ชญาพัฒน์

ผู้เขียน : ชญาพัฒน์

อัพเดท: 24 ม.ค. 2011 09.51 น. บทความนี้มีผู้ชม: 5550 ครั้ง

นวัตกรรมอยู่รอบๆ ตัวเรา จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเราไปแล้ว แต่บางครั้งเราก็มองอะไรเพียงด้านเดียว ไม่สามารถใช้นวัตกรรมต่างๆ ให้เกิดความสัมฤทธิ์มากพอ ถึงเวลาเเล้วหรือยัง ?ที่เราจะมารู้จักกับนวัตกรรมให้ดีพอ


นวัตกรรมกับโลกในยุคโลกาภิวัฒน์

นวัตกรรมกับการเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัฒน์

 

       ฉันคือสิ่งใหม่ แต่ฉันก็ไม่ใช่การขจัด หรือการล้มล้างสิ่งเก่าไปหมด สมัยก่อนที่เธอยังไม่มีฉันเธอคงลำบากน่าดู ... เพราะเหตุนี้ ”ฉันถูกสร้างมาไว้เพื่อเธอ”

       ฉันเป็นทั้งผลิตภัณฑ์ เป็นทั้งกระบวนการ และเป็นทั้งการจัดการ

ตื่นมาตอนเช้าเธอเดินเข้ามาหาฉัน ให้ฉันไปส่งเธอตามสถานที่ต่างๆ บางคนก็ให้ฉันไปส่งที่โรงเรียน บางคนให้ไปส่งที่ทำงาน บางคนนั่งฟังเพลงกับฉัน บางคนกินข้าวกับฉัน บางคนชอบหลับเวลาที่อยู่กับฉัน กิจกรรมมากมายที่เราทำด้วยกัน จำได้หรือเปล่า?

                ตอนที่เธอทำงาน ฉันก็เป็นเพื่อนคู่ใจของเธอ  เป็นแสงสว่างให้เธอบ้าง พัดความเย็นให้เธอบ้าง ให้ฉันช่วยในการทุ่นแรงกายบ้าง ทุ่นแรงสมองบ้าง แต่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดฉันสามารถทำได้คล่องแคล่วไม่แพ้ใคร

                ไม่ว่าจะเป็นตอนที่เธอสุข หรือทุกข์ใจฉันก็ไม่เคยทอดทิ้งเธอ ฉันยังคอยเป็นเพื่อนเธอเสมอ คอยบรรเทาความทุกข์ เพิ่มพูนความสุข และนันทนาการให้ความบันเทิงเพลิดเพลินแก่เธอ

       เวลาเธอหิว ฉันจะเป็นเซเว่นอีเลฟเว่นให้กับเธอ ต้ม ผัด แกง ทอด อบ นึ่ง ปิ้ง ฉันทำได้หมด ฉันนี้แหละแม่ครัวมือเอก

ฉันยังจะช่วยสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคล ไม่ว่าเพื่อนของเธอจะอยู่ไกลสักเพียงใดเธอก็ยังเห็นหน้ากับเขา ได้พูดคุยกับเขา หรือส่งข้อความไปหาเขาได้ เธอไม่ต้องกังวล ฉันจะคอยเป็นตัวกลางในการประสานงานให้

เรียกได้ว่าฉันแทรกตัวอยู่ในทุกอณูของโลกใบนี้ ไม่ว่าเธอจะอยู่ที่ไหน กำลังทำอะไร เธอก็อยู่กับฉัน ส่วนตัวฉันก็อยากที่จะอยู่กับเธอไปตลอด อยากจะช่วยเหลือเธอ อยากที่จะพัฒนาปรับปรุงตนเองให้มีศักยภาพยิ่งขึ้น เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับเธอ

แน่นอน..เธอรู้จักฉัน ฉันคือ “นวัตกรรม ” การสร้างสรรค์สิ่งใหม่จากฝีมือมนุษย์ ฉันไม่ได้เกิดจากความรู้เพียงอย่างเดียว หากยังเกิดจากจินตนาการซึ่งเป็นผลผลิตจากความรู้จักคิด อย่างคำคมของท่านอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้”

แต่ทุกสิ่งบนโลกมีด้านขาว ก็ย่อมมีด้านดำ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละบุคคุลที่จะมอง ยอมรับ และรู้จักปรับใช้สิ่งนั้นให้เป็นด้านขาวหรือดำ

สมัยยุคก่อนประวัติศาสตร์ มนุษย์ยุคหินดำรงชีวิตโดยมีการทำการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ เพื่อการยังชีพ ร่วมทั้งพึ่งพาอาศัยธรรมชาติเป็นหลัก จึงมีความเชื่อเรื่องเทพเจ้าและบางสิ่งที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ แต่ต่อมาเมื่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตของมนุษย์  จนมนุษย์สามารถพิสูจน์ความจริงบนโลกใบนี้ได้ และสามารถผลิตนวัตกรรมใหม่เพื่อสร้างความมั่งคั่งและมั่นคงให้กับสังคมและโลกมนุษย์ แต่สิ่งหนึ่งที่วิทยาศาสตร์ยังพิสูจน์ไม่ได้ คือ นวัตกรรมจะเป็นตัวชี้วัดความสุขของมนุษย์ยุคปัจจุบันได้จริงหรือ? บางทีการเป็นมนุษย์ยุคหินที่แทบจะไม่มีเครื่องมือเครื่องใช้อาจมีความสุขมากกว่าการเป็นมนุษย์ที่มีอุปกรณ์เครื่องมือมากมายในยุคโลกาภิวัฒน์ก็เป็นได้

ทรัพยากรธรรมชาติลดน้อยถอยลงทุกวัน แต่จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นจนล้นโลก  โดยขาดมาตรการการควบคุมการกระจายทรัพยากรที่ดี รวมทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการกระจายรายได้  จนเกิดปัญหาความยากจนซึ่งก่อให้เกิดปัญาหาอาชญกรรมตามมา ปัญหามากมายที่เกิดขึ้นทั่วโลกทั้งจากธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นธรณีพิบัติ อุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย และภัยที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ค่อยๆทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน  เมื่อวันหนึ่งโลกของเราได้เปลี่ยนแปลงไป จากโลกที่น่าอยู่ สงบ มีธรรมชาติที่สวยงาม ค่อยๆถูกกัดกร่อนด้วยความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ โดยอยากที่จะมีความสุข ความสบาย อยากที่จะเป็นผู้รับ แต่ไม่เคยคิดจะเป็นผู้ให้ มนุษย์บางคนใช้นวัตกรรมมากเกินไปจนบางครั้งไม่รู้จักคำว่า “คิดเป็น”จนไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ถูก อะไรคือสิ่งที่ผิด อะไรคือสิ่งที่ควรทำ และอะไรคือสิ่งที่ไม่ควรทำ

ในเมื่อมนุษย์เป็นผู้ผลิต และผู้ใช้นวัตกรรม ซึ่งนวัตกรรมมาจากทรัพยากร หากไม่มีทรัพยากร ก็ไม่มีนวัตกรรม แต่ไม่มีนวัตกรรม เราก็มีแต่ทรัพยากร และเราก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้เพราะบรรพชนของเรายังสามารถอยู่รอดจนก่อเกิดประวัติศาสตร์ให้เราศึกษา เรียนรู้ แก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด และรู้จักพัฒนาสิ่งที่ดีมาได้จนจวบทุกวันนี้ เป็นหน้าที่ของเราทุกคนแล้วที่จะดำรงเผ่าพันธุ์มนุษย์ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่บนโลกนี้ได้ และเมื่อถึงวันที่เราต้องไปเจอกับบรรพบุรุษ เราจะสามารถบอกท่านได้เต็มปากว่า“เราเป็นมนุษย์ยุคโลกาภิวัฒน์ที่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น” เพื่อท่านได้ภูมิใจในตัวของพวกเราที่สามารถสร้างความเจริญให้กับโลกได้ด้วยคุณค่าของความเป็นคน แต่มิใช่แค่ความสำเร็จของตนเองเท่านั้น

                การใช้นวัตกรรมเปรียบเสมือนการขับเครื่องบิน หากกัปตันไม่มีความรู้ ความระมัดระวังรอบคอบที่เพียงพอเเล้ว เราก็ไม่สามารถขับเคลื่อนเครื่องบินนี้ไปถึงจุดหมายได้อย่างสวัสดิภาพ เพราะฉะนั้นเราควรมีวิจารณญาณในการตัดสินใจ รู้จักคิด รู้จักทำ รู้จักการบริหารจัดการที่ดี โดยอยู่บนพื้นฐานของคำว่า “พอดี” การจะทำสิ่งใดให้นึกถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้งโดยไม่หวังผลตอบแทนจากสังคม คือ จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ ให้ตื่นจากความสับสน วุ่นวาย อันตราย และความโหดร้าย ให้กลับกลายมาเป็นโลกที่น่าอยู่ของพวกเราดังเดิม

คำพูดของ อัลเบิร์ต  ไอน์สไตน์ ข้าพเจ้าไม่อาจทราบได้ว่าสงครามโลกครั้งที่ 3 ใช้อะไรสู้กัน แต่สงครามโลกครั้งที่ 4 จะต่อสู้กันด้วยท่อนไม้และก้อนหิน”จะเป็นจริงหรือไม่? อยู่ที่ตัวของพวกเราทุกคนเป็นผู้กำหนดเท่านั้น

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที