TPA Magazine

ผู้เขียน : TPA Magazine

อัพเดท: 12 ก.พ. 2007 11.49 น. บทความนี้มีผู้ชม: 58211 ครั้ง

ภาษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสาร ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ใดก็ตาม เราต้องพูดต้องคุย เพื่อสร้างความเข้าใจต่อกันและกัน


ตอนที่ 11 สุขสันต์วันปีใหม่.....2

<เรียน(ภาษา)ญี่ปุ่นไม่วุ่นอย่างที่คิด>                                            โดย “เอริโกะ

 

ตอนที่ 11 สุขสันต์วันปีใหม่.....2

                ไม่เพียงแต่การส่งบัตรอวยพรเท่านั้น ช่วงปีใหม่นี้คนญี่ปุ่นก็จะไปวัดเพื่อทำบุญ ซึ่งมีคนเป็นจำนวนมากที่ 364 วันไม่เคยไปวัดเลยก็จะไปในวันที่365 คือช่วงปีใหม่นี่แหละ ซึ่งเรียกกันว่า ฮัทสึโมเดะ ( 初詣Hatsumoude) บางคนก็จะไปวัดในช่วงเที่ยงคืนของวันที่ 31 ธันวาคม

                ทันทีที่วัดตีระฆังส่งท้ายปีเก่า ผู้คนก็จะไปยืนเข้าคิวเพื่อดื่มเหล้าสาเก ที่เรียกว่า โอะโทโซะ ( おとぞ:Otozo ) ซึ่งเป็นเหล้าใส่สมุนไพร  ที่เชื่อกันว่าช่วยขับไล่สิ่งเลวร้ายและทำให้สุขภาพดี ดิฉันจำได้ว่าพวกเราสาวๆ ชาวหอริกโก้ก็แห่กันไปวัดชินโตเล็กๆ ที่อยู่ใกล้ๆ หอพักนี้เหมือนกัน ต้องไปเข้าคิวยาวรอดื่มเหล้าสาเกร้อนที่หลวงพ่อวัดนี้ตักใส่จอกให้ดื่มกัน อากาศหนาวๆ พอดื่มสาเกร้อนเข้าไปแล้วรู้สึกวูบวาบดีเหมือนกัน ดื่มเหล้าเสร็จก็จะต้องโยนเงินลงในกล่อง โดยมากนิยมโยนเหรียญโกะเอ็นดามะ(五円玉) หรือเหรียญ 5 เยน พร้อมกับอธิษฐานให้มีสุขภาพแข็งแรง ดิฉันเคยถามเพื่อนๆ ชาวญี่ปุ่นเหมือนกันว่า ทำไมต้องเป็นเหรียญ 5 เยน เหรียญอื่นได้มั้ย หรือเป็นแบงก์ได้มั้ย ก็ไม่ได้รับคำตอบที่กระจ่างชัด มีเพียงสองคนเท่านั้นที่ตอบเข้าท่า ก็คือคุณนายจุงโกะเพื่อนซี้ผู้เคร่งประเพณีจากเกียวโตบอกว่า เพราะเหรียญ 5 เยนนี้เป็นเหรียญที่มีรู ทำให้รู้สึกว่าสิ่งไม่ดีทั้งหลายในตัวจะลอดผ่านรูนี้ไปแล้วทำให้ผู้นั้นโชคดีตลอดปี ส่วนอีกคนคือพ่อบุญธรรมทสึทสึมิ มาซาโอะ ของดิฉันที่อธิบายว่า เหรียญ 5 เยน เป็นเหรียญที่มีมูลค่าต่ำ เพราะฉะนั้นการสละเงิน 5 เยนจึงถือว่าไม่เป็นภาระมากนัก    ด้วยว่าคนญี่ปุ่นโดยมากมักไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการทำบุญ

สุนทานนัก

                หลังจากไหว้พระอธิษฐานเสร็จสรรพแล้วก็จะต้องซื้อเครื่องราง หรือที่เรียกว่า โอะมาโมริ –守り:Omamori  (ความจริงน่าจะเรียกว่าเช่า – เหมือนเช่าพระของไทย ) ซึ่งเป็นเครื่องรางนำโชคหรือลูกศรศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีขนนกสีขาวประดับอยู่ ว่ากันว่าจะเป็นเครื่องป้องกันสิ่งชั่วร้ายทั้งหลายไม่ให้กล้ำกรายตลอดทั้งปี ถ้าจะให้สมบูรณ์แบบการไปวัดฮัทสึโมเดะจริงๆ ก็ต้องเสี่ยงเซียมซีดูโชคชะตาด้วยว่าโชคดีหรือโชคร้าย หลังจากอ่านใบเซียมซีแล้ว ถ้าโชคไม่ดีก็จะผูกเอาไว้กับกิ่งไม้ในวัด ขอให้โชคชะตาดีขึ้น ซึ่งไม่น่าเชื่อเลยว่าประเทศที่เจริญด้วยเทคโนโลยีและเศรษฐกิจอย่างญี่ปุ่นจะยังคงเชื่อถือและปฎิบัติแบบนี้ เจ้าเซียมซีที่ว่านี้เขียนด้วยอักษรคันจิ (ตัวอักษรจีนที่ญี่ปุ่นนำมาดัดแปลง ใช้ควบคู่ไปกับตัวอักษรฮิรางานะ และคาตากานะนั่นเอง ) เพราะฉะนั้นเวลาใครไปวัดที่ญี่ปุ่นแล้วเห็นต้นไม้ในวัดมีกระดาษขาวๆ ผูกห้อยต่องแต่งอยู่ ก็ไม่ต้องประหลาดใจว่าเป็นผลไม้ มันคือเซียมซีหรือโอะมิคุจินั่นเอง

                ในช่วงวันปีใหม่นี้ร้านรวงต่างๆ มักจะปิดติดต่อกัน 3 วัน เพราะฉะนั้นพวกแม่บ้านก็จะต้องตุนอาหารเอาไว้รับประทานกัน แต่ปัจจุบันก็จะมีอาหารสำเร็จรูปจำหน่าย ไม่ยุ่งยากมากนัก สำหรับเมนูอาหารที่ต้องรับประทานเพราะถือเป็นประเพณีก็คือ โอะเซจิเรียวริซึ่งแต่เดิมหมายถึงอาหารถวายพระหรือถวายเทพเจ้าในเทศกาลพิเศษ แต่เนื่องจากวันปีใหม่ถือเป็นเทศกาลที่สำคัญที่สุดเทศกาลหนึ่ง มนุษย์ก็เลยอยากเป็นพระหรือเทพเจ้าบ้าง เอ๊ย!ไม่ใช่ ก็เลยต้องทานอาหารแบบนี้ด้วย เพราะถือเป็นสิริมงคล ซึ่งก็จะประกอบไปด้วย ปลาย่าง ไข่ปลา กุ้ง สาหร่ายห่อ ถั่วดำเชื่อม หัวไชเท้ากับแครอทดองและอื่นๆ จัดวางไว้ในกล่องภาชนะเครื่องเขินสวยงาม อาหารนี้สามารถเก็บไว้รับประทานได้หลายวัน และโดยมากก็จะจัดเตรียมไว้สำหรับรับประทานได้หลายวัน และโดยมากก็จะจัดเตรียมไว้สำหรับรับประทานในสามวันแรกของปีใหม่ เพื่อให้แม่บ้านญี่ปุ่นได้มีโอกาสหยุดพักจากการทำครัวชั่วคราวด้วย

                นอกจากโอะเซจิเรียวรินี้แล้ว ยังมีอาหารพิเศษที่รับประทานช่วงปีใหม่อีกอย่างคือ โอะโซนิ ซึ่งเป็นซุปร้อนๆ ประกอบด้วย โอะโมจิ (ก้อนแป้งข้าวเหนียว ) ต้มกับปลาตัวเล็กๆ หรือเนื้อไก่และผัก เช่น เห็ดหรือหน่อไม้ เป็นต้น การทำโอะโซนินี้จะแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่นว่า ถ้าเป็นแถบคันโตคือบริเวณโตเกียวและปริมณฑลใกล้เคียง จะทำเป็นซุปใสและใส่โอะโมจิก้อนสี่เหลี่ยม ส่วนแถบคันไซ หมายถึงบริเวณโอซาก้าและพื้นที่ใกล้เคียง จะทำเป็นซุปมิโซ ( มาจากมิโซชิรุ คือซุปใส่เต้าเจี้ยวบดที่คนญี่ปุ่นนิยมทานในชีวิตประจำวัน ) ใส่โอะโมจิก้อนกลม

                พูดถึงโอะโมจิ ก้อนแป้งข้าวเหนียวนี้ก็อดที่จะนึกถึงพิธีโอะโมจิทสึคิ (お餅つき:Omochitsuki )หรือตำแป้งข้าวเหนียวในวันปีใหม่ไม่ได้ เพราะที่บ้านแม่บุญธรรมของดิฉันไม่นิยมซื้อโอะโมจิในท้องตลาด ด้วยว่าตระกูลทสึทสึมิเป็นนักชิมอาหารและมีฝีมือเรื่องการทำอาหารระดับแนวหน้า ดังนั้นการซื้ออาหารสำเร็จรูปจึงไม่ใช่เรื่องที่ครอบครัวนี้พิสมัยนัก โดยเฉพาะในช่วงโอกาสพิเศษแบบนี้ เพราะฉะนั้นช่วงปีใหม่ พ่อแม่บุญธรรมของดิฉันก็จะชักชวนบรรดาสหายสนิททั้งหลายมารวมตัวกันที่บ้าน แล้วก็ช่วยกันตำแป้งข้าวเหนียวด้วยครกตำข้าวแบบโบราณ คล้ายครกตำข้าวใหญ่ๆ ของบ้านเรา ดิฉันมักจะเรียกพิธีโอะโมจิทสึคิในกลุ่มเพื่อนสนิทคนไทยว่า พิธีลงแขกแบบญี่ปุ่น ที่ว่าลงแขกเพราะว่าต้องช่วยสลับกันตีแป้งด้วยไม้ตี (เรียกว่าสากคงจะได้ ) ซึ่งช่วงแรกๆ ที่ข้าวเหนียวยังไม่ละเอียดก็ตีกันคล่องดี แต่พอข้าวเหนียวเริ่มละเอียดจนกลายเป็นแป้งแล้วนี่สิ เหนียวหนึบติดไม้ตีแทบจะยกไม่ขึ้น แต่ก็สนุกดี หลังจากตำแป้งข้าวเหนียวจนได้ที่ดีแล้ว ก็จะยกลงมาให้พวกเราเด็กๆ ช่วยกันปั้นเป็นก้อนกลมๆ เอาไปคลุกงาบ้าง ถั่วแดงบ้าง หรือหัวไชเท้าขูดฝอยบ้าง เอาไว้ทานได้ทั้งของคาวของหวาน ช่วงปีใหม่ทานโอะโมจิจนหน้าดิฉันกลมบ็อกเป็นขนมโอะโมจินี้เลย แต่ก็อร่อยดีเหมือนกัน ความจริงโอะโมจินี้ใช่ว่าจะมีแต่ความอร่อยนะ อันตรายก็มีมากเหมือนกัน เพราะความเหนียวหนึบของแป้งนี่เอง ที่ทุกๆ ปีจะมีข่าวออกมาว่า มีคนแก่ๆ ทานโอะโมจิติดคอตายเป็นจำนวนไม่น้อยทีเดียว

                วันปีใหม่ นอกจากจะเป็นช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองอย่างสนุกสนาน  ได้ทานอาหารอร่อยๆ แปลกๆ  ได้ไปวัดแล้ว ที่สำคัญ ถ้าใครเป็นเด็กก็จะได้รับแจกเงินขวัญถุง นี่คงจะคล้ายๆ อั่งเปาของคนจีนที่แจกลูกหลานในวันตรุษจีน แต่ที่ญี่ปุ่นเรียกว่า โอะโทชิดามะ ( お年玉  Otoshidama –お年: otoshi แปลว่า ปี ส่วน : dama คือ เหรียญ ในที่นี้ก็คือ เงินนั่นเอง ) จำนวนเงินโอะโทชิดามะที่แจกให้เด็ก ๆ ในครอบครัวนี้ จะแตกต่างกันไปแล้วแต่อายุของเด็ก และฐานะของแต่ละครอบครัว โดยเฉลี่ยก็มักจะให้กับเด็กชั้นประถมและมัธยมต้น ประมาณไม่เกิน 30,000 เยน (จำนวนเงินนี้เป็นอัตราที่นิยมให้กันในช่วงที่ดิฉันไปเรียนประมาณปี 1983 -1987 ) เด็กโข่งอย่างดิฉันก็ได้โอะโทชิดามะเหมือนกัน จากคุณลุงคุณป้าซากาโมโต้ที่ซัปโปโรส่งมาให้ 10,000 เยน ความจริงแล้วโอะโทชิดามะนี้แต่เดิมเป็นประเพณีการแลกปลี่ยนของขวัญในวันปีใหม่ของบรรดาชนชั้นขุนนางและนักรบในปลายสมัยมุโรมาจิ ( ปี 1336 – 1537 ) แล้วเลยนิยมแพร่หลายเปลี่ยนมาเป็นการให้เงินขวัญถุงแก่เด็กๆ ในวันปีใหม่ ในช่วงสมัยเมจิ หรือราวๆ 100 ปีมานี้  ดิฉันเองตอนอยู่เมืองไทย เติบโตมาในครอบครัวคนไทยแท้แต่โบราณ ไม่เคยได้อั่งเปาเลย มีแต่การรดน้ำดำหัวในวันสงกรานต์ พอมาเจอโอะโทชิดามะแบบญี่ปุ่นก็ให้รู้สึกแปลกใจเหมือนกัน แล้วก็เลยคิดว่า ความจริงญี่ปุ่นซึ่งถือตัวนักหนาว่าเป็นประเทศแรกที่เห็นดวงอาทิตย์ก่อนใครในโลกนี้ ทั้งยังคิดว่าประเทศของตัวเองนั้นเป็นประเทศของเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่และมีอารยธรรม แต่จริงๆ คือรับเอาวัฒนธรรมต่างๆมาจากจีนเป็นส่วนใหญ่นั่นเอง ลองตรองดูแล้วกันว่า ญี่ปุ่นกับจีนใครยิ่งใหญ่กว่ากัน (日本と中国とどちらがえらい ですか:Nihon to Chuugoku to dochira ga erai desu ka.)!!


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที