ณัฐรัศ

ผู้เขียน : ณัฐรัศ

อัพเดท: 15 ก.พ. 2011 19.16 น. บทความนี้มีผู้ชม: 3413 ครั้ง

นวัตกรรมพลังงานในปัจจุบันมีส่วนในการรักษ์โลกได้อย่างไร


นวัตกรรมพลังงานรักษ์โลก

นวัตกรรมกับการเปลี่ยนแปลงของโลก : นวัตกรรมพลังงานรักษ์โลก

           

เป็นเวลานานนับศตวรรษกว่าที่มนุษย์จะตระหนักถึงความสำคัญของโลกและรู้ถึงความเสียหายที่ได้ก่อไว้กับโลกที่ใช้อยู่อาศัย  โลกรับผลกระทบจากน้ำมือมนุษย์และมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดโดยเริ่มตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา  ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ป่าไม้และเชื้อเพลิงถ่านหินจำนวนมหาศาลถูกนำมาเผาและถลุง หรือแปรรูปเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง โดยปราศจากความยั้งคิดถึงผลเสียที่จะมีต่อระบบนิเวศน์ทั้งทางบกและอากาศจากการทำลายป่า และการก่อก๊าซเรือนกระจกซึ่งก็คือสารคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงถ่านหิน  อย่างไรก็ตามสิ่งที่ร้ายไปกว่านั้นคือ การที่มนุษย์ละเลยไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควรต่อสารพิษต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกระบวนการเผาไหม้เชื้อเพลิง เช่น น้ำมันที่มีสารตะกั่วเจือปน  มิหนำซ้ำยังเพิกเฉยต่อก๊าซพิษที่ใช้ในกระบวนการอุตสาหกรรมซึ่งมักถูกลักลอบปล่อยออกมาทางอากาศอีกด้วย เช่น ฟลูออโรคาร์บอน อันเป็นสารที่ก่อให้เกิดสภาวะเรือนกระจกและเป็นตัวการสำคัญที่นำไปสู่ภาวะโลกร้อน  จึงอาจกล่าวได้ว่าการใช้พลังงานเชื้อเพลิงมีผลกระทบต่อโลกและเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อสมดุลและความเป็นไปของโลก

นับตั้งแต่ยุคอดีตจนถึงปัจจุบัน ป่าไม้ไม่เพียงผลิตออกซิเจนให้แก่สิ่งมีชีวิตบนโลก แต่ยังเป็นกลไกหลักในการดูดซับก๊าซเรือนกระจกไม่ให้มีมากจนเกินไป จึงเท่ากับว่ามีส่วนช่วยควบคุมอุณหภูมิบนโลกและปกป้องโลกจากสภาวะโลกร้อน  แม้กระนั้นป่าไม้ก็ยังถูกแพ้วถางเป็นจำนวนมากทั้งจากการบุกรุกเพื่อนำพื้นที่มาทำการเกษตรหรือแปรรูปเป็นที่ทำกิน และการนำไม้มาทำเป็นเชื้อเพลิงในภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรมขนาดย่อมโดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนาต่างๆ  ด้วยเหตุนี้ทรัพยากรป่าไม้จึงถูกทำลายและลดจำนวนลงไปมาก อย่างเช่นในประเทศไทยตั้งแต่อดีตเราตัดและนำไม้จากป่ามาทำฟืนและถ่าน เช่น ถ่านไม้โกงกางเพราะมีจุดเด่นตรงที่ให้ไฟแรง แต่ข้อเสียที่ตามมาคือ การทำลายระบบนิเวศน์ชายฝั่งและยังกระทบถึงพื้นที่ป่าชายเลนในประเทศอีกด้วย  แต่ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเล็งเห็นวิกฤตการณ์การขาดแคลนพลังงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันเนื่องมาจากความต้องการพลังงานด้านต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน ประกอบกับทรงเห็นถึงความสำคัญของป่าไม้ จึงเกิดโครงการพลังงานทดแทนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หนึ่งในนั้นคือ โครงการถ่านอัดแท่งซึ่งมีพระราชดำริให้วิจัยและพัฒนาขึ้นเพื่อทดแทนถ่านไม้จากธรรมชาติ

พระองค์ได้ก่อตั้งโครงการถ่านอัดแท่ง ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางเชื้อเพลิงที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและไม่เบียดเบียนธรรมชาติ โดยนำเอาวัชพืช เช่น ผักตบชวา และหญ้าคา หรือของเหลือทิ้งทางการเกษตรอื่นๆ อันได้แก่ ซังข้าวโพด  ซังข้าว หรือแกลบ มาใช้เป็นวัตถุดิบหลักสำหรับผลิตถ่านอัดแท่งเพื่อทดแทนการนำไม้จากป่ามาผลิตเป็นถ่านไม้ ซึ่งมีหลักการสำคัญคือ การนำของเหลือทิ้งทางการเกษตรหรือเศษวัชพืชมาอัดเป็นแท่งเชื้อเพลิง

ถ่านอัดแท่งนี้นอกจากจะลดอัตราการตัดไม้เพื่อนำมาเผาเป็นถ่านไม้แล้ว ยังช่วยลดหรือตัดพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ของเกษตรกรซึ่งก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศและก่อผลเสียต่อดินด้วย นั่นคือ พฤติกรรมการเผาทำลายตอซังข้าว  เนื่องจากข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ ดังนั้นในแต่ละปีจึงมีเกษตรกรเผาทำลายตอซังข้าวจำนวนมาก จนภาครัฐต้องออกมารณรงค์ขอความร่วมมือให้ยุติการเผาทำลาย เพราะไม่เพียงแต่เป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนจากการที่กลุ่มควันบดบังทัศนวิสัยแล้ว การเผาทำลายตอซังข้าวยังทำลายหน้าดินและยังก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจก ตัวการส่งเสริมให้โลกร้อนขึ้นด้วย

ถ่านอัดแท่งถือเป็นหนึ่งในนวัตกรรมด้านพลังงานเชื้อเพลิงที่ถูกวิจัยและปรับปรุงพัฒนาขึ้นมาจากถ่านไม้เพื่อตอบสนองความต้องการทางด้านพลังงานในรูปแบบหนึ่ง โดยมุ่งเน้นไปที่การไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นจากการนำสิ่งที่เหลือทิ้งในการเกษตรกลับมาใช้ใหม่อีกรอบหรือรีไซเคิล อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังมีนวัตกรรมพลังงานทดแทนอีกมากซึ่งจัดได้ว่าเป็นพลังงานสีเขียว คือ ไม่ก่อมลพิษและเป็นมิตรต่อโลก เช่น การใช้พลังงานแสงอาทิตย์แทนการเลือกใช้น้ำมันในเรือยอรช์พลังงานแสงอาทิตย์ หรือรถพลังลมอัดซึ่งเป็นการนำเอาอากาศไปกักเก็บไว้ในถังอัดแรงดันสูง และอากาศจะถูกปล่อยออกมาเพื่ออัดลูกสูบต่อเมื่อมีการขับเคลื่อนตัวรถ จึงปราศจากมลพิษเพราะเป็นรถที่ไม่ใช้น้ำมัน

ท้ายที่สุดหากมนุษย์ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงแนวความคิดหรือปฏิวัติมุมมองที่มีต่อโลกเสียใหม่ รวมทั้งไม่เริ่มปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์โลกและสภาพแวดล้อมให้แก่เยาวชนอย่างจริงจัง หวังพึ่งแต่เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ในการเยียวยาโลกที่โดนทำร้ายจากการกระทำต่างๆ ของมนุษย์  วันหนึ่งอาจสายเกินไปที่จะพิทักษ์รักษาโลกไว้ให้เป็นบ้านของชนรุ่นหลัง ไม่แน่ว่าการอพยพโยกย้ายไปอาศัยยังดาวดวงอื่นอาจไม่ใช่แค่นิยายวิทยาศาสตร์อีกต่อไป


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที