เศษซากกำแพงเบอร์ลินที่ยังคงละเลงเลอะด้วยกราฟฟิตี้รุ่นดึกดำบรรพ์คือ เครื่องเตือนความทรงจำชั้นยอดที่สะกิดไหล่ชาวเมืองว่า ปีค.ศ. 2009 นี้ คือ วาระครบรอบ 20 ปีแห่งการเริ่มต้นชีวิตใหม่ของ เบอร์ลิน (ภายหลังการล่มสลายของกำแพงในปี 1989) กำแพงที่ถูกทำลายลงนั้นมีนัยสำคัญถึง การปฏิวัติทางวัฒนธรรม ครั้งสำคัญที่ผสานรวมจิตวิญญาณอันแตกต่างของเมืองฝั่งตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกัน เกิดเป็นรูปธรรมสร้างสรรค์ที่แปลกใหม่มากมาย อาทิเช่น ภาพถ่ายและงานศิลปะในโลเคชั่นแปลกๆ เสียงดนตรียามค่ำในตึกร้าง และแฟชั่นบนท้องถนนที่ป่าวร้องความแสบซ่าของเมืองที่กำลัง Happening ที่สุดในวันนี้
เข้าสู่เรื่องของธุรกิจแฟชั่น เบอร์ลินเพิ่งเริ่มต้น วัฒนธรรมแฟชั่นวีค ของตนเองมาได้ไม่นานนัก เรียกว่า ยังอ่อนหัดมากในเวทีสากล (เริ่มเดินกันครั้งแรกเมื่อปี 2007 โดยมี Mercedes Benz เป็นสปอนเซอร์หลัก) แต่ความอ่อนต่อโลก(แฟชั่น) นี้เองก็ถือเป็นข้อได้เปรียบอย่างหนึ่ง เพราะมันทำให้รันเวย์ของเมืองๆ นี้ สามารถลองผิดลองถูก และคงความสด-แสบ ซึ่งเป็น โลกทัศน์แบบเบอร์ลิน เอาไว้ได้ บนรันเวย์แฟชั่นวีคครั้งล่าสุด (Spring/Summer2010) เมื่อเดือนกรฎาคมที่ผ่านมา เราจึงได้เห็นผลงานที่ทำเอาแฟชั่นเจอร์นัลลิสต์จากทั่วโลกออกอาการ อึ้งแดก กันอย่างถ้วนทั่ว นั่นก็คือ โชว์สุดร้าวของดีไซเนอร์ Patrick Mohr ที่นำประชากร Homeless ของแท้ จากบ้านคนจรจัดต่างๆ มาเดินกันให้วุ่นบนเวที ซึ่งแม้โชว์นั้นของ Mohr จะได้รับฟีดแบคในแง่ลบเสียมาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่า สื่อสากลแทบทุกฉบับจำเป็นต้องเขียนถึงเขาในครั้งนั้น !
ขออนุญาติข้ามไปไม่กล่าวถึงรายละเอียดของโชว์เด่นๆ จากแต่ละดีไซเนอร์ (ดูรูปจากเว็บแทน) เพราะมีประเด็นข้างเคียงที่น่าสนใจมากกว่าบนรันเวย์ S/S 2010 นั่นก็คือ การที่เขาเปิดรับโชว์จากดีไซเนอร์สัญชาติอื่นจำนวนมาก (แน่นอนว่า ไม่ใช่จากชาติแฟชั่นระดับตำนานอย่างอิตาลี ฝรั่งเศส หรืออังกฤษ) ยกตัวอย่างเช่น Bernadette Penkov โดยดีไซเนอร์สายเลือดฮังกาเรียน Mongrels in Common โดยสองดีไซเนอร์ลูกครึ่งสแปนิช-เปรูเวียน และเยอรมัน-สวิส หรือแม้กระทั่ง The Black Coffee แบรนด์ที่มาไกล(มาก)จาก South Africa ซึ่งมันอาจเป็นกลยุทธ์การสื่อสารที่บอกกับเรากลายๆ ว่า เบอร์ลินพร้อมแล้วที่จะก้าวขึ้นสู่บัลลังก์แฟชั่นของยุโรปซีกขวา เป็นอาสาสมัครที่รับหน้าที่กุมบังเหียนนำพา แฟชั่นเลือดใหม่จากยุโรปตะวันออก ให้ขึ้นท้าทายเทียบชั้นเวทีใหญ่อย่างในยุโรปตะวันตก อเมริกา และญี่ปุ่น ในวันข้างหน้า
มีความคิดเห็นจากหลายฝ่ายต่อความเคลื่อนไหวด้านแฟชั่นของเบอร์ลินในวันนี้ Claus-Dietrich Lahrs ประธานบริหารของแบรนด์ Hugo Boss เคยให้สัมภาษณ์ว่า ผมมองเบอร์ลินไม่ต่างจากนิวยอร์ก มันเป็นเมืองที่มีพลังดึงดูดดีไซเนอร์รุ่นใหม่ ซึ่งนั่นจะทำให้โอกาสทางการค้าของเบอร์ลินกับตลาดแฟชั่นต่างประเทศเปิดกว้างขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะในเขตประเทศยุโรปตะวันออก อย่างบัลแกเรีย ฮังการี และโปแลนด์
ในขณะที่ Josef Voelk ผู้ก่อตั้ง The Corner ร้านค้ามัลติแบรนด์ชื่อดังในเบอร์ลิน (= Collette ของปารีส) พูดถึงจุดยืนของเบอร์ลินในวันนี้ว่า เบอร์ลินน่าสนใจด้วยพลังความสดใหม่ของมันเอง
ต้นทุนในความสร้างสรรค์ของเมืองนี้ยังถือว่า (ราคา)ถูกมาก ซึ่งนั่นเป็นจุดที่ดึงดูดคนสร้างสรรค์จากทั่วโลกเข้ามา
ดีไซเนอร์ที่นี่ไม่มีโอกาสได้ทำงานกับแบรนด์ใหญ่ ทุกคนจึงต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง มันมีพลังความกระตือรือร้นของคนที่อยากจะก้าวไปข้างหน้าครับ