือการสุญเสียทรัพยากรในการก่อสร้าง เพราะต่างคนต่างสร้างคันกันน้ำท่วมสุงขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายอาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งทางสังคมระยะยาวระหว่างชุมชนที่มีระบบพื้นที่ปิดล้อมกับชุมชนใกล้เคียงที่ถูกผลกระทบน้ำท่วมโดยตรงเกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนเมืองกับชุมชนเกษตรกรรม
ดังนั้นหน่วยงานของรัฐควรมีแผนแม่บทรวมในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยเฉพาะมาตรการป้องกันน้ำท่วมใช้สิ่งก่อสร้างเป็นหลัก เช่น แผ่นแม่บทการสร้างพื้นที่ปิดล้อม แผนแม่บทการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม แผนแม่บทการปรับปรุงสภาพลำน้ำ และแผนแม่บทระดับการถมที่ดิน เป็นต้น
มาตรการควบคุมการใช้ทิ่ดินและผังเมือง
ควรนำเอาแผนที่ “พื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม” ที่ได้จากการศึกษาวิจัยครั้งนี้มาช่วยในการวางมาตรฐานควบคุมการใช้ทิ่ดินและพัฒนาพื้นที่ทั้งในเขตชุมชนของกรุงเทพ ฯ และเมืองบริวารและในพื้นที่เกษตรกรรม ควรมีการวางแผนกำหนดการใช้ที่ดินให้เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น พื้นที่ที่มีความเสี่ยงภัยต่อน้ำท่วมสูงควรมีมาตรการควบคุมการใช้ที่ดินไว้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมไม่ควรสร้างสิ่งปลูกสร้างเพื่อรักษาพื้นที่แก้มลิงธรรมชาติ มีการกำหนดแนวทางน้ำท่วมหลากกำหนดพื้นที่รองรับน้ำท่วมในฤดูน้ำ หาขอบเขตน้ำท่วมตามธรรมชาติในพื้นที่ศึกษา ข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญต่อการกำหนดความเหมาะสมในการเพาะปลูก และช่วยในการวางแผนการใช้ที่ดินและผังเมือง
มาตรการควบคุมการใช้น้ำบาดาลเพื่อลดปัญหาแผ่นดินทรุด
พื้นที่กรุงเทพ ฯ และจังหวัดใกล้เคียง เริ่มพัฒนาน้ำบาดาลมาใช้ในราวปี พ.ศ.2497 โดยการประปานครหลวงเป็นหน่วยงานแรกที่ใช้น้ำบาดาลมากที่สุด การสูบน้ำบาดาลมาใช้มากเกินไปทำให้เกิดปัญหาแผ่นดินทรุดอย่างมาก โดยเฉพาะช่วง พ.ศ.2521-2524 อัตราการทรุดของแผ่นดินในบางแห่งมากกว่า .10 ซม./ปี บางบริเวรของกรุงเทพ ฯมีระดับต่ำกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 50 ซม. หลังจากมีมาตรการควมคุมการใช้น้ำบาดาลโดยกรมทรัพยากรธรณีพบว่าในปี 2531-2533 อัตราการทรุดของแผ่นดินเหลือเพียง 3-5 ซม.ต่อปี โดยเฉพาะบริเวณมหาวิทยาลัยรามคำแหงมีการทรุดตัวไปทั้งหมดประมาณ 160 ซม.ปัญหาแผ่นดินทรุดตัวควรจะได้รับการควบคุมกันอย่างจริงจัง โดยหน่วยงานของภาครัฐบาลเพราะการทรุดตัวของแผ่นดินบริเวณที่ราบภาคกลางตอนล่างจะส่งผลให้มีน้ำท่วมมากขึ้นระบบคันป้องกันน้ำท่วมที่สร้างไว้หากมีการทรุดตัวของแผ่นดินจะทำให้พื้นที่ปิดล้อมบางแห่งต้องมีการเสริมแนวคันป้องกันให้สูงขึ้น อีกทั้งการทรุดตัวของแผ่นดินเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำจากคูคลองสู่แม่น้ำ เพราะระดับน้ำในแม่น้ำมีระดับสูงกว่าน้ำในคลอง จึงเกิดปัญหาน้ำท่วมของโดยเฉพาะขณะที่มีฝนตกหนักในเขตชุมชนเมือง จึงต้องมีการสูบน้ำเพื่อเป็นการระบายน้ำออกจากพื้นที่
มาตรการจัดเก็บภาษีน้ำท่วมและการประกันภัยน้ำท่วม
การจัดเก็บภาษีน้ำท่วมสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ คือ
1. การจัดเก็บภาษีน้ำท่วมโดยตรงในบริเวณพื้นที่ชุมชนที่มีระบบคันป้องกันน้ำท่วมแบบพื้นที่ปิด เพื่อนำเงินภาษีนั้นไปสร้างระบบป้องกันให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ส่วนหนึ่งนำไปชดเชยความเสียหายให้กับประชาชนที่อยู่นอกคันป้องกันน้ำท่วมซึ่งรัฐต้องทำความเข้าใจกับประชาชนให้ชัดเจน
2. การจัดเก็บภาษีน้ำท่วมทางอ้อม พื้นที่เสียงภัยน้ำท่วมสูงมักเป็นพื้นที่รองรับน้ำท่วมตามธรรมชาติ (แก้มลิงธรรมชาติ) ในที่ราบภาคกลางตอนล่างซึ่งส่วนใหญ่ปลูกข้าวฟางลอง หน้าน้ำท่วมจะมีการปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว เนื่องจากน้ำลึกมากปลูกพืชอื่นไม่ได้ ทำให้ราคาของพื้นที่ถูกมาก บางส่วนถูกนายทุนซื้อและถมเปลี่ยนเป็นโรงงานอุตสาหกรรมหรือหมู่บ้านจัดสรร หากปล่อยให้เป็นไปตามกลไลทางการตลาด พื้นที่แก้มลิงธรรมชาติเหล่านี้จะลดลงในอนาคตซึ่งเป็นอันตรายมาก รัฐบาลจะต้องมีมาตรการรักษาพื้นที่เหล่านี้ไว้ วิธีหนึ่งคือเก็บภาษีจากการปลูกสร้างที่กีดขวางหรือทำให้พื้นที่เหล่านี้ลดลงในอัตราสูง แล้วนำเงินภาษีนั้นไปเป็นกองทุนน้ำท่วม เพื่อชมเชยให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวฟางลอยซึ่งมีรายได้น้อยนอกจากจะสามารถรักษาพื้นที่แก้มลิงธรรมชาติไว้แล้ว ยังเป็นมาตรการบรรเทาสาธารณภัยกรณีที่มีน้ำท่วมหนักในพื้นที่เหล่านั้นต่อไปด้วย
“กรุงเทพมหานคร” เผชิญกับปัญหาน้ำท่วมมาหลายครั้งหลายหน แต่การขาดการวางแผนที่เป็นระเบียบในหลายๆเรื่อง ถ้าไม่มีมาตรการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ใครจะรู้ว่ากรุงเทพ ฯ อาจจะเป็นเมืองใต้บาดาลในอนาคตอันใกล้นี้
ที่มา
ไทยวิจัย44(ฉบับสื่อมวลชน)สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.). (2544, ธันวาคม). บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนก่อน"กรุงเทพ"จมบาดาล. วิศวอุตสาหากรรม.8(88), 80-84.
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที