พยัพ

ผู้เขียน : พยัพ

อัพเดท: 12 พ.ย. 2013 15.02 น. บทความนี้มีผู้ชม: 152400 ครั้ง

ทำไม TPM จึงน่าสนใจสำหรับอุตสาหกรรม


จะนำปรัชญา TPM เข้ามาใช้ในโรงงานได้อย่างไร

ตอนที่ 4 :จะนำปรัชญา TPM เข้ามาใช้ในโรงงานได้อย่างไร

                การเตรียมการก่อนที่จะนำปรัชญาของTPMเข้ามาใช้ในโรงงานนั้นทางJIPM ได้ให้คำแนะนำขั้นตอนการเตรียมการไว้ก่อนที่จะลงมือทำกิจกรรม TPM กันทั่วทั้งองค์กรอย่างจริงจังซึ่งเราเรียกว่า Kick off จำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปนี้ให้เสร็จก่อนการทำกิจกรรมจึงจะมีโอกาสประสบความสำเร็จได้ด้วยดีซึ่งประกอบไปด้วย 

1.การประกาศนำ TPM มาใช้โดยผู้บริหารระดับสูง ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทคือประธานบริษัท คณะกรรมการบริหาร และผู้จัดการโรงงานเป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลการเรียนรู้ปรัชญาของ TPM จะมาจากการที่ท่านเหล่านี้ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยหรือได้รับฟังผู้บริหารระดับสูงของบริษัทอื่นๆจากการได้ไปร่วมประชุมสัมมนา ไปเยี่ยมชมโรงงานหรือการสัมภาษณ์ของสื่อมวลชน ลงในวารสารต่างๆเกี่ยวกับ TPM  หรือบางท่านก็เดินทางไปดูงานเกี่ยวกับการทำกิจกรรม TPM ของโรงงานที่ประสบความสำเร็จจนได้รับรางวัล TPM Awards จาก JIPM ทั้งในประเทศและต่างประเทศเช่น ญี่ปุ่น ซึ่งทาง ส.ส.ท.เองก็จะจัดให้ผู้บริหารบริษัทเดินทางไปทัศนศึกษาดูงาน(Study Mission)เรื่อง TPM โรงงานที่ประสบความสำเร็จทั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นทุกปีโดยได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดีจาก Japan –Thai and Economic Cooperation Society (JTECS)ในการติดต่อประสานงานโรงงานอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นที่ทำกิจกรรม TPM ประสบความสำเร็จแล้วและขออนุญาติเข้าไปทัศนศึกษาดูงานได้เป็นกรณีพิเศษ ผู้บริหารจึงได้ไปเรียนรู้ปรัชญาของ TPM มาด้วยตัวเองว่ามีประโยชน์ต่อโรงงานมากน้อยเพียงใด จึงได้ตัดสินใจนำ TPM เข้ามาใช้ในโรงงานโดยการประกาศให้พนักงานทุกคนรับทราบอย่างเป็นทางการด้วยวาจาและเอกสาร

 2.การให้การศึกษาและการรณรงค์เพื่อนำ TPM มาใช้  เมื่อมีการประกาศนโยบายบริษัทในการนำปรัชญา TPM เข้ามาใช้อย่างเป็นทางการแล้ว ก็มีแต่ผู้บริหารระดับสูงเท่านั้นที่พอจะรู้ว่า TPM คืออะไรมีประโยชน์อย่างไรซึ่งก็จะรู้กันอยู่เฉพาะในกลุ่มผู้บริหารเท่านั้นแล้วจะนำปรัชญา TPM เข้ามาใช้ในโรงงานได้อย่างไร ดังนั้นจุดเริ่มต้นเราจึงต้องมีการให้การศึกษาเรื่อง TPM กับพนักงานทุกคนก่อนจนกว่าพนักงานจะมีความรู้ความเข้าใจว่าปรัชญาของ TPM มีประโยชน์ต่อโรงงานและตัวของพนักงานมากน้อยแค่ไหน    จึงจำเป็นต้องมีการฝึกอบรมกันขึ้น แล้วใครล่ะจะเป็นวิทยากรบรรยายให้พนักงานมีความรู้ความเข้าใจเรื่อง TPMได้ผู้บริหารเองก็รู้มาไม่มากนักยังไม่เข้าใจ TPM ในรายละเอียดอย่างลึกซึ้งมากพอที่จะบรรยายได้ และ TPM ก็ไม่ใช่เป็นเพียงทฤษฎีเท่านั้นแต่ต้องนำไปปฏิบัติให้เกิดผลได้จริง จึงจำเป็นต้องหาวิทยากรที่สามารถบรรยายให้พนักงานเข้าใจและนำไปปฏิบัติตามได้ซึ่งเราเรียกกันว่าอาจารย์ที่ปรึกษาหรือ Consultant นั่นเอง จึงมีการค้นหาอาจารย์ที่ปรึกษาที่มีคุณสมบัติเหมาะสมและคัดเลือกมาเป็นที่ปรึกษากันซึ่งก็มีทั้งชาวใทยและชาวต่างประเทศทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้บริหารโรงงานว่ามั่นใจกับที่ปรึกษาชาวไทยหรือไม่ ถ้าไม่มั่นใจก็ต้องใช้ชาวต่างประเทศ (แต่ต้องใช้งบประมาณมากกว่า 5 เท่า) เพราะมีส่วนสำคัญในการที่จะนำปรัชญาของTPM เข้ามาในโรงงานได้สำเร็จหรือไม่ ขั้นตอนนี้นับว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากเพราะเป็นการพัฒนาความคิดเบื้องต้นของ TPM ให้กับพนักงานตามสมการของ TPM-JIPM เป็นปัจจัยแรกที่เขียนไว้ในตอนที่ 3

เมื่อมีการฝึกอบรมให้ความรู้เรื่อง TPM กับพนักงานทุกคนกันแล้วถ้าพนักงานเข้าใจถึงแนวคิดและวิธีการทำกิจกรรมรวมถึงประโยชน์ที่จะได้รับชัดเจน การรณรงค์เพื่อให้ทุกคนร่วมมือกันทำกิจกรรม TPM ให้สำเร็จก็คงไม่ยากนัก แต่ถ้าพนักงานไม่ได้รับทราบจากการอบรมหรือ ยังไม่เข้าใจ มองไม่เห็นวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการทำกิจกรรม TPM ว่ามีประโยชน์อย่างไร ทำแล้วเขาจะได้อะไร ทำไมต้องทำ เขาควรจะมีส่วนร่วมหรือไม่ การรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ ให้พนักงานรับทราบและมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมจึงเป็นเรื่องจำเป็นมิฉะนั้นอาจจะไม่ได้รับความสนใจ และนำไปสู่การไม่ให้ความร่วมมือหรืออาจจะเกิดการเข้าใจผิดไปเลยก็ได้เช่นบางคนมองว่ากิจกรรม TPM เป็นงานเพิ่มที่บริษัทบังคับให้พนักงานทำโดยไม่มีผลตอบแทน พนักงานไม่ได้รับประโยชน์อะไร บริษัทได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว

 3.การจัดตั้งองค์กรส่งเสริม TPM และองค์กรที่จะทำ TPM เป็นตัวอย่าง (Manager Model    Machine/Line) เมื่อทุกคนเข้าใจดีแล้วว่าปรัชญาของ TPM  มีประโยชน์ต่อตัวพนักงานเองและโรงงาน ทำให้มีทัศนคติที่ดีต่อ TPM จนมีความรู้สึกอยากทำสิ่งต่างๆที่ได้รับความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์มาจากที่ปรึกษาว่าถ้าทำแล้วจะมีผลเป็นอย่างไรจะเหมือนกับที่ได้รู้ได้เห็นหรือคิดคาดฝันขึ้นมาเองหรือไม่ มันจึงเป็นเรื่องท้าทายความสามารถของพนักงานทุกคน ซึ่งเราจะเรียกว่าการทำกิจกรรม TPM แต่การทำกิจกรรมนั้นจะต้องทำอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ ไม่มีการประสานงานกัน ทำให้เกิดการทับซ้อน ซ้ำซ้อน สับสน ในที่สุดก็ต้องเลิกลาแยกย้ายกันไป เสียเวลาไปเปล่าๆ จึงมีการจัดตั้งองค์กรส่งเสริมการทำกิจกรรม TPM ขึ้นมาสนับสนุนเพื่อให้พนักงานทุกคนไม่มีปัญหาและอุปสรรคในการทำกิจกรรม กิจกรรมจึงจะเกิดความก้าวหน้าและประสบความสำเร็จดังนั้นการจัดตั้งองค์กรส่งเสริมการทำกิจกรรม TPM จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

องค์กรส่งเสริมกิจกรรม TPM เราจะแบ่งเป็น 2 คณะด้วยกันคือคณะแรกเป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนในสายงานโดยตรง(Steering Committee) ซึ่งก็คือโครงสร้างการบริหารงานตามสายบังคับบัญชาตามปกติ(Hierarchical System)ของโรงงานนั่นเองหรือเรียกกันว่าสามเหลี่ยมทับซ้อน( Overlapping Organization )นำทีมโดยผู้จัดการฝ่ายลงมาตามระดับชั้นจนถึงพนักงานระดับปฏิบัติงานที่หน้างาน ช่องทางนี้เป็นช่องทางหลักที่จะนำปรัชญา TPM เข้ามาสู่โรงงานโดยการถ่ายทอดความรู้แบบไหลกันลงมาตามลำดับชั้นแบบน้ำตก (Cascade Training ) ผลลัพธ์จากการทำกิจกรรมเราสามารถวัดผลงานคณะกรรมการชุดนี้ได้ด้วยดัชนีชี้วัด P,Q,C,D,S,M,E และเมื่อนำผลงานของแต่ละคณะมารวมกันก็จะเป็นผลลัพธ์ของโรงงานนั่นเองเราเรียกกันว่า TPM Effect    ส่วนคณะที่สองจะเป็นคณะอนุกรรมการ(Sub-Committee) ซึ่งประกอบด้วยทีมงานเฉพาะกิจในการแก้ไขปัญหาและปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น 8 คณะอนุกรรมการด้วยกันซึ่งประกอบด้วย

1.คณะอนุกรรมการการปรับปรุงเฉพาะเรื่อง (Kobetsu-Kaizen)

2.คณะอนุกรรมการการบำรุงรักษาด้วยตนเอง ( Jishu-Hozen)

3.คณะอนุกรรมการการบำรุงรักษาตามแผน ( Planned Maintenance )

4.คณะอนุกรรมการการให้การศึกษาและฝึกอบรม ( Education and Training )

5.คณะอนุกรรมการการควบคุมระบบชั้นต้นสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่และเครื่องจักรใหม่                       

    (Initial Control System for new Product and Equipment)

6.คณะอนุกรรมการการบำรุงรักษาระบบคุณภาพ (Hinshitsu-Hazen System)

7.คณะอนุกรรมการการสร้างระบบการทำงานในสำนักงานให้มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

    (Establish the system to realize operation efficiency in administrative)

8.คณะอนุกรรมการการสร้างระบบป้องกันเพื่อความปลอดภัย สุขอนามัยและสิ่งแวดล้อมในการ

   ทำงาน (Establishing safety, hygiene and working environment protection systems)

  แต่ละคณะจะมีทีมงานที่อาสาสมัครหรือได้รับการคัดเลือกมาจากฝ่ายต่างๆแบ่งกันเรียนรู้ปรัชญาของ TPM ที่มีอยู่มากมายแล้วนำปรัชญา TPM ที่แต่ละคณะอนุกรรมการเรียนรู้และฝึกฝนจนชำนาญไปช่วยกันทำการแก้ไขปัญหาหรือปรับปรุงการทำงานให้แต่ละฝ่ายที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งช่องทางนี้จะช่วยให้ผู้บริหารและพนักงานของโรงงานเข้าถึงปรัชญาของ TPM ได้ง่ายขึ้น เพราะถ้าจะให้แต่ละฝ่ายเรียนรู้ปรัชญาของ TPM ทั้งหมดแล้วคงจะต้องใช้เวลานานพอสมควร  ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้เราสามารถวัดผลงานได้จากความก้าวหน้าตามขั้นตอนของการดำเนินงาน(Step Implementation) แต่ละคณะนั่นเองขั้นตอนนี้จะเป็นการพัฒนาโรงงานด้วยโปรแกรมของ TPM  ตามสมการ TPM-JIPM เป็นปัจจัยที่ 2 เขียนไว้ในตอนที่ 3

ในการเรียนรู้ปรัชญาของ TPM วิธีที่เร็วที่สุดก็คงต้องให้ที่ปรึกษาช่วยเพราะมีทั้งความรู้และประสบการณ์ในการดำเนินงานส่วนหนังสือ คู่มือหรือเอกสารเกี่ยวกับ TPM ก็เป็นส่วนประกอบในการอธิบายรายละเอียดให้เข้าใจมากขึ้น แต่เนื่องจากการเรียนรู้จะมีทั้งทฤษฎีและปฏิบัติควบคู่กันไปเราจึงจำเป็นต้องจัดตั้งองค์กรเฉพาะกิจขึ้นมาอีกองค์กรหนึ่งเรียกว่า เครื่องจักรต้นแบบ(Manager Model Machine /Line) หรือเครื่องจักรตัวอย่างนั่นเอง ซึ่งเราจะใช้เป็นที่เรียนรู้ปรัชญา TPM และเป็นสถานที่ฝึกฝนภาคปฏิบัติการทำกิจกรรมให้กับทีมงานของคณะต่างๆที่ประกอบด้วยผู้จัดการ หัวหน้างาน และพนักงานผู้ใช้เครื่องจักร หลังจากเรียนรู้และมีประสบการณ์มากพอแล้วก็จะนำความรู้ไปถ่ายทอดต่อตามหลักการ Cascade Training และใช้เครื่องจักรชุดนี้เป็นตัวอย่างเพื่อขยายผลการทำกิจกรรมไปยังเครื่องจักรอื่นๆต่อไปขั้นตอนนี้จะเป็นวิธีการและเทคนิคที่ใช้ในการดำเนินงานตามสมการของ TPM-JIPM ที่เขียนไว้ในตอนที่ 3 เป็นปัจจัยสุดท้ายสู่ความสำเร็จ

ดังนั้นจะเห็นว่าการที่เราจะนำปรัชญาของ TPM เข้ามาสู่โรงงานได้นั้นจะต้องได้รับการถ่ายทอดทางตรงมาจากผู้บริหารระดับสูง ผู้จัดการฝ่าย ผู้จัดการแผนก หัวหน้างาน และทางอ้อมจากอาจารย์ที่ปรึกษา คณะอนุกรรมการและทีมงาน 8 คณะ หนังสือ เอกสาร สื่อการเรียนการสอนฯ การอบรมสัมมนา ศึกษาดูงานจึงจะลงมาถึงพนักงานผู้ปฏิบัติงานที่หน้างานแล้วนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลต่อไป

                                                                                                                           พยัพ มาลัยศรี

                                                                                                                ที่ปรึกษาอุตสาหกรรม ส.ส.ท.

 

 

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที