นวัตกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงโลก
หลายคนในที่นี่รู้จักโรคพิษสุนัขบ้า แต่จะมีสักกี่คนที่ทราบว่าโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนนั้นไม่ได้มีเพียงแต่โรคพิษ-สุนัขบ้าเท่านั้น หากแต่มีมากกว่า 50 โรคด้วยกัน
ในยุคสมัยของชาวอินคารูปปั้นดินเหนียวหลายรูปแสดงให้เห็นถึงการเกิดโรคระบาดที่ทำให้เกิดปุ่มปมทั่วตัว และในที่สุดมันก็กลับมาอุบัติซ้ำที่ประเทศเปรูและเอกวาดอร์ ชาวเมืองล้วนตื่นตระหนกเพราะคิดว่าเป็นการลงโทษจากสิ่งเหนือธรรมชาติ จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1885 นักศึกษาแพทย์ชาวเปรู “แดเนียล แคเรียน” ได้ยอมสละชีวิตตนเองโดยการฉีดเชื้อเข้าสู่ร่างกายและบันทึกอาการเจ็บป่วยของตนเองไว้ เพื่อพิสูจน์ให้ชาวโลกทราบว่าโรคประหลาดนี้เป็นโรคติดต่อ แต่ก็สุดสายป่านของการค้นคว้าในยุคสมัยนั้น ธรรมชาติมีกลไกเพื่อจัดระบบความสมดุลในตัวของมันเอง เรื่องราวถูกลืมเลือนไป แต่แล้วในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 มันก็กลับมาอีก ทหารหาญหลายนายเริ่มมีอาการป่วยของโรคร้ายจากอดีต หากแต่คราวนี้เราทราบแล้วว่า เหา! เป็นพาหะของโรคติดต่อนี้
บรรดาแพทย์และสัตว์แพทย์นำความรู้ที่ตนมีมาผนวกเข้าด้วยกัน ค่อยๆเรียนรู้ทีละนิดว่า นอกจากเหาแล้ว แมลงดูดเลือดอื่นๆ เช่น เห็บ หมัด หรือ แม้กระทั่ง ยุง ก็ตาม ล้วนแต่เป็นพาหะที่ทำให้เกิดโรคได้ทั้งสิ้น
เหล่านักวิทยาศาสตร์ต่างพากันเค้นสมองเพื่อต้นเหตุแห่งหายนะนั้น ในที่สุดกล้องจุลทรรศน์อิเลคครอน (Electron microscope) ก็ถือกำเนิดขึ้น จากการส่องผ่านตัวอย่างเนื้อเยื่อที่ได้มาจากผู้ป่วยจึงทำให้ทราบว่าต้นตอของโรคร้ายนั้นเกิดจากเชื้อแบคทีเรียแกรมลบที่อาศัยอยู่บนผิวของเม็ดเลือดแดง มีการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “บาร์-โทเนลลา” (Bartonella spp.)
น่าประหลาดที่ถึงแม้เราจะทราบว่ามันเป็นเชื้อแบคทีเรีย แต่มันกลับไม่เจริญเติบโตในอาหารเลี้ยงเชื้อชนิดที่ใช้กันในห้องปฏิบัติการทั่วไป จะทำเช่นไรดีหนอจึงจะสามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ ที่สำคัญ ต้องเร็ว เพื่อที่จะได้รักษาผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที มีปริศนาของขุมทรัพย์ทางความรู้ให้ต้องไขอีกเช่นเคย
ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการระดมพายุสมองเพื่อหาวิธีในการเพาะเชื้อบาร์โทเนลลาให้เติบโต และแล้วเราก็สามารถไขประตูปริศนาได้อีก 1 บาน เมื่อพบว่าเชื้อชนิดนี้สามารถเจริญเติบโตได้ในอาหารเลี้ยงเชื้อที่ผสมเลือดม้าหรือแกะซึ่งสกัดเอาไฟบรินออกแล้ว แต่กระนั้นวิธีการเพาะเชื้อก็ยังเป็นวิธีวินิจฉัยโรคแบบลุ่มๆดอนๆ เพราะถึงแม้ว่าจะพยายามประคบประหงมภายใต้สภาวะที่ควบคุมทั้งความชื้น อุณหภูมิและปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในตู้บ่มเชื้อ (Incubator) ก็ใช่ว่าเชื้อจะเจริญเติบโตอย่างงดงามในจานเพาะเชื้อ ต้องรอถึง 40 วัน แต่การเจริญเติบโตของเชื้อก็หาได้เป็นอย่างที่ใจคิดไม่ มันจึงถูกจัดอยู่ในกลุ่มแบคทีเรียที่เจริญได้ช้า
เป็นการเดินทางก้าวสำคัญอีกก้าวหลังจากที่เราทราบถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค คือ ทำให้เราทราบว่าสัตว์เลี้ยงตามบ้าน เช่น สุนัขและแมวที่มีปัญหาเห็บ-หมัด จะเป็นตัวกักโรค ซึ่งแพร่เชื้อมาสู่มนุษย์โดยการกัดหรือข่วน ในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์นั้นอาจจะมีเพียงอาการไข้โดยไม่ทราบสาเหตุร่วมกับการโตขึ้นของต่อมน้ำเหลืองใกล้บริเวณที่ได้รับบาดแผล แต่ถ้าหากเป็นเด็กเล็ก ผู้ป่วยติดแอลกอฮอล์ กลุ่มคนเร่ร่อน และ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ และผู้ติดเชิ้อเอดส์ จะแสดงอาการที่รุนแรงกว่านี้หลายเท่า
อาการในระดับรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้แก่ การเกิดเนื้องอกของหลอดเลือด ตับหรือม้ามโต ภาวะเยื่อบุหัวใจอักเสบ ความผิดปกติของระบบประสาท กลุ่มอาการจอตาและเส้นประสาทตาอักเสบ และ ภาวะเลือดติดเชื้อแบคทีเรีย
มีเสียงเสนอขึ้นมาว่า “ถ้าหากเราใช้วิธีทางซีรั่มวิทยาเข้ามาช่วยเล่า” นักวิจัยลองนำเลือดของผู้ป่วยไปปั่นเหวี่ยงด้วยเครื่องปั่นที่ใช้แรงเหวี่ยง 1,500 รอบต่อนาที จนเลือดแยกชั้นกัน แล้วจึงดูดเอาแต่ส่วนของซีรั่มซึ่งเป็นเหลวสีฟางข้าวที่แยกตัวอยู่ชั้นบนไปทำปฏิกิริยากับแอนติเจนซึ่งเป็นสารแปลกปลอมที่ได้จากเชื้อบาร์โทเนลลา พัฒนาไปจนถึงขั้นหากแอนติบอดีจากซีรั่มมีความจำเพาะต่อแอนติเจนของเชื้อบาร์โทเนลลา เมื่อส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ชนิดใช้แสงอัลตร้าไวโอเลตจะเห็นสีที่เรืองแสงออกมา
แต่ถึงแม้ว่านวัตกรรมทางการแพทย์จะก้าวหน้ามาถึงจุดนี้ แต่ก็ยังไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด เพราะการตรวจทางซีรั่มวิทยาสามารถบอกได้แค่เพียงว่าร่างกายเคยผ่านการสัมผัสกับเชื้อมาเท่านั้น ไม่สามารถบอกสถานการณ์การติดเชื้อในปัจจุบันได้ รวมทั้งไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นเชื้อบาร์โทเนลลาชนิด (Species) ใด และผลบวกที่ได้นั้นอาจเกิดจากการทำปฏิกิริยาข้ามสายพันธุ์ของเชื้อแบคทีเรียก็ได้
ขอบคุณมันสมองแห่งความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ชาติ ในที่สุดมนุษย์ก็สามารถประดิษฐ์นวัตกรรมที่เรียกว่า “เครื่องเทอร์โมไซเคลอร์” (Thermocycler) ได้เป็นผลสำเร็จ อุปกรณ์ชนิดนี้ทำให้เกิดปฎิกิริยาลูกโซ่โพลีเมอเรส (Polymerase chain reaction) ซึ่งการเลียนแบบกระบวนการในการเพิ่มจำนวนของยีน (Gene) ในตำแหน่งจำเพาะที่บ่งชี้ถึงเอกลักษณ์ของเชื้อบาร์โทเนลล่า ทำให้ปัจจุบันมีการค้นพบเชื้อบาร์โทเนลลาไม่ต่ำกว่า 30 ชนิด และ ชนิดล่าสุด คือ บาร์โทเนลลา ทาเมีย (Bartonella tamia) ซึ่งถูกค้นพบครั้งแรกที่จังหวัดขอนแก่น ในปี พ.ศ. 2551
จากการนำองค์ความรู้ที่ได้จากนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ข้างต้นไม่ว่าจะเป็นการใช้กล้องจุลทรรศน์อิเลคตรอน การเพาะบ่มเชื้อ การตรวจทางซีรั่มวิทยา และจากการใช้เครื่องเทอร์โมไซเคลอร์ ทำให้เราทราบว่านอกจากสุนัขและแมวจะเป็นตัวกักโรคแล้ว ยังพบเชื้อบาร์โทเนลลาในสัตว์ชนิดอื่นได้อีกด้วย เช่น กระต่าย หนู ม้า สัตว์ป่ากระเพาะรวม โลมา วาฬ และเต่าทะเล
กระทรวงสาธารณสุขของสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาประกาศว่า หากผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องประสงค์จะเลี้ยงแมว แมวนั้นจะต้องมีสุขภาพที่แข็งแรงปลอดหมัด และ ล้างมือทุกครั้งเมื่อสัมผัสสัตว์หรือสิ่งคัดหลั่งที่ออกมาจากตัวสัตว์
สำหรับประเทศไทยซึ่งอยู่ในภูมิประเทศเขตร้อนชื้น อันเป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การขยายพันธุ์ของเหล่าแมลงพาหะเป็นอย่างยิ่ง การดูแลสุขาภิบาลสัตว์เลี้ยงโดยการกำจัดเห็บ-หมัดเป็นประจำเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการควบคุมโรคเพื่อให้โลกเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที
- ตอนที่ 1 : นวัตกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงโลก