นวัตกรรมสื่อรัก...เปลี่ยนโลก...เปลี่ยนชีวิต
บทที่ 1 นวัตกรรมสื่อรัก
ระยะทางจากไทยไปญี่ปุ่น ประมาณ 4,600 กิโลเมตร เดินทางด้วยเครื่องบินใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง โทรศัพท์ทางไกลข้ามประเทศ กด 001 + รหัสประเทศญี่ปุ่น (81) +
หรือเข้าไปในสไกป์ (Skype) โปรแกรมคุยโทรศัพท์ผ่านอินเตอร์เน็ต รวมเวลาที่ข้อมูลทุกอย่างปรากฏขึ้นหน้าจอคอมพิวเตอร์ 0.48 วินาที หลังจากพิมพ์คำสำคัญลงไปไม่กี่ตัวอักษร
หากนำเรื่องทั้งหมดไปเล่าให้คุณยายข้างบ้านฟัง ท่านอาจประหลาดใจ เพราะตลอดชีวิตของคุณยายขาดเกินไม่ถึงสิบปีจะครบหนึ่งศตวรรษนี้ หลายสิ่งหลายอย่างต้องรอคอย ต้องใช้เวลานานนับเดือนกว่าจะนั่งเรือข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากจีนแผ่นดินใหญ่เพื่อมายังแผ่นดินสยาม สมัยคุณตาจีบคุณยายก็มีเพียงจดหมายสื่อรักที่ต้องรอข้ามวันข้ามคืนกว่าถ้อยคำรักจะเดินทางไปถึง จะติดต่อกันเร็วที่สุดก็ต้องใช้โทรเลข แต่วันนี้เด็กรุ่นใหม่แทบไม่มีใครเคยเห็นเครื่องโทรเลขเสียแล้ว เพียงแค่มีไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronics mail) การติดต่อก็ง่ายแค่ปลายนิ้วสัมผัส หรือเพียงแค่กดปุ่มโทรศัพท์เคลื่อนที่เพียงปุ่มเดียวก็ได้ยินเสียงกัน บางครั้งก็ส่งเพลง ภาพถ่ายคลายความคิด หรือบอกรักกันได้เพียงชั่ววินาที เทคโนโลยีจึงทำให้ประหยัดเวลามากขึ้น แต่บางสิ่งบางอย่างโดยเฉพาะความรักก็อาจต้องการเวลามากกว่าสิ่งอื่นใด
ความรักอาจต้องใช้เวลาแต่ความรักไม่มีพรหมแดน ด้วยเหตุนี้นิยายรักไร้พรมแดนของหลานสาวคุณยายจึงเริ่มต้นขึ้น เมื่อหนุ่มแดนปลาดิบมาเป็นครูสอนภาษาญี่ปุ่นที่เมืองไทย และได้พบรักกับลูกศิษย์สาวหน้าตาจิ้มลิ้มซึ่งเป็นพี่สาวข้างบ้านของฉันเอง แม้ว่าคุณครูหนุ่มจะบินกลับไปญี่ปุ่นแต่หัวใจไม่ได้โบยบินตามไปด้วย ตลอดระยะเวลานานเป็นปีที่หนุ่มแดนอาทิตย์อุทัยยังติดต่อกับสาวไทยผ่านโลกไร้พรหมแดน ผ่านทางสไกป์ (Skype) บ้าง ทาง MSN บ้าง แล้วความรักของหนุ่มสาวก็เริ่มสุกงอม พี่สาวแสนสวยที่ฉันเห็นตั้งแต่เด็กตกลงแต่งงานและย้ายถิ่นฐานไปตั้งรกรากที่ญีปุ่น
คุณยายได้แต่ถามฉันว่า ญี่ปุ่นไกลแค่ไหน ไปกี่วันจะถึง ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ฉันจึงต้องพึ่งพาโปรแกรมค้นหา (serch engine) ชื่อดังอย่าง Google และนึกขอบคุณเซอร์เก บริน (Sergey Brain) และ ลาร์รี่เพจ (Larry Page) ที่พัฒนาโปรแกรมค้นหายอดนิยมนี้ขึ้นมา...
บทที่ 2 นวัตกรรมเปลี่ยนโลก
จากนิยายรักข้ามพรมแดนของพี่สาวข้างบ้าน ทำให้ได้คิดว่า ไม่ว่าเราจะได้ตระหนักหรือไม่ ทุกวันนี้ตั้งแต่ตื่นเช้าเปิดฝักบัวอาบน้ำจนถึงใช้เครื่องควบคุมระยะไกล (Remote controller) เปิดเครื่องปรับอากาศแล้วปิดไฟเข้านอน เราก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่า นวัตกรรม ตลอดเวลา มากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป
นวัตกรรม หมายถึง สิ่งใหม่ที่เกิดจากการใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ที่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม... นิยามโดยย่อจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หน่วยงานในกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2546 อนุมัติให้จัดตั้งหน่วยงานนี้ขึ้น เนื่องจากเห็นว่า นวัตกรรมจะเป็นคำตอบของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในศตวรรษที่ 21
ความจริงแล้วโลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในการพัฒนาทางเศรษฐกิจนั้น ได้เปลี่ยนผ่านจากสังคมอุตสาหกรรม (Industrial Society) ไปสู่สังคมฐานความรู้ (Knowledge Based Society) คือ สังคมแห่งการสร้างสรรค์และการเรียนรู้ตลอดชีวิต จนมีคำกล่าวของผู้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งการศึกษาด้านการจัดการ ปีเตอร์ เฟอร์ดินานด์ ดรักเกอร์ (Peter Ferdinand Drucker) ว่า ธุรกิจมีเพียงสองเรื่องที่ต้องทำ นั่นคือ การตลาดและ นวัตกรรม (Business has only two functions: marketing and innovation.)
ด้วยเหตุนี้ หลายประเทศทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับนวัตกรรมอย่างมาก และบางครั้งมีผู้ยกย่องถึงขั้นที่ว่าเป็นทางรอดหนึ่งเดียวในโลกยุคนี้ เช่น ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2541 ติดลบร้อยละ 6.9 ผลจากวิกฤติต้มยำกุ้ง แต่กลับพลิกฟื้นอย่างมหัศจรรย์ในระหว่างปี พ.ศ. 2542 2543 คือมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจถึงร้อยละ 9 นอกจากนี้ หลายปีที่ผ่านมารัฐบาลเกาหลีใต้ยังได้ระดมสมองจากนักคิด นักวิชาการ และนักธุรกิจทั่วประเทศ จนได้ข้อสรุปร่วมกันว่า นวัตกรรม คือหนทางเดียวที่จะนำพาเศรษฐกิจของประเทศไปสู่อนาคตที่สดใสและจีรังยั่งยืน อีกทั้งทำให้ประเทศไม่ต้องอิงกระแสโลกจนไม่อาจพึ่งพาตนเองได้ ส่วนสิงคโปร์ ประเทศผู้นำด้านนวัตกรรมและความสามารถในการแข่งขันก็ได้ทุ่มงบประมาณ 12.38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลงทุนด้านงานวิจัยในช่วง 5 ปีข้างหน้า หวังผลักดันนวัตกรรมเป็นทัพหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศให้สอดคล้องกับเป้าหมายการมุ่งพัฒนาสู่การเป็น "ประเทศชาญฉลาด" ภายในปี พ.ศ. 2558 ตาม "Intelligent Nation 2015 10-year master plan"
ขณะที่ประเทศเจ้าของสมญา Miracle Japanก็ได้ให้ความสำคัญกับนวัตกรรม โดยเฉพาะนวัตกรรมสีเขียว ซึ่งมีการจัดนิทรรศการสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นเป็นประจำทุกปี เรียกว่า งานอีโค โปรดักต์ (Eco Products Exhibition) สิ่งที่แสดงในงานคือผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่อุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน กระดาษและวัสดุอื่นที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ รถไฮบริด (Hybrid car) เป็นต้น ทั้งนี้ บริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นจะนำผลงานทางนวัตกรรมมาสาธิตให้ผู้เข้าชมได้ร่วมทดลองด้วย ซึ่งผู้เข้าชมนิทรรศการส่วนใหญ่เป็นนักเรียนนักศึกษาจากทั่วประเทศ จึงถือเป็นการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์นวัตกรรมสีเขียวให้เติบโตงอกงามขึ้นในจิตใจเยาวชนซึ่งจะเป็นอนาคตของประเทศต่อไป...
บทที่ 3 นวัตกรรมเปลี่ยนชีวิต
นอกจากนวัตกรรมจะนำพาเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ให้เจริญก้าวหน้าดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น องค์ความรู้ใหม่ที่มนุษยชาติคิดค้นขึ้นนี้ก็ยังเป็นเสมือนเครื่องมือต่อรองชีวิตกับพระเจ้า เช่น นวัตกรรมทางการแพทย์ที่เรียกว่า สเต็มเซลล์ (Stem Cell) หรือเซลล์ต้นกำเนิด คือเซลล์อ่อนที่พร้อมจะเจริญเติบโต แบ่งตัวเองขึ้นมาใหม่ และเปลี่ยนแปลงเพื่อไปทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่ง จึงมีการคิดค้นวิธีการเก็บเซลล์ต้นกำเนิดไว้เป็นอะไหล่มนุษย์ในยามป่วยไข้ เพราะเป็นความหวังใหม่ของวงการแพทย์ที่จะรักษาโรคร้ายแรงและโรคเรื้อรังหลายชนิดให้หายขาดได้ เช่น ธาลัสซีเมีย ลิวคิเมีย อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน อัมพาตไขสันหลัง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เบาหวาน เป็นต้น ซึ่งหากทำได้สำเร็จก็อาจเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่พลิกโฉมหน้าของมนุษยชาติก็เป็นได้
เหนือสิ่งอื่นใดที่คนไทยควรภาคภูมิใจนั่นคือนวัตกรรมที่พลิกฟื้นผืนแผ่นดินไทยให้เป็นแผ่นดินทอง ด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงเห็นความเดือดร้อนของราษฎรไทยที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก และประสบปัญหากับดินเปรี้ยวหรือดินเป็นกรด จึงทรงมีแนวพระราชดำริตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 ให้ศึกษา โครงการแกล้งดิน ซึ่งจะขังน้ำไว้ในพื้นที่จนกระทั่งเกิดปฏิกิริยาเคมีทำให้ดินเปรี้ยวจัดจนถึงที่สุด แล้วจึงระบายน้ำออกและปรับสภาพฟื้นฟูดินด้วยปูนขาว จนกระทั่งดินมีสภาพดีพอที่จะใช้ในการเพาะปลูกได้ ด้วยเหตุนี้สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ได้มีมติให้เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็น พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้วันที่ 5 ตุลาคม ของทุกปี เป็น วันนวัตกรรมแห่งชาติ เนื่องจากเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสร็จฯ ทอดพระเนตรการดำเนินโครงการศูนย์พิกุลทองฯ และได้มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับโครงการแกล้งดินอย่างเป็นทางการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงเป็นแบบอย่างของผู้สร้างสรรค์ นวัตกรรมเพื่อผู้อื่นอย่างแท้จริง...
บทส่งท้าย นวัตกรรมสื่อรัก...เปลี่ยนโลก...เปลี่ยนชีวิต
นวัตกรรมคือสิ่งใหม่ที่เปลี่ยนแปลงโลกได้ แต่จะทำให้โลกเปลี่ยนไปในทิศทางใดนั้น เราคงเห็นบทเรียนจากพลังนิวเคลียร์ที่เป็นได้ทั้งพลังงานไฟฟ้าส่องสว่างให้แก่โลก ขณะเดียวกันก็สามารถแปรเปลี่ยนเป็นระเบิดปรมาณูที่นำความมืดมนมาสู่มวลมนุษยชาติ...หากเราใช้นวัตกรรมสื่อรักถึงกันได้ เพื่อให้ทุกคนเห็นคุณค่าของชีวิตผู้อื่น เอื้อเฟื้อและแบ่งปันให้สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เมื่อนั้นนวัตกรรมก็จะเปลี่ยนโลก...เปลี่ยนชีวิตมนุษย์ไปสู่หนทางแห่งความสงบสุขร่วมกัน
____________________________________________
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที