อ.อุดม

ผู้เขียน : อ.อุดม

อัพเดท: 02 ส.ค. 2007 19.00 น. บทความนี้มีผู้ชม: 530470 ครั้ง

แนะนำมือใหม่หัดขับ ที่สนใจการบริหาร TQM


ความเคยชินที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารอย่างมีคุณภาพ จาก ดร.เด็มมิ่ง (ตอนที่2)

 ตอนนี้เอามาฝากเพิ่มอีก 3 ตอนครับ รวมเป็น 7 ตอนแล้ว เชิญอ่านได้ตามอัธยาศัย ครับ


5. การกล่าวโทษพนักงานว่าเป็นผู้ทำให้คุณภาพงานไม่ดี

                เมื่อผลผลิตออกมามีปัญหาด้านคุณภาพ ความเข้าใจของทุกคนก็คือ พนักงานฝ่ายผลิตทำงานไร้คุณภาพ ไม่มีฝีมือ หรืออาจจะละเลยต่องาน  ไม่ตั้งใจทำงาน และฝ่ายตรวจสอบคุณภาพเอง ก็ขาดประสิทธิภาพที่ไม่อาจสุ่มตรวจเช็คและค้นพบข้อบกพร่องก่อนที่จะทำงานเสร็จ

                แต่ที่แท้จริงแล้ว พนักงานในสายการผลิตมีส่วนเพียง 15% ของปัญหาเท่านั้น 85% ของปัญหาด้านคุณภาพมาจากความอ่อนหัดและไม่ประสาของฝ่ายจัดการต่างหากที่ไม่เข้าใจถึงบทบาท หน้าที่ และอำนาจ ความรับผิดชอบที่แท้จริงของตนเองที่มีต่อคุณภาพของงาน


ผมยืนยันแนวคิดนี้ครับ เพราะจากการไปให้คำปรึกษา พบปัญหาที่เป็นปัญหาจากการจัดการเสียส่วนใหญ่ และหัวหน้างานในเมืองไทยท่านก็เก่งแต่เทคนิคครับ เมื่อถูกเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง ท่านบริหารไม่เป็น และไม่กล้าบริหารเพราะลูกน้องเดิมคือเพื่อนเก่า จะทำไงได้ สั่งงานก็ไม่กล้า แก้ปัญหาเชิงป้องกันก็ไม่เป็น คุยกับฝ่ายอื่นก็ไม้ได้เรื่อง ฯลฯ ล้วนมาจากหน้าหน้างาน และผู้บริหารเยอะจริงๆ

6. ความเชื่อที่ว่า การตรวจสอบ และ สุ่มตรวจเช็ค คือมาตรการด้านการควบคุมคุณภาพที่มองเห็นได้และเชื่อถือได้

                ผู้บริหารระดับสูงจำนวนไม่น้อยที่ไม่เคยศึกษาวิชาเกี่ยวกับการควบคุมคุณภาพ และยังคงมีความคิดเก่าๆ ที่ฝังรากลึกในความยอมรับและทัศนคติ ของตนว่า การตรวจสอบคือ วิธีการอันเดียวที่จะประกันคุณภาพของสินค้าของตนได้


บริษัทชั้นนำในปัจจุบัน ได้นำแนวคิด "ของดีสร้างได้จากกระบวนการทำงานที่ดี" มาประยุกต์ใช้ ด้วยการเขียนปัจจัยที่ดีที่จำเป็นต้องมี ในกระบวนการทำงานต่างๆ และมีการติดตามประเมินผลอย่างใกล้ชิด จนสามารถทำของเสียให้เป็นศูนย์  เปลี่ยนความคิดเถอะครับ อย่าโยนเผือกร้อนให้หน่วยงาน QC เลย ใครทำของเสียออกมา หน่วยงานนั้นต้องแก้ครับ


7. การเริ่มต้นกิจกรรมพัฒนาคุณภาพที่ผิดพลาด

                กิจกรรมการพัฒนาคุณภาพที่มักเริ่มต้นกันอย่างผิดพลาด คือ

1.1      การทำ QC Circle โดยที่ผู้บริหารระดับสูงไม่ได้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมอย่างจริงจัง เพราะไม่มีเป้าหมายหรือปณิธานอะไรเกี่ยวกับการทำกิจกรรมนี้ตั้งแต่แรก ผลก็คือ เมื่อพนักงานในแผนกต่างๆ สรุปปัญหาและเสนอแนวทางปฏิบัติต่างๆขึ้นมา เพื่อแก้ไขต้นตอของปัญหามาสู่ผู้บริหารระดับสูงแล้ว กลับไม่ได้รับการตอบสนอง หรือนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง หรือทันกับเวลาที่ควร ผลสุดท้ายก็คือ กลุ่มคิวซีทั้งหลาย ก็ละลายไปพร้อมกับความรู้สึกฝังใจในทางไม่ดีเกี่ยวกับคุณภาพ หรือหัวหน้างานที่เกี่ยวข้อง

1.2      การทำ SQC หรือการควบคุมคุณภาพโดยสถิติ ด้วยการตั้งหน้าตั้งตาอบรมกันอย่างหนักถึงทฤษฎีทางสถิติ แต่เพียงอย่างเดียวมิได้สนใจด้านโครงสร้างองค์การ และแนวทางการบริหารอื่นๆ ที่เป็นองค์ประกอบอันสำคัญของการพัฒนาคุณภาพ ที่สำคัญก็คือมิได้มีการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ความเชื่อ ความเคยชิน และสไตล์การบริหารงานเลย ในที่สุดโครงการ SQC ก็อาจล้มเหลวลงได้อย่างหมดรูป

จากประสบการณ์ ผมเจอปัญหาในเมืองไทยมากไปกว่าที่ท่าน ดร.เดมมิ่งกล่าวไว้ แต่ก็พบปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการบริหาร หรือการส่งเสริม ไปในทิศทางที่ผิด ทั้งๆ ที่ มีการสอน QCC ไปก็มากครับ แต่อย่างว่า ผู้บริหารมักเลือกทำบางอย่าง ไม่ทำบางอย่าง โดยลืมนึกไปว่า การไม่ทำอะไรบางอย่างนั้นนำมาซึ่งความล้มเหลวของกลุ่มคุณภาพนั่นเอง


ทั้ง
2 กรณี มีข้อเหมือนกันก็คือว่า QC Circle กับ SQC มิอาจแก้ปัญหาคุณภาพที่เกิดจากฝ่ายบริหารได้ ทั้งๆที่ปัญหาด้านคุณภาพส่วนใหญ่กว่า 85% มีสาเหตุมาจากฝ่ายบริหาร ดังนั้น เมื่อ 85% ของสาเหตุของปัญหา มิได้รับการแก้ไข เพราะผู้เป็นเจ้าของสาเหตุนั้นมิได้ร่วมมือด้วย โครงการทั้ง 2 อย่าง จึงต้องล้มเหลวลงไป อย่างไรก็ตาม การเริ่มต้นแบบผิดๆเช่นนี้ก็ให้ผลระยะสั้น เป็นความสุขใจและความพึงพอใจแก่ผู้รับผิดชอบเช่นกัน เพราะดูเหมือนว่าผู้บริหารระดับกลางเหล่านั้น ได้ทำหน้าที่ของตนอย่างดีที่สุดแล้ว ดร.เด็มมิ่ง ได้เรียกกิจกรรมที่เริ่มต้นอย่างผิดๆ เหล่านี้ว่า เป็น “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” หรือ “Instant Pudding” ความหมายคือ เมื่อต้องการคุณภาพหรือความอิ่ม ก็รอเพียง 3 นาที ก็ได้ชิม หรือกินแล้ว แต่หากกินอาหารแบบนี้อย่างเดียวและตลอดไป อาจต้องตายลงสักวัน เพราะเป็นโรคขาดสารอาหาร สำคัญเพียงแต่ว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป สามารถตอบสนองความต้องการเฉพาะหน้า และทำให้ลูกค้ารู้สึกพอใจที่เกิดขึ้นทันอกทันใจเท่านั้น แต่มิอาจใช้บำบัดโรคขาดสารอาหาร และคุณภาพชีวิตที่ตกต่ำของผู้กินอาหารนั้นได้ไม่

ตอนนี้เอาแค่นี้ก่อนนะครับ คราวหน้า มาติดตามต่อ

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที