ธนัยวงศ์

ผู้เขียน : ธนัยวงศ์

อัพเดท: 10 ม.ค. 2011 22.28 น. บทความนี้มีผู้ชม: 3558 ครั้ง

แนะแนวทางการเตรียมตัวก่อนกู้ยืมเงิน


เตรียมความพร้อมก่อนลงมือกู้เงิน

เตรียมความพร้อมก่อนลงมือกู้เงิน
โดย ดร.ธนัยวงศ์ กีรติวานิชย์

หลายๆ คนคงเคยได้ยินมาว่า มีผู้ประกอบการจำนวนมากที่มีความประสงค์ต้องการขอใช้บริการสินเชื่อ หรือกู้ยืมเงินจากทางสถาบันการเงิน ไม่ว่าจะเป็นจากธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน หรือแม้แต่จากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) แต่เมื่อได้ลงมือยื่นขออนุมัติสินเชื่อแล้ว กลับถูกปฎิเสธ หรือไม่ได้รับการอนุมัติแต่อย่างใด สำหรับสาเหตุหลักที่เป็นเช่นนั้นก็เนื่องมาจากการที่มีคุณสมบัติไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อที่แต่ละสถาบันการเงินได้กำหนดขึ้นไว้ล่วงหน้านั่นเอง ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการต้องรู้จักเตรียมความพร้อมของตนให้ดีเสียก่อนที่จะไปยื่นขอใช้บริการสินเชื่อกับทางสถาบันการเงินต่างๆ ที่กล่าวถึงข้างต้น โดยเริ่มต้นจาก

o ต้องมีประสบการณ์ ความชำนาญ ตลอดจนความรู้ความเข้าใจในการประกอบธุรกิจที่ตนได้ลงทุนทำนั้นเป็นอย่างดี สามารถบริหารงานให้อยู่รอดตลอดรอดฝั่งได้ นอกจากนี้ หากมีหุ้นส่วน หรือผู้ร่วมงานที่มีชื่อเสียง และความสามารถเข้ามาช่วยในการดำเนินธุรกิจ ก็จะยิ่งทำให้โอกาสในการได้รับอนุมัติสินเชื่อเพิ่มสูงขึ้น

o ต้องมีแผนธุรกิจ (Business Plan) ซึ่งเปรียบเสมือนกับพิมพ์เขียวที่บอกให้สถาบันการเงินทราบว่า กิจการประกอบธุรกิจประเภทใด มีแนวทางการดำเนินงานเป็นอย่างไร ทั้งในด้านการผลิต การจัดการ การบริหารทรัพยากรมนุษย์ การตลาด และการเงิน นอกจากนี้ ยังชี้ให้เห็นถึงความสามารถในการแข่งขัน ผลตอบแทน และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ตลอดจนแนวโน้มของการดำเนินธุรกิจในอนาคตว่าจะเป็นเช่นไร  ทั้งนี้ หากแผนธุรกิจที่จัดทำขึ้นนั้นมีความถูกต้องชัดเจน และมีความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้นเท่าไร โอกาสในการกู้ยืมก็ย่อมที่จะสูงเพิ่มยิ่งขึ้นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ผู้ประกอบการต้องสามารถชี้แจง หรืออธิบายรายละเอียดต่างๆ ในแผนธุรกิจให้สถาบันการเงินทราบได้

o ต้องมีระบบบัญชี และระบบการจัดเก็บข้อมูลทางธุรกิจที่ดี สามารถตรวจสอบได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายรับ รายจ่าย ปริมาณของลูกหนี้การค้า และสินค้าที่จัดเก็บอยู่ในคลังสินค้า ภาระหนี้สินเดิมที่มีอยู่ ตลอดจนยอดขาย ต้นทุน และค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการดำเนินธุรกิจ ซึ่งตรงนี้จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้สถาบันการเงินเห็นถึงความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการนั่นเอง

o ต้องมีวัตถุประสงค์ในการกู้ยืมที่เหมาะสมกับความต้องการใช้เงินทุน โดยรู้ว่าจะเอาเงินไปลงทุนทำอะไร ในสัดส่วนเท่าใด นอกจากนี้ ต้องไม่กู้ยืมจนเกินความจำเป็นอันจะทำให้กิจการขาดความสมดุล เพราะมีภาระหนี้สินที่มากจนเกินพอดี และสิ่งสำคัญก็คือ ต้องไม่เคยมีประวัติการกู้ยืมเงินแล้วนำไปใช้จ่ายอย่างผิดวัตถุประสงค์

o กรณีที่เป็นสินเชื่อประเภทที่ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ต้องมีบุคคล หรือนิติบุคคลเป็นผู้ค้ำประกันการกู้ยืม อย่างไรก็ตาม สินเชื่อส่วนใหญ่ที่ถูกนำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจมักเป็นสินเชื่อประเภทที่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเกือบทั้งสิ้น ดังนั้น จึงจำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องพยายามหาหลักประกันรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งที่สถาบันการเงินยอมรับมาใช้สำหรับค้ำประกันการกู้ยืม เพราะไม่เช่นนั้นโอกาสในการได้รับอนุมัติสินเชื่อก็ย่อมที่จะลดลง

o ต้องมีความพร้อมที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยสามารถปรับปรุงการดำเนินงานให้สอดคล้อง และเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้

ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการสามารถเตรียมความพร้อมได้ดังที่กล่าวถึงข้างต้น ก็ย่อมที่จะมีโอกาสในการได้รับอนุมัติสินเชื่อมากกว่าที่จะถูกปฎิเสธเป็นแน่แท้ครับ

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที