อ.อุดม

ผู้เขียน : อ.อุดม

อัพเดท: 02 ส.ค. 2007 19.00 น. บทความนี้มีผู้ชม: 521126 ครั้ง

แนะนำมือใหม่หัดขับ ที่สนใจการบริหาร TQM


เสาเข็มที่ 1- MOTIVE ขวัญและกำลังใจที่ดี (ตอนที่ 3)

การสร้างแรงจูงใจสำหรับกลุ่มผู้บริหารระดับกลาง ผู้บริหารระดับต้น ซุปเปอร์ไวเซอร์ หัวหน้างาน และพนักงานนั้น สิ่งสำคัญคือการที่ต้องเข้าใจว่าผู้คนระดับนี้ต้องการอะไร

ทฤษฎีที่ 1 ทฤษฎีความต้องการตามลำดับขั้น ของอับราฮัม มาสโลว์ กล่าวว่าอย่างนี้ครับ

ผู้คนมีความต้องการแบ่งกว้างๆออกเป็น 5 ขั้น คือ

1. ผู้คนมีความต้องการด้านปัจจัยสี่

2. ผู้คนมีความต้องการความปลอดภัย

3. ผู้คนต้องการความรัก

4. ผู้คนต้องการการยอมรับนับถือจากสังคม

5. ผู้คนมีความต้องการประสบความสำเร็จในชีวิต

การจูงใจผู้คนจึงต้องศึกษาผู้คนว่าเขาอยากได้อะไร แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ผู้บริหารจึงต้องหาทางรู้ให้ได้ว่า จะให้อะไรแล้วโดนใจผู้คน ถ้าไม่โดน ก็จูงใจไม่ขึ้น

มาดูทีละขั้นดีไหมครับว่าเป็นอย่างไรบ้าง
1. ผู้คนมีความต้องการด้านปัจจัยสี่  ส่วนมากแล้วพนักงานที่มีความต้องการทางด้านปัจจัยสี่นั้น มักพบได้กับนักเรียน นักศึกษาที่จบใหม่ คนที่อยู่ในช่วงกำลังสร้างเนื้อสร้างตัว พนักงานที่เพิ่งมาหางานทำใน กทม หรือคนต่างจังหวัดที่มาหางานทำในกรุงเทพ ผู้คนกลุ่มนี้มักทำงานเพื่อแลกเงินเป็นหลัก เพื่อเอาเงินไปแลกกับปัจจัยสี่ จะไม่ทำงานกับบริษัทที่ไม่มีโอทีเด็ดขาด จะไม่ยอมรับการโปรโมทเพื่อเป็นหัวหน้า แต่ได้เงินน้อย หากผู้บริหารจะจูงใจผู้คนกลุ่มนี้ ท่านต้องใช้เงินครับ ไม่งั้นก็ไม่โดน เมื่อไม่โดน ก็จะไม่มีใครอยากมีส่วนร่วม ไม่ต้องใช้อย่างอื่น เพราะเขาไม่อยากได้ ไม่ต้องไปชมมากยังได้เลย เพราะแค่ได้รับคำชมปากท้องมันไม่อิ่มครับ

2. ผู้คนมีความต้องการความปลอดภัย พนักงานที่มีความต้องการแบบนี้เป็นพนักงานที่ผ่านความต้องการในขั้นที่ 1 มาแล้วคือ ปากท้องเริ่มอิ่ม มีที่หลับที่นอน มีเสื้อผ้าที่ใส่อวดใครๆได้ มีเงินรักษาพยาบาลตัวเอง ดังนั้น ผู้คนกลุ่มนี้จึงมักเป็นพวกที่ทำงานมาเป็นเวลานาน เริ่มมีเงินทองเก็บ คนกลุ่มนี้เริ่มแสวงหาความมั่นคงในอาชีพการงาน จะเลือกทำงานกับบริษัทที่มั่นคง  จะรู้จักการทำประกันชีวิต หากลักษณะงานของคนกลุ่มนี้เป็นประเภทที่ต้องเดินทางบ่อย พวกเขาจะเรียกร้องให้มีการประกันชีวิตให้พวกเขา  หากผู้บริหารจะจูงใจผู้คนกลุ่มนี้ ท่านต้องให้ความมั่นคงในอาชีพการงาน และความปลอดภัยครับ ไม่งั้นก็ไม่โดน เมื่อไม่โดน ก็จะไม่มีใครอยากมีส่วนร่วม ไม่ต้องใช้อย่างอื่น เพราะเขาไม่อยากได้ ไม่ต้องไปชมมากยังได้เลย เพราะแค่ได้รับคำชมมันไม่ได้บอกว่าเขาจะมั่นคงปลอดภัย ไม่ต้องใช้เงินมากครับ(อาจจะมีบ้างติดปลายนวม) เพราะไม่แน่เขาอาจจะเอาเงินไปซื้อประกันชีวิต แทนที่จะต้องควักเนื้อ

3. ผู้คนต้องการความรัก พนักงานที่มีความต้องการขั้นนี้ ส่วนมากแล้วประสบความสำเร็จแล้ว 2 ขั้น (แต่ก็มีไม่น้อยครับในเมืองไทย ที่กลุ่มพนักงานต้องการความรักพอๆกับต้องการขั้นที่ 1 จึงทำให้คนกลุ่มนี้อยู่ในวังวนขั้นที่ 1 อีกนาน เพราะเมื่อมีครอบครัว ก็จะมีลูกและนั่นกลายเป็นภาระที่ต้องเลี้ยงดู ส่งเสียให้เรียนหนังสือ ไม่ก็ต้องมีค่าเลี้ยงดูอีก เพราะตนเองไม่มีเวลาเลี้ยงเอง จึงต้องทำงานเพื่อเงินอีกแล้ว)ในเมืองไทยจึงไม่ค่อยพบคนกลุ่มนี้มากนัก ถ้าจะพบมักเป็นพวกที่โสด มีการงานมั่นคง มีเงินพอใช้จ่าย มีประสบการในการทำงานมากว่า 5-15 ปี (ในมุมมองผมนะ) เริ่มมองหาลู่ทางสร้างเรือนหอหลังงาม หากผู้บริหารจะจูงใจผู้คนกลุ่มนี้ ท่านต้องสร้างบรรยากาศความเป็นกันเอง เป็นพี่เป็นน้อง ใช้ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การเข้าไปนั่งกลางใจ เป็นที่รักสำหรับเพื่อนเร่วมงานและลูกน้อง ไม่งั้นก็ไม่โดน เมื่อไม่โดน ก็จะไม่มีใครอยากมีส่วนร่วม

4. ผู้คนต้องการการยอมรับนับถือจากสังคม ส่วนมากพนักงานที่เข้ามาทำงานร้อยทั้งร้อยต้องการการยอมรับจากเพื่อนร่วมงาน จากลูกน้อง และจากลูกพี่ ในวันแรกๆที่ตนเข้ามาทำงานด้วยซ้ำ แต่ก็ยังไม่ได้ฉายแววอย่างชัดเจน ความต้องการขั้นที่จะยิ่งชัด เมื่อความต้องการขั้นอื่นๆเริ่มบรรลุ ดังนั้น หากผู้บริหารจะจูงใจผู้คนกลุ่มนี้ ท่านต้องสร้างเวทีให้มีการนำเสนอความคิด เวทีการแสดงความรู้ความสามารถ เวทีที่จะเปิดโอกาสในการมีส่วนร่วม ต้องมีการประกาศยกย่อมชมเชยในความสำเร็จของพนักงาน ไม่งั้นก็ไม่โดน เมื่อไม่โดน ก็จะไม่มีใครอยากมีส่วนร่วม

5. ผู้คนมีความต้องการประสบความสำเร็จในชีวิต ผู้คนกลุ่มนี้มักเป็นผู้ที่มีฝัน มักเป็นพวกไฮเปอร์ คือ คิดไว ทำไว ชอบเรียนรู้ ชอบแก้ไขปัญหา ชอบที่จะเป็นผู้นำ ชอบที่จะมีอำนาจ ชอบที่จะมีลูกน้อง เพราะเขาเหล่านั้นต้องการประสบความสำเร็จในชีวิต แต่อย่างไรก็แล้วแต่ ความต้องการขั้นนี้องค์การมักไม่ค่อยมีบทบาทมากนัก เพราะน้อยรายนักที่อยากทำงานเป็นลูกจ้างไปตลอดชีวิตและบอกว่านี่คือความสำเร็จในชีวิตดังนั้นจึงจะเป็นการ สนับสนุนการทำงานของเขาให้ประสบความสำเร็จในแต่ละโครงการให้ได้ นั่นแหละจึงจะจูงใจเขาได้ และโดนใจ หากผู้บริหารเฉื่อยชา ไม่ให้การสนับสนุนด้านทรัพยากร คนกลุ่มนี้จะหาที่ทำงานใหม่ที่พวกเขาได้แสดงฝีมือ


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที