khwanjai

ผู้เขียน : khwanjai

อัพเดท: 21 มิ.ย. 2010 10.35 น. บทความนี้มีผู้ชม: 7088 ครั้ง

อุบัติเหตุในเด็ก


อุบัติเหตุในเด็ก

จากการเข้าร่วมประชุมวิชาการ Update Pediatric ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในวันที่ 16-18 มิถุนายน 2553 ที่ผ่านมา มีอีกหัวข้อหนึ่งที่น่าสนใจ ก็คือ การป้องกันการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นในเด็ก (Child injury prevention) ซึ่งปัญหาที่สำคัญที่เกิดขึ้นในเด็กมีดังนี้

1.              ปัญหาการจมน้ำ

ประเทศสวีเดนมีอัตราการตายของเด็กต่ำที่สุดในโลก แต่สำหรับประเทศไทยไม่ได้เป็นเช่นนั้น จากข้อมูลที่ผ่านมา พบว่า สาเหตุการตายอันดับ 1 ในเด็ก คือ การจมน้ำ (Drowning) โดยเฉพาะในเด็กก่อนวัยเรียนที่พบมากที่สุดในช่วงอายุ 11-14 ปี เด็กผู้หญิงมีอัตราการจมน้ำต่ำกว่าเด็กผู้ชาย

สำหรับสาเหตุของการจมน้ำพบว่ามักอยู่บริเวณแถวๆ บ้าน หรือในบ้าน เช่น ในถังน้ำ โอ่งน้ำ เป็นต้น  ซึ่งสิ่งเหล่านี้บ่งบอกถึงพฤติกรรมของพ่อแม่หรือผู้ปกครองว่าไม่ได้มีการตระหนักถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้น

จากข้อมูล การจมน้ำในเด็กอายุ < 5 ปี เป็นสาเหตุการตายของเด็กในเมืองมากกว่าชนบท ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นเด็กในกลุ่มชนบทยากจนที่ย้ายเข้ามาอยู่ในเมือง

นอกจากนี้ในเด็กกลุ่มอายุ > 5 ปี พบว่าการจมน้ำเป็นสาเหตุการตายของเด็กในชนบท มากกว่าในเมือง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการตั้งเป้าหมายการดูแลและรณรงค์ว่า เด็กที่ขึ้น ป.1  ต้องสามารถว่ายน้ำได้ทุกคน และยังมีโครงการอื่นๆ ที่จัดทำขึ้น เช่น “Safe community in Children” ในกรุงเทพมหานคร เป็นต้น

2.              อุบัติเหตุการจราจร (Traffic injury)

             อุบัติเหตุการจราจรที่พบบ่อยที่สุด ก็คือ รถมอเตอร์ไซด์ โดยพบว่า 69.7% เป็นอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นในเด็กที่เป็นผู้ขับขี่และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

                จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า เด็กที่ขับขี่มอเตอร์ไซน์มีอายุต่ำสุด 9 ปี และเด็กส่วนใหญ่ไม่สวมหมวกนิรภัยหรือหมวกกันน็อค (helmet) จึงได้มีการรณรงค์ให้มีการสวมหมวกกันน็อค ซึ่งขณะนี้มีหมวกกันน็อคสำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 2 ขวบขึ้นไป

                สำหรับรถจักรยาน (bicycle) หลายๆ ประเทศที่พัฒนาแล้วมีข้อกำหนดไม่ให้เด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี นั่งรถจักรยาน ในแถบยุโรป เด็กที่น้ำหนักน้อยกว่า 22 kgs. ไม่อนุญาติให้นั่งรถจักรยาน สำหรับประเทศไทยไม่ได้มีข้อห้าม ดังกล่าว และเกิดอุบัติการณ์การบาดเจ็บจากการที่ขาได้เข้าในซี่หรือแกนล้อรถจักรยานโดยพบในอัตรา 1: 15 คน

สำหรับข้อแนะนำบางส่วนเกี่ยวกับการป้องกันอุบัติเหตุจราจร คือ

-         ไม่อนุญาตให้ทารกนั่งรถมอเตอร์ไซด์เด็ดขาด

-         ไม่อนุญาตให้เด็กอายุน้อยกว่า 6 ปี หรือน้ำหนัก < 18 กก. นั่งรถมอเตอร์ไซด์

 

มีการศึกษาชัดเจนที่พบว่า เด็กไทยส่วนใหญ่เรียนรู้การขับขี่รถมอเตอร์ไซด์เกิดจากการเรียนรู้ด้วยตนเอง และบางคนพ่อหรือแม่ สอนให้ ดังนั้น ถึงเวลาแล้วหรือยังที่พ่อแม่จะทำตัวเป็นผู้พิทักษ์ความปลอดภัยของลูกอย่างแท้จริงโดยไม่ทำให้เขาต้องเสี่ยงต่ออันตรายก่อนวัยอันควร ซึ่งอายุที่เหมาะสมของการขับขี่มอเตอร์ไซด์ คือ 18 ปี ขึ้นไป
 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที