อ.อุดม

ผู้เขียน : อ.อุดม

อัพเดท: 02 ส.ค. 2007 19.00 น. บทความนี้มีผู้ชม: 529876 ครั้ง

แนะนำมือใหม่หัดขับ ที่สนใจการบริหาร TQM


เสาเข็มที่ 1- MOTIVE ขวัญและกำลังใจที่ดี (ตอนที่ 1)

นอกจากแนวคิด ทั้งเจ็ด ในเสาต้นที่ 1 นั้น ดร.คาโน่ ท่านว่ายังไม่พอ จริงๆแล้วองค์การที่จะทำกิจการใดๆ ต้องมีสิ่งเหล่านี้ก่อน นั่นคือ เสาเข็ม อันถือว่าสำคัญมากสำหรับการสร้างบ้าน บ้านหากไม่มีเสาเข็มก็รอวันทรุด เฉกเช่นเดียวกันกับ บ้านของ TQM ถ้าไม่มีเสาเข็มถือว่าดำเนินไปได้กระท่อนกระแท่น

เสาเข็มที่ 1. MOTIVATION, MOTIVE คือแรงจูงใจที่พนักงานทุกคน ทุกระดับร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ เพื่อที่จะทำการปรับปรุงงานให้ดีขึ้น

เสาต้นนี้บอกว่าพนักงานทั้งองค์การต้อมมีแรงจูงใจที่ดี ซึ่งแรงจูงใจที่ดีก็จะนำไปสู่การดำเนินการที่ยั่งยืน ไม่ทิ้งไปกลางทาง แบ่งได้เป็น 2 ระดับ

ระดับที่ 1 ระดับผู้บริหารระดับสูง
ระดับที่ 2 ระดับผู้บริหารระดับกลาง ต้น ซุปเปอร์ไวซ์เซอร์ หัวหน้างาน ถึงพนักงาน

ที่ผมแบ่งเช่นนี้ เพราะผมมักเจอว่า ผู้คนในบริษัทคิดต่างกัน คล้ายๆกับว่ามันมีความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของมากน้อยต่างกัน หากความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของมากน้อยต่างกัน จะเป็นตัวผลักดันพฤติกรรมในการทำงานของผู้คนนั่นเองให้แสดงพฤติกรรมการทำงานให้ทุ่มเท เสียสละมากน้อยต่างกัน

การสร้างแรงจูงใจ ระดับผู้บริหารระดับสูง

ผู้บริหารระดับสูงมีสิ่งที่เป็นแรงจูงใจ 2 อย่างหลักๆ คือ
1. วิสัยทัศน์
2. วิกฤติ

วิสัยทัศน์ คือการมองการไกลในอนาคต เป็นการมองด้วยใจ ด้วยสมอง ด้วยข้อมูลที่มีในตน แล้วกำหนดทิศทางขององค์การว่าต้องการจะประสบความสำเร็จอะไร

วิกฤติ คือสถาพที่ไม่นิ่ง ไม่คงที่ คาบเกี่ยวอยู่บนทางสองแพร่ง หรือยอดเขา เป็นสถาพที่ต้องการการตัดสินใจ ให้เลือกทางเดินว่าจะไปอย่างไร จริงๆแล้ว วิกฤติ ไม่ได้บอกว่าร้ายเสมอไป อาจจะเป็นสิ่งที่ดีก็ได้ แต่เรามักเจอ หรือพบ ในแง่มุมที่ไม่ดีเสียมากกว่า เลยทำให้เรามีความรู้สึกต่อคำว่าวิกฤต ในมุมที่ไม่ดี

มีคำบอกเล่าจากเครือซิเมนต์ไทย สมัยที่ผู้บริหารระดับสูงตัดสินใจว่าจะนำ TQM มาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ ว่า ก่อนที่ ดร. คาโน่ จะเข้ามาให้คำปรึกษานั้น ดร.คาโน่ได้ถามผู้บริหารระดับสูงว่า เครือปูนซิเมนต์ไทยมีวิกฤติอะไรหรือ ตอนนั้นผู้บริหารตอบไปว่าไม่มี ดร.คาโน่ท่านว่า ถ้าไม่มี ก็ไม่รับให้คำปรึกษา แต่ผู้บริหารของที่นี่ไม่ละความพยายาม ได้ทำการติดต่อไปใหม่คราวนี้ผู้บริหารได้เรียนให้ ดร.คาโน่ ทราบว่า แม้เครือซิเมนต์ไทย ไม่มีวิกฤติ แต่ผู้บริหารของเครือฯ มีวิสัยทัศน์ ที่จะปรับปรุงบริษัท นั่นแหละ จึงทำให้ ดร.คาโน่ รับ เป็นที่ปรึกษาให้

ดร.คาโน่ ท่านให้ความสำคัญกับความตั้งใจของผู้บริหารระดับสูงมาก หากผู้บริหารระดับสูง ไม่มีวิกฤติ หรือไม่มีวิสัยทัศน์ ท่านฟันธงเลยครับว่า ไม่รับ เหตุผลที่ท่านให้ก็คือ หากไม่มีแรงจูงใจที่ดีแล้ว ก็ไม่สามารถนำระบบ TQM ไปสร้างให้เป็นวัฒนธรรมการปรับปรุงงานงานได้ เมื่อไม่มีแรงจูงใจ ความตั้งใจก็ไม่เกิด เมื่อไม่มีความตั้งใจ ทำอะไรก็แบบขอไปที ลุ่มๆดอนๆ นานๆเข้าก็จะเบื่อ และไม่ทำ นั่นเอง

สสท เองก็เช่นกัน ได้รับการติดต่อจากหลากหลายองค์การให้เข้าไปช่วยให้คำปรึกษาในระบบ TQM บางองค์การผู้บริหารระดับสูงท่านติดต่อมาเอง บางองค์การ ผู้บริหารระดับกลางติดต่อมา การที่พนักงานสองระดับนี้ติดต่อมานั้น ให้นัยที่ต่างกันครับ ส่วนมากแล้วถ้าผู้บริหารระดับกลางติดต่อมานั้นมักไม่ค่อยได้รับความร่วมมือจากผู้บริหารระดับสูง เมื่อไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้บริหารระดับสูงแล้ว ท่านคิดว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ คำตอบคือ"ไม่มี"

ตอนนี้ พักไว้แค่นี้ก่อนนะครับ ไว้มาต่อ วันพรุ่งนี้ ในหมวด เสาเข็มที่เป็นพื้นฐาน ตอนที่ 2.


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที