สุทธินันท์

ผู้เขียน : สุทธินันท์

อัพเดท: 08 ก.พ. 2011 11.27 น. บทความนี้มีผู้ชม: 4813 ครั้ง

ท่ามกลางความวุ่นวายในสังคมที่ทุกคนต่างใฝ่หาความสุขสบายให้กับตนเอง และท่ามกลางความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของโลกใบนี้ที่รุดหน้าไปอย่างไร้ขีดจำกัด


ความคิดของมนุษย์... ฤๅจักสู้ความเป็นไปแห่งธรรมชาติ



        ท่ามกลางความวุ่นวายในสังคมที่ทุกคนต่างใฝ่หาความสุขสบายให้กับตนเอง และท่ามกลางความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของโลกใบนี้ที่รุดหน้าไปอย่างไร้ขีดจำกัด แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ยังคงต้องอยู่ประจำใจคน ไม่ควรหลุดลอยไปตามกระแสแห่งยุคโลกาภิวัตน์คือ “สติ” สิ่งที่เรียกว่า สติ นั้น คือความรู้สึกตัวภายในจิตใจของคนที่อาศัยอยู่ในสังคม เป็นสิ่งที่เปรียบเสมือนนวัตกรรมทางความคิด ที่ไม่ว่าจะกล่าวถึงครั้งใด จะเป็นคนในยุคสมัยไหน หรือ โลกจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใด ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การปฏิบัติ และพึงมีอยู่ในชีวิตประจำวันเสมอ
 
       ในปัจจุบัน โลกใบนี้ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่มากมายทั่วทุกมุมโลกในเวลาเพียงชั่วขณะ แต่สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นนั้น มีทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และเกิดขึ้นโดยมนุษย์ ซึ่งมีความสัมพันธ์กันอย่างเป็นเหตุเป็นผล กล่าวคือ หลายสิ่งหลายอย่างที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเป็นผลกระทบมาจากพฤติกรรมของมนุษย์เอง เช่น การตัดไม้ทำลายป่า หรือ ใช้สิ่งของอย่างฟุ่มเฟือย ไม่รักษา จนเป็นเหตุให้เกิด ภาวะโลกร้อน หรือ ภัยทางธรรมชาติต่างๆ ซึ่งเกิดมาจากสาเหตุแห่งความขาดสติในการดำรงชีวิตของมนุษย์ในโลก ที่ใช้ชีวิตอยู่อย่างสุขสบาย คำนึงถึงแต่ความสุขส่วนตนเท่านั้น อาจเรียกได้ว่า มีสติในแบบผิดๆก็ได้ เพราะเป็นสติแบบที่มุ่งไปในทางที่ผิด คือมีความลุ่มหลงปะปนอยู่ในสติด้วย ลุ่มหลงในสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ถูกเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปตามกาลสมัย เพื่อให้มีรูปแบบ และคุณสมบัติที่มาอำนวยความสะดวก และรองรับความต้องการของบุคคลเหล่านี้ ดังนั้นแล้ว จึงอาจกล่าวได้ว่า สิ่งที่เป็นภัยจากธรรมชาติที่สร้างความเดือดร้อนต่อมนุษย์ ก็มาจากปัจจัยสำคัญของต้นเหตุอย่างน้ำมือของมนุษย์ด้วยกันเองทั้งนั้น ในทางกลับกันหากเกิดภัยทางธรรมชาติ  ที่เป็นเพราะธรรมชาติจริงๆ ก็เพื่อให้เป็นไปตามกฏแห่งวัฏจักรของธรรมชาติ คงไม่มีสิ่งใดจะอยู่ยงคงกระพันไปได้ตลอดชั่วกาลนาน ไม่ได้มีเจตนาที่จะใฝ่หาความสุขให้กับตนเองเช่นเดียวกับมนุษย์ เพราะแม้แต่โลกเอง ก็คงต้องมีวันแตกดับไป เพียงแต่ยังไม่ถึงเวลาเท่านั้น แล้วจะนับประสาอะไรกับเวลาแห่งชีวิตมนุษย์ที่วันหนึ่งๆผ่านไปอย่างรวดเร็ว ทั้งหมดของช่วงชีวิตหากเปรียบแล้ว ก็เป็นเพียงเศษเสี้ยวของชีวิตของโลก และจักรวาลที่มีมายาวนานหลายล้านปี ดังนั้น การใช้ชีวิตอยู่ในทุกขณะ ควรมีสติตั้งมั่นอยู่เสมอ ควรสร้างสิ่งที่ดีงามประดับโลกใบนี้เอาไว้ ควรปฏิบัติ และดำรงตนอยู่บนครรลองแห่งศีลธรรมอันดีงาม อยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ และธรรมชาติอย่างสันติสุข ด้วยการธำรงคุณค่าของธรรมชาติ และสังคมเอาไว้อยู่อย่างสม่ำเสมอ 

       บางคนอาจคิดว่า “ในโลกใบนี้ ไม่มีอะไรที่มนุษย์ทำไม่ได้” แต่แท้จริงแล้ว ความคิดนี้เป็นความคิดที่ผิดอย่างมหันต์ แม้ว่าในปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีจะก้าวหน้าจนดูสะดวกสบายไปเสียทุกอย่าง จนอาจจะทำได้ทุกๆอย่างจริงอย่างที่บางคนคิด แต่ที่ว่าผิดอย่างมหันต์นั้น เป็นเพราะว่า ความคิดนี้ผิดไปจากการความมีสตินึกรู้ที่จะดูแลสังคม แสดงถึงการนึกถึงประโยชน์ของตนเป็นใหญ่ ปรารถนาอยากให้สิ่งที่ตนเองคิด เป็นไปตามที่ต้องการ จนอาจมองข้ามธรรมชาติ และโลกที่เคยดำรงอยู่อย่างสงบ และสันติสุขก่อนที่จะเกิดมนุษย์ขึ้นมาเสียอีก โดยสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อความสะดวกสบายของมนุษย์นั้น คือความเปลี่ยนแปลงในโลก ครั้งใหญ่ ฉะนั้น จึงต้องตระหนักถึงความเป็นอยู่ของธรรมชาติบ้าง เพราะการที่มีมนุษย์เกิดขึ้นนั้น ไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีสิทธิใดๆจะสร้าง หรือ คิดค้นนวัตกรรมทางวัตถุต่างๆให้บังเกิดขึ้นได้ แต่ควรรู้จักความพอดี ที่จะสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์กับตนเองอย่างรู้จักพอประมาณ ไม่เบียดเบียนความเป็นธรรมชาติ แต่กลับควรต้องดูแลรักษาเอาไว้ เพราะทรัพยากรจากธรรมชาติ ก็จะเป็นสิ่งตอบแทนที่มีค่า และเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์เป็นอย่างมาก ดังนั้น ทุกคนจึงควรมีนวัตกรรมทางความคิดที่ว่า “มนุษย์ทำไม่ได้        ทุกอย่าง เพราะเลือกทำแต่สิ่งที่ดีๆ เพื่อโลกใบนี้”


       สิ่งที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติของโลกนั้น หากเกิดขึ้น และส่งผลเสียต่อมนุษย์กลับบ้างแล้ว คงเป็นเรื่องยากที่มนุษย์จะรับมือและแก้ไขได้ทั้งหมด ดังจะเห็นได้จาก เวลาที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ บางครั้งมนุษย์ก็ไม่สามารถต้านทาน หรือหยุดยั้งได้ แม้แต่นวัตกรรมทางเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ใดๆ ก็ไม่อาจช่วยเหลือชีวิตหรือ รักษาทรัพย์สินใดๆเอาไว้ได้ สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องพิสูจน์ที่ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า นวัตกรรมทางเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ใดๆที่นักวิทยาศาสตร์ หรือผู้มีความรู้ ความสามารถคนใดประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมานั้น  ก็คงไม่อาจเทียบได้กับความสำคัญของ “นวัตกรรมทางความคิด” อย่างความมีสติแห่งการตั้งมั่นในความดีภายในจิตใจของคน ซึ่งถ้าหากมีการปฎิบัติมาอยู่ตลอดเวลานั้น ก็จะเป็นการป้องกันไม่ให้ภัยเหล่านี้เกิดขึ้นได้เป็นแน่ เพราะจะมีจิตสำนึกที่จะไม่ทำลายธรรมชาติ หรือถึงแม้ว่าจะต้องเกิดเหตุขึ้นมาจริงๆ ผู้ที่มีสติ ก็ย่อมเป็นผู้รอดชีวิต เป็นผู้ที่สามารถรักษาทรัพย์สินของตนไว้ได้มากกว่าผู้ที่ขาดสติ ถึงแม้ว่าความมีสติ จะเป็นหลักธรรมคำสอนที่ถูกสืบทอดมาเป็นเวลาช้านาน ซึ่งไม่ว่าในปัจจุบันโลกจะเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใด            ก็ตาม แต่หลักธรรมที่เป็นนวัตกรรมทางความคิดนี้ จะยังคงเป็นสิ่งที่สอนให้มนุษย์มีคุณธรรมที่จะดำเนินชีวิตไปได้อย่างมีความสุขควบคู่ไปกับธรรมชาติที่ดำรงอยู่อย่างเจริญงอกงามเช่นเดียวกับชีวิตมนุษย์

          วันเวลาที่ล่วงเลยผ่านไปในชีวิตของมนุษย์นั้น มีสิ่งต่างๆเปลี่ยนแปลงไปมากมาย โดยเฉพาะโลกที่มนุษย์กำลังอาศัยอยู่ใบนี้ เพราะมนุษย์คิดค้นนวัตกรรมทางวัตถุต่างๆ เพื่อสร้างความสะดวกสบายให้กับตนเอง โดยลืมนึกถึงความเป็นสงบสุขของธรรมชาติและโลก ดังนั้น มนุษย์ทุกคนจึงควรมีนวัตกรรมที่สำคัญยิ่งกว่า คือนวัตกรรมทางความคิด อย่างการมีสติ ตระหนักรู้อยู่ประจำใจ โดยคำนึงถึงความเป็นส่วนรวม และสิ่งที่พึงปฏิบัติอย่างถูกต้องในชีวิตประจำวันอยู่เสมอ หากทุกคนคิดและปฏิบัติได้เช่นนี้ มนุษย์และธรรมชาติก็จะยังคงเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันได้อย่างสันติสุขตลอดไป

“ตราบใด...ผองมนุษย์ยังรู้คิด
รู้ถูกผิดจิตสำนึกฝึกใฝ่หา
“สติ” รู้ความเปลี่ยนแปลงทุกเวลา
ตราบนั้น...ทั่วโลกาสุขนิรันดร์”
         

สุทธินันท์ อติกานต์สกุล
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทพศิรินทร์


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที