khwanjai

ผู้เขียน : khwanjai

อัพเดท: 10 เม.ย. 2010 13.55 น. บทความนี้มีผู้ชม: 8155 ครั้ง

เรามีวิธีการจัดการกับอารมณ์อย่างไร


วิธีการจัดการกับอารมณ์

 

                คงไม่มีใครที่ไม่เคยหงุดหงิด หรืออารมณ์เสีย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องที่บ้าน หรือเรื่องการเรียน สิ่งเหล่านี้ถ้าไม่ได้ดั่งใจเราก็เป็นสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เรารู้สึกอารมณ์ไม่ดี คงเคยได้ยินข่าวว่าพ่อแม่บางคนตีลูกจนได้รับบาดเจ็บ เนื่องจากรำคาญเสียงลูกที่ร้องกวน เป็นต้น

สำหรับคนที่อารมณ์เสียบ่อยๆ จนทำให้คนรอบข้างรำคาญ และรู้สึกว่าตัวเองแย่ที่ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ก็อาจจะเคยหาวิธีที่จะมาควบคุมอารมณ์ของตนเอง แต่จนแล้วจนรอดก็ทำไม่ได้ หรือทำได้แต่เพียงชั่วครั้งชั่วคราว ทั้งนี้สาเหตุหลักคงเนื่องมาจากการขาดความต่อเนื่องของการฝึกฝน หรือบางครั้งก็ขาดสติ วันนี้ผู้เขียนได้รวบรวมวิธีที่สามารถช่วยดับอารมณ์ร้อนๆของคนเจ้าอารมณ์มาฝากกันค่ะ

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ซึ่งเป็นจิตแพทย์และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ได้อธิบายถึงหลักการเรียนรู้การควบคุมอารมณ์ไว้ 3 ข้อ คือ

1.       รู้จักอารมณ์ของตนเอง: การที่เราต้องมีสติรู้สึกตัวว่ามีอารมณ์ตั้งแต่เริ่มแรก โดยไม่ทันทำอะไรให้เกิดความเสียหาย

2.       รู้จักควบคุมอารมณ์: เมื่อเริ่มมีอารมณ์ขึ้นมาอย่าให้มันระเบิดทันที ต้องหาทางจัดการลดความแรงของอารมณ์นั้น ถ้าทำไม่ได้ก็เดินออกไปจากเหตุการณ์

3.       หาทางระบายอารมณ์หรือทางออกที่เหมาะสม:  เช่น ในกรณีที่เกิดรถชนแทนที่เราจะปะทะกับคู่กรณีโดยตรง ก็ให้ตัวแทนประกันมาพูดแทน เป็นต้น

ท่าน ว.วชิรเมธี ได้พูดถึงวิธีการจัดการกับอารมณ์ ไว้ 3 วิธี หรือ  3 ติ คือ

1.       สติ:จะทำอะไรโดยใช้เหตุผลเป็นที่ตั้ง อย่าให้อารมณ์พาเราก้าวเข้าสู่ความโกรธเกลียดชิงชังหรือฮึกเฮิมจนลุกขึ้นมาทำร้ายคนอื่น ถ้าเรามีสติเราจะไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ และเวลาที่เราเจอปัญหาเราต้องหาทางออกให้เจอว่า ปัญหาคืออะไร คนที่หาทางออกในชีวิตไม่เจอมักเป็นคนที่หลอมตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา คือ มัวแต่เป็นปัญหา แต่มองไม่เห็นปัญหาเลยหาทางออกไม่เจอ ฉะนั้นเวลาเจอปัญหาต้องมีสติก่อนในเบื้องต้น ต้องรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในชีวิต ถ้าเรารู้และเริ่มต้นจากตรงนั้นก็สามารถแก้ปัญหาได้ จะทำอะไรทำให้เราใช้เหตุผลเป็นที่ตั้ง

2.       ขันติ: ต้องมีความอดทนอดกลั้นต่อคนที่คิดต่างกับเรา คนที่มีพฤติกรรมต่างกับเรา อด คือ สิ่งที่อยากได้แต่ไม่ได้  ก็ต้องอดเอาไว้  ทนคือสิ่งที่ไม่อยากได้แต่มันได้ ก็ต้องทน

3.       สันติ: ถ้าทำตามที่บอกข้างต้น สันติหรือการไม่ทะเลาะเบาะแว้งก็จะตามมา

คุณ ณรงค์วิทย์ แสนทอง ได้กล่าวไว้ในหนังสือ EQ ดี อารมณ์ดี ชีวิสดใส ไว้ว่า  อารมณ์เป็นสิ่งหนึ่งที่กลายมาเป็นตัววัด คุณภาพ ของคนว่าใครดีใครเด่นกว่ากัน ใครที่จะขึ้นไปสู่เบอร์หนึ่งขององค์กร สิ่งที่วัดผลกันก็คือ ความฉลาดทางอารมณ์ เพราะคนที่จะก้าวขึ้นไปสู่การเป็นผู้นำนั้น ภารกิจจะถูกเปลี่ยนจากผู้ชำนาญการเฉพาะด้าน ไปสู่ผู้ชำนาญการบริหารคน และหัวใจของการบริหารคนไม่ได้อยู่ที่ความสามารถในงานเพียงอย่างเดียว แต่ต้องบริหาร อารมณ์คน ด้วย ถึงแม้ว่าคนคนนั้นจะมีความสามารถมากเพียงใด แต่ถ้าไม่สามารถเข้าไปจัดการกับจิตใจและอารมณ์ของตัวเองและผู้อื่นได้ การบริหารนั้นก็ไม่มีความหมายอะไร

                ที่กล่าวมาข้างต้น คงจะเป็นข้อคิดให้กับคนที่อารมณ์ร้อน หรือเจ้าอารมณ์ได้บ้างนะค่ะ ถ้าเราสามารถที่จะควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ เราก็จะเป็นคนที่มีคุณภาพที่สูงขึ้น สุดท้ายนี้ก็ขอฝากข้อคิดดีๆ ไว้ว่า อารมณ์ไม่ได้อยู่ที่การกระตุ้นจากภายนอก แต่อยู่ที่การปรุงแต่งขึ้นภายในจิตใจของเราเองค่ะ"
 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที