ดร. เดมมิ่ง ได้ปรารภ ถึงอุปสรรคบางประการอันขัดขวางต่อการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพของบริษัทอเมริกัน ดังต่อไปนี้
1. การละเลยต่อการวางแผนงานระยะยาวและการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
2. การมุ่งหาตัวอย่าง หรือ รูปแบบสำเร็จเพื่อเอาอย่าง โดยไม่ดูตัวเอง
3. การสอนวิชาการบริหารในมหาวิทยาลัยอเมริกันที่ไม่สมดุล
4. การพึ่งพาคุณภาพจากแผนกประกันคุณภาพแต่เพียงอย่างเดียว
5. การกล่าวโทษพนักงานว่าเป็นผู้ทำให้คุณภาพงานไม่ดี
6. ความเชื่อที่ว่า การตรวจสอบ และการสุ่มตรวจเช็คคือมาตรการด้านการควบคุมคุณภาพที่มองเห็นได้และเชื่อถือได้
7. การเริ่มต้นกิจกรรมพัฒนาคุณภาพที่ผิดพลาด
8. การยึดถือเอาสเป็กเป็นมาตรฐานคุณภาพ
9. การทดสอบและวางแผนการผลิตสินค้าต้นแบบที่รวบรัดและรีบร้อนเกินไป
1. การละเลยต่อการวางแผนงานระยะยาวและการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
แม้ว่าเกือบทุกบริษัทจะมีการจัดทำแผนงานระยะยาว แต่มักจะละเลยและมิได้ใส่ใจเท่าที่ควร งานประจำวันและแผนงานระยะสั้นกลับอยู่ในความสนใจมากกว่า
บริษัทในเมืองไทยเองก็เป็นเช่นนี้ มักจะไม่ค่อยมองการไกล หรือมองก็เป็นแบบตามแฟชั่น มีการอบรมกันอย่างบ้าคลั่ง จนได้แผนงานมา แต่พอเอาเข้าจริงๆ กลับไม่ได้สนใจสิ่งที่วางแผน เนื่องจากยังไม่สามารถพัฒนาผู้คนให้สามารถรองรับกับเป้าหมายที่วางไว้ และ หมดความพยายาม เนื่องจากมองว่าการพัฒนาผู้คนเป็นเรื่องนาน รอไม่ได้ จึงละเลย และกลับบริหารประจำวันในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า มากกว่าที่จะมองการป้องกัน จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย
2. การมุ่งหาตัวอย่าง หรือ รูปแบบสำเร็จเพื่อเอาอย่างโดยไม่ดูตัวเอง
นักบริหารจำนวนมากเสียเวลากับการศึกษาหาตัวอย่างหรือรูปแบบการพัฒนาที่ประสพความสำเร็จเพื่อตนเองจะได้ลอกเลียนแบบ เพื่อการทำงานที่รวดเร็วและเห็นผล แต่การทำเช่นนี้เป็นเรื่องที่อันตราย การศึกษาในรายละเอียดและปัญหางานในหน่วยงานของตน เพื่อพัฒนารูปแบบที่เหมาะสมในการพัฒนาขึ้นมาเองจะเป็นวิธีการที่ถูกต้องกว่า
จากประสบการณ์ของผมเองก็เห็นจริงตามนี้ และพบอีกว่า เมื่อมีการดูงานที่โรงงานใดๆ มักอยากจะลอกเลียนแบบของเขามา หรือเอาอย่างโดยขาดการวิเคราะห์ถึงที่มาว่าเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร การทำเช่นนี้ทำให้เกิดความขัดแย้งกับวัฒนธรรมการทำงานแบบเดิมโดยผู้คนส่วนใหญ่ยังไม่ได้พัฒนาทางความคิด ผมจึงอยากแนะนำว่า หากองค์การใดมีโอกาสไปดูงานที่บริษัทอื่น ท่านอย่าเอาเพียงวิธีการมา ท่านควรถามเขาถึงที่มาที่ไปให้ดีเสียก่อน เพราะกว่าเขาจะสำเร็จมาเช่นวันนี้นั้น เขาล้มลุกคลุกคลานมามาก ดังนั้น ท่านเองก็ต้องมีทางเสือผ่านเช่นกัน การก้าวกระโดดโดยขาดพื้นฐานที่ดี มันรักษาไม่ได้ครับ
3. การสอนวิชาการบริหารในมหาวิทยาลัยอเมริกัน ไม่สมดุล
หลักสูตร MBA เกือบทั้งหมด จะสอนหนักไปทางทฤษฎีทางการเงิน การธนาคาร มากกว่าเรื่องการบริหารการผลิตและเทคนิคการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity)
เมืองไทยเองรับเอาวิธีการเรียนการสอนมาจากอเมริกามากมายเหลือเกิน สังเกตุง่ายๆว่าเวลาท่านเรียนในมหาวิทยาลัย จะมี อาจารย์ที่จบ ดร. จากอเมริกามากมาย จากที่อื่นนี่น้อยนัก ดังนั้นแนวทางในการสอนในเมืองไทยก็เป็นเช่นนี้ และเมื่อเป็นเช่นนั้น นักบริหารเหล่านี้มักจะถามคำถามปวดใจได้เหมือนกัน เช่น ในกรณีการดำเนินการ Kaizen หากการปรับปรุงเพื่อลดอุบัติเหตุ ถามว่าคุ้มทุนหรือไม่ บางครั้งก็ตอบยากนะครับ แต่ถ้ามีจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดบวกค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลก็อาจจะพอกล้อมแกล้มได้ แต่การปรับปรุงบางอย่างยิ่งวัดเป็นตัวเงินยาก แต่ได้ขวัญและกำลังใจ อันนี้เป็นสิ่งที่วัดความคุ้มค่าเป็นตัวเงินยาก และเป็นที่มาของปัญหา หากผู้บริหารท่านนั้นไม่เข้าใจ
4. การพึ่งพาคุณภาพจากแผนกประกันคุณภาพแต่เพียงอย่างเดียว
ความเข้าใจถึงบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของพนักงานต่อการปรับปรุงคุณภาพงานยังไม่ชัดเจน ฝ่ายบริหารยังคงให้ความไว้วางใจด้านการควบคุมคุณภาพไว้กับแผนกประกันคุณภาพซึ่งไม่ถูกต้อง
แนวคิดนี้ถูกปฏิเสธมาแล้วโดย ดร.คาโน่ ว่า ของจะดีหรือไม่ดี ไม่ได้อยู่ที่แผนก QC แต่ของดีเกิดจากกระบวนการที่ดีเท่านั้น ดังนั้นท่านผู้บริหารทั้งหลาย ท่านต้องนำเรื่องนี้ไปดำเนินการครับ แค่ข้อนี้ข้อเดียว ก็ใช้เวลาเป็นปีๆ เลยครับ
ตอนนี้ฝากไว้สี่ข้อก่อน ที่เหลือจะทยอยมาให้อ่านอีกครับ
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที