อ.อุดม

ผู้เขียน : อ.อุดม

อัพเดท: 02 ส.ค. 2007 19.00 น. บทความนี้มีผู้ชม: 530296 ครั้ง

แนะนำมือใหม่หัดขับ ที่สนใจการบริหาร TQM


เดมมิ่ง กับ หลักการบริหารคุณภาพ 14 ข้อ (ตอนที่ 7) ต่อ

7.        Institute leadership. The aim of supervision should be to help people and machines and gadgets to do a better job. Supervision of management is in need of an overhaul, as well as supervision of production workers.

สร้างผู้คนให้มีภาวะผู้นำขึ้นในหน่วยงานเพื่อพวกเขาจะได้ช่วยคนอื่นดูแลและควบคุมงานได้

ในประเด็นนี้ ดร. เด็มมิ่ง ได้ชี้ประเด็นความบกพร่องในการควบคุมงานและการบังคับบัญชาในสายการผลิตว่า

1.        โรงงานจำนวนมากได้พัฒนาสายการผลิตให้มีการแยกแยะ ลักษณะงานแต่ละหน้าที่ให้ง่าย สั้นและใช้ทักษะเพียงจำกัดเท่านั้นก็ทำได้ ทั้งยังใช้เครื่องจักรกลอัตโนมัติอีกด้วย ดังนั้นหัวหน้างานหรือซุปเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายผลิตจึงไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องเทคนิค และเป็นใครก็ได้ที่สามารถควบคุมให้พนักงานในฝ่ายผลิตทำงานตามคำสั่งได้ ฉะนั้น จึงมักจะจ้างหัวหน้างานมาจากผู้จบในวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยใหม่ๆ อาจไม่เคยผ่านงานในระดับผู้ปฏิบัติงานมาเลย พวกเขาไม่รู้รายละเอียดเทคนิคที่ดีพอ ไม่ใช่พนักงานฝีมือดีผลงานเด่นมาก่อน ดังนั้นจึงไม่อาจให้คำแนะนำหรือร่วมปรึกษาหารือกับลูกน้องของตนได้ เมื่อมีปัญหาการผลิตก็มักจะหยุดเดินเครื่อง ออกใบแจ้งซ่อมส่งให้แผนกวิศวกรรมดุแลแก้ไข โดยตนเองอาจไม่ได้อยู่ดูแลตรงจุดที่สั่งหยุดเดินเครื่องนั้นเลย

2.        ดังนั้น ซุปเปอร์ไวเซอร์จำนวนไม่น้อย จึงทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ออกคำสั่งแจ้งยอดโควตาการผลิตในแต่ละกะให้แก่พนักงานเท่านั้น และคอยเซ็นใบลา กับออกใบเตือนแก่พนักงานเท่านั้น พวกเขามิได้ถูกกำหนดให้เป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหางานในพื้นที่ความรับผิดชอบของตนเลย พนักงานจึงขาดผู้นำที่พวกเขาจะพึ่งพา เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาขณะเริ่มเกิดขึ้นในตอนนั้นๆได้

3.        ดร. เด็มมิ่ง ได้ยกตัวอย่างสาเหตุทางการบริหารที่บกพร่องและทำให้พนักงานผู้ทำการผลิตหมดความรู้สึกภาคภูมิใจในงาน (Pride of Workmanship) ที่ตนทำ จนมีผลต่อความตกต่ำด้านคุณภาพงานว่ามาจากสาเหตุดังนี้

a.        หัวหน้างาน / ซุปเปอร์ไวเซอร์ เน้นแต่ “ปริมาณ” ผลผลิตเท่านั้น

b.        คอยถามไถ่และเร่งรัดให้ผลิตเร็วยิ่งขึ้น แทนที่จะเน้นให้ ผลิตแอย่างถูกต้องและเที่ยงตรงมากขึ้น

c.        ไม่ใส่ใจต่อข้อเสนอแนะจากพนักงานผู้ทำการผลิต

d.        ต้องเร่งทำงานเพราะได้เสียเวลาล่าช้าไปกับการ “ทำซ่อม” หรือ รีเวอร์ค งานไปมาก

e.        มีเครื่องมือเครื่องใช้ที่บกพร่อง ไม่สมประกอบ หรือไม่ได้มาตรฐาน

f.         ประสบปัญหาทำงานยากลำบาก และไม่ราบรื่น เพราะว่าคุณภาพของวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนประกอบที่สั่งมาใช้ ไม่ได้มาตรฐาน และการแจ้งความบกพร่องของวัสดุไปยังผู้ขาย ยุ่งยาก ผ่านหลายขั้นตอน และผู้ขายไม่ได้รับข้อมูลโดยตรง จึงแก้ปัญหาได้ไม่ทันเวลา หรือ ไม่ถูกจุด

4.        เมื่อพนักงานได้รับการปฏิบัติต่อรายการความบกพร่องในหัวข้อ 3 ข้างต้น และไม่สามารถเอาชนะปัญหาเหล่านั้นได้ด้วยตนเอง และไม่ได้รับการสนับสนุน (support) ที่ดีพอจากหัวหน้าของตนแล้ว พวกเขาทำงานผิดพลาด ล่าช้า และสับสน ต้นทุนสูง เพราะมีของเสีย (Defect) ออกมามาก ก็อาจได้รับการตีความว่า เป็นคนที่ไม่มีคุณภาพ และอาจต้องถูกย้ายออกไปโดยไม่มีการศึกษาหรือสอบวิเคราะห์สาเหตุที่แท้จริงเลย นับว่าเป็นความบกพร่องและความรับผิดชอบของฝ่ายบริหารโดยตรง

5.        ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ ดร.เดมมิ่ง จึงได้เสนอ ความคิดว่า

a.        ต้องพัฒนาคุณภาพของฝีมือแรงงานก่อน ด้วยระบบการฝึกอบรมที่มีคุณภาพ และประสิทธิภาพ

b.        ซุปเปอร์ไวเซอร์หรือหัวหน้าพนักงานฝ่ายผลิตในสายการผลิตจะต้องมีความรู้ดีในตัวงานที่ควบคุมและเป็นผู้นำที่เข้มแข็งให้แก่ลูกน้องของตน

c.        เลิกประเมินงานของคนงานด้วยปริมาณการผลิตที่ได้ตามโควตา หรือเป้าหมายแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องประเมินที่ระดับคุณภาพของผลผลิตด้วย


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที