"ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ หมื่นปี หมื่น ๆ ปี" ถ้อยคำคุ้นหู เวลาดูหนังจีน ในราชสำนักโบราณ สะท้อนให้ชวนคิดว่า คนจีนโบราณ น่าจะให้ความสำคัญ กับการมีอายุยืน และการบำรุงรักษาสุขภาพให้มีอายุยืนยาว ถ้าจะว่าไป เชื่อมั้ยคะว่า นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า อายุขัยของคนเรา น่าจะยืนยาวถึง 120 ปี แต่เท่าที่เห็น ๆ อายุถึง 100 ปีก็เก่งมาก ๆ แล้ว ส่วนตัวคนเขียนเองยังสงสัยว่าจะอายุยืนถึง 60 ปีรึเปล่า และก็ไม่เคยคาดหวังว่า อยากจะมีอายุยืนถึง 100 ปีหรอกค่ะ แต่อยากอยู่แบบสุขภาพแข็งแรงมากกว่า เคยอ่านบทความ ของแพทย์หญิงพักตร์พิโล ทวีสิน เขียนไว้ในหนังสือสกุลไทย (เกี่ยวกับเรื่องวิธีกิน ให้อายุยืน) เห็นว่าน่าสนใจ วันนี้เลยขอเก็บมาเล่าสู่กันฟังค่ะ
ท่านบอกว่าหลักสำคัญที่จะกินให้มีอายุยืนก็คือ ให้ทานอาหาร เพียงแต่วันละน้อย ๆ โดยทั่วไปพบว่า คนที่มีอายุยืนยาวเกิน 100 ปี มักทานอาหาร ให้ได้พลังงานเพียงแค่วันละ 1400 - 1500 แคลอรี่เท่านั้น โดยในอาหาร 1 จาน ครึ่งหนึ่งควรเป็นผักผลไม้ ยิ่งสดยิ่งดี ไม่ต้องผ่านความร้อน ไม่ต้องต้มสุก (ขอแถมนิดนึงว่า ต้องล้างสะอาด ปราศจากยาฆ่าแมลงด้วยนะคะ) อีก 1 ใน 4 เป็นเนื้อสัตว์ (ไม่ติดมัน) เพื่อให้ได้โปรตีนไปเสริมสร้างและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ อีก 1 ใน 4 ค่อยเป็นอาหารประเภทแป้ง คาร์โบไฮเดรต เพื่อให้ได้พลังงาน แต่ให้เลือกสภาพใกล้เคียงธรรมชาติให้มากที่สุด ประเภท ข้างกล้อง เผือกต้ม มันต้ม ย่อมดีกว่า ข้าวขัดขาว สปาเกตตี้ ก๋วยเตี๋ยว ที่แปลงรูปซะจนไม่รู้ต้นกำเนิดแล้ว (หลับตานึกภาพหน้าตา ปริมาณ และสัดส่วนอาหารที่ทานมื้อล่าสุด แล้วถอนหายใจ เฮ้อ... ใครที่ทานได้แบบอาจารย์ท่านว่า ก็ดีใจด้วยค่ะ)
วิธีการกินก็สำคัญค่ะ อาจารย์ท่าสให้ยึดหลักว่า "ตอนเช้ากินแบบพระราชา กลางวันกินแบบชาวบ้านทั่วไป ตกเย็นให้กินแบบยาจก "หมายความว่า ทานมื้อเช้าให้หนักเต็มที่ เพราะร่างกายเรา อดอาหารมาหลายชั่วโมงในช่วงนอนหลับ นับตั้งแต่อาหารมื้อเย็น เราอาจจะไม่ได้กินอะไรอีกเลย ท้องว่างไปเกือบ 12 ชั่วโมง มื้อเช้าควรเติมพลังงาน ให้เติมเหมือนเติมน้ำมันให้เต็มถัง จะได้ขับเคลื่อน ต่อสู้กับความเครีด และทำงาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงไปตลอดทั้งวัน ส่วนมื้อกลางวันก็เพียงแค่เติมพลังงานย่อย ๆ แต่พอประมาณ รับประทานเหมือนคนปกติ ไม่ต้องมากมายอะไร มื้อเย็น อาจจะทานบ้างไม่ทานบ้างก็ได้ และไม่ควรรับประทานอาหารเสร็จ ก็ไปเข้านอนเลย เพราะเลือดส่วนใหญ่ยังไปเลี้ยงอยู่ที่กระเพาะอาหาร และทางเดินอาหาร เพื่อทำการย่อยดูดซึมอาหาร จึงทำให้เลือด ไม่ไหลเวียนไปสู่สมอง การนอนหลับจึงไม่เต็มอิ่ม หลับไม่สนิท ในขณะเดียวกัน เวลาที่เราหลับลึก ๆ นั้น ร่างกายกำลังซ่อมแซมตัวเอง เพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทาน สร้างเซลล์ใหม่ทดแทนเซลล์เก่า หากช่วงที่เรานอนเลือดกลับไปอยู่ที่ท้องแล้ว ร่างกายเราจะซ่อมแซมตัวเองได้อย่างไร เซลล์มันย่อมสึกหรอ ไม่ดีต่อสุขภาพแน่ ๆ ดังนั้น ควรรับประทานอาหารมื้อเย็นเบา ๆ และทานให้เสร็จเรียบร้อย ก่อนเวลาเข้านอนสัก 3-4 ชั่วโมง จะได้ไม่เป็นผลเสียต่อสุขภาพ
แบบว่าอาจารย์ขา คือตอนนี้รู้สึกว่าวิธีการกินของเราส่วนมากมันจะตีลังกา กับที่อาจารย์บอกมาอยู่น่ะค่ะ คือว่าตอนเช้าเวลารีบเร่ง มีอะไรก็หยอดใส่ท้องไปก่อน นมกล่อง กาแฟแก้ว กับขนมปัง (แบบยาจก) กลางวันพอจะมีเวลาขึ้นมาหน่อย ก็ทานแบบชาวบ้านๆ ค่ะ อาหารจานเดียว ข้าวราดแกง ก๋วยเตี๋ยว ตกเย็นหิวโซ โจ้กันเต็มที่ มีอะไรก็ยกมาเลยน้อง (แบบพระราชา) หนักกว่านั้น บางครั้งต่อมื้อดึกก่อนนอนอีกต่างหาก ... ใครเป็นแบบที่ว่าก็ลองหันมาพิจารณา ปรับสูตรการรับประทานอาหารกันใหม่ อายุอาจจะไม่ยืนถึงหมื่นปี แต่ก็จะได้อยู่แบบสุขภาพดี กันถ้วนหน้านะคะ
ที่มา http://www.thaifooddb.com/article/article083.html
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที