ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

ผู้เขียน : ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

อัพเดท: 11 เม.ย. 2011 10.45 น. บทความนี้มีผู้ชม: 7487 ครั้ง

เล่าความโดย ชัชวาลย์ ทัตศิวัช
นักศึกษาปริญญาเอกหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารธุรกิจอุตสาหกรรม วิทยาลัยการบริหารและจัดการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง


(ตอนเดียวจบ)

ผมเองได้อ่านข่าวคราวความสำเร็จของชาวบ้านและนักสิ่งแวดล้อม (environmentalists) จากกรณีมาบตาพุด ซึ่งอยู่ในความสนใจของสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปมาพอสมควร ก็อดที่จะชื่นชมความตั้งใจและเอาจริงเอาจังกับพลังภาคประชาชน ที่อดทนต่อสู้อำนาจทุนที่ดูจะเป็นน้ำเลี้ยงใหญ่ของระบบเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมภาคหนึ่งที่สำคัญของบ้านเมืองไทยเรา  เพื่อสร้างสรรค์ความเป็นธรรมในสังคม ผ่านมิติงานสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน  ซึ่งว่าไปแล้วก็มีอีกหลายกรณีที่สังคมไทย ได้เริ่มหันมาให้ความใส่ใจสนใจกันมากขึ้น

ไม่มีใครปฏิเสธหรือจะไม่รับรู้เลยว่า โรงงานอุตสาหกรรมจำนวนไม่น้อยเช่นในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดที่เป็นกรณีพิพาทนั้น เป็นหน่วยทางสังคม (social entity) หน่วยหนึ่งที่สร้างมลพิษให้กับประชาชนตาดำ ๆ ต้องรับภาระอดทนทุกข์ยาก ในขณะที่นายทุนอุตสาหกรรมเหล่านี้ เสวยสุขกับผลกำไรจากการประกอบการ แม้จะมีการทำเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม (corporate social responsibility) อยู่บ้างในบางองค์กร บางทีก็ทำกันอย่างฉาบฉวยเพื่อกลบเกลื่อนความบกพร่องที่ทั้งร่อยรอยไว้   แต่อย่างไรก็ดี  ในด้านหนึ่ง  สังคมไทยก็ได้เห็นความพิกลพิการของกลไกภาครัฐ (state apparatus) ที่บางหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ ทำเป็นเหมือนทองไม่รู้ร้อน  ปล่อยให้ปัญหาหลายอย่างหลายเรื่องเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกบานปลาย และแก้ไขปัญหาไปเพียงวัน ๆ  ซึ่งหากจะถามถึงความพร้อมหรือการทำงานเชิงรุกแล้ว ก็มักจะโยนกลองไปที่ประเด็นความขาดแคลนงบประมาณและบุคลากรที่จะมาดำเนินการ เช่น การไปตรวจตราควบคุมให้เป็นไปตามกฎหมาย  จนกระทั่งเกิดคำถามไม่น้อยตามมาถึงบทบาทหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งถือกฎหมายและการบังคับใช้เป็นอาญาสิทธิ์กับผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งที่ยังขาดจริยธรรมความรับผิดชอบอย่างที่ควรจะเป็น รวมไปถึงคำถามที่ตั้งตรงต่อตัวบุคลากรภาครัฐว่า “รู้จริงและรู้พอ” ที่จะจัดการกับปัญหาดังกรณีมาบตาพุดหรืออีกหลายกรณีที่เราต่างรับรู้กันดี

ดูไปแล้ว สังคมไทยก็เหมือนกับสังคมที่ไม่แคร์กฎหมาย มือใครยาวสาวได้สาวเอา และสังคมที่ผู้ประกอบการเป็นดั่งหนูที่พร้อมจะหลีกเลี่ยงมาตรฐานที่ภาครัฐกำหนด ตราบเท่าที่แมวอย่างหน่วยงานและคนในภาครัฐยังง่อยเปลี้ยเสียขา

ผมขอชักนำความกระตือรือร้นของเหล่านักสิ่งแวดล้อมที่นับได้ว่ามีจำนวนมหาศาล หลากหลายหน่วยงานองค์การพัฒนาภาคเอกชน (NGOs) ในบ้านเรา หันมามองสภาพความย่ำแย่ของการคมนาคมอีกประเภทหนึ่งในใจกลางเมืองธุรกิจที่กระทบกับคุณภาพชีวิตของคนทำงานจำนวนเรือนหมื่นเรือนแสนในแต่ละวัน นั่นคือ เรือโดยสารคลองแสนแสบ ครับ

ผมเอง ผ่านความยากลำบากกับการเดินทางและการใช้บริการนี้มาแล้วอย่างน้อยก็ในระดับที่ต้องพึ่งพาบริการนี้น้อยอย่างยิ่งในการดำเนินชีวิตงานแต่ละวัน เนื่องจากพอจะมีความสามารถซื้อหารถยนต์ส่วนตัวมาใช้ในการเดินทางได้  จึงอยากถ่ายทอดเรื่องเล่าจากประสบการณ์ ผ่านเส้นสายลายเขียนนี้ กลับไปให้สังคมไทยและทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หันมามองวิถีชีวิตที่ตรากตรำในการเดินทางทางเรือของแรงงานชั้นล่างจนถึงชนชั้นกลางของกรุงเทพฯ โดยเฉพาะการส่งสารสื่อไปถึงเหล่านักสิ่งแวดล้อม (environmentalists) ผู้กระตือรือร้น เพื่อช่วยกันสร้างสังคมไทยอีกมุมหนึ่งให้ดีขึ้น ซึ่งชวนตั้งคำถามไปถึงอีกหลาย ๆ ประเด็นต่อไป

ก่อนอื่น ผมขอแนะนำท่านที่สนใจ  เตรียมเครื่องไม่เครื่องมืออันได้แก่ กล้องถ่ายรูปความไวสูง เครื่องตรวจวัดควันพิษ และหน้ากากป้องกันติดตัวไปด้วย

เริ่มต้นที่ท่าเรืออโศก บริเวณใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินเพชรบุรี  ลองสังเกตดูสิครับว่า ในวันทำงานนั้น เรือโดยสารคลองแสนแสบแต่ละลำ  ปล่อยควันพิษจากการสันดาปของเครื่องยนต์เรือออกมามากน้อยเพียงไร  ลองสังเกตดูเพิ่มเติมสักนิดเวลาที่เรือเข้าจอดเทียบท่าซึ่งคนขับเรือจะต้องเข้าเกียร์ถอยหลังแล้ว  ควันพิษจากเรือที่ตีกลับเข้ามาภายในเรือมีมากเท่าใด  แล้วมนุษย์ทำงานตาดำ ๆ เค้ามีแววตาอย่างไร

เช้า ๆ และเย็น ๆ ในแต่ละวันทำงาน คลองแสนแสบในเส้นทางนับจากแหล่งชุมชนวัดศรีบุญเรือง จนถึงท่าเรือผ่านฟ้า  จึงไม่ได้ถูกปกคลุมไปด้วยหมอกที่เปี่ยมไปด้วยไอเย็นที่น่าสัมผัส หากแต่ถูกปกคลุมไปด้วยควันพิษมหาศาลที่ไม่มีใครเหลียวแล

ขยับไปที่ท่าเรือประตูน้ำเวลาประมาณสัก 8 นาฬิกาครับ ท่านจะได้เห็นฝูงชนคลาคล่ำ รอต่อเรือไปยังท่าปลายทาง ยืนอัดแน่นกันอยู่บนท่าเรือที่ก็ยังไม่มีใครให้คำตอบที่ชัดเจนว่า ท่าเรือมันแข็งแรงเพียงพอรองรับน้ำหนักผู้โดยสารเรือหรือไม่และเพียงใด  คงมีแต่ผู้ประกอบการเรือโดยสารเท่านั้น ที่ยิ้มสบายใจกับปริมาณคนมหาศาล เพราะนั่นคือรายได้ที่มีสัดส่วนมากตามจำนวนคน  เมื่อเรือโดยสารหลายเราทยอยเข้าท่าส่งผู้โดยสาร ในภาวะที่ขาดการไหลเวียนของอากาศที่เพียงพอ  ลองคิดกันดูสิครับว่า  ควันพิษเหล่านี้  จะลอยไปที่ใด  หากเป็นไปได้  ผู้โดยสายเรือก็คงอยากให้ควันพิษลอยไปปกคลุมอยู่บ้านของเจ้าของผู้ประกอบการเรือโดยสาร แทนที่จะเป็นเขาเหล่านี้ที่มาใช้บริการอย่างไม่มีทางเลือก....

เมื่อเทียบกับเรือด่วนเจ้าพระยา ที่คอยกักแนวผู้โดยสารที่จะลงเรือ เพื่อไม่ให้ไปยืนคอยในพื้นที่โป๊ะเรือ  และมีระบบการให้บริการที่ค่อนข้างดีแล้ว ช่างแตกต่างกันเหลือเกิน ทั้งที่หน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่ดูแลก็เป็นหน่วยงานเดียวกัน   

ผมขอเชิญชวนเหล่าคนทำงานทั้งหลาย ร่วมกันบริจาคเงินสักคนละ 1 บาท เพื่อซื้อพัดลมขนาดใหญ่เพื่อระบายควันพิษจากเรือโดยสารมาติดตั้งตามท่าเรือที่ผู้คนมาใช้บริการหนาแน่น เช่น ท่าเรือประตูน้ำ  ท่าเรืออโศก และท่าเรือรามคำแหง 29 เป็นต้น  เพราะจะหวังให้ผู้ประกอบการเรือขนส่ง ที่ผูกขาดสัมปทานจากกรมเจ้าท่าเพียงรายเดียว ติดตั้งพัดลมเพื่อช่วยเหลือผู้โดยสารนั้น คงจะเป็นไปได้ยากครับ  คงจะได้เห็นแต่เพียงข้ออ้างและคำขอร้องผ่านสติกเกอร์ติดตามจุดต่าง ๆ ในเรือโดยสารว่า “ช่วยเตือนคนอยู่ข้าง ๆ ช่วยจ่ายค่าโดยสารด้วย” เท่านั้น  และหากจะให้หน่วยงานภาครัฐมาทำเรื่องนี้เพื่อช่วยเหลือประชาชนก็คงจะยากอีกเช่นกัน เพราะไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ผู้หลักผู้ใหญ่ของกรมเจ้าท่าเอง  เคยรับรู้ปัญหาหรือมองว่าเรื่องที่ผมนำเสนอนี้เป็นปัญหาหรือไม่ ???     

นี่ไม่มองถึงมลพิษทางเสียงของเครื่องยนต์ที่ผมเชื่อว่าเกินกว่าระดับมาตรฐานที่ประสาทหูของคนเราจะรับได้  แต่คนทำงานทั้งหลายก็ต้องทนล่ะครับ ในเมื่อมันไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านี้  จะหันกลับไปใช้บริการรถเมล์ก็เอาแน่นอนเรื่องการเดินทางไม่ได้  เพราะการไปทำงานสายโดยอ้างรถติดนั้น  ไม่ใช่ข้ออ้างที่ดีเลยที่จะพูดคุยกับฝ่ายบุคคลของหน่วยงานที่เขาทำงานด้วย  

เชื่อผมเถอะครับว่า หากคนทำงานเหล่านี้เขาพอจะมีความสามารถทางเงินทองบ้าง  พอที่จะซื้อหารถยนต์หรือยานพาหนะส่วนตัวมาใช้แล้วล่ะก็  รับรองได้ว่าไม่มีมนุษย์งานคนใดจะเอาสุขภาพและคุณภาพชีวิตของตัวเองมาเสี่ยงทึกเมื่อเชื่อวันโดยไม่รู้ชะตากรรมหรือมองไม่เห็นถึงความช่วยเหลือที่เอื้ออาทรจากหน่วยงานภาครัฐแม้แต่น้อย 

คงมีคนทำงานจำนวนไม่น้อยที่เอ่ยแบบน้อยเนื้อต่ำในทำนองว่า เมื่อไม่มีสมาชิกคนใดในครอบครัวของข้าราชการในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาใช้บริการเรือโดยสารนี้แล้ว เขาเหล่านั้น คงจะหันมามองเรื่องนี้บ้าง...!!!

สังคมไทยก็เลยใกล้ความเป็นสังคมที่ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา”  ส่วนสังคมส่วนรวมจะเป็นอย่างไรก็ช่างเถิด....

เพื่อนร่วมทางเดินรายหนึ่งนานมาแล้ว เคยเปรยให้ฟังว่า กรมเจ้าท่าคงมีอธิบดีหลายคน  คนหนึ่งดูแลการเดินเรือในลำน้ำเจ้าพระยาเป็นคนที่เอาการเอางาน  ในขณะที่อีกคนดูแลการเดินเรือโดยสารในคลองแสนแสบ ซึ่งก็เห็นเช่นที่เป็นอยู่  จึงมีการทำงานที่สองมาตรฐานแบบที่ปรากฏ

แต่ก็ไม่รู้ที่จริงนั้น เป็นเพราะความแตกต่างกันของจิตสำนึกของผู้ประกอบการเรือหรือไม่  อันนี้ก็น่าคิดครับ 

ผมเองก็ภาวนาให้รายการคุณสรยุทธ์ มาทำ scoop ข่าวไปเผยแพร่กับสังคมบ้าง  อะไรทั้งหลายก็น่าจะดีขึ้นอีกมาก เพราะความจริงแล้ว สื่อสารมวลชนคือกระบอกเสียงที่มีพลังยิ่ง  เสียงดังฟังชัด ดึงความสนใจของมวลชนได้อย่างชะงัดนัก และที่สำคัญ บทบาทของสื่อนี้เอง  เป็นอุปกรณ์ชั้นเลิศที่จะช่วยให้สนิมที่ฝังตามฟันเฟืองของระบบราชการและเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบหลุดลอกไปอย่างมีประสิทธิภาพและไม่ยากนัก  ยิ่งในยุคโลกแห่งความเร็วของข้อมูลข่าวสารเช่นปัจจุบันแล้ว รับรองประสิทธิผลเป็นเยี่ยมครับ...!!!

ในแต่ละวันทำการ  กรมเจ้าท่า จะส่งบุคลากรเจ้าหน้าที่ ไปคอบช่วยดูแลการขึ้นลงเรือ หรือคอยช่วยเหลือผู้โดยสารตามท่าเรือแทบทุกท่าตลอดแนวเดินเรือโดยสาร  แต่เจ้าหน้าที่เหล่านี้  ซึ่งผมคาดว่าคงจะเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของกรมเจ้าท่า  รู้หรือไม่ว่า อัตราการรับน้ำหนักของเรือโดยสารแต่ละลำเป็นเท่าไร  จะจุคนโดยสารแบบนั่งกี่คน  ยืนได้กี่คน

เท่าที่เห็นในรอบหลายปีที่ผ่านมา  เจ้าหน้าที่เหล่านี้ไม่ได้สนใจอะไรมากไปกว่าการพยายามเอาคนขึ้นเรือให้มากที่สุด  ไม่มีใครสักคนเดียวที่คอยปราบคนขับเรือ และพนักงานเก็บค่าโดยสารที่หวังเปอร์เซ็นต์กายขายตั๋วที่มากเข้ากระเป๋าว่าจุคนมากแล้ว  หรือกรมเจ้าท่าเอาจะมีมาตรการอะไรออกมาเพื่อสร้างความมั่นใจในแง่ความปลอดภัยให้กับผู้โดยสาร  ช่างน่าเศร้าใจ และช่างเป็นการดียิ่งนัก ที่กรมเจ้าท่า เอางบประมาณจากภาษีของประชาชนไปจ้างเจ้าหน้าที่เพื่อเป็นไม้เป็นมือคอยช่วยเหลือผู้ประกอบการเดินเรือโดยที่ไม่ได้ทำประโยชน์อะไรที่มากไปกว่านั้นเลย

ตัวอย่างง่าย ๆ ที่ผู้ประกอบการเรือ ถอดเอาแถวที่นั่งหลายแถวออกจากเรือ  ซึ่งย่อมกระทบต่อโครงสร้างความแข็งแรงของลำเรือที่ออกแบบมา  ซึ่งจะเพื่อเหตุผลอะไรก็ตามซึ่งคงไม่เกินกว่าเพื่อให้มีพื้นที่ให้คนโดยสารยืนมากขึ้น  เจ้าหน้าที่เหล่านี้  คิดถึงเรื่องนี้บ้างหรือไม่  หรือว่า เขาเหล่านี้ไม่มีอำนาจอันใด 

บางทีก็น่าตั้งคำถามว่า อำนาจของเจ้าหน้าที่เหล่านี้ กับนายท่าตามท่าเรือ ใครหรือที่มีมากกว่ากัน นายท่าทั้งหลายที่ดูไม่ต่างไปมากกับนักเลงคุมซอย  ทั้งที่ผู้ประกอบการพยายามเน้นให้ลูกค้าเป็นผู้มีพระคุณ เพราะหลายครั้งหลายครา การบริการของเจ้าหน้าที่ประจำท่าเรือของกรมเจ้าท่า 

โปรดอย่าบอกสังคมว่า ท่าเรือที่สร้างขึ้น เป็นงบประมาณของกรมเจ้าท่าที่เอามาจากภาษีของประชาชน แล้วให้สัมปทานกับผู้ประกอบการเรือโดยสารรายนี้อย่างผูกขาด 

แต่ผมเองก็มีคำถามเช่นกันว่า เจ้าหน้าที่เหล่านั้น จะช่วยเหลือผู้โดยสารอย่างไรที่มากไปกว่าการดึงมือผู้โดยสารขึ้นจากเรือ หรือการป่าวร้องบอกผู้โดยสารว่า ก้าวลงเรือระวังด้วย เพราะเขาเหล่านี้ ไม่มีเครื่องมืออะไรเลย หากเกิดเหตุการณ์อะไรที่ไม่คาดคิดขึ้นจริง  อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง.....  

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตัวเล็กตัวน้อยเหล่านี้ก็น่าสงสารนะครับ  เพราะคงไม่มีสวัสดิการประกันชีวิตหรือประกันภัยให้กับเขาด้วยข้อจำกัดเรื่องงบประมาณของทางราชการ  เขาเหล่านี้ก็เข้าข่ายไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพไม่แตกต่างไปจากคนทำงานที่ต้องใช้บริการครับ 

ที่แน่แน่ก็คือ ไม่เคยมีข่าวทางสื่อมวลชนว่า ผู้หลักผู้ใหญ่ของกรมเจ้าท่าจะมาตรวจดูความเรียบร้อย และความปลอดภัยในการเดินเรือโดยสาร หรืออาจจะมีบ้างก็คงมาให้กำลังใจผู้ประกอบการ  อันนี้  ชาวบ้านเค้าว่ากันครับ...!!!

ลองเปิดเสรีให้มีการแข่งขันเดินเรือโดยสารในคลองแสนแสบสิครับ  เชื่อได้เลยว่า การให้บริการเดินเรือจะดีมากกว่านี้  แต่กรมเจ้าท่าจะกล้าทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือเปล่า ??...

คำแนะนำที่ง่าย ๆ ของผมคือ คนทำงานทั้งหลายที่ต้องอาศัยการเดินทางโดยเรือโดยสารในคลองแสนแสบ น่าจะต้องพิจารณาทำประกันชีวิตเพื่อลดความเสี่ยงภัยให้กับตัวเองบ้าง  เพราะหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด กรณีคงไม่ต่างจากซานติก้าผับที่ผู้ประกอบการก็เอาตัวรอดในที่สุด  และที่สุดจริงจริงก็คือ คนทำงานทั้งหลายเองที่จะสูญเสียทั้งทรัพย์สินและความไม่ปลอดภัยต่อร่างกายของท่านเอง

และที่สำคัญคือ จงตั้งใจทำงานสร้างความก้าวหน้าในอาชีพการงานของตัวเองครับ  จะได้ไม่ต้องมาตรากตรำทนกับการเดินทางที่ไม่รู้เช่นกันว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้ามาช่วยเหลือเยียวยาอย่างไร 

ที่ผมจั่วหัวเรื่องและได้นำเสนอความจริงไว้ในบทความนี้ เชื่อว่าหลายฝ่ายโดยเฉพาะเหล่านักสิ่งแวดล้อม (environmentalists) และสังคมคนทำงานที่ต้องใช้บริการ จะหันมาให้ความสนใจมองเรื่องที่ไม่ค่อยมีใครสนใจกันบ้าง  ไม่มากก็น้อย...เพื่อสังคมที่ดีขึ้น ไม่ตัวใครตัวมันอย่างที่เป็นอยู่....

 

 

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที