วิณัฐวรา

ผู้เขียน : วิณัฐวรา

อัพเดท: 08 ก.พ. 2011 13.50 น. บทความนี้มีผู้ชม: 2534 ครั้ง

นวัตกรรมกำลังทำตัวเป็นฆาตรกร!


ไอที หรือ กลียุค?

 ไอที หรือ กลียุค?

             การเป็นปรปักษ์เริ่มก่อตัวขึ้นในสังคมมนุษย์อย่างช้าๆ   นับตั้งแต่ได้มีการประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมต่างๆ ขึ้นมาขึ้นมาบนโลก    สังคมมนุษย์ก็เริ่มถูกเฉือนด้วยด้ามมีดแห่งอารยธรรมไอทีอย่างเยือกเย็น  เกิดเป็นรอยแยกของสังคมที่เริ่มแผ่ขยายออกกว้างขึ้น กว้างขึ้น  และกว้างขึ้นเรื่อยๆ  ยิ่งนับวันคมมีดของนวัตกรรมไอทีก็ยิ่งสร้างบาดแผลล้ำลึก   ใบมีดแห่งความก้าวหน้าทางนวัตกรรมเทคโนโลยีค่อยๆ เฉือนลงบนการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างช้าๆ และเลือดเย็น   เกิดเป็นช่องว่างแห่งความร้าวฉานของสัตว์สังคมเยี่ยงมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงมิได้
 
             นวัตกรรมที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันถูกสร้างมาจากมันสมองของนักวิทยาศาสตร์ผู้ปราดเปรื่องในอดีต   ผ่านการกลั่นกรองกระบวนการคิดขั้นสุดยอด    เพื่อสรรค์สร้างสิ่งที่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์    อีกทั้งยังเป็นการช่วยทุ่มแรง  ย่นระยะเวลาในการสูญเสียกำลังกายให้สั้นลง   นวัตกรรมในอดีตนั้นจึงถือได้ว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์สมัยนั้นโดยปริยาย    หากลองมองย้อนกลับไปยังยุคที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งยิ่งใหญ่   นั่นคือยุคแห่งการปฏิวัติอุสาหกรรม   เมื่อเจมส์  วัตต์ ได้คิดค้นประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำ  เครื่องทอผ้า เป็นผลสำเร็จ     นับตั้งแต่นั้นการผลิตเพื่อบริโภคในครัวเรือนก็ถูกแปรสภาพการเป็นการผลิตเพื่อการค้าขาย   เพื่ออุตสาหกรรมระหว่างแคว้น  เมืองต่างๆ  และท้ายที่สุดก็กลายเป็นอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ     ความเจริญก้าวหน้าของนวัตกรรมเป็นตัวกระตุ้นให้เศรษฐกิจมีการขับเคลื่อนอย่างรุนแรง   จนในที่สุดจึงเกิดลัทธิจักรวรรดินิยมขึ้น  เมื่อการปฏิวัติอุตสาหกรรมเริ่มสร้างรายได้และกำไรอันน่ายั่วน้ำลายให้กับประเทศผู้ที่มีศักยภาพในการประดิษฐ์เครื่องจักรให้ก่อเกิดเป็นผลผลิตและสินค้า    สิ่งเหล่านี้สามารถใช้เป็นอำนาจในการต่อรองทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศคู่ค้าได้และความหิวกระหายในการแสวงหาวัตถุดิบที่จะนำมาผลิตเป็นสินค้าก็เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น   การขยายฐานการผลิตเริ่มคืบคลานเข้ามาสู่ดินแดนอันห่างไกล   จากยุโรปมาถึงแอฟริกา  เอเชีย   และออสเตรเลียในทีสุด  

            การล่าอาณานิคมเป็นไปอย่างดุเดือด    ประเทศมหาอำนาจต่างหิวกระหายดุจหมาป่าล่าเนื้อเตรียมกระโดดเข้าขย้ำเหยื่อ     ประเทศถ่อยวิทยาการในภูมิภาคคนผิวดำและผิวเหลืองต่างก็หนีไม่พ้นเงื้อมมือของประเทศมหาอำนาจทั้งหลายในทวีปยุโรป    มีการเข้าแทรกซึมอย่างแนบเนียนผ่านการเข้าถึงด้วยวิธีการอันละม่อมโดยการเผยแพร่ศาสนา   การศึกษา  หรือแม้กระทั่งวัฒนธรรม   และตัวการสำคัญของหายนะอันเป็นสาเหตุรอยร้าวทางสังคมนั่นก็คือ  “การเผยแพร่นวัตกรรมและเทคโนโลยี”    เมื่อเกิดแนวคิดและองค์ความรู้ทางนวัตกรรมใหม่ๆ   อุบายอันแยบยลที่สุดในการยึดครองอาณาจักรก็เริ่มต้นขึ้น    การขอเข้าประเทศด้วยการอ้างว่าต้องการเผยแพร่นวัตกรรมสมัยใหม่ถือเป็นกลยุทธ์ที่ประเทศผู้ล่าอาณานิคมใช้กันแทบทั้งสิ้น        การแสร้งทำเป็นผู้ใจบุญโอบอ้อมอารีย์ราวกับว่าอยากเห็นประเทศด้อยพัฒนามีโอกาสได้เข้าถึงซึ่งความทันสมัยของเทคโนโลยีนั้นเป็นการสร้างความตายใจก่อนที่จะเข้ามาสูบวัตถุดิบ  ทรัพยากรทางธรรมชาติ  และปัจจัยการผลิตต่างๆ กลับไปยังประเทศของตน

            แม้ว่าปัจจุบันการล่าอาณานิคมจะสิ้นสุดลงแล้วแต่การครอบงำทางอารยธรรมยังคงไม่หยุดนิ่ง  สิ่งนี้ยังคงดำเนินต่อมาเรื่อยๆ  ราวกับว่ามันเป็นอมตะไปแล้ว    การข่มกันทางเทคโนโลยีนวัตกรรมได้กลายมาเป็นสงครามเย็นที่แม้จะปราศจากการนองเลือดเช่นอดีต    แต่กลับสร้างผลกระทบที่รุนแรงยิ่งกว่าการตีรันฟันแทงกันในสงครามเสียอีก   ดูจากผิวเผินแล้วแทบจะไม่ปรากฏผลกระทบใดๆ แต่หากลองพิจารณาดูอย่างละเอียดถี่ถ้วนจะพบว่าสังคมที่เรากำลังอาศัยอยู่นั้นกำลังถูกแผลบาดทะยักกัดกินเนื้อเยื่ออย่างไร้ซึ่งความปราณี    ความเจ็บปวดจากรอยแผลที่ว่านี้ทำให้ผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเริ่มก่อการกบฏขึ้นภายในใจโดยที่เขาเหล่านั้นแทบจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ากำลังแบ่งแยกขั้วความทันสมัยและความล้าสมัยออกจากกันและกัน   เป็นการแบ่งระดับชั้นยิ่งกว่าน้ำแบ่งตัวจากน้ำมันเสียอีก    เป็นการแบ่งความแตกต่างที่สร้างความร้าวฉานให้กับสังคมมนุษย์อย่างหาที่สุดไม่ได้  

            นับตั้งแต่เกิดคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ไอที   อารยธรรมอิเล็กทรอนิคก็เริ่มก่อร่างสร้างตัวขึ้น   นวัตกรรมที่เกิดวิวัฒนาการหลังจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมยังคงดำเนินต่อมาเรื่อยๆ  และยังไม่เกิดการสะดุดตัวแต่อย่างใด  จากการคิดค้นและประดิษฐ์เพื่อชดเชยสิ่งที่ขาดหาย   กลายมาเป็นการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการ  จากนั้นก็กลายมาเป็นการคิดค้นเพื่อความสะดวกสบาย  และกลายมาเป็นการคิดค้นเพื่อแฟชั่นหรือกระแสความนิยมในที่สุด    ผู้คนในสังคมที่เคยเสาะแสวงหาเทคโนโลยีไอทีมาเพื่อประโยชน์ในการทำงานก็กลายเป็นหามาเพื่อประทับบารมีและเป็นเครื่องสยบความใคร่   และสิ่งของบางอย่างทั้งที่ตัวเราเองรู้ทั้งรู้ว่าสิ่งนั้นมิได้ก่อให้เกิดประโยชน์มากสักเท่าใดนักในชีวิต    แต่เพราะการกลัวถูกดูถูก  การกลัวตกรุ่น  การกลัวเป็นคนล้าสมัย   ทำให้คนในสังคมบางส่วนต้องทำตัวเป็นเสือชีต้าร์วิ่งไล่ตามนวัตกรรมไอทีด้วยความเร็วแบบติดปีก   ไม่ว่าจะมีการประดิษฐ์เทคโนโลยีไอทีใดๆ ขึ้นมาใหม่บนโลก   คนกลุ่มนี้ก็จะต้องเป็นสิ่งมีชีวิตพวกแรกที่ได้สัมผัส สูดดม และยลโฉม   สังคมจึงเหมือนถูกผ่าแบ่งออกเป็นหลายๆ ซีก   เพราะในความเป็นจริงแล้วไม่ได้มีแค่คนล้ำสมัยกับล้าสมัยเพียงเท่านั้น  แต่ยังสามารถแบ่งแยกย่อยออกเป็น    คนทันสมัย  คนตามสมัย  หรือแม้กระทั่งคนกึ่งทันสมัยกึ่งล้าสมัย    แม้ในการดำรงชีวิตประจำวันเราอาจจะไม่สามารถแบ่งคนแต่ละกลุ่มได้อย่างชัดเจนมากนัก   แต่เราสามารถรับรู้ได้จากการสังเกตด้วยตัวของเราเอง  เรามักจะมองว่าตนเองอยู่ในระดับที่ทันสมัยและก้าวไปไกลมากกว่าคนอื่นในสังคม   อย่าคิดแม้แต่จะปฏิเสธว่าตัวเราเองไม่ได้เป็นหนึ่งในคนที่เหยียดหยามคนที่ใช้มือถือราคาถูกว่าเรา    อย่าปากแข็งบอกว่าเราไม่ได้ยิ้มเยาะเวลาเห็นที่ใช้คอมพิวเตอร์ไม่เป็น    และอย่าโกหกว่าเราไม่ได้มองด้วยหางตาเวลามีคนกำลังใช้เทคโนโลยีอย่างไม่ถูกวิธี   สิ่งเหล่านี้เป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติของคนเราที่จะต้องพยายามทำให้ตนเองเหนือกว่าคนอื่นบางสิ่งบางอย่างอาจจะแพงเกินความสามารถที่เราจะซื้อได้ด้วยเงินสดก้อนใหญ่เพียงก้อนเดียว     เราก็ต้องดั้นด้นใช้ความพยายามในการผ่อนจ่ายรายเดือน   นี่หรือคือสิ่งที่เรียกว่านวัตกรรมไอทีกำลังทำให้สังคมดีขึ้น  หรือไอทีกำลังรับบทบาทเป็นมีดสองคม  ด้านหนึ่งปลอกเอาความเจริญเข้ามาสู่สังคม    แต่อีกด้านหนึ่งเฉือนวิถีชีวิตที่เคยเรียบง่ายของคนให้ขาดออกเป็นวิ่นๆ    และด้วยเหตุผลนี้เองที่ทำให้คนบางคนเลือกที่จะหยุด    การหยุดในที่นี้เป็นการหยุดอหังการคิดว่าตนเองต้องล้ำยุคล้ำสมัย   แต่เป็นการหยุดคิดว่าเราไม่จำเป็นที่จะต้องตามให้เทคโนโลยีไอทีให้ทันจนเกินความพอเหมาะพอดี    การยอมที่จะให้คนอื่นนิยามเราว่าเป็นคนล้าสมัย    อาจจะเป็นการยอมรับในการอยู่อย่างพอเพียง   การอยู่โดยอพึ่งพานวัตกรรมด้านไอทีให้น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้   เพราะที่ผ่านมานับล้านๆปี  คนเราก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีไอทีใดๆ เลยด้วยซ้ำไป

             บางทีการที่เราวิ่งตามจนหมดแรงแล้วก็อาจจะทำให้เราตระหนักได้ว่า  จริงๆ แล้วเรากำลังวิ่งไล่ตามความว่างเปล่า   ล้ำสมัยแล้วจะเป็นอย่างไร  มีอุปกรณ์ไฮเทคโนโลยีแล้วจะเป็นอย่างไร   ต้องใช้เงินมหาศาลแลกกับความบันเทิงเพียงชั่ววูบถึงขั้นนั้นเลยหรือ     คุ้มหรือไม่กับการแสร้งทำเป็นคนล้ำยุคทั้งๆที่ก็ไม่ใช่ตัวตนของเรา   หากเสียงแห่งความทรมานภายในใจกำลังตะโกนกระแทกออกมาปาวๆ ว่า “หยุด”  ก็คงสมควรแก่เวลาแล้วที่เราจะต้องนั่งคิดทบทวนว่าเท่าที่ผ่านมาความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้สร้างผลดีหรือผลเสียกับตัวเรามากน้อยเพียงใดแล้ว    หากเราสามารถตอบตนเองได้ว่าเราควรจะแสวงหาและบริโภคแต่สิ่งที่เราจำเป็นต้องใช้จริงๆ  เทคโนโลยีไอทีจะเป็นสิ่งที่สร้างคุณค่าให้แก่การดำรงชีวิตของเราอย่างสมบูรณ์แบบ    แต่เมื่อใดก็ตามที่เราบริโภคสิ่งเหล่านี้เกินความจำเป็นก็จะทำให้เทคโนโลยีไอทีกลายเป็นผลเสียนานัปการ

            เทคโนโลยีที่สร้างขึ้นแทบทุกชิ้นล้วนมีเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ในการประดิษฐ์แทบทั้งสิ้นทั้งนี้ทั้งนั้นก็อยู่ที่วิจารณญาณของผู้ใช้แล้วว่าจะสามารถเล็งเห็นถึงประโยชน์การใช้งานของเทคโนโลยีแต่ละชิ้นอย่างไรและในด้านใด     ด้วยเหตุนี้ควรจะคำนึงถึงประโยชน์การใช้งานสูงสุดทั้งต่อตนเองและสังคม


 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที