เทคนิคทำให้ชีวิตมีความสุขตลอดวัน"
นักวิทยาศาสตร์บอกเราว่าการที่คนเราสมัยนี้ชอบจิบเบียร์กินเหล้า หมกมุ่นเรื่องเพศ หรือ เสพยาเสพติด ก็เพราะกิจกรรมเหล่านี้จะไปกระตุ้นร่างกายของคนเราให้หลั่งสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า"เอนเดอร์ฟินส์" สารชนิดนี้เองที่ทำให้ร่างกายของคนเรามีความสุข รู้สึกโปร่งเบา สบายใจ ศ.นพ. ประเวศ วะสี เรียกสารชนิดนี้ว่า "สารแห่งความสุข"
แต่ทว่าความสุขที่เกิดจากอบายมุขเหล่านี้ เป็นความสุขเพียงชั่ววูบ ไม่ยั่งยืน (ความสุขทางเพศ แม้ว่าจะเป็นเรื่องธรรมดาของปุถุชน แต่ถ้าหากหมกมุ่นมัวเมา ก็ถือว่าเป็นอบายมุขอย่างหนึ่ง) มีโทษมากกว่าคุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาเสพติดเป็นสิ่งที่มีพิษภัย เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทำให้ผู้เสพตกเป็นทาสของมันตลอดไป คือ ขาดไม่ได้ และ ยิ่งเสพความสุขก็ยิ่งลดน้อยลง จนกลายเป็นทุกข์ถาวรมาแทนที่
ทำอย่างไรคนเราจึงจะสามารถมีความสุขได้ตลอดทั้งวันโดยไม่ต้องพึ่งพาสิ่งภายนอก พุทธศาสนามีวิธีการมากมายที่จะทำให้คนเราได้เข้าถึงความสุขที่แท้จริง แต่วันนี้เครือข่ายฯ ขอเสนอวิธีง่าย ๆ ที่ใคร ๆ ก็ทำได้ เป็นเทคนิคฝึกหายใจเพื่อสกัดสารเอนเดอร์ฟินส์ภายในร่างกายของท่านเอง โดยไม่ต้องไปพึ่งพาอบายมุขอีกต่อไป เป็นเคล็ดลับจากพระไตรปิฎก นำมาเสนอท่านดังต่อไปนี้
เคล็ดลับจากพระไตรปิฎก
ในพระไตรปิฎกอันเป็นแหล่งรวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้า หากท่านได้อ่านคำสอนเกี่ยวกับการฝึกสติด้วยลมหายใจ(อานาปานสติ) ท่านจะพบคำสอนกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่าหากคนเราสามารถฝึกตนเองให้สามารถรู้สึกว่าลมหายใจของตนเองมีการเข้าออกภายในร่างกายได้อย่างชัดเจน และ สามารถทำลมหายใจของตนให้ละเอียดประณีต ลมหายใจอันละเอียดอ่อนนั้นก็จะทำให้กายสังขารระงับ หรือพูดด้วยภาษาสมัยใหม่ คือ ร่างกายของผู้ฝึกจะเกิดความสุขอย่างประณีต รู้สึกโปร่งเบา สบายใจ (ร่างกายหลั่งสารเอนเดอร์ฟินส์) ดังจะขอยกพุทธพจน์บางตอนมาแสดงอ้างอิง ดังต่อไปนี้
"..ดูกรภิกษุทั้งหลาย นายช่างกลึงหรือลูกมือของนายช่างกลึงผู้ขยัน เมื่อชักเชือกกลึงยาว ก็รู้ชัดว่า เราชักยาวเมื่อชักเชือกกลึงสั้น ก็รู้ชัดว่า เราชักสั้น แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกันเมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น เมื่อหายใจ เข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลม ทั้งปวงหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดกองลมทั้งปวงหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลม ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขารหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขารหายใจเข้า "
(มหาสติปัฏฐานสูตร สุตตันต. เล่ม ๒ ข้อ ๒๗๔ )
ทำอย่างไรท่านจึงจะสามารถฝึกฝนตนเองจนสามารถรู้สึกถึงลมหายใจที่เข้าออกได้ชัดเจนราวกับรู้สึกว่ามีลูกสูบชักเข้าออกอยู่ในระบบหายใจของท่าน หายใจยาวก็รู้ว่าหายใจยาว หายใจสั้นก็รู้ว่าหายใจสั้น และ สามารถทำลมหายใจให้ละเอียดประณีต หากท่านทำได้ตามหลักข้างต้น ท่านก็จะพบกับความสุข คือ รู้สึกร่างกายสบาย โปร่งเบา (กายสังขารระงับ) เป็นความสุขที่ไม่ต้องไปพึ่งพาสิ่งภายนอก
และแน่นอน...หากท่านทำได้ตลอดทั้งวัน ร่างกายของท่านก็จะมีความสุขตลอดเวลา
ครับ..ต่อไปนี้คือเทคนิคการฝึกหายใจที่สามารถทำให้ท่านรู้สึกลมหายใจได้อย่างชัดเจน ท่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ปฏิบัติได้ง่าย สบายใจ ไม่ต้องมีพิธีรีตองแต่อย่างใด
ก. ขั้นฝึกหายใจ
๑. ทุกเช้า ฝึกควบคุมลมหายใจเพื่อเตรียมพร้อมที่จะดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข ตลอดวัน อย่างน้อยสัก ๑๐-๓๐ นาที
๒. จะฝึกท่านั่งหรือนอนก็ได้ ตามสบาย (ขอแนะนำให้ปฏิบัติท่านั่ง จะรู้สึก มั่นคงดีกว่า )
๓. ยิ้มน้อย ๆ อย่างมีความสุข
๔. ยกมือขวาขึ้นมารอที่ปลายจมูก
๔. หายใจเข้าลึก ๆ อย่างอ่อนโยน พร้อมกับเคลื่อนมือช้า ๆ จากปลายจมูกลงไปตามลำคอ ภาวนาในใจว่า "หายใจเข้า..เบา..บาง...ง " ในขณะที่เคลื่อนมือลง ไปให้จินตนาการสมมุติว่ามือของท่านกำลังนำพาลมหายใจอันละเอียดอ่อนตามมือไปเรื่อย ๆ เคลื่อนมือลงมาถึงหน้าอก และในที่สุดมือก็พาลมหายใจมาถึงที่สะดือ
๕. หายใจออกยาว ๆ อย่างผ่อนคลาย พร้อมกับเคลื่อนมือช้า ๆ จากสะดือขึ้นมา ภาวนาในใจว่า "หายใจออก สบาย..ย ใจ " ในขณะที่เคลื่อนมือขึ้นมา ให้จินตนาการสมมุติว่ามือของท่านกำลังนำพาลมหายใจอันละเอียดอ่อนตามขึ้นมาจากสะดือขึ้นมาถึงหน้าอกผ่านลำคอและในที่สุดก็พาลมหายใจออกมาที่ปลายจมูก จากนั้นให้จินตนาการว่าลมหายใจของท่านแผ่กระจายลมหายใจไปทุกทิศทาง อย่างไม่มีขอบเขต
๖. ให้เคลื่อนไหวมือพาลมหายใจเข้าออกอย่างนี้อย่างช้า ๆ (ขั้นที่๔-๕) กลับไปมา พยายามทำความรู้สึกว่าลมหายใจของท่านช่างมีความเบาบางละเอียดอ่อนจริงๆ และให้ศึกษาว่าเมื่อเราทำลมหายใจให้ละเอียดประณีตแล้วจะมีผลต่อร่างกายอย่างไรบ้าง
๗. หากท่านปฏิบัติได้ถูกต้อง ท่านจะรู้สึกปีติปราโมทย์ ร่างกายสงบระงับ มีความสุขกาย สุขใจ รู้สึกผ่อนคลาย ทำให้มีความพร้อมที่จะดำเนินชีวิตประจำวันด้วยความมั่นใจ
๘. หากท่านได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติ และ ต้องการจะขอบคุณใครสักคน ขอให้ท่านนึกถึงรอยยิ้มของพระพุทธองค์ เพราะเทคนิคเหล่านี้นำมาจากคำสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก
๙.หากท่านคิดจะตอบแทนคุณความดีของพระพุทธองค์ ท่านสามารถทำได้ ด้วยการช่วยกันศึกษาคำสอนของพระพุทธองค์โดยตรงจากพระไตรปิฎก แล้วนำไปปฏิบัติประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เพียงเท่านี้ก็ถือว่าได้เป็นการตอบแทนคุณความดีที่พระพุทธองค์ทรงพอใจ (ปฏิบัติบูชา)
๒. ขั้นประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
๑. ในขณะที่ประกอบกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ให้ท่านพยายามตามลมหายใจเข้าออกอย่างช้า ๆ ให้รู้สึกถึงลมหายใจเข้าออกของท่านได้อย่างชัดเจนเหมือนกับว่ากำลังมีสิ่งหนึ่งแล่นเข้าออกในทางเดินหายใจตลอดเวลา ยามใดที่ท่านรู้สึกว่าตามลมหายใจได้ไม่ชัด ให้ใช้มือเคลื่อนไหวช่วยนำลมหายใจสักเล็กน้อย ร่างกายจะก็สามารถรู้สึกถึงลมหายใจเข้าออกได้ทันที
1. ๒. ให้พยายามภาวนาในใจในขณะหายใจเข้าว่า "หายใจเข้าเบาบาง..ง" และ ในขณะหายใจออกว่า "หายใจออกสบาย..ยใจ" หากท่านสามารถควบคุมลมหายใจได้ตลอดทั้งวันเช่นนี้ ลมหายใจอันละเอียดอ่อนจะปรุงแต่งให้ร่างกายของท่านให้สงบระงับ ทำให้ท่านดำเนินชีวิตไปตลอดทั้งวันอย่างมีความสุข
๓. ยามใดที่ได้พบกับสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาเช่น ได้ยินได้พบเห็นสิ่งที่ไม่ชอบใจ ผิดหวัง เครียด กดดัน เบื่อหน่าย หรือมีสิ่งภายนอกมายั่วยุรบกวนจิตใจ ท่านจะรู้สึกตัวได้อย่างรวดเร็ว เพราะ ลมหายใจของท่านจะสั้น และ หยาบลง ร่างกายจะรู้สึกไม่สบายทันที ในการแก้ปัญหา ให้ท่านหายใจให้ลึก และละเอียดเบาบางที่สุด ท่านจะพบด้วยตนเองว่าการควบคุมลมหายใจจะช่วยให้ท่านสามารถที่จะควบคุมอารมณ์ของตนเองให้เป็นปรกติได้อย่างง่ายดาย ไม่ทุกข์ใจง่าย ๆ เหมือนแต่ก่อน
๔.ในการเกี่ยวข้องกับโลกภายนอก ท่านต้องพบปะผู้คน และ ได้รับอิทธิพลจากสิ่งกระตุ้นเร้าต่าง ๆ มากมายรอบตัว หากท่านไม่สำรวมระวัง ความทุกข์จะเข้ามาได้โดยง่ายทางหู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ ดังนั้นท่านจึงควรฝึกคิดมองโลกให้เป็นกุศล คือ มองอย่างฉลาด เกื้อกูลต่อสุขภาพจิต รู้จักคิด คิดเป็น ควบคู่ไปด้วย ท่านสามารถศึกษาวิธีคิดต่าง ๆ ได้จากบทความในเว็บไซต์แห่งนี้
๕.ขั้นตอนการปฏิบัติทั้งหมดที่แนะนำมานี้เป็นเพียงส่วนเล็กน้อยในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ยังมีสิ่งที่ท่านต้องเรียนรู้ด้านอื่นๆ อีกมาก เพื่อให้มีพัฒนาการที่ครบรอบด้าน ได้แก่ การใช้ชีวิตอย่างปรกติ มีพฤติกรรมทางสังคมที่ดี (ศีล) การฝึกฝนจิตใจให้มีสุขภาพจิตดี มีสมรรถภาพจิตดี สมควรแก่การงาน (สมาธิ) ฝึกคิดเป็น คิดถูกต้อง คิดเป็นกุศล ฝึกมองเห็นสภาวะที่เป็นจริงตามธรรมชาติ (ปัญญา) ดังนั้นท่านจึงควรศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมต่อไป ไม่ควรหยุดนิ่ง
ที่มา http://www.budpage.com/budlife.shtml
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที