การบำรุงรักษาที่ก่อให้เกิดผลโดยทุกคนมีส่วนร่วม
ตอนที่1: การบำรุงรักษาทำไมจึงสำคัญนัก
มนุษย์เราเริ่มรู้จักการบำรุงรักษา เมื่อเจริญเติบโตขึ้น จนกระทั่งเริ่มช่วยเหลือ ตนเองได้ใช้อุปกรณ์เครื่องมือ ทำความสะอาดร่างกายประจำวันเป็นเช่น แปรงสีฟัน หวี ขันน้ำ แก้วน้ำ กล่องสบู่ ฯลฯ ซึ่งอุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้จำเป็นต้องใช้เป็นประจำทุกวันจึงต้องมีการจัดเก็บ ทำความสะอาด ให้มีความพร้อมใช้งานอยู่เสมอไม่เช่นนั้นต้องค้นหาและจัดเตรียมกันใหม่อยู่เรื่อยหรือการที่เราไปหาหมอตรวจสุขภาพประจำปีก็เพื่อให้รู้ว่าสภาพร่างกายของเราปัจจุบันนี้ยังคงปกติอยู่หรือไม่ มีสมรรถนะความพร้อมของร่างกายดีอยู่ หรือเปล่าซึ่งเราเรียกกันว่า การตรวจเช็คเพื่อการรักษาสุขภาพที่ดีให้คงอยู่กับตัวเราไว้นั่นเอง
ในการปฏิบัติงาน การใช้อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร เป็นปัจจัยสำคัญ 1 ใน 4 อย่าง(4M ซึ่งประกอบด้วย คน เครื่องจักร วัตถุดิบ และวิธีการ) ของการทำงานเพื่อให้ได้ผลผลิตออกมาดี ตามความต้องการ สมรรถนะความพร้อมในการใช้งานของ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร จึงมีความจำเป็นต้องมีการบำรุงรักษาอยู่ตลอดเวลา เพราะถ้าเครื่องมือบกพร่องหรือใช้ไม่ได้นั่นก็คือองค์ ประกอบในการทำงานไม่สมบูรณ์หรือไม่ครบ ผลผลิตก็จะไม่สามารถผลิตออกมาได้หรือได้ก็ไม่ดี
การบำรุงรักษาที่ดี เมื่อมีการใช้งานอุปกรณ์ แล้วก็จะต้องทำความสะอาด ตรวจสอบสภาพหลังการใช้งานคืนสภาพให้มีความพร้อมในการใช้งานตลอดเวลา และจัดเก็บให้เป็นระเบียบด้วย แต่ในทางปฏิบัติจริง ผู้คนส่วนใหญ่มักไม่ปฏิบัติตามนี้ ทั้งงานส่วนตัว เช่น บ้านพักอาศัย รถยนต์ หรืออุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ส่วนตัว และงานส่วนรวมเช่น สถานที่ราชการ อาคาร บริษัท โรงงาน เครื่องจักรจึงทำให้เกิดสภาพไม่พร้อมใช้งานเกิดขึ้นกันบ่อยๆ
แต่ของใช้ส่วนรวม อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องจักร ในบริษัทหรือโรงงานเราจะใช้วิธีการซ่อมแบบเครื่องใช้ประจำบ้านไม้ได้เพราะในระหว่างการปฏิบัติงานอยู่ ถ้าหากเครื่องมือเครื่องใช้ เกิดเหตุขัดข้องใช้งานไม่ได้หรือสภาพไม่พร้อมใช้งาน นั่นก็คือปฏิบัติงานไม่ได้นั่นเอง จะไม่มีผลผลิตหรือบริการออกมา ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเฉพาะบุคคลหรือหน่วยงานเดียวเท่านั้น แต่มันเชื่อมโยงกันทั้งองค์การ เพราะงานมันต่อเนื่องกัน ตัวอย่าง เช่น ถ้าเครื่องจักรเสียช่วงใด ช่วงหนึ่งของกระบวนการ ก็ไม่มีผลผลิตหรือบริการออกมาเลย มันสร้างความเสียหายเป็นอย่างมากต่อองค์กรหรือโรงงาน ดังนั้น จึงมีแนวคิดซ่อมก่อนเสียเกิดขึ้น ในสถานที่ทำงาน อาคาร โรงงาน ซึ่งต่อมาเราเรียกกันว่า การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน ( Preventive maintenance ) นั่นเอง
ทำไมเมื่อมีการบำรุงรักษา เชิงป้องกันแล้วรถยนต์ ยังเสียหายระหว่างการใช้งานอยู่เลย ผู้ที่ขับรถไปทำงาน ใช้รถมานาน ๆ ก็จะเข้าใจได้ดี ว่าเราดูแลบำรุงรักษารถ ตามกำหนดระยะเวลาที่บริษัทผู้ผลิตกำหนดมาให้เป็นประจำ นำรถไปเข้าศูนย์บริการตรวจเช็กตามระยะทางและซ่อมเชิงป้องกันด้วยการเปลี่ยนอะไหล่ก่อน การชำรุดเสียหายจะเกิดขึ้นทุกครั้งยอมเสียค่าใช้จ่ายมากมาย แต่รถยนต์ก็ยังมีปัญหา ในระหว่างการใช้งาน เสียระหว่างการเดินทาง เช่น เครื่องยนต์ขัดข้อง แบตเตอรี่ไฟหมด ระบบส่งกำลัง เกียร์ เพลา คลัช ขัดข้อง ยางรั่ว ซึม แตก ระบบเบรค ศูนย์ล้อ น้ำหล่อเย็น หม้อน้ำตัน แอร์เสีย ฯลฯ ทำไมเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ขึ้น การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน ที่ทำไปช่วยอะไรไม่ได้เลยหรือ
เครื่องจักรในโรงงานก็ เช่นเดียวกันทำไมจึงยังมีการเสียหายระหว่างทำการผลิต (Beak down) ทั้ง ๆ นี้มีการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน กันอย่างดี บางโรงงานเครื่องจักรยังใหม่อยู่เลย บางโรงงานเพิ่งจะซ่อมไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี่เอง บางโรงงานโชคดีหน่อย 6 เดือนแล้วเครื่องจักรยังไม่เสียเลย ทำไมจึงไม่มีความแน่นอนเลย ทุกวันนี้ทำงานอยู่บนความเสี่ยงตลอดเวลา ถ้าวันไหนเครื่องจักรเสีย คนงานก็จะไม่มีอะไรทำ นั่งรอนอนรอกันว่าเมื่อไร ช่างจะซ่อมเสร็จ สินค้าก็ส่งลูกค้าไม่ได้ รายได้ก็ไม่มีแต่ก็ต้องจ่ายค่าแรง ให้คนงานเต็มวัน ความเสียหายที่เกิดขึ้นมองเห็นได้ทันที ด้วยเหตุนี้กระมังผู้บริหารโรงงานจึงอยู่เฉยไม่ได้ พยายามหาวิธีดูแลเครื่องจักร ไม่ยอมให้เครื่องจักรเสียหาย ระหว่างการผลิต เพราะรู้ฤทธิ์ เดชของ Break down ดี มีวิธีการหนึ่งที่โรงงานหลายแห่งค้นพบ และนำไปทดลองใช้ จนประสบผลสำเร็จมาแล้ว หลายโรงงานแต่เป็นกิจกรรมสไตล์ญี่ปุ่น
ประเทศญี่ปุ่นนำระบบการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน( Preventive Maintenance : PM ) มาจากประเทศสหรัฐอเมริกาพร้อมๆกับการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมกระบวนการซึ่งจะใช้งานเครื่องจักรเป็นหลัก PM จึงมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการเพิ่มขึ้นของคุณภาพและผลผลิตของผลิตภัณฑ์
ต่อมาเมื่อมีความต้องการลดแรงงานในอุตสาหกรรมประกอบและแปรรูปจึงได้มีการใช้เครื่องจักรทดแทนคนงานมากขึ้นนั่นคือทำให้มีการพัฒนาเครื่องจักรเป็นระบบอัตโนมัติและมีประสิทธิภาพสูงมากขึ้นจนเป็นหุ่นยนต์ (ROBOT) ทำให้มีความสนใจพัฒนา PM เพิ่มขึ้นโดยให้มีลักษณะเฉพาะในสไตล์ญี่ปุ่นซึ่งเรียกกันว่า การบำรุงรักษาทวีผลที่ทุกคนมีส่วนร่วม ( TOTAL PRODUCTIVE MAINTENANCE ) หรือเรียกกันง่าย ๆ ว่า TPM นั่นเอง
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที