การพัฒนา EQ ของลูกต้องเริ่มต้นที่ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนในครอบครัว การเริ่มต้นความสัมพันธ์ที่ดีทำได้ด้วยการ ทำกิจกรรมร่วมกัน รับฟังความรู้สึกซึ่งกันและกันด้วยความเข้าใจ ไม่ซ้ำเติมความผิดของลูก ยอมรับเขาในแบบที่เขาเป็น เด็กแต่ละคนมีนิสัยและความคิดที่แตกต่างกัน ขนาดฝาแฝดที่เกิดจากท้องเดียวกัน ยังมีความคิดความรู้สึกที่แตกต่างกัน ดังนั้น การเลี้ยงลูกจึงต้องเลี้ยงดูด้วยความรักและความเข้าใจในแบบที่เขาเป็น ของแต่ละคน
การที่เรารู้จักใครสักคน คงเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ เรียนรู้ว่าเขาเป็นคนอย่างไร มีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร ชอบหรือไม่ชอบอะไร และมีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร ซึ่งก็ไม่แตกต่างที่คุณจะต้องเรียนรู้และศึกษาลูกของคุณ เพราะถ้าเข้าใจเขา มันก็เป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่ดี และนำมาสู่ EQ ที่ดีของลูก ซึ่งวิธีการต่างๆที่นำมาสู่การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีสำหรับลูก มีดังนี้
1. รู้จักนิสัยของลูกแต่ละคนดีพอ ไม่ใช่พ่อแม่เอาแต่ทำงาน ไม่มีเวลาสร้างความคุ้นเคยและสนิทสนมกับลูก
2. มีการทำกิจกรรมเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับลูก เช่น การไปเที่ยวด้วยกัน การสอนการบ้านร่วมกัน เป็นต้น
3. มั่นดูแลและเอาใจใส่เรื่องอารมณ์ของลูก โดยเฉพาะการใช้คำพูด ในขณะที่เราพูดคุยกับลูกจงใช้ความรู้สึกเข้าอกเข้าใจและเห็นอกเห็นใจกับลูกอยู่เสมอ ซึ่งวิธีการหนึ่งที่นำมาใช้ คือ “จงเป็นกระจกสะท้อนอารมณ์ของลูก” วิธีการนี้จะทำให้เด็กมีความเข้าใจตนเองมากยิ่งขึ้น
4. การตอบสนองต่อพฤติกรรมของลูกอย่างเหมาะสม เปรียบเทียบคำพูดของพ่อแม่ที่เหมือนกับใบมีดของศัลยแพทย์ ถ้าพูดกับลูกอย่างขอไปที ให้เสร็จๆ ก็จะสร้างรอยแผลที่ไม่สวยงามให้กับลูก เหมือนกับศัลยแพทย์ที่ไม่ตั้งใจผ่าตัดทำให้แผลไม่สวยงาม บางครั้งก็เกิดการติดเชื้ออีกต่างหาก ก่อนที่จะพูดกับลูกคิดสักนิดว่าลูกรู้สึกอย่างไร และพูดออกไปเพื่อตอบสนองอารมณ์ที่ผ่อนคลายของลูก จำไว้ว่า “คำพูดที่มุ่งแต่จะอบรมสั่งสอน ย่อมทำให้เกิดช่องว่างและความขุ่นเคืองเสมอ” และการชมเชยเด็กที่มากเกินไปก็ไม่ได้ทำให้เด็กเข้าใจตนเองดีพอ
5. เป็นที่พึ่งทางใจให้กับเด็ก เราจะสังเกตเห็นเด็กวัยรุ่นรายคนชอบคุยกับเพื่อนมากกว่าพ่อแม่ ทั้งนี้ก็เนื่องมาจาก เพื่อนพยายามแสดงความรู้สึกเข้าอกเข้าใจ และพยายามหาทางออกร่วมกับ ไม่ตำหนิพฤติกรรมของเพื่อนอีกคน พ่อแม่ก็เช่นเดียวกัน ควรทำตัวเหมือนกับเพื่อนของเด็กวัยรุ่น คือ “เข้าใจ ไม่ตำหนิ ถึงลูกจะเป็นอย่างไร ก็ไม่สามารถเปลี่ยนความรักที่มีต่อเขาได้” ถ้าคุณทำตัวเป็นแบบนี้ คุณก็สามารถที่จะเป็นที่พึ่งทางใจให้กับลูกของคุณได้
จากที่กล่าวมาข้างต้นเป็นอย่างไรบ้างค่ะ ลองนำไปทำดูนะค่ะ ดีกว่าเราไม่คิดจะทำ หรือไม่เปลี่ยนอะไรเลย …โชคดีค่ะ
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที