พ่อแม่ที่มีลูกวัย 3-5 ขวบ คงจะเคยประสบปัญหาในการสื่อสารกับลูกเพื่อให้ลูกทำตามสิ่งที่เราพูด ซึ่งมีหลายวิธีที่ผู้เป็นพ่อเป็นแม่ มักจะใช้กัน ได้แก่ การขู่ลูกด้วยเสียงอันดังเพื่อให้ลูกทำตาม การวางเงื่อนไขให้เด็กปฏิบัติตาม หรือการตีลูก เป็นต้น ซึ่งหลายๆ วิธี เมื่อใช้ไปแล้ว ก็นำมาสู่ความทุกข์ใจ นั่นก็คือ “ความรู้สึกผิดของพ่อแม่” ก่อนที่เราจะมาเรียนรู้เรื่องการสื่อสารกับลูก เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจกับนิสัยของลูกเสียก่อน เหมือนคำโบราณที่บอกว่า รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง สำหรับนิสัยหรือพัฒนาการของเด็กในช่วงอายุ 2-6 ปี บอกไว้ว่า เด็กวัยนี้มีนิสัยชอบอิสระ เริ่มพึ่งตัวเอง อยากเป็นตัวของตัวเอง ชอบปฎิเสธ ดื้อ นักจิตวิทยาเด็ก ดร. เฮม จีนอตต์ (Dr.Haim Ginott) ผู้เขียนหนังสือวิธีพูดกับลูก ได้กล่าวถึงหลักการง่ายๆในการพูดกับลูกว่า “จงแสดงความรู้สึกเข้าอกเข้าใจและเห็นอกเห็นใจของลูกคุณ” วิธีการหนึ่งที่นำมาใช้คือ การใช้กระจกสะท้อนอารมณ์ หมายถึง การที่พ่อแม่ ต้องเป็นกระจกที่คอยสะท้อนความรู้สึกของเด็ก ๆ ซึ่งจะมีส่วนทำให้พวกเขาเข้าใจตัวเองได้ดีขึ้น ยกตัวอย่าง เช่น เมื่อลูกมีอารมณ์ โกรธ หวาดกลัว สับสน หรือเสียใจ โดยธรรมชาติแล้ว พ่อแม่ มักจะรีบลงความเห็นและให้คำแนะนำกับเขา ซึ่งเป็นการสื่อข้อความที่เป็นการซ้ำเติมความเจ็บปวดให้กับเขา ขอยกตัวอย่างสถานการณ์หนึ่ง มี เด็กชาย วัย 3 ขวบ กำลังแสดงอาการหงุดหงิดในขณะที่ต่อของเล่น LECO ไม่ได้ดั่งใจ พ่อแม่หลายคนพอเจอกับสถานการณ์อย่างนี้ มักจะเข้าไปและบอกกับลูกว่า “ลูกต้องต่อ LECO อย่างนี้นะ....” แต่ถ้าใช้วิธีการของ ดร.เฮม แม่อาจจะต้องเปลี่ยนคำพูด จากการรีบเข้าไปแนะนำเปลี่ยนเป็น “แม่รู้ว่า ลูกรู้สึกยุ่งยากกับการต่อ LECO และลูกอาจต้องการให้แม่ช่วย งั้นเราช่วยกันต่อ LECO นะคะ” การกล่าว เช่นนี้เราจะช่วยให้ลูกเข้าใจความรู้สึกของตนเอง และค้นพบหนทางแก้ปัญหาร่วมกับลูกอย่างมีความสุข
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที