อากาศหนาวเริ่มมาเยือนอีกรอบแล้วช่างเร็วเหลือเกิน รอบนี้มีการพยากรณ์กันว่าจะหนาวกว่าทุกปี จะจริงหรือไม่ก็คงต้องรอพิสูจน์เอา แต่อย่างไรก็ตามในฐานะที่อยู่ในแวดวงความปลอดภัย เพื่อความไม่ประมาทก็อยากให้ทุกคนเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อรับมือกับภัยหนาวกันดีกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ทำงานในที่เย็น หรืออุตสาหกรรมห้องเย็นที่มีอากาศเย็นจัด เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง ตลอดช่วงฤดูหนาว
ตามคำนิยามของ OSHA (หน่วยงานดูแลเรื่องความปลอดภัย สุขภาพ จากการประกอบอาชีพ ของอเมริกา) ระบุว่า การเจ็บป่วยเนื่องจากอากาศเย็นจะเกิดขึ้นเมื่อกลไกลของร่างกายไม่สามารถสร้างความอบอุ่นด้วยตัวเองได้ ทำให้เนื้อเยื่อต่าง ๆ ถูกทำลาย
ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยเนื่องจากอากาศเย็น มีด้วยกัน 4 ปัจจัยคือ
· อุณหภูมิอากาศที่เย็น
· ลมที่แรง
· ความชื้นของอากาศ
· การสัมผัสกับน้ำที่เย็บ หรือพื้นผิวที่เย็น
สภาพแวดล้อมที่หนาว/เย็นจะทำให้กลไกลในร่างกายต้องทำงานหนักหนักขึ้นเพื่อรักษาอุณหภูมิของร่างกายไว้ ซึ่งสภาพอากาศที่เย็น น้ำที่เย็น และหิมะ ล้วนทำให้ร่างกายต้องสูญเสียความร้อนออกจากร่างกาย .
นอกจากนี้ในขณะที่อุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็งและมีการป้องกันที่ไม่เพียงพอยังอาจทำให้เกิดภาวะเจ็บป่วยเนื่องจากความหนาวได้
เกิดอะไรขึ้นกับร่างกายเมื่ออากาศหนาว ? พลังงานในร่างกายจะถูกนำไปใช้เพื่อรักษาอุณหภูมิของร่างกายทำให้ร่างกายอบอุ่น เมื่อต้องอยู่ในสภาพอากาศที่หนาว เป็นเวลานานร่างกายก็จะเพิ่มอัตราการไหลเวียนเลือดเลือดจากอวัยวะส่วนปลายของร่างกาย คือแขน ขา และผิวหนังชั้นนอกไปยังอวัยวะแกนหลัก คือส่วนหน้าอกและหน้าท้อง ซึ่งการเพิ่มอัตราการไหลเวียนโลหิตนี้จะทำให้แขน ขา และผิวหนังเราเย็นลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการเจ็บป่วยขึ้นได้
ความเจ็บป่วยที่เกิดจากความหนาว ที่สำคัญ ๆ ได้แก่
Hypothermia (อุณหภูมิร่างการลดต่ำเนื่องจากความเย็น) เกิดขึ้นเนื่องจากร่างกายสูญเสียความร้อนไปมากกว่าที่ร่างกายสร้างขึ้นมาทดแทน เมื่ออุณหภูมิร่างกายลดลงต่ำกว่าอุณหภูมิปกติ คือ 37 องศาเซลเซียส ถึงประมาณ 32 องศาเซลเซียส จะเริ่มมีอาการหนาวสั่น อ่อนเพลีย สับสน ง่วงซึม ผิวหนังซีดเย็น
Frostbite อาการบวมเป็นน้ำเหลือง เนื่องจากถูกความเย็น เกิดขึ้นเมื่อผิวหนังถูกความเย็นและสูญเสียน้ำ ส่วนใหญ่มักพบที่บริเวณอวัยวะส่วนปลายของร่างกาย โดยอวัยวะส่วนดังกล่าวจะเย็น รู้สึกซ่า ๆ เจ็บปวด หมดความรู้สึกในที่สุด ผิวหนังจะเปลี่ยนเป็นสีแดง จากนั้นเป็นสีม่วง และกลายเป็นสีขาว และผิวหนังจะเย็นจนสัมผัสไม่ได้ ในบางกรณีอาจมีตุ่มพุพองเกิดขึ้น
Trench foot เท้าแช่น้ำเย็น เกิดจากการที่เท้าแช่อยู่ในน้ำเย็นที่มีอุณหภูมิประมาณจุดเยือกแข็งเป็นระยะเวลายาวนาน ซึ่งจะคล้ายคลึงกันกับ Frostbite แต่อาการ Trench Foot นี้จะรุนแรงน้อยกว่า จะมีอาการผิวหนังรู้สึกซ่าๆ มีตุ่มหิด หรือรู้สึกเหมือนถูกไฟลวก ต่อมาอาจจะมีแผลพุพอง
เมื่อต้องเผชิญกับภัยหนาว
สิ่งที่ควรปฎิบัติหรือแนวทางการป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากภัยหนาว สำหรับผู้ที่ต้องทำงานสัมผัสกับความหนาว/เย็น รวมทั้งผู้ที่ชอบพักผ่อนหย่อนใจ หรือชื่นชอบกิจกรรมกลางแจ้งในฤดูหนาว มีดังนี้
· สวมใส่เสื้อผ้าอย่างน้อย 3 ชั้น โดยชั้นนอกสุดเป็นผ้าที่ทำจากวัสดุที่สามารถป้องกันแรงลมได้ เชGortex, ชั้นกลางควรทำจากวัสดุที่ช่วยดูดซับเหงื่อและให้ความ
อบอุ่น เช่นขนสัตว์ และชั้นในสุดควรทำจากวัสดุที่ระบายอากาศได้ดี เช่น cotton หรือ synthetic
· สวมหมวก เนื่อจากความร้อนในร่างกายอาจสูญเสียผ่านทางศีรษะได้
· มีเสื้อผ้าแห้ง ติดสำรองไปด้วย เผื่อกรณีที่ที่ชุดที่สวมใส่อยู่เปียก
· ควรสวมเสื้อผ้าที่หลวม ๆ เนื่องจากจะช่วยการระบายอากาศได้ดี
· ปฎิบัติตามคำแนะนำเพื่อความปลอดภัยในการปฎิบัติงานอย่างเคร่งครัด , ดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ , พักโดยการออกจากที่หนาว/เย็น เป็นระยะๆ
ควรทำงานเป็นคู่ และรับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูง ๆ
· ใช้การป้องกันทางด้านวิศวกรรม เช่น เครื่องทำความร้อน, ที่ป้องกันแรงลม และทำฉนวนหุ้มอุปกรณ์หรือเครื่องมือ
· เรียนรู้ หรือทราบอาการเบื้องต้นที่อาจเกิดขึ้นกับภัยหนาว
เพียงเท่านี้เราก็สามารถท้าทายลมหนาวที่มาเยือนได้อย่างมั่นใจ ไร้ความกังวลต่อสุขภาพกันแล้ว
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที