อ.อุดม

ผู้เขียน : อ.อุดม

อัพเดท: 19 ธ.ค. 2006 15.18 น. บทความนี้มีผู้ชม: 127503 ครั้ง

แนะนำผู้สนใจในงานสิ่งทอภาคปฏิบัติ (ภาคทฤษฎีไปหาตำราอื่นอ่านเอานะ)


เสื้อยืด อ้าว.....ไหงมันหดล่ะเนี่ยะ!!!

ผ้ายืด เมื่อเอามาตัดเป็นเสื้อ หรือที่เรียกกันว่าทำเป็น Garment นั้น เรามักพบว่าเสื้อจะหดหลังจากซักไป แล้วมันเกิดอะไรขึ้น ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น บทความนี้จะมีคำตอบ ไม่ว่าท่านจะเป็นผู้ซื้อเสื้อผ้า หรือท่านเป็นผู้ผลิต หรือผู้ออกแบบลายผ้า หรือ Designer ท่านสามารถอ่านบทความนี้ได้ และจะให้ประโยชน์กับท่านมากทีเดียว


ผ้ายืด ลาย Kaneko

ก่อนจะมาเป็นผ้า

          ก่อนผ้าจะถูกถักออกมาเป็นผืน กระบวนการเริ่มต้นก็ต้องมาจากกระบวนการผลิตเส้นด้าย ในกระบวนการผลิตเส้นด้ายนี้มีหลายรูปแบบ ในบทความนี้ขอยกเอาเฉพาะ กระบวนการตีเกลียวก็แล้วกันนะครับ (ส่วนมากแล้วกระบวนการตีเกลียวจะใช้กับวัสดุจากธรรมชาติ เช่นฝ้าย) ในกระบวนการตีเกลียวนี้เองที่ทำให้เส้นใยฝ้ายเกิดการเกาะตัวกันเป็นเส้น ดังภาพ


ตัวอย่างนี้เป็นการตีเกลียวของเส้นด้ายสองเส้นที่ตีเกลียวมาแล้ว มาตีเกลียวด้วยกันอีก

เมื่อเส้นด้ายถูกนำมาถัก (Knited) มันก็จะเกิดการเกาะเกี่ยวกันดังภาพ และเพื่อเพิ่มความเข้าใจ ผมก็จะขอยกเอาตัวอย่างใหญ่ๆ มาประกอบการอธิบายในบทความนี้



ถ้าถักกันแน่นๆ เหมือนห่วงซ้ายสุด ผ้าจะไม่ค่อยยืด คือเวลาเคลื่อนไหวท่านจะอึดอัด เหมือนใส่เสื้อเชิ้ท และกระบวนการย้อมในหม้อย้อมจะย้อมให้ได้ดียากมาก เพราะมักเกิดรอยยับเป็นตีนกา บางครั้งก็เรียกยับต้นคริสมาสต์ และบางครั้งก็จะเป็นเส้นเข้มๆครับ สีจะไม่สม่ำเสมอ ก็จะฝากคนที่ชอบสั่งผลิตผ้าประเภทนี้ว่าโอกาสได้ของดี ยากครับ และหากสี (ได้กล่าวไปแล้วในบทความที่ 1) ที่ใช้ย้อม ย้อมยากอีก ก็ยิ่งยากที่จะได้ของดีครับ เผลอๆ แก้ไขการย้อมหลายๆครั้งจนผ้าเปื่อย หมดความแข็งแรง ดังนั้นโครงสร้างที่นิยมทอคือ แบบกลาง ไม่ก็แบบขวาครับ

แบบกลางหรือแบบขวาเป็นรูปแบบที่จะทำการทอเสียส่วนใหญ่ (แต่ไม่ได้ห่างกันขนาดนี้นะครับ ที่ห่วงห่างกันมากเพื่อเพิ่มการอธิบาย) เราจะเห็นได้ชัดครับว่าด้วยการถักลักษณะดังกล่าว ทำให้ผ้ามีโอกาสในการยืด หด
-รูปกลาง ยืดด้านกว้าง(แนวนอน) แต่หดด้านยาว(แนวตั้ง)
-รูปขวา   ยืดด้านยาว(แนวตั้ง) แต่หดด้านกว้าง(แนวนอน)

ด้วยโครงสร้างที่หลวมแบบนี้ ผ้าจึงมีการให้ตัวได้ (ยืดหดได้) การเคลื่อนไหวก็จะสามารถเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่ว โดยเฉพาะชุดเต้นแอโรบิค แต่ท่านทราบไหม ยิ่งโครงสร้างหลวม ยิ่งตัดเป็นตัวเสื้อยาก เพราะผ้าจะย้วยมากๆ หากตกแต่งสำเร็จไม่ดี

หากผ้าที่มีโครงสร้างหลวมดังกล่าวถูกนำไปย้อม โอกาสย้อมได้ดีก็มีมาก (แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับชนิดของสีอีกนะ) เมื่อย้อมเสร็จ ถึงขั้นตอนตกแต่งสำเร็จ ก็จะนำผ้าที่ถัก ไปอบแห้งและใส่น้ำยาปรับผ้านุ่ม หรือน้ำยารักษาผ้า หรือน้ำยาที่ช่วยให้รีดง่าย หรืออื่นๆ แล้วแต่จะอยากได้ แม้แต่ให้ทนไฟไหม้ก็สามารถทำได้ และอาจจะตกแต่งโดยไม่ทำการผ่าผ้า (ผ้าทอออกมาเหมือนท่อ เรียก tubular) หรือผ่า (Open width) แต่ไม่ว่าจะตกแต่งแบบไหน ก็ไม่มีเครื่องรีดให้เรียบหรอกครับ ดังนั้นการที่จะทำให้ผ้าที่ย้อมมาเรียบและพร้อมจะเอาไปปูบนโต๊ะเพื่อตัดเป็นชิ้นๆนั้น ต้องใช้วิธีการดึงให้ตึงนั่นเอง

ที่มาของเสื้อยืด หรือหด

ที่มาของเสื้อที่จะยืดหรือหดก็เกิดในขั้นตอนดึงให้ตึงนี่เอง โดยวัตถุประสงค์หลักแล้วคือต้องการเซ็ตหน้าผ้าให้คงรูป ตึง เรียบ สามารถปูตัดในมาร์คเกอร์ที่กำหนด แต่ผลที่ตามมาคือ ผ้าที่ถูกทอมาหลวมๆ โครงสร้างจะถูกดึงครับ

-หากดึงด้านกว้างมากก็จะได้รูปกลาง เวลาเอาไปซัก มันจะหดกลับครับ จากหลวมๆ เป็นคับติ้วเลยครับ

-หากดึงด้านยาวมาก ก็จะได้รูปขวา เมื่อซักก็จะหดกลับ ทำให้เสื้อที่เคยมีชายเสื้อยาวๆ หดจนสะดือโผล่

ปกติช่างตกแต่งสำเร็จมักจะดึงด้านกว้าง ประมาณ 8% ของหน้าผ้าก่อนตกแต่งสำเร็จ ส่วนด้านยาวนั้นมักจะถูกดึงด้วยลูกกลิ้งที่ขัดกันไปมาอยู่แล้ว แทนที่จะดึงกลับต้องชดเชยอัตราการดึง (ศัพท์เทคนิคเรียก Over Feed) เพื่อชดเชยการดึงที่มากเกินไป แต่อย่างไรก็แล้วแต่ มักจะชดเชยไม่ได้ถึง 0% หรอกครับ ไม่งั้นผ้าจะหย่อน ไม่เรียบ จึงต้องรั้งไว้สัก 5-6%

ด้วยเหตุนี้ ผ้ายืดแทนที่จะยืด กลับจะหดหลังจากซัก เพราะผ้าพยายามกลับคืนสภาพเดิมตอนที่ทำการถักมา นั่นเองครับ

อย่างไรก็ตามเดี๋ยวนี้ลูกค้ามักกดดันให้โรงฟอกย้อมและตกแต่งสำเร็จทำการตกแต่งสำเร็จทำการตกแต่งสำเร็จให้มี %หด ทั้งด้านกว้างและด้านยาว ไม่เกิน 5-6% และนั่นทำให้ผ้าไม่ตึงและไม่เรียบอีก และก็จะตีคืนเพื่อทำการซ่อมให้ผ้าตึงและเรียบ พอซ่อมให้ผ้าตึงและเรียบ %หด ก็ปาไป 7-8 หรือมากกว่า 8% ทำให้ต้องซ่อมไปซ่อมมาไร้เหตุผล ทำให้โรงงานมีต้นทุนที่สูง (ลูกค้าที่งี่เง่าแบบนี้ก็มีเยอะครับ และมักเอาแต่ใจเสียด้วยสิ หากได้ของดีมา ก็จะมาขายตัวละแพงๆ ชนิด 2000-4500 บาทต่อตัว มันคุ้มกับต้นทุนโดยรวมไหมนี่)

วิธีแก้ก็พอมีครับ
1. ต้องพัฒนาตั้งแต่ขั้นตอนการถัก และทดลองผลิต
2. ต้องมีเครื่องจักรที่ก่อให้เกิดแรงตึงน้อย ชดเชยแรงตึงได้สูง
3. อาจจะต้องมีเครื่องรีดไอน้ำ เพื่อทำให้ผ้าหดตัวกลับ (แต่ผ้าที่ออกมา จะน่าสวมใส่มากทีเดียว)
4. ใช้สารเคมีช่วยครับ คือลักษณะคล้ายกับกาว เพื่อยึด หรือล็อคโครงสร้างการทอนั่นเอง แต่ไม่ค่อยดีครับเพราะผ้าจะกระด้างเป็นกระดาษ ไม่นุ่มน่าใช้

คนซื้อเสื้อท่านมองยากครับ ว่าตัวไหนหด ตัวไหนไม่หด มีวิธีเดียวคือเลือกซื้อกับยี่ห้อที่น่าเชื่อถือครับเพราะสินค้ากลุ่มนี้มักต้องผ่านการทดสอบที่เข้มงวด แต่ต้องจ่ายแพงหน่อย หากไม่มีตังซื้อแพงๆ ก็ต้องทนกับเสื้อที่มี %หด ประมาณ 8% ที่ราคาถูกหน่อย

วิธีการตรวจสอบว่ายี่ห้อไหนยืดหรือหด

ผมแนะอย่างนี้ครับ
1. วัดจั๊กแร้ซ้ายถึงขวา แล้วบันทึกไว้ (ท่านจะได้ %หดด้านกว้าง) และ
2. วัดเอวเสื้อถึงคอเสื้อ(ท่านจะได้ %หด ด้านยาว)
3. ซัก
4. ตากจนแห้ง
5. วัดระยะ แล้วคำนวน %หดออกมา 
แค่นี้ท่านก็จะรู้ว่าเสื้อที่ซื้อมายี่ห้อนั้น ยี้ห้อนี้ มี % หด มากน้อยแค่ไหน ถ้ามากๆ ก็เอาไปคืน ถ้าคืนไม่ได้ คราวหน้าก็อย่าไปซื้อ

อย่างไรก็ตาม เสื้อการ์เม้นท์วอช (เสื้อที่ตัดเป็นตัว แล้วซัก แล้วรีด) จะเป็นเสื้อที่%หด ใกล้เคียง 0 แต่จะมีปัญหาว่าตะเข็บเอียงแทน (มันได้อย่างก้เสียอย่างครับ)

หวังว่าคงจะเคลียร์ใจหลายๆคนได้นะครับ กับปัญหาผ้า ยืด-หด



บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที