อ.อุดม

ผู้เขียน : อ.อุดม

อัพเดท: 21 พ.ค. 2007 15.00 น. บทความนี้มีผู้ชม: 125794 ครั้ง

สรุปโรคร้ายในภาคอุตสาหกรรมไทย จากประสบการณ์การให้คำปรึกษา


โรค "หัวหน้าไม่สนใจ"

          อย่างที่เกริ่นมาแล้ว ในโรคที่แล้ว โรคร้ายที่น่ากลัวมากอีกโรคหนึ่งที่พบในการให้คำปรึกษาจริงในโรงงานอุตสาหกรรมไทย คือ มีโรงงานไม่น้อยที่หัวหน้างานไม่เข้าใจบทบาทตัวเอง และไม่เข้าใจเสียเลยว่าผลงานของตัวเองนั้นมาจากลูกน้อง มักคิดเอาเองอีกแล้วว่า ผลงานของฉันเกิดจากฉันคนเดียว
          หลายครั้งที่ไปให้คำปรึกษากลุ่มคุณภาพ หัวหน้าไม่ได้มีส่วนคอยชี้แนะ สั่งสอน ให้คำปรึกษาว่าเรื่องราวต่างๆที่นำมาแก้ไข หรือปรับปรุงนั้น ดีหรือยัง เมื่อกำหนดเรื่องที่ไม่เข้าท่า การสำรวจสภาพปัจจุบันก็ทำไปแบบแกนๆ เท่าที่กลุ่มพอจะมีเวลา ซึ่งปกติแทบจะไม่มีเวลาอยู่แล้ว แทบพูดได้ว่าแค่ทำงานตามหน้าที่ "มือก็จะเป็นลิง" อยู่แล้ว การตั้งเป้าหมายเลยพาลไม่ตรงจุดตรงประเด็น ส่วนมากหลงทาง ไม่ก็กว้างเกินไป หาฝั่งไม่เจอ การวิเคราะห์ปัญหาก็ไม่ได้เจาะไปที่กระบวนการทำงานจริงๆ มาตรการก็มักแก้ที่คน และหาความยั่งยืนไม่ได้ ความสำเร็จเลยได้ในช่วงเวลาสั้นๆ มาตรฐานก็เลยไม่สามารถรักษาไว้ได้ เพราะขึ้นอยู่กับคน
          วานนี้ผมมีโอกาสไปให้คำปรึกษาอีกแล้ว คราวนี้เป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วน กลุ่มคุณภาพที่เข้ามาเป็นระดับพนักงานหน้างาน ทำหน้าที่ผลิต ปรับตั้งเครื่องจักร ตรวจสอบเครื่องจักรว่าที่ปรับตั้งใช้งานได้หรือไม่
          กลุ่มเข้ามา 3 คน และออกตัวว่า "กลุ่มผมมาไม่ครบครับอาจารย์" ไม่ใช่ไม่ครบอย่างเดียวนะครับ "หัวหน้างาน" ดันไม่มาเสียด้วยสิ(ผมนึกในใจ) แต่ก็ไม่อยากจะตำหนิอะไร เพราะถ้าพูดไป ไอ้คนที่ไม่มาเขาก็ไม่รู้ว่าผมพูดอะไร ส่วนไอ้คนที่มาต้องมารับฟังเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเขา บรรยากาศจะเคมูไก ไปเสียก่อน
          ผมกล่าวทักทายสวัสดี เสร็จสรรพเรียบร้อยผมตั้งคำถามว่า "มีอะไรจะถามผมไหม" กลุ่มเกิดอาการ "งง" อีกแล้วครับท่าน สงสัยจะนึกในใจว่า "กูต้องมาตั้งคำถามเหรอ ปกติกูมักถูกถาม" (นี่ก็เป็นอีกโรคนึงที่จะกล่าวต่อไป) มันเป็นแบบนี้จริงๆนะครับกับกลุ่มคุณภาพในเมืองไทยเนี่ยะ
          ผมเห็นแต่ละคนนิ่งๆ ผมเลยตัดบท ไม่งั้นจะเสียเวลารอ ว่าใครจะใจกล้า (ส่วนมากเจออาจารย์ที่ปรึกษาก็ฝ่อเสียแล้ว) "เอาล่ะ ไม่เป็นไร งั้นกลุ่มตั้งใจแก้ปัญหาอะไรบ้างครับ" กลุ่มตอบ "ผมกะว่าจะลดเวลาการตั้งเครื่องครับ" พูดพลางทางยื่นเอกสารที่ผมเอาติดตัวไปและให้เขาถ่ายเอกสารเก็บไว้ก่อนหน้านั้น ซึ่งเกี่ยวกับ "การลดเวลาการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร" หน้าปกม่วง/ดำ มา ผมเลยบอกว่าเดี๋ยวก่อนนะ เดี๋ยวค่อยดู เพราะตอนนี้ดูไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะกลุ่มยังไม่รู้เลยว่ากลุ่มจะทำเรื่องอะไร ทันใดนั้นก็มีสมาชิกท่านนึงพูดขึ้นมาว่า เห็นหัวหน้าเราบอกว่าให้ทำ ไลน์3, 5 นะ ผมได้ยินดังนั้น ก็เลยให้เขาเริ่มลงมือเลือก ว่าจะทำเรื่องใดก่อน กลุ่มสร้างระบบในการคัดเลือกปัญหาด้วยการใช้เงื่อนไข 3 ข้อ คือ ความยากง่ายในการทำ เวลาที่ใช้ในการปรับปรุง และผลกระทบจากการปรับแต่งนาน

ความยากง่าย มีระบบการให้คะแนนดังนี้
1 คะแนน หมายถึง ต้องอาศัยช่างซ่อมบำรุง
2 คะแนน หมายถึง ต้องอาศัยหัวหน้างานช่วย
3 คะแนน หมายถึง ต้องใช้เพื่อนร่วมงานอื่นช่วย
4 คะแนน หมายถึง กลุ่มทำได้เอง

ระยะเวลาในการปรับปรุง มีระบบในการให้คะแนนดังนี้
1 คะแนน หมายถึง ใช้เวลามากกว่า 3 เดือน
2 คะแนน หมายถึง ใช้เวลา 2-3 เดือน
3 คะแนน หมายถึง ใช้เวลา 1-2 เดือน
4 คะแนน หมายถึง ใช้เวลา ภายใน 1 เดือน

ผลกระทบจากการตั้งเครื่องนาน มีระบบในการให้คะแนนดังนี้
1 คะแนน หมายถึง ไม่มีผลกระทบใดๆ
2 คะแนน หมายถึง ก่อให้เกิดความรำคาญ
3 คะแนน หมายถึง ก่อให้เกิดการเสียเวลา
4 คะแนน หมายถึง ทำให้ผลผลิตตกต่ำ

เมื่อสร้างระบบได้แล้วก็ให้เลือกปัญหา พบว่าจะปรับปรุงที่ ไลน์5
          คุยไปคุยมา ถึงขั้นตอนสำรวจสภาพปัจจุบัน ผมถามว่า ไหน ไลน์5 น่ะ มีขั้นตอนการปรับตั้ง อย่างไรบ้าง กลุ่มบอกว่า "เยอะครับอาจารย์" ผมถามว่า "เยอะยังงัย" กลุ่มตอบว่า "มันมีหลายเครื่องครับ" ถึงบางอ้ออีกแล้ว ผมร้องออกมาว่า "เอ๊า มีหลายเครื่องแล้วจะทำยังงัย" กลุ่มตอบ "ก็ยังไม่รู้ครับ หัวหน้าเขาสั่งมาให้ทำ ผมก้อทำ แต่ผมก้องงๆนะครับเพราะมันเยอะ ผมไม่รู้จะทำตรงไหนก่อน" หัวหน้าอีกแล้วครับท่าน  ไหนๆก็ไหนๆ ผมก็เลยต้องหาทางออกด้วยการถามว่า แล้วไอ้ที่หลายเครื่องน่ะ มันเรียงลำดับการทำงานอย่างไรบ้าง กลุ่มก็บอกมาดังนี้
1. เรียงงาน
2. ปาดความกว้าง
3. ฝนมุม
4. ปั๊มรู
5. ขุดลัก
6. ปั๊มลัก
7. ขุดร่อง
8. ลบเหลี่ยมรู
9. ขัดผิวใน
10. ปาดผิวต่อ
11. เช็คเกอร์
12. ปาดผิวใน
13. ส่งให้ตรวจสอบ

โอเค มาถึงตรงนี้ก็เลยถึงบางสองอ้อ อีกครั้ง เลยบอกกลุ่มว่า ต้องจัดลำดับล่ะว่าจะเลือกเครื่องไหนมาเป็นหัวข้อเรื่องดี สุดท้ายกลุ่มบอกว่า เลือกทำ เครื่องปาดผิวใน

ผมบอกกลุ่มว่า การแก้ไขปัญหานั้น ถ้าทำเรื่องใหญ่ กลุ่มจะไม่สามารถแก้ได้ เพราะ "ทุกวันมือก็เป็นลิง" อยู่แล้ว จะเอาเวลาที่ไหนไปทำทั้งไลน์ "ผมก็ว่าอย่างนั้นนะครับ" แน่ะ มีเสียงสนับสนุน ผมเลยสำทับว่า งั้นต้องไปคุยกับหัวหน้านะ ว่ากลุ่มจะทำอะไร แล้วพอมีใครไปคุยกับหัวหน้าได้ไหม กลุ่มบอก ไปคุยได้ ผมค่อยโล่งใจหน่อย อย่างน้อยไม่มา แต่ก็ไม่ถึงกับปิดใจเสียทีเดียว

มีอีกหลายกรณีครับ ในหลายๆขั้นตอนของการแก้ไขปัญหา ที่หัวหน้าไม่ได้ให้ความสนใจ ดังนั้นกลุ่มจะเสียเวลากับความอึ้งในคำสั่งของหัวหน้า และหาทางออกไม่เจอ ผ่านไปหลายเดือนก็ไม่มีอะไรคืบหน้าเป็นชิ้นเป็นอัน
          อนึ่ง บางครั้งจะโทษหัวหน้าเสียทั้งหมดก็คงไม่ได้มั้งครับ เพราะลูกน้องเป็นอย่างไร ลูกพี่ก็เป็นอย่างนั้น ซึ่งพาลไปถึงผู้บริหารเสียด้วยซ้ำ และที่เป็นปัญหาส่งผลให้เป็นแบบนี้ คือ การที่มีคนจำกัด ไม่สามารถปลีกตัวได้เลย หากมาหมด ก็พอดีไม่มีของส่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การบริหารจัดการกำลังพลนั้น มุ่งเน้นการปฏิบัติงานประจำวัน มากกว่าคิดเผื่อให้มีการปรับปรุง ผมจึงอยากฝากผู้ชำนาญทั้งหลายว่า หากจะคิดกำลังพลแบบนี้ จุดอ่อนมันจะเป็นแบบนี้แหละครับท่าน คือ หัวหน้าก็ไม่มีเวลา เด็กพนักงานก็ไม่มีเวลา แล้วจะเอาเวลาที่ไหน มาทำการปรับปรุงล่ะครับ ยังงี้ต้องหาเวลาให้แล้วนะครับ

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที