อ.อุดม

ผู้เขียน : อ.อุดม

อัพเดท: 19 ธ.ค. 2006 15.18 น. บทความนี้มีผู้ชม: 127406 ครั้ง

แนะนำผู้สนใจในงานสิ่งทอภาคปฏิบัติ (ภาคทฤษฎีไปหาตำราอื่นอ่านเอานะ)


ซักผ้า ใส่น้ำยาปรับผ้านุ่ม .... อ้าว คราบขาวๆ ชมพูๆ มาจากไหนเนี๊ยะ

เคยไหมครับที่ ซักผ้าเสร็จ ใส่น้ำยาปรับผ้านุ่ม เสร็จ เจอคราบเป็นก้อนๆที่ตัวเสื้อ แล้วมันมาจากไหนกัน จะทำอย่างไรกับมันดี จะเอาออกด้วยวิธีการไหน ที่นี่มีคำตอบครับ

ในขั้นตอนการซักผ้านั้น เป็นที่ทราบกันดีครับว่า สภาพในการซักมักมีฤทธิ์เป็นด่าง ครับ ซึ่งด่างทำหน้าที่กัดกร่อนคราบสกปรก ให้สลาย และจากสภาพที่ว่านี้เอง เราจะพบว่าน้ำที่เราซักผ้านั้นมันจะลื่นๆ นั่นเองครับ

เมื่อซักผ้าเสร็จ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ เราต้องล้างครับ อ้าวแล้วจะล้างกี่น้ำดีล่ะ ตอบยากครับ เอาเป็นว่า มาตรฐานเครื่องซักผ้า (ที่มีการสลัดน้ำก่อน) มักจะล้าง  2 น้ำครับ หากการซักปกติที่ไม่ได้สลัดน้ำผงซักฟอกออกก่อน คาดว่า 3 น้ำ ก็ยังลื่นอยู่เลย เอาเป็นว่า ลื่นน้อยสุดน่ะดีก็แล้วกัน แต่ระวังค่าน้ำจะบานเบอะนะครับ

เมื่อล้างจนสะอาด มีความลื่นน้อยลงแล้ว น้ำสุดท้ายก็ถึงเวลาใส่น้ำยาปรับผ้านุ่มกันแล้ว

ในขั้นใส่น้ำยาปรับผ้านุ่มนั้น เราควรรองน้ำไว้ก่อนนะครับ เมื่อได้ปริมาณที่ต้องการก็เทน้ำยาปรับผ้านุ่มลงไป ระหว่างนี้ก็ตีให้เข้ากันครับ แล้วจึงใส่ผ้าลงไปแช่ไว้สักพัก 5-10 นาที

หากซักด้วยมือ ไม่ค่อยเจอปัญหาคราบ เพราะขณะที่เราล้าง ผู้ล้างจะสังเกตุน้ำ ไปเรื่อยๆ ว่าหายลื่นหรือยัง ถ้าหาย จึงจะใส่น้ำยาปรับผ้านิ่ม ครับ แต่ปัญหามันจะมาเมื่อเราหันมาใช้เครื่องซักผ้าชนิดเปิด "ฝาหน้า" ครับ (เหมือนที่ผมเจอ)

ปัญหาโดยส่วนมากแล้วไม่ได้เกิดในขั้นตอนซักครับ แต่ปัญหาจะเปิดในขั้นตอนล้าง

หากล้างไม่สะอาด สภาพความเป็นด่าง จะไปมีผลกับน้ำยาปรับผ้านุ่มครับ


น้ำยาปรับผ้านุ่ม ส่วนมากแล้วจะเป็นน้ำยาปรับผ้านุ่มชนิด Cationic คือมีประจุบวก ให้ความนิ่มดีมาก ราคาถูกครับ มักนำมาประกอบเป็นน้ำยาปรับผ้านุ่มขายกันโดยทั่วไป
น้ำยาปรับผ้านุ่มที่มีฤทธิ์เป็นกลางนั้นก็มีครับ แพงขึ้นมาหน่อย และความนุ่มก็ไม่นุ่มเหมือนชนิดแรก เลยมีคนเอามาผสมขายน้อยราย เพราะราคาจะสูงขึ้นมาหน่อย
น้ำยาปรับผ้านุ่มชนิดสุดท้าย คือชนิด เป็น Anionic หรือมีประจุลบ ให้ความนิ่มน้อย ราคาแพงมากๆๆ ไม่ค่อยมีใครเอามาผสมขายครับ เพราะแพงหูฉี่ ไม่ค่อยเป็นที่นิยม เพราะไม่อยากควักแพงๆ แถมนิ่มน้อยอีกต่างหาก

ด้วยเหตุประจุนี่เองล่ะครับที่มีผลที่ว่าตามหัวข้อเรื่อง
หากท่านซื้อน้ำยาปรับผ้านุ่มชนิดกลางๆ มา ใช้ในสภาพที่ล้างไม่สะอาด ท่านจะไม่เจอคราบครับ
หากท่านซื้อน้ำยาปรับผ้านุ่มชนิดประจุลบ มาใช้ในสภาพที่ล้างไม่สะอาด ท่านจะไม่เจอคราบครับ
หากท่านซื้อน้ำยาปรับผ้านุ่มชนิดประจุบวก มาใช้ในสภาพที่ล้างไม่สะอาด ท่านจะเจอคราบเลยครับ เพราะสภาพที่เป็นด่างมันจะทำให้น้ำยาปรับผ้านุ่มจับตัวเป็นก้อนล่ะครับคราวนี้ คือการเกิดปฏิกิริยาทางเคมี เลยครับ เหมือนแม่เหล็กครับ ขั้วบวกเจอขั้วลบก็จับตัวกัน

วิธีป้องกัน
-ล้างผ้าให้สะอาดครับ
-ซื้อน้ำยาปรับผ้านิ่ม ชนิดประจุกลาง หรือ ประจุลบ (แต่แพง)



วิธีแก้ไข (กรณีที่ยังอยากใช้น้ำยาปรับผ้านิ่มประจุบวกเนื่องจากถูก และนิ่มน่าสวมใส่)
-ใส่น้ำส้มสายชูครับ ใส่ลงไปนิดหน่อย เพื่อทำลายสภาพที่เป็นด่างของผงซักฟอก เท่านี้ คราบทั้งหลายก็จะไม่มี ผ้าก็นิ่มดีครับ แถมไม่จ่ายแพง เพราะน้ำส้มสายชูก็ขวดไม่กี่บาท

เทคนิคนี้ เป็นเทคนิคที่โรงย้อมผ้าทั่วไปเขาทราบกันครับ (พนักงานอาจจะไม่ทราบ เพราะไม่ได้เป็นผู้กำหนดสูตรตกแต่งสำเร็จเอง) ว่า หลังย้อมผ้ามานั้น ผ้าจะเป็นด่างสุดๆ ต้องล้างให้สะอาด แต่ล้างมากไม่ได้ครับเปลืองน้ำสุดๆ ก็เลยต้องหักดิบ โดยการเติมกรดลงไปหัก เราเรียกว่า Neutralize ครับ หากทำไม่พอ ในขั้นตอนตกแต่งสำเร็จ ก็จะมีคราบน้ำยาปรับผ้านิ่ม เผลอๆ เอาไม่ออกเลยล่ะครับ เพราะเมื่อผ่านความร้อนสูง มันจะเซ็ตตัว

ก็ระวังๆกันหน่อยก็แล้วกันครับ...


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที