อ.อุดม

ผู้เขียน : อ.อุดม

อัพเดท: 02 ส.ค. 2007 19.00 น. บทความนี้มีผู้ชม: 530372 ครั้ง

แนะนำมือใหม่หัดขับ ที่สนใจการบริหาร TQM


เดมมิ่ง กับ หลักการบริหารคุณภาพ 14 ข้อ (ตอนที่ 3)

3.        Create dependence on  inspection to achieve quality. Eliminate the need for inspection on a mass basis by building quality into the product in the first place.

จงสร้างคุณภาพให้กับผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ที่แรก ยุติการควบคุมคุณภาพโดยพึ่งการควบคุมคุณภาพด้วยการตรวจสอบผลลัพธ์สุดท้าย

ดร. เด็มมิ่ง มีคำกล่าวที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่า

“เราไม่สามารถ สร้างคุณภาพลงไปในสินค้าด้วยการตรวจสอบ”

(QUALITY CAN NOT BE BUILT IN PRODUCT BY INSPECTION)

ดร. เด็มมิ่ง ให้เหตุผลยืนยันความคิดเขาเกี่ยวกับการตรวจสอบด้านคุณภาพ 7 ประการ ว่า

1.        การตรวจสอบเป็นขั้นตอนที่สายเกินไปแล้ว ทั้งยังไร้ประสิทธิผล และมีราคาแพง (ต้องลงทุนมาก) ทั้งยังไม่อาจประกันได้ว่า จะค้นพบความบกพร่องทั้งหมดในผลิตภัณฑ์นั้นๆ ได้

2.        การรีเวิร์ค (Rework) หรือทำซ่อมก็ดี การลดเกรดของสินค้า (Down Grading) เช่นลดจาก Military Standard ๙ึ่งราคาต่อชิ้นแพงกว่า ไปเป็น Commercial Standard ซึ่งราคาต่อชิ้นถูกกว่าก็ดี จนกระทั่งการสั่งทำลายทิ้ง หรือ Scrap สำหรับงานที่พบว่ามีความบกพร่องจนซ่อมไม่ได้ก็ดี ล้วนไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาด้านคุณภาพที่ถูกต้อง

3.        การพัฒนาคุณภาพต้องกระทำที่ การควบคุมกระบวนการผลิต หรือ PROCESS CONTROL (ปัจจุบันอาจเป็นเรื่องการออกแบบกระบวนการที่ไม่ผลิตของเสีย ไม่เพียงแต่ควบคุมกระบวนการผลิต) ไม่ใช่การมาตรวจเช็คหาข้อเสียหลังจากที่ผลิตจนเสร็จแล้ว

4.        การตรวจสอบจะให้ผลสะท้อนถึง สภาวะของคุณภาพผลิตภัณฑ์ ณ เวลาขณะนั้นเท่านั้น ในเวลาที่เปลี่ยนไปคุณภาพอาจเปลี่ยนแปลงได้ ฉะนั้น การตรวจสอบ 100% จึงไม่ใช่หลักประกัน 100%  ว่าผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการตรวจสอบนั้นจะไม่มีปัญหา เมื่อนำไปใช้งานในโอกาสต่อไป

5.        ดังนั้น แทนที่จะมุ่งเพิ่มบุคลากรให้กับแผนกตรวจสอบคุณภาพ เราควรมุ่งเน้นไปที่การพัฒนากระบวนการผลิต และการควบคุมกรรมวิธีการผลิตให้ได้มากกว่า

6.        ในปัจจุบันรัฐบาลสหรัฐ ได้ซื้อสินค้าตามมาตรฐานการตรวจรับสินค้าขณะส่งมอบ ด้วยการชักตัวอย่าง หรือ Sampling ตามมาตรฐานของ MIL-STD 105D นั้นเป็นการบอกว่ารัฐบาล (ซึ่งคือผู้ซื้อ) ได้วางแผนการยอมรับสินค้าที่มีความบกพร่อง ผสมมากับสินค้าในปริมาณที่ยอมรับได้ และพร้อมจ่ายเงินค่าสินค้าที่บกพร่องนั้นด้วย ขณะที่อเมริกายอมรับกันที่ % ของชำรุด ที่ถูกกฎหมาย ในประเทศญี่ปุ่นผู้ผลิตชั้นนำได้ตั้งมาตรฐานคุณภาพงานให้มีของชำรุด หรือ ดีเฟ็กซ์ (Defects) เป็นส่วนต่อล้านส่วน หรือหน่วยวัดเป็น PPM กันแล้ว และในขณะที่แนวความคิดเรื่องสินค้าปลอดของชำรุด หรือ Zero Defect ที่กำเนิดในอเมริกา และเป็นเรื่องราวของความเพ้อฝันในสายตาของนักอุตสาหกรรมอเมริกัน ตรงกันข้ามในประเทศญี่ปุ่น นักอุตสาหกรรมชั้นนำกลับมุ่งสู่ Zero Defect และจะพิสูจน์ว่า ฝันนั้นต้องการเป็นจริง ไม่ใช่ความฝันเฟื่องของนักทฤษฎี แต่เป็นความจริงของนักปฏิบัติ

7.        สเป็คอาจผิดด้วยตัวของมันเอง ฉะนั้น การวัดมาตรฐานของคุณภาพโดยอาศัยสเป็คเพียงอย่างเดียว ไม่อาจประกันได้ว่าของชิ้นนั้นสามารถใช้งานได้โดยไม่มีปัญหา


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที