มันดาลา

ผู้เขียน : มันดาลา

อัพเดท: 14 ก.พ. 2011 10.14 น. บทความนี้มีผู้ชม: 4131 ครั้ง

ในความสว่างยังมีความมืด
ในสีขาวยังมีสีดำ
เหรียญหนึ่งเหรียญก็ยังมีสองด้าน
เช่นนั้นแล้ว....นวัตกรรมก็ย่อมต้องมีสองด้านเสมอ


นวัตกรรมกับการเปลี่ยนแปลงโลก1

นวัตกรรมสองด้าน......กับการเปลี่ยนแปลงของโลก   >>>โดย..มันดาลา<<<

 

      หากนับย้อนหลังไป ก่อนปี .. 1990 ถือเป็นห้วงเวลาแรกที่ผู้คนฝั่งตะวันตกเริ่มสบตากับโลกยุคใหม่ โลกยุคใหม่....ที่ไม่ได้ก่อกำเนิดจากกลไกการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ผ่านการหลอมละลายของหินลาวาที่ร้อนระอุ กว่าหมื่นพันองศาเซลเซียสภายใต้เปลือกโลก หรือการประทุของภูเขาไฟขนาดใหญ่ เหมือนยุคหลายล้านปีที่ไดโนเสาร์ยังคงเป็นใหญ่ภายในผืนพิภพแห่งนี้แต่อย่างใด หากแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์เป็นสำคัญ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้แทรกซึมและแผ่ขยายไปในทุกระดับของสังคมมนุษย์ โดยมีพื้นฐานสำคัญมาจากความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เกิดเป็นปรากฏการณ์การหลอมรวม และถ่ายโอนความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม จากผู้คนอีกซีกโลกไปยังอีกซีกโลก แม้แต่กำแพงทางธรรมชาติที่เคยเป็นป้อมปราการสำคัญคอยป้องกันกระแสการเปลี่ยนแปลงนี้ก็ยังเกินกำลังที่จะทัดทาน และหากผู้เขียนจะกล่าวว่าโลกยุคใหม่นี้เกิดมาจากการกระทำของนักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยีก็เห็นจะไม่ผิดเพื้ยนจากความจริงนัก เพราะท่านทั้งหลายเหล่านี้เป็นผู้คิดค้นและประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมีมาก่อน หรือดัดแปลง ปรับปรุง และพัฒนาสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ทันสมัยและสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หรือที่คนในปี 2000 มันเรียกมันว่า นวัตกรรม นั่นเอง

นวัฒกรรม (Innovation) เป็นคำสั้น ที่พวกเราทุกคนคงจะเคยได้ยิน และคุ้นชินกับคำนี้มาไม่น้อยแล้ว ว่าแต่จะมีสักกี่คนที่จะเข้าใจหรือทราบในความหมายจริงๆ ของคำสั้นๆ คำนี้ “นวัตกรรม” มีรากศัพท์มาจากคำว่า innovare ซึ่งเป็นคำในภาษาลาติน แปล่า การทำสิ่งใหม่ขึ้นมา หากในทางเศรษฐศาสตร์จะหมายถึง การนำแนวคิดใหม่ๆ หรือการใช้ประโยชน์จากสิ่งเดิมที่มีอยู่ในรูปแบบใหม่ที่แตกต่างออกไป เพื่อทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรืออีกนัยคือ การเลือกทำในสิ่งที่ใหม่หรือแตกต่างจากคนอื่น จนเกิดเป็นการเปลี่ยนแปลง (change) อันจะนำมาสู่โอกาส (opportunity) และยังสามารถถ่ายทอดแนวคิดที่เป็นประโยชน์นี้สู่สังคมได้ด้วย ซึ่งในภาษาไทยเราจะใช้คำว่า “นวกรรม” ต่อมาพบว่าให้ความหมายไม่ตรงเท่าไหร่ จึงมีการเปลี่ยนมาใช้คำใหม่ว่า นวัตกรรม มาจนถึงปัจจุบัน และได้ให้ความหมายของคำไว้ว่า คือการนำสิ่งใหม่ๆ เข้ามาเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมจากวิธีการดั้งเดิมที่ทำอยู่ เพื่อให้สามารถใช้ได้ผลดียิ่งขึ้น โดยบุคคลอันกระทำ หรือนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ มาใช้ก็จะเรียกว่า นวัตกร (Innovator) ซึ่งหากไม่เขียนถึงบุคคลอันเป็นต้นแบบของแนวคิดนี้ ผู้อ่านก็อาจจะมีความเคลือบแคลงสงสัย ว่าสิ่งที่ผู้เขียนได้เขียนมานี้น่าเชื่อถือ มากน้อยแค่ไหน จึงจะขอนำคำกล่าวของท่านเหล่านั้นมาเขียนพอสังเขปสักสองสามท่านดังนี้ มอร์ตัน (Morton, J.A.) ได้ให้คำจำกัดความของ นวัตกรรม ว่า เป็นการทำใหม่ขื้นอีกครั้ง (Renewal) โดยปรับปรุง เสริมแต่งและพัฒนาศักยภาพของคน หน่วยงาน และองค์กรนั้นๆ ทอมัส ฮิวช์ (Thomas Hughes) กล่าวว่า เป็นการนำเอาวิธีการใหม่ซึ่งมีความแตกต่างไปจากเดิมที่เคยทำมา ซึ่งจากการทดลองและพัฒนาเป็นขั้นๆ แล้วจึงนำมาปฏิบัติจริงในที่สุด จรูญ วงศ์สายัณห์ ได้แสดงความหมายของนวัตกรรม ไว้ว่า คือ ความพยายามใด ก็ตาม จะเป็นผลสำเร็จหรือไม่ก็ตาม โดยเป็นไปเพื่อจะนำสิ่งใหม่ๆ เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการเดิมที่เคยทำอยู่ หรือ สิ่งที่ได้นำความเปลี่ยนแปลงใหม่เข้ามาใช้ได้ผลสำเร็จและแผ่กว้างออกไป จนกลายเป็นการปฏิบัติอย่างธรรมดาสามัญ ซึ่งหากกล่าวจากมุมของผู้เขียนเองแล้วก็ถือว่าเห็นด้วยและชื่นชมกับความเป็น นวัตกรรมที่ ท่านเหล่านั้นกล่าวกันมาแล้วอยู่ไม่น้อย

ด้วยเหตุผลที่ว่า นวัฒกรรมได้เปลี่ยนแปลงโลกให้กลายเป็นโลกยุคใหม่ ที่มีความรวดเร็วทางด้านข้อมูลข่าวสาร ความสะดวกสบายในชีวิตเริ่มมีมากยิ่งขึ้น ทุกสิ่งอย่างดูสำเร็จพร้อมเสิร์ฟ พร้อมใช้สำหรับคนทุกคนยิ่งกว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป การเรียนหรือการศึกษาได้ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แต่ภายในห้องเรียนอีกแล้ว เพราะความรู้หรือศาสตร์แทบทุกแขนงสามารถหาดูหาเรียนได้จากอินเตอร์เนต เราจะไม่ต้องหอบตำราหรือหนังสือที่หนักอึ้งพกติดตามตัวไปให้ลำบากกายาอีกแล้ว เพราะหนังสือทั้งหลายจะถูกเก็บในรูป E-books ไม่เว้นแม้แต่การผูกมิตรหรือสร้างความสัมพันธ์ระหว่างอีกฝ่ายที่อยู่ห่างกันเกือบซีกโลกก็ยังสามารถทำได้อย่างง่ายได้ในพริบตาผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่าง facebooks หรือ Hi5 เจ้ารถไฟฉึกกะฉักที่กินถ่านหินวิ่งอยู่บนพื้นดิน ก็กลายร่างเป็นรถไฟฟ้าอยู่ตามหานครหรือเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกไม่เว้นกระทั่งกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทย สร้างความสะดวกสบายในการเดินทางให้กับหมู่มวลชนคนกรุงอย่างเราๆ ท่าน ๆ ด้วย แถมยังช่วยแบ่งเบาภาระการทำงานของรถเมล์และพนักงาน

ขสมก.อีกต่างหาก นวัตกรรมยังเกี่ยวข้องแม้กระทั่งเรื่องความสวยความงาม ใครหุ่นไม่เพรียว คางแหลม หน้าเหลี่ยม จมูกบี้ ฟันเหยิน ศัลยกรรมสามารถช่วยได้หายห่วง รับรองว่าหนูหิ่นหรือนางซินก็สามารถเป็นเจ้าหญิงผู้เลอโฉมได้ภายในชาตินี้ ไม่ต้องรอถึงชาติหน้ากันแล้ว แม้แต่การประกอบธุรกิจค้าขาย ซึ่งแต่ก่อนพ่อค้าแม่ขายจำเป็นจะต้องมีพื้นที่หน้าร้าน มีสาขาเยอะแยะ และอาศัยโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ที่ล้วนต้องใช้งบประมาณการเงินพอสมควร ถึงเป็นข้อจำกัดของคนธรรมดาที่มีไอเดียบรรเจิดแต่ติดที่มีทรัพย์น้อยหลายๆ คนต้องพับเก็บความฝันที่จะมีธุรกิจเป็นของตัวเองเอาไว้ก่อนเพราะติดปัญหาเรื่องทุน ก็ยังสามารถเปิดร้านเล็กๆ ของตัวเองได้ผ่านทางการขายแบบใหม่ที่เรียกว่า E-commerce  ยิ่งไปกว่านั้นแม้แต่แสงอาทิตย์ที่แผดเผาร้อนแรงหรือสายลมที่อ่อนไหวก็สามารถเปลี่ยนรูปเป็นพลังงานได้อย่างเหลือเชื่อ จากที่ผู้เขียนบรรยายมานี้ แทบจะเรียกได้ว่า นวัตกรรมเดินคู่มากับการเปลี่ยนแปลงของโลกไปในทางสู่ความทันสมัย และพรั่งพร้อมด้วยเทคโนโลยี และความเจริญ จนดูจะไม่เห็นข้อเสียจากการที่โลกได้เปลี่ยนแปลงอันเป็นผลสืบเนื่องจากนวัตกรรมเลย ทุกสิ่งอย่างดูดี ดูงาม เติมเต็มส่วนที่ขาดหรือบกพร่องและยังทำลายขีดจำกัดในการใช้ชีวิตของมนุษย์ในรูปแบบเดิมๆ ได้อย่างลงตัว สร้างความเจริญ มั่งคั่งทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม แต่หากเรามองผ่านซอกหลืบเล็ก ของม่านแห่งนวัตกรรมเข้าไปภายในแล้ว ก็อาจจะพบกับอีกแง่มุมที่อาจไม่ได้สวยหรูนักก็เป็นได้ เหมือนกับที่ผู้เขียนเองทั้งที่ใจหนึ่งก็ยังคิดชื่นชมและปราบปลื้มกับเจ้านวัตกรรม แต่อีกเศษเสี่ยวเล็ก ทางความคิดของก็ให้บังเกิดปมขัดแย้งเล็ก ก่อตัวเป็นคำถามขึ้นภายในใจตลอดเวลาว่า “การเปลี่ยนแปลงของโลกในทุกๆ ด้านอันเกิดจาก ตัวนวัตกรรมนั้นให้ประโยชน์สุขล้วนๆ กับมวลมนุษย์และโลกใบนี้จริงหรือ? แล้วใครหรืออะไรบ้างที่ได้ประโยชน์    ใครหรืออะไรบ้างที่ต้องเสียประโยชน์จากนวัตกรรม?”

ยิ่งนวัตกรรมทางเทคโนโลยีก่อให้เกิดเจริญทางด้านวัตถุมากมายเท่าไหร่ ความเป็นตัวตนและรากเง้าทางวัฒนธรรมของเราก็ยิ่งถูกลืมเลือน และกลืนหายไปจากสังคมมากขึ้นเท่านั้น ผู้คนนับแสนล้านคนต้องดิ้นรนแก่งแย่งเพื่อให้อยู่รอดภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดจากนวัตกรรม หรือจากการนำเอานวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ให้สร้างความเจริญให้แก่ตนเองและพวกพ้องโดยไม่ใส่ใจถึงผลกระทบที่จะตามมา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ในระบบอุตสาหกรรมที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้เจริญและพัฒนาขึ้น โดยการผลิตสินค้าที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมามากมาย พร้อมๆ กับการผลิตมลภาวะออกสู่สิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย ดังจะเห็นจากปัญหาสุขภาพของผู้คนในชุมชนที่อยู่ใกล้กับเขตโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โรคร้ายใหม่ สามารถเกิดขึ้นและแพร่กระจายภายในชุมชน พืชและสัตว์เองแม้ไม่มีส่วนในการใช้นวัตกรรม ก็ยังต้องถูกคุกคามและได้รับผลกระทบจากปัญหานี้เช่นกัน ขณะที่มนุษย์ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตสุขสบายมากขึ้น จนเกิดการเปลี่ยนแปลงขยับขยายความเป็นมหานครมากขึ้นนี้ มีพืชและสัตว์จำนวนไม่น้อยที่ไม่ยินดีกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่เกิดจากนวัตกรรมของมนุษย์ กลับเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ จนต้องล้มตาย และสูญพันธุ์ในที่สุด โลกที่เปลี่ยนแปลงไปตามวิถีแห่งนวัตกรรมย่อมทำให้วิถีชีวิตของผู้คนบนโลกเปลี่ยนแปลงเพื่อสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงไปที่เกิดขึ้น ในยุคที่ทุกอย่างถูกผลิตขึ้นต้องสะดวกสบายรวดเร็ว (ready to use) อาหารก็ต้อง (ready to eat) พร้อมกินพร้อมใช้และพร้อมทิ้งในเวลาเดียวกัน ขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นจากการอุปโภคบริโภคมีมากมายก่ายกอง และเชื่อว่าจะเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้ ตราบเท่าที่ผู้คนยังต้องกินและต้องใช้ แม้จะปัจจุบันจะมีกลุ่มคนหรือองค์กรเล็ก ๆ ริเริ่มผลิตสินค้าและบริการที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ที่ให้ประโยชน์กับมนุษย์และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อพยายามแก้ไขหรือบรรเทาปัญหานี้แต่ก็ยังเป็นการแก้ปัญหาที่จำกัดอยู่ในวงแคบ เพราะสินค้าและบริการเหล่านี้ยังมีราคาแพง และเข้าถึงได้ยากอยู่ดี โลกปัจจุบันได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการสื่อสารและระบบฐานข้อมูลที่ทันสมัยมาอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลที่เป็นเอกสารเกือบทุกอย่างถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นระบบออนไลน์ทั้งหมด ทำให้ลดความยุ่งยากและขั้นตอนในการดำเนินงานแบบเก่าๆ และสามารถลดจำนวนบุคลากรในการทำงานจำนวนมาก คิดไปแล้วก็ประหยัดทั้งเงินและเวลาได้อย่างมาก แต่เราๆ ท่าน จะฉุกคิดกันบ้างไหมว่า นานแค่ไหนแล้วที่คุณไม่ได้เจอหน้าพูดคุยทักทายกับเพื่อนรวมงานแผนกอื่น ? หรือ คุณคุยกับพวกเค้าครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ ? และยิ่งน่ากลัวไปกว่านั้น คนบางคนเลือกที่จะมีเพื่อนเยอะในโลกสังคมออนไลน์มากกว่าที่จะมีแค่เพื่อนแท้สักคน และคนบางคนเลือกที่จะเกาะติดอยู่กับหน้าจอโทรศัทพ์มือถือจนลืมที่จะเกาะแขนคนที่เดินอยู่ข้างๆ คุณ ในประเทศไทยเอง นวัตกรรมทางการสื่อสารที่ดูออกจะรวดเร็วจนเกินไปในสายตาของผู้เขียน ได้พัดพาเอากลุ่มเม็ดฝนของวัฒนธรรมจากต่างชาติเข้ามาตกกระหน่ำ เกิดเป็นกระแสแห่งธารวัฒนธรรมนอก ไหลบ่าไปทั่วผืนแผ่นดิน เราใช้ทุกอย่างหมือนที่ชาติตะวันตกใช้ เรากินทุกอย่างเหมือนที่ชาติตะวันตกกิน เราทำทุกอย่างเหมือนที่ชาติตะวันตกทำ และเราพยายามที่จะเป็นทุกอย่างให้เหมือนกับชาติตะวันตกเป็น และในที่สุดตัวผู้เขียนเองรู้สึกว่าใครหลายคนอาจจะหลงลืมแล้วว่าตัวตนของเราเป็นใคร...และเรามีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ประณีตอ่อนช้อย มีเสน่ห์และงดงามเพียงใด

แต่ด้วยประการทั้งปวง ทุกสิ่งทุกอย่างน่าจะคลี่คลายได้และไม่เป็นปัญหาถ้าเหล่านวัตกรหรือผู้คิดค้นนวัตกรรม จะรังสรรค์นวัตกรรมขึ้นมาโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานความจำเป็นและความพอเพียง แลเป็นไปเพื่อการแก้ปัญหาไม่ได้สร้างปัญหา และท้ายที่สุดทั้งผู้ใช้นวัตกรรมและตัวนวัตกรเอง ก็ควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีระบบหรือกลไกบางอย่าง ที่เป็นกรอบคอยควบคุมให้ทั้งสองฟากฝั่งของผู้สร้างและผู้ใช้ สร้างสรรค์และใช้นวัตกรรม อย่างความถูกต้อง ดีงามและหรือเกิดปัญหาในน้อยที่สุด ซึ่งในมุมมองของผู้เขียนเห็นว่าเราต้องมีตัว “นวัตธรรม” หรือธรรมมะ นั่นเองที่น่าจะเป็นตัวคู่ขนานไปกับนวัตกรรม เพื่อให้นวัตกรรมสามารถขับเคลื่อนและนำพาโลกของเราให้เปลี่ยนแปลงไปอย่างถูกทิศและตรงทาง


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที