เพื่อให้เข้าใจ ความสำคัญของกฎในการทำงานขอพนักงานในระบบการผลิตแบบทันเวลาพอดี จะขอยกตัวอย่างดังนี้
สมมุติให้ ลูกค้ากำหนดเวลาส่งสินค้า ให้ไปถึง 4 รอบเวลา ได้แก่ 8.00 13.00 20.00 และ 01.00 โดยใน 1 วันจะเรียกสินค้า 2000 ชิ้น
ใน 1 กะทำงาน 8.00-17.00 และ 20.00-05.00 เวลาพัก 1 ชั่วโมง
คำว่าทันเวลาพอดี ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีสต็อก แต่หมายถึงมีปริมาณสต็อกให้พอดีกับการส่ง ตัวอย่างนั้นง่ายมาก เช่น ตัวอย่างข้างต้น
ใน 1 วัน ส่ง 2000 ชิ้น 4 รอบส่ง ดังนั้นใน 1 รอบต้องส่งงาน 500 ชิ้น แปลว่า เรามีเวลาผลิตงาน 4 ชั่วโมง ต่องาน 500 ชิ้น หรือ ใน 1 ชิ้นต้องผลิตได้ในเวลา 4x60x60 = 14,400 หารด้วย 500 ได้ 28.8 วินาที คือ Takt Time เป็นจังหวะการทำงาน ตัวเลขนี้สำคัญมาก เพราะเป็นตัวกำหนดระบบการผลิตทั้งหมด (เรียกว่า การวางแผนการผลิตตาม Takt Time)
อธิบายให้ชัดเจน
1. ในการจัดงานเพื่อขึ้นรถขนส่ง ถ้า การนำชิ้นงานออกจากสโตร์ ใช้เวลาต่อรอบทำงาน 20 นาที และรถเข็นขนได้ ครั้งละ 20 ชิ้น เรามีทางเลือก 3 ทาง ใช้เวลาเป็นตัวกำหนด เช่น ทันเวลาพอดี 4 ชั่วโมง ขนได้ 4x60/20 = 12 เที่ยว ดังนั้น ขนได้ 12x20 = 240 ชิ้น ทางเลือกแรก เพิ่มคนขนเป็น 500 ชิ้น หาร 240 ชิ้น = 2.083 คน หรือ 3 คน จัดหารถเข็น 3 คัน ทางเลือกที่ 2 ปรับปรุงรถเข็นให้ขนได้มากขึ้น 500 หาร 12 ได้ 41.67 ชิ้น หรือ 42 ชิ้น ใช้คน 1 คน รถเข็น 1 คัน ทางที่ 3 ใช้คน 2 คน และปรับปรุงให้รถเข็นขนเป็น 21 ชิ้น เวลาขนต่อชิ้นจะอยู่ที่ 20x60/(21x2) = 28.57 วินาที ใกล้เคียงกับ 28.8 วินาที ให้เลือกทางที่ทำแล้วประหยัดและเป็นไปได้ทำทางเลือกทำให้เวลาทำงานต่อชิ้นเข้าใกล้ Takt Time มากที่สุด
2. ในส่วนการผลิต ถ้ามีสถานีผลิต 4 สถานี ต่อกัน ก ใช้เวลา 5 วิ ข ใช้เวลา 10 วิ ค ใช้เวลา 15 วิ และ ง ใช้เวลา 25 วินาที ถ้าพิจารณาคอขวด จะอยู่ที่ ง เป็นตัวควบคุมการผลิต คิดตาม capacity 4 ชั่วโมงได้งาน 4x60x60/25= 576 ชิ้น เราต้องการ 500 ชิ้น ดังนั้นเกิน 76 ชิ้น และใช้คนประจำสถานีงาน 4 คน ถ้าเป็น just in time ก็จะใช้การคำนวน นำผลรวมเวลา 5+10+15+25 = 55 วิ หาร 28.8 ต้องใช้คน 1.909 หรือประมาณ 2 คนเท่านั้น จึงต้องแบ่งงานใหม่ นาย A คุมสถานี ก ข และ ค ใช้เวลา 30 วินาที นาย B คุม ง ใช้เวลา 25 วินาที คราวนี้ผลิตได้ 4x60x60/30 = 480 หายไป 20 ชิ้น ก็ส่งงานไม่ได้ ทางเลือกก็ต้องหาทางลดเวลาทำงานนาย A ลง 30-28.8 = 1.2 วินาที โดยแยกงานของ ค ออกเป็น 2 ส่วน
3 ในส่วนของการป้อนวัตถุดิบเข้าไลน์การผลิต ก็ต้องคิดแบบเดียวกับ ข้อ 1 ขนได้เท่าไหร่ ใช้เวลาเท่าไหร่ ใช้คนกี่คน ไลน์ผลิตใช้งานเวลาไหนบ้างทุกอย่างจะถูกกำหนดโดย Takt Time ทั้งหมด
เมื่อเข้าใจหลักการพื้นฐานแล้วก็จะขอบอกกฎ 3 ข้อ ที่พนักงานต้องปฏิบัติ
1. มีปัญหาห้ามแก้ไขทำอะไรเอง ให้แจ้งหัวหน้าด่วน วิธีแจ้งก็ให้ใช้การส่งสัญญาณที่ไม่ใช้เวลามากให้หัวหน้ารู้ ทั่วไปใช้โคม Andon และเสียงเรียกเหตุผล เพราะถ้ามัวเดินไปเรียกหัวหน้าเวลาก็เสียไปเรื่อยๆ ทำให้ผลิตไม่ทันส่ง 500 ชิ้น ใน 4 ชั่วโมง ถ้าทำงานเสียก็ต้องแจ้งหัวหน้าเพราะถ้าซ่อมงานเอง ก็จะเสียเวลาทำให้ผลิตไม่ทัน ต้องให้หัวหน้ามาแก้ไข เวลาไปเข้าห้องน้ำหรืออะไรก็ตามก็ต้องเรียกหัวหน้าเข้าทำงานแทนทุกอย่าง หัวหน้าก็ต้องรีบตอบสนองต่อเสียงเรียกไม่อย่างนั้นก็จะผลิตงานไม่ทันเวลา
2. ทำงานในเวลาที่กำหนด เพราะได้วางระบบไว้ทั้งหมดแล้ว ถ้าไม่ทำงานภายในเวลาที่กำหนดก็จะทำให้มีสต็อกมากหรือส่งงานไม่ทัน
3. ทำงานตามขั้นตอนที่กำหนด เพราะในการผลิตควรให้มีของเสียต้องซ่อมน้อยที่สุด ข้อเสีย 1 ชิ้น เราจะเสียเวลาผลิตเท่ากับ 2 ชิ้น คือใช้เวลาผลิตของที่เสีย 1 รอบ และใช้เวลาผลิตของทดแทนของเสียอีก 1 รอบ และกฎข้อนี้สำคัญมากเพราะจะทำให้บรรลุกฎข้อที่ 2 ด้วย
นโยบายของบริษัทก็สำคัญ การทำระบบ JIT ได้นั้นต้องมีนโยบายการขายที่สนับสนุนการผลิต
ถ้าฝ่ายขายสนใจแต่ยอดขาย ไม่สนใจการผลิตก็จะทำให้การจัดส่งไม่คงที่ ทำให้ใช้คนไม่คงที่ มากไปน้อยไป ต้นทุนควบคุมไม่ได้มาตรฐานการทำงานก็กำหนดไม่ได้ โดยเฉพาะเวลาที่ต้องผลิตต่อชิ้น ดังนั้นนโยบายที่มอบให้ฝ่ายขายต้องชัดเจน และสอดคล้องกับการผลิต เช่น ถ้ากำลังการผลิตได้วันละ 100 ชิ้น ก็ต้องเป็นความรับผิดชอบของฝ่ายขายที่จะต้องหา order มาทำให้การผลิตได้ 100 ชิ้นทุกวัน ถ้า order เกิน 100 ชิ้น ก็เป็นหน้าที่ๆ จะกระจายการจัดส่งเพื่อให้การผลิตทำได้ 100 ชิ้น ทุกวัน ดูแล้วเหมือนจะเน้นแต่ฝ่ายผลิต ไม่สนใจเลยว่าการขายยาก แต่ลืมไปแล้วว่า ถ้าผลิตคงที่ ก็จะนำไปสู่การปรับปรุงมาตรฐานการทำงานให้คุณภาพดีขี้น ต้นทุนลดลง เมื่อต้นทุนลดลง ราคาขายก็สามารถลดลงได้ และใครๆก็ทราบว่าการเพิ่มยอดขายที่ดีที่สุดในโลก นั้นคือ การลดราคาขายลงมานั้นเอง ดังนั้นกลยุทธการจัดรายการลดราคาต้องเริ่มจากรากฐานการขายที่คงที่ เพื่อนำไปสู่ปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน คุณภาพที่ดีขึ้นก็จะทำไปสู่กลยุทธ์การตลาดที่ดีที่สุดนั้นคือ ปากต่อปาก และทำให้การขายง่ายขึ้น ตอนนี้ก็ถึงเวลาเพิ่มกำลังการผลิต จาก 100 เป็น 120 สุดท้ายบริษัทก็เจริญเติบโตดี
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที