TPA Magazine

ผู้เขียน : TPA Magazine

อัพเดท: 12 ก.พ. 2007 11.49 น. บทความนี้มีผู้ชม: 58094 ครั้ง

ภาษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสาร ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ใดก็ตาม เราต้องพูดต้องคุย เพื่อสร้างความเข้าใจต่อกันและกัน


ครอบครัวศิลปิน

ทุก ๆ ปีที่มีเด็กนักเรียนต่างชาติไปเรียนภาษา ที่ศูนย์ภาษาของมหาวิทยาลัยเคโอ ทางมหาวิทยาลัย ก็จะจัดหาโปรแกรม หรือกิจกรรมดี ๆ ให้นักเรียนต่างชาติได้มีส่วนร่วม และที่ทำเป็นประจำกิจกรรมหนึ่งคือ การหาครอบครัวญี่ปุ่น หรือแม่บุญธรรม โดยทางมหาวิทยาลัยร่วมมือกับ YWCA ของญี่ปุ่น จับคู่แม่บุญธรรมให้มาดูแลพวกกะเหรี่ยงข้ามชาติทั้งหลาย ปีที่ดิฉันไปถึงก็เหมือนกัน แต่ว่าโชคร้ายหน่อย ที่เป็นปีซึ่ง รัฐบาลญี่ปุ่นให้ทุนแก่เด็กต่างชาติเยอะเหลือเกิน ก็เลยทำให้จำนวนแม่บุญธรรม ที่ยื่นจำนงไว้ที่ YWCA มีน้อยกว่าจำนวนเด็กนักเรียนต่างชาต ิที่ทางมหาวิทยาลัยส่งรายชื่อเข้าไป จำเป็นจะต้องจับฉลากผู้โชคดี เพราะฉะนั้นก็จะมีทั้งคนที่ได้ และคนที่ปิ๋วตามธรรมเนียม สำหรับดิฉันไม่ค่อนสนใจเท่าไหร่ เพราะชีวิตที่โตเกียวขณะนั้น เพื่อนฝูงก็เยอะ และยุ่งพออยู่แล้ว ทั้งเพื่อนที่มหาวิทยาลัยโฮเซ ครอบครัวคุณลุงคุณป้า ที่ซัปโปโร อาจารย์ที่ปรึกษาฮะมาดะผู้แสนใจดี ครอบครัวจุงโกะ และเรโกะสหายแท้ดั้งเดิม ที่เกียวโต ครอบครัวคุณหมอโตชิโอะ ที่วาคะยาม่า แล้วก็คุณนายติวเตอร์ตัวแสบ ที่ตามติวติดยิ่งกว่าเห็บติดหมาอีกนะ แค่วนเวียนสับเปลี่ยนทักทาย รายงานตัว ในแต่ละเดือนก็เพลียอยู่แล้ว

 
แต่มันมักเป็นเรื่องแปลกเสมอ ที่โบราณเคยว่าไว้ สิ่งที่ไม่อยากได้มักจะได้ อย่างกรณีของดิฉันเป็นตัวอย่างที่ดีของคำกล่าวนี้ เพราะเช้าวันหนึ่ง สาวน้อยคาวามูระ ผู้ช่วยคุณชิมิซึ ที่ศูนย์ภาษาของมหาวิทยาลัยเคโอ ก็มาบอกพวกเราว่า นักศึกษาต่างชาติจากเคโอที่ส่งเข้าไป 50 คนนั้น โชคดีได้แม่บุญธรรมจาก YWCA เพียง 5 คน แล้วดิฉันก็เป็นหนึ่งในห้าของผู้โชคดีนั้น คุณนายคาวามูระ เธอเป็นสาวน้อยวัยกระเตาะ เป็นมิตรของเหล่านักเรียนไทยที่เคโอ  เพราะพวกเรามักจะนำขนมมาเซ่น ติดสินบนเธอเป็นประจำ ดังนั้นเวลามีอะไร ๆ ที่เป็นข้อมูลข่าวสารสำคัญ ๆ พวกเราก็มักจะรู้ก่อนเสมอ คราวนี้เธอก็กระดี๊กระด๊าบอกดิฉันว่า ดิฉันโชคดีมากเลยนะ เพราะครอบครัวแม่บุญธรรมที่ดิฉันได้นี้ มีลักษณะ และคุณสมบัติตรงกับดิฉันเป๊ะเลยเชียว น่าจะเข้ากันได้ดี ด้วยเหตุผลหนึ่ง ก็คือ ครอบครัวนี้ทำงานทางด้านสื่อสารมวลชน ทั้งสามีภรรยา โดยสามีเป็นช่างภาพอิสระ ส่วนภรรยาเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Fujin no tomo: ซึ่งผลิตหนังสือดี ๆ เกี่ยวกับเด็ก สตรี และครอบครัว ( ดิฉันนึกในใจ ตายละหว่า ! ถ้าหากเหมือนดิฉันจริง ๆ คงเป็นครอบครัวที่ชุลมุน และฮาร์ดสุดฤทธ์แน่ ๆ ความรู้สึกประหวั่นพรั่นพรึงเริ่มก่อตัวขึ้นราง ๆ ) ว่าแล้วสาวน้อยคาวามูระ ก็ส่งชื่อที่อยู่ของครอบครัวแม่บุญธรรมให้ พร้อมกับบอกว่า ทางครอบครัวนี้จะติดต่อมาหาดิฉันเอง ดิฉันอ่านดูแล้ว ชื่อว่า ทสึทสึมิ อิซึมิ ( Tsutsumi Izumi : ) ซึ่งออกเสียงยากชะมัด พูดทีไรน้ำลายกระเด็นเป็นฟ่อน
 

หลังจากที่ได้รับรู้เรื่องแม่บุญธรรมทสึทสึมิ อิซึมินี้ไม่นาน ก็ได้มีโอกาสพบกัน โชคดีอย่างมาก ที่บ้านแม่บุญธรรมอยู่อิเคบุคุโระ ก่อนถึงหอพักของดิฉันเพียงสองสถานี ซึ่งนับว่าใกล้กันมาก วันที่พบกัน ก็เริ่มต้นชุลมุน ด้วยการนัดหมายทางโทรศัพท์ ที่แม่บุญธรรมอิซึมิ บอกให้ดิฉันไปรอที่ประตูทางออกทิศตะวันออก ของสถานีอิเคบุคุโระ ซึ่งตรงนั้น จะมีธนาคารซึมิโตโม่อยู่ นัดเจอกันตอนเที่ยงตรง ดิฉันยืนรออยู่ 20 นาที ก็ยังไม่เห็นวี่แววสุภาพสตรี ที่ท่าทางบ่งบอกว่า จะเป็นนิตยสารลือชื่อของญี่ปุ่นเลยนะ (ในจินตนาการของดิฉัน ผู้ที่จะเป็นบรรณาธิการนิตยสารสตรี โดยเฉพาะหนังสือนิตยสาร ทางด้านให้ความรู้และบันเทิง น่าจะมีลักษณะผอมบาง สูงโปร่ง ตัดผมบ๊อบตรงเฉียบ แต่งตัวเนี๊ยบ และดูทะมัดทะแมง ที่สำคัญคือ ต้องมีแววตาแบบจับผิดคมปลาบ แสดงความฉลาดเด่นชัด ) เพราะฉะนั้นตลอด 20 นาทีที่รอ จากการยืนรอเฉย ๆ ดิฉันก็เดินไป เดินมา สายตาสอดส่าย หาสตรีในจินตนาการที่ว่านี้ แต่ไม่เห็นมีใครเข้าข่ายสักคน รอจนครึ่งชั่วโมงผ่านไป ชักทนไม่ไหว ก็เลยโทรเข้าไปเช็คที่บ้านแม่บุญธรรม ต้องฮัลโหล โมชิ โมชิ ( Moshi moshi : ) แนะนำกันอยู่นานเพราะต่างไม่คุ้นเสียงซึ่งกันและกัน แต่ในที่สุด ก็ได้ความว่า คุณแม่อิซึมิออกมาตั้งนานแล้ว

 

พูดถึงการฮัลโหล ฮัลโหล โทรศัพท์ในภาษาญี่ปุ่น  ก็มีข้อแตกต่าง จากการพูดในภาษาไทย เวลาโทรไปหาใคร เราจะพูดขึ้นต้นด้วยคำ ว่า Moshi moshi : ซึ่งหมายถึง ฮัลโหล และคำ ๆ นี้ บางที ก็ใช้เพื่อเรียกคน หรือคู่สนทนา ให้หันกลับมาสนใจเราก็มี หลังจากโมชิ โมชิ คะเนว่า คู่สายตั้งใจฟังเสียงอันไพเราะ เพราะพริ้งของเราแล้ว ก็จะต้องแนะนำตัวเอง ว่าชื่อเสียง เรียงนามอะไร แล้วถามหาคนที่จะพูดด้วย ว่าอยู่รึเปล่า เช่น ยกตัวอย่าง ที่ดิฉันโทรไปเช็ค ที่บ้านแม่บุญธรรมนั้น ก็จะพูดว่า Moshi moshi , Tai no Tipawan to moushimasuga, Tsutsumi Izumisan ga irasshaimasuka. : Tipawan
หมายถึง สวัสดีค่ะ ดิฉันชื่อทิพวรรณ มาจากประเทศไทยค่ะ คุณทสึทสึมิ อิซึมิ อยู่มั้ยคะ – คำว่า Tai หมายถึง Thai ในที่นี้คือประเทศไทย เวลาบอกว่าเรามาจากประเทศไหน หรือทำงานอยู่บริษัทอะไร เรียนอยู่ที่ไหน ก็จะเอาชื่อประเทศ ชื่อบริษัท หรือชื่อมหาวิทยาลัยไว้ข้างหน้า แล้วตามด้วย no :
(อ่านว่าโนะ) ต่อด้วยชื่อของเราเอง เช่น Amerika no Mary to moushimasu :ดิฉันชื่อแมรี่ มาจาก อเมริกา Honda no Junko to moushimasu.: หรือ Keiogijukudaigaku no Takeuchi to moushimasu. :หมายถึง ดิฉันชื่อจุงโกะ จากบริษัทฮอนด้า หรือ ผมชื่อทาเคอุจิ จากมหาวิทยาลัยเคโอ เป็นต้น

 

ส่วนการถามว่า คนนั้น คนนี้ อยู่มั๊ย ก็จะเอ่ยชื่อคนผู้นั้น แล้วตามด้วย ~ga irasshaimasuka :
~ ซึ่งเป็นคำสุภาพของคำว่า imasu:ที่แปลว่า อยู่นั่นเอง

 

วันนั้นกว่าจะพบกับแม่บุญธรรมได้ก็ปาเข้าไปบ่ายโมงครึ่งแล้ว ซึ่งความจริงเราต่างคนต่างมาตรงเวลาทั้งคู่ เพียงแต่ยืนอยู่คนละฟากถนน แล้วก็สบตากันหลายครั้งแล้วด้วย แต่ไม่เฉลียวใจเลยเพราะคุณแม่อิซึมิ ที่ดิฉันเห็น กับจินตนาการนั้นต่างกันลิบลับ ตัวจริงก็คือ แม่บุญธรรมเป็นสตรีร่างท้วม สูงใหญ่ หน้าตาเหมือนลูกครึ่งญี่ปุ่นผสมฝรั่งและจีน ตัดผมสั้นกุดเหมือนผมลองทรงของผู้ชาย ใส่หมวกหลุบปิดหน้าแบบพวกเฮฟวี่ สวมชุดสีดำสนิทตั้งแต่หัวถึงเท้า ท่าทางน่าจะเป็นศิลปินวาดภาพมากกว่าบรรณาธิการนิตยสาร หลังจากทักทายปราศรัย ต่างฝ่ายต่างขอโทษขอโพย พอหอมปากหอมคอกันแล้ว คุณแม่อิซึมิก็พาดิฉันเดินข้ามฟากถนนไปที่บ้าน ซึ่งอยู่ห่างจากจุดนัดพบเพียง 800 เมตร บ้านของครอบครัวทสึทสึมินี้น่าอยู่มาก เป็นบ้านไม้สไตล์ญี่ปุ่นโบราณ ด้านหลังเป็นสนามกว้างไว้ทำกิจกรรมต่างๆ คุณแม่บอกว่าบ้านหลังนี้มีห้องมืดสำหรับล้างฟิล์มด้วย เพราะคุณพ่อทสึทสึมิ มาซาโอะ ( Tsutsumi Masao :) เป็นช่างภาพอิสระมืออาชีพที่ถ่ายภาพให้กับหนังสือพิมพ์ Asahi Shunbun ด้วย การเข้ามาเป็นลูกบุญธรรมของครอบครัวนี้ ทำให้ดิฉันได้ลูกสาวลูกชายทายาทตระกูลทสึทสึมิชื่อโมโมโกะ ( Momoko :) เด็กหญิงวัย 8 ขวบ และทาโร ( Taro : ) ยอดชายจอมซนวัย 6 ขวบเป็นน้องสาวน้องชายบุญธรรมไปโดยปริยาย

 

นับตั้งแต่วันนั้น ดิฉันก็กลายเป็นสมาชิกคนหนึ่งของบ้านทสึทสึมิ ที่ต้องไปทานข้าว กับครอบครัวนี้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง แล้วก็ต้องสอนภาษาอังกฤษ ให้เด็ก ๆ จอมซนสองคนนี้ รวมทั้งกลุ่มสหายเด็ก ๆ ของทั้งคู่ อีก 4 – 5 คน ตลอด 4 ปีที่อยู่ที่ญี่ปุ่น  แล้วก็เป็นความผูกพัน จนถึงทุกวันนี้ ที่ถือเสมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน เพราะแม้ปัจจุบัน โมโมโกะ จะโตเป็นสาวแล้ว ไปศึกษาต่อ ทางด้านวรรณคดี อยู่ที่สหรัฐอเมริกา ส่วนทาโร ผู้ชื่นชอบการทำอาหาร ก็ไปร่ำเรียน วิธีการทำอาหาร ที่โรงเรียนสอนทำอาหารนานาชาติ ที่อิตาลี ทุกครั้งที่หยุดปิดเทอม ถ้าทั้งคู่เดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านที่ญี่ปุ่น พวกเขาก็จะชวนกันแวะมาเที่ยวประเทศไทยเสมอ ๆ

 

ครอบครัวทสึทสึมินนี้  ถือได้ว่าเป็นครอบครัวสมัยใหม่ เพราะผสมผสานเอาวิธีการดำรงชีวิต แบบญี่ปุ่นและตะวันตก ไว้ด้วยกันอย่างลงตัว อย่างแรกที่เห็นก็คือ การเลี้ยงดูลูกแบบวิธีให้เด็กเป็นศูนย์กลาง หรือที่เรียกว่าชายด์เซ็นเตอร์ ซึ่งกำลังฮิตหนักหนาในบ้านเราปัจจุบัน ดิฉันสังเกตเห็นเลยว่า ทั้งพ่อและแม่ตระกูลทสึทสึมินี้ จะให้การศึกษาแก่โมโมโกะ และทาโร โดยยึดเอาความต้องการ และความสนใจของเด็ก ทั้งสองเป็นหลัก แล้วก็สนับสนุน ให้สนใจศิลปะ ดนตรี และการถ่ายภาพ รวมทั้งกีฬา โดยเฉพาะศิลปะนั้น เป็นสิ่งที่ครอบครัวนี้สนับสนุนอย่างมาก อาจเป็นเพราะศิลปะ น่าจะเป็นสิ่งที่ซึมลึกอยู่ในสายเลือด ด้วยว่าคุณแม่อิซึมิ เติบโตมาจากครอบครัวศิลปินนักวาดภาพ ฝีมือชั้นครู โดยเป็นบุตรสาวของ ศาสตราจารย์โชโซ ฟุคะซาว่า ( Shousou Fukazawa : ) และมาดามโคโกะ ฟุคาซาวะ ( Kouko Fukazawa : ) ซึ่งดิฉันเรียกว่าคุณตาและคุณยายตามอย่างหนูน้อยโมโมโกะและทาโร คุณตาโชโซนั้นเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปะที่จังหวัดอิวะเตะ ( Iwate ken : ) ซึ่งเป็นจังหวัด ที่อยู่ทางตอนเหนือ ของญี่ปุ่น ส่วนคุณยาย นั้นเป็นนายกสมาคมนักวาดภาพสีน้ำของญี่ปุ่น ทั้งสองท่าน มีความชำนาญ ทางด้านการวาดภาพธรรมชาติด้วยสีน้ำอย่างชนิดหาตัวจับยาก โดยมักจะ จัดแสดงนิทรรศการศิลปะ อยู่เป็นประจำ ทั้งที่ในโตเกียว และหัวเมืองใหญ ่ๆ ของญี่ปุ่น

 

ในการเรียนศิลปะของโมโมโกะ และทาโรนี้ จะได้อาจารย์คือ คุณตาโชโซ และคุณยายโคโกะเป็นผู้สอน แล้วการสอนนี้ก็เลยมาถึงตัวดิฉันด้วย ที่ถูกเชิญ ให้ไปร่วมฝึกสเก็ตช์ภาพใบไม้ ดอกไม้ร่วมกับเด็ก ๆ ทั้งสอง โดยคุณยายโคโกะ บอกว่า ศิลปะเป็นบ่อเกิดแห่งสมาธิ และความคิดสร้างสรรค์ทั้งมวล เวลาที่เราทำงานศิลปะ เราจะมีสมาธิอย่างมาก แล้วสมาธิก็นำไปสู่การเกิดปัญญา ที่ถ้าฝึกดี ๆ ก็สามารถนำมาใช้ในเรื่องอื่น ๆ ได้ด้วย สถานที่เรียนของพวกเรา ถ้าเป็นเสาร์ อาทิตย์ก็จะไปเรียนที่บ้าน คุณตาคุณยาย ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากหอพักของดิฉันมากนัก ที่บ้านนี้มีต้นไม้ ดอกไม้ที่สามารถใช้เป็นแบบได้เยอะมาก ส่วนถ้าเป็นวันหยุด เช่นวันปิดเทอมฤดูร้อน ( Natsuyasumi : ) ครอบครัวทสึทสึมิ ก็จะยกขบวนหลบร้อน จากโตเกียว ไปพักตากอากาศ ที่บ้านพักในเมืองยามานะกะโค ( Yamanakakou :) อยู่ที่จังหวัดยามานาชิ ( Yamanashi ken:) ใกล้ ๆ กับภูเขาไฟฟูจิ ซึ่งเป็นที่พักตากอากาศ อันลือชื่อของญี่ปุ่น บริเวณดังกล่าวนี้ จะมีบ้านพักสไตล์รีสอร์ท สร้างไว้บริเวณเชิงเขาบ้าง ในหุบเขาบ้าง แวดล้อมด้วยป่าไม้ และดอกไม้นานาพันธุ์ มองจากบ้านพัก ไปจะเห็นภูเขาไฟฟูจิ ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่

 

บ้านพักของครอบครัวทสึทสึมิอยู่บริเวณหุบเขาพอดี สวยมากจริง ๆ ถัดออกไป จะมีบ้านพัก ของคุณตาคุณยายฟุคะซาว่า ทุก ๆ วันพวกเราจะมาเรียน วิธีการสเก็ตช์ภาพภูเขาไฟฟูจิบ้าง ภาพดอกไม้ที่ขึ้นในบริเวณใกล้เคียงบ้าง แล้วก็หัดลงสีสนุกสนาน ตกเย็น ก็จะทำอาหารทานกัน บางทีคุณพ่อมาซาโอะ ก็จะผัดยากิโซบะ หรือไม่ก็ทำอาหารอิตาลี เพราะเป็นชายหนุ่ม ที่นอกจากจะมีฝีมือถ่ายภาพแล้ว ยังชำนาญงานบ้านทุกชนิด ทั้งทำอาหาร ตัดเย็บ ส่วนคุณแม่อิซึมิ  ิก็ไม่หยิบจับงานประเภทนี้เลย ด้วยเหตุผลว่าไม่อยากแย่งงานกันทำ (นับเป็นคู่สามีภรรยาที่ประเสริฐมากจริง ๆ) บางครั้งดิฉัน ก็ลงมือทำอาหารไทย เช่น แกงเขียวหวาน ไข่เจียว ซึ่งอุปกรณ์ต่าง ๆ ก็ซื้อหาเตรียมเอาไปจากเมืองไทย สำหรับเวลาทำแกงเขียวหวาน เนื่องจากสมัยนั้น กะทิผงที่พกพาสะดวก แบบปัจจุบันยังไม่มี เวลาทำ ต้องแปลงสูตร ใช้นม แทนกระทิ ก็ได้รสชาติไปอีกแบบ บางครั้งถ้าคึกหน่อย ก็จะทำสังขยาฟักทอง ซึ่งคุณ ๆ เชื่อมั้ยคะว่า ตอนอยู่เมืองไทย ดิฉันไม่เคยหยิบจับงานพวกนี้เลย เรียกว่าความจำเป็นบังคับ อาศัยครูพักลักจำ ตอนเป็นเด็ก แอบเข้าไปป้วนเปี้ยนหยิบขนมกินในครัวของคุณแม่ ก็เลย จดจำเอามาได้ใช้แก้ขัดไปบ้าง และทุกครั้งที่ลงมือทำ ทุกคนก็ชมว่า Oishii ! Oishii:( อร่อย ! อร่อย!) ไม่รู้แกล้งชมรึเปล่า แต่จะจริงไม่จริง ดิฉันก็รับคำชมไว้ก่อนแหละ

 

นอกเหนือจากการวาดภาพธรรมชาติรอบ ๆ บ้านพักบริเวณภูเขาไฟฟูจินี้แล้ว  ดิฉันและเด็ก ยังถูกสอนให้ทำเครื่องปั้นดินเผาด้วย โดยมีพี่ชายของคุณแม่อิซึมิ ซึ่งเป็นครูผู้เชี่ยวชาญ ด้านเครื่องปั้น ดินเผาเป็นผู้สอน จำได้ว่าดิฉันปั้นจานใส่อาหาร แล้วก็สลักชื่อตัวเองไว้ และนำไปเผา  ที่เตาเผา ซึ่งสร้างไว้เป็นโรงเรือนเล็ก ๆ ใกล้ ๆ บ้านพักนั่นเอง  เสียดายที่ตอนเรียนจบ ไม่ได้นำกลับมาด้วย เพราะว่าแตกเสียก่อน ชีวิตในช่วงหน้าร้อนของดิฉัน เป็นช่วงที่สนุกสนาน ตื่นเต้น และเต็มไปด้วยสาระ โดยผูกพัน อยู่กับครอบครัวทสึทสึมินี้ตลอด 4 ปี แล้วก็เป็นช่วงเวลา ที่ดิฉันและเด็ก ๆ ตั้งหน้าตั้งตารอให้ถึงวันปิดเทอมฤดูร้อนเร็ว ๆ ทุกปี เพราะพวกเรา (โมโมโกะ ทาโร และดิฉัน ) จะต้องสรรหากิจกรรมไปเล่นกันที่โน่นเสมอ ๆ อย่างหนึ่งที่ชอบกันมาก ก็คือ การจุดดอกไม้ไฟ ที่เรียกกันว่า Hanabi : ( Hana: หมายถึงดอกไม้ bi :เพี้ยนเสียงมาจาก hi ซึ่งแปลว่า ไฟ หรือความร้อน )

 
โดยทั่วไปเมื่อย่างเข้าสู่ฤดูร้อน  คนญี่ปุ่น จะนิยมแขวนกระดิ่งที่ทำด้วนเซรามิก เป็นตุ๊กตาต่าง ๆ น่ารักไว้ที่หน้าต่าง เวลาลมพัด จะมีเสียงดังกรุ๊งกริ๊ง ๆ ฟังแล้วสบายใจ แต่จะด้วยอากาศที่ร้อนชื้น แบบเหนียวเหนอะหนะ ที่ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า Mushiasui : หรืออย่างไรไม่ทราบ ทำให้คนญี่ปุ่น ต้องออกมาเดินเล่นนอกบ้าน บ้างก็ใส่ชุดยูคาตะ ชุดกิโมโน ทำด้วยผ้าฝ้ายบาง ๆ สำหรับใส่ในหน้าร้อน และเดินถือพัดเฉลิมฉลองตามวัดบ้าง สวนสาธารณะบ้าง ตกเย็นก็จุดดอกไม้ไฟกันเป็นที่สนุกสนาน ถ้าจะให้ครบสูตรการหยุดพักในฤดูร้อน ก็จะต้องทานบะหมี่เย็น ( Hiyashisoba :) กับแตงโม ( Suika :) แช่เย็น โดยวางไว้บนโต๊ะน้ำแข็ง และยิ่งได้มีโอกาสทานใกล้ ๆ  บริเวณที่สามารถ มองเห็นภูเขาไฟฟูจิด้วยแล้ว ยิ่งถือเป็นชูรสชั้นดีที่ต้องอุทานว่า maa,totemo shiawase desu :หมายถึง สุขมากเกินคำบรรยาย !! (maa,totemo : หมายถึง มาก shiawase: คือความสุข )


By : เอริโกะ

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที