สิริชัย

ผู้เขียน : สิริชัย

อัพเดท: 29 ส.ค. 2011 14.29 น. บทความนี้มีผู้ชม: 20186 ครั้ง

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน บทความนี้เป็นความตั้งใจของผม นายสิริชัย สกุลแพร่พาณิชย์ ที่ต้องการนำเสนอความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลกิจการ การบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายใน และ การตรวจสอบภายใน ต่อท่านผู้อ่านทุกท่านในรูปบทความที่มีชื่อว่า “CG…See you!”


ทำไมต้อง “กำกับดูแลกิจการ” ? (เดือนกรกฎาคม 2554)

                   สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน  บทความนี้เป็นความตั้งใจของผม นายสิริชัย สกุลแพร่พาณิชย์    ที่ต้องการนำเสนอความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลกิจการ การบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายใน และ      การตรวจสอบภายใน  ต่อท่านผู้อ่านทุกท่านในรูปบทความที่มีชื่อว่า “CG…See you!”  

 

                   สำหรับฉบับนี้เป็นฉบับแรก ซึ่งถือเป็นฉบับปฐมฤกษ์  จึงขอประเดิมนำเสนอบทความเรื่องแรกเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลกิจการ  ซึ่งถือได้ว่าเป็นภาพใหญ่หรือภาพกว้างของการบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายใน และการตรวจสอบภายใน  หรือกล่าวได้ว่า การบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายใน และการตรวจสอบภายในนั้น เป็นองค์ประกอบของการกำกับดูแลกิจการนั่นเอง

 

                   ก่อนอื่นขอให้ความหมายของคำว่า “การกำกับดูแลกิจการ” หรือในชื่อภาษาไทยอื่น เช่น “ธรรมรัฐ” “ธรรมาภิบาล” หรือ “บรรษัทภิบาล”  หรือในภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Corporate Governance” นั้น  ตามความหมายของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คือ ระบบที่จัดให้มีโครงสร้างและกระบวนการของความสัมพันธ์ระหว่างคณะกรรมการ ฝ่ายจัดการ และผู้ถือหุ้น เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน นำไปสู่ความเจริญเติบโตและเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นในระยะยาว โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียอื่น ซึ่งได้แก่ ลูกค้า พนักงาน คู่ค้า เจ้าหนี้ และชุมชนที่บริษัทตั้งอยู่ สังคม หรือภาครัฐ เป็นต้น

 

                  แล้วทำไมต้องมีการกำกับดูแลกิจการ ?  เป็นคำถามที่หลายท่านคงสงสัย… 

 

                  การกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance) หรือการกำกับดูแลกิจการที่ดี(Good Corporate Governance) นั้น มีความสำคัญต่อบริษัทจดทะเบียนหรือบริษัทมหาชนที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  เนื่องจากเป็นบริษัทที่ระดมทุนจากประชาชนมาใช้เป็นแหล่งเงินทุนในการดำเนินธุรกิจ  จึงมีผู้ถือหุ้นเป็นเจ้าของร่วมกัน  แต่ผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นเจ้าของกิจการก็ไม่ได้บริหารกิจการเอง แต่ได้แต่งตั้งกรรมการให้เป็นผู้บริหารกิจการแทน  จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีการกำกับดูแลกิจการเป็นระบบในการกำกับดูแล  เพื่อให้มั่นใจว่ากิจการได้ดำเนินไปเพื่อประโยชน์ในระยะยาวของผู้ถือหุ้น โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียอื่นประกอบด้วย อันจะนำมาซึ่งการเจริญเติบโตของบริษัทอย่างยั่งยืน

 

                   หากจะกล่าวถึง “ประโยชน์ของการกำกับดูแลกิจการที่ดี” ตามที่กำหนดไว้ใน www.cgthailand.org  ซึ่งเป็น website ของคณะกรรมการบรรษัทภิบาลแห่งชาติ ก็พอจะสรุปได้เป็น 4 ประเด็นดังนี้

 

1.    การกำกับดูแลกิจการที่ดีจะช่วยให้บริษัทมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล (Efficiency and Effectiveness)ในการดำเนินงานมากขึ้น  เนื่องจากการกำกับดูแลกิจการเป็นเครื่องมือช่วยตรวจสอบการทำงานด้านต่างๆ ขององค์กร  ซึ่งทำให้เกิดแนวทางในการเสนอข้อคิดเห็นให้กับองค์กรเพื่อปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงาน

 

2.    การกำกับดูแลกิจการที่ดีจะช่วยให้บริษัทมีความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) เนื่องจากบริษัทที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีจะทำให้เกิดรูปแบบกิจการที่เป็นที่ยอมรับว่า มีมาตรฐานการปฏิบัติงานที่เป็นสากล  ซึ่งจะทำให้มีคุณลักษณะที่เหนือกว่าผู้อื่น ทั้งในเรื่องกลยุทธ์และการจัดการ

 

3.    การกำกับดูแลกิจการที่ดีจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นแก่ผู้เกี่ยวข้อง (Stakeholders Confidence) ว่าบริษัทมีความโปร่งใสในการบริหารจัดการ ที่จะช่วยป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์จากกรรมการและฝ่ายจัดการ  กล่าวคือ  หากไม่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ผู้ที่เกี่ยวข้องก็ไม่อยากที่จะเสี่ยงกับบริษัท

 

4.  การกำกับดูแลกิจการที่ดีจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ถือหุ้น (Shareholder Values) นั่นคือ         การกำกับดูแลกิจการที่ดีจะช่วยสร้างความมั่นใจในการลงทุน  ส่งผลให้หุ้นที่นักลงทุนถืออยู่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น

 

               กล่าวโดยสรุปก็คือ การกำกับดูแลกิจการที่ดีแสดงให้เห็นถึงการมีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจต่อผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน  ผู้มีส่วนได้เสีย และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย  จึงกล่าวได้ว่าการกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นเครื่องมือเพื่อเพิ่มมูลค่าและส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัท  

 

               ที่กล่าวไปทั้งหมด ท่านผู้อ่านคงพอจะเห็นภาพแล้วนะครับ ว่าที่คนเค้าเรียกกันว่า “การกำกับดูแลกิจการ” หรือ “Corporate Governance” (บางคนเรียกย่อๆ ว่า CG) นั้นคืออะไร แล้วมันมีความสำคัญหรือมีประโยชน์อย่างไรกับบริษัทหรือองค์กรต่างๆ ของพวกท่านอย่างไร โดยเฉพาะบริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

               หากท่านผู้อ่านท่านใดต้องการหาความรู้เพิ่มเติมในเรื่องเกี่ยวกับ “การกำกับดูแลกิจการ” นั้น สามารถเข้าไปหาอ่านได้ที่ www.set.or.th ซึ่งเป็น website ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ในหัวข้อ “กฎเกณฑ์/การกำกับ”) หรือ www.cgthailand.org ซึ่งเป็น website ของคณะกรรมการบรรษัทภิบาลแห่งชาติ ตามที่กล่าวแล้วข้างต้น

 

สำหรับฉบับนี้คงพอเท่านี้ก่อน เดี๋ยวท่านผู้อ่านจะเครียดมากไปกับเนื้อหาในบทความนี้ ที่ค่อนข้างจะวิชาการไปสักหน่อย  จนไม่อยากอ่านต่อในฉบับหน้า…สำหรับฉบับหน้าจะเป็นบทความเรื่องใด ก็ขอให้ท่านผู้อ่านติดตามต่อในฉบับหน้าด้วยนะครับ


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที