กระนั้นก็ตาม แม้ว่าการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์จะเป็นเครื่องมือของการบริหารที่น่าจะไม่ยากนักหากพิจารณาจากเนื้อความที่ได้กล่าวถึงไป หากแต่ในโลกของความเป็นจริงในการนำมาปรับใช้กลับเป็นเรื่องที่ท้าทายและไม่ ง่ายเหมือนที่คิด ผู้รู้ทั้งหลายที่เฝ้าติดตามในประเด็นนี้สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาของการนำระบบนี้มาใช้ส่วนใหญ่สำหรับองค์การภาครัฐมีในเรื่องของการกำหนดเป้าหมายของโครงการและกิจกรรมการพัฒนาต่าง ๆ ที่ไม่สอดคล้องเท่าใดนักกับเป้าหมายของหน่วยงาน และ ไม่สามารถเชื่อมโยงเข้าเป็นเนื้อเดียวกันกับเป้าหมายของการพัฒนาประเทศในภาพรวมได้ นอกจากนี้ยังพบว่า ในทางปฏิบัติ หน่วยงานและผู้ปฏิบัติงานต่าง ๆ ยังมีความเข้าใจและให้ความสำคัญต่อการวางแผนกลยุทธ์น้อยเกินไป ขาดการติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงาน และการให้ข้อมูลป้อนกลับเข้าสู่ระบบเพื่อประกอบการตัดสินใจของฝ่ายบริหาร ดังตัวอย่างของประเทศพัฒนาแล้วหลายแห่งก็ยังประสบปัญหาในประการนี้ โดยเฉพาะในประเด็นของการใช้ระบบการตรวจสอบและติดตามผลการปฏิบัติงาน และยังรวมถึงปัญหาที่เกิดจากการขาดความพร้อมรองรับการจัดการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบมาสู่ระบบการบริหาร เช่น การนำระบบการบริหารตัวใหม่มาใช้โดยที่ไม่ได้เชื่อมโยงเข้ากับระบบบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ ส่วนเรื่องทั่วไปอื่นที่องค์การทั้งหลายมักผิดพลาดเมื่อนำระบบและองค์ประกอบของระบบบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์มาใช้ยังได้แก่ การไม่ได้ตระหนักอย่างจริงจังว่าที่แท้จริงนั้นระบบบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์หมายถึงและเป็นอย่างไร ไม่ได้วิเคราะห์เชื่อมโยงให้เห็นว่าระบบบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์สัมพันธ์กับเรื่องใดบ้างที่ใช้ในการบริหารองค์การปัจจุบัน และยังพบว่า องค์การหลายแห่งเน้นแต่ในเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศโดยคิดว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาของการบริหารได้ ซึ่งในความเป็นจริงย่อมเป็นไปได้ยากที่องค์การหนึ่งองค์การใดจะประสบความสำเร็จจากการดำเนินกลยุทธ์เพียงด้านเดียว โดยเฉพาะกลยุทธ์ที่ใช้นั้น ไม่ได้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายที่มีผลกระทบต่อองค์การ และในอีกประการหนึ่งที่นักวิชาการหลายท่านเห็นพ้องกันกล่าวถึงไว้ได้แก่ ปัญหาในเรื่องการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับคนที่คนทำงานอาจจะไม่ยอมรับและเกิดการต่อต้านขึ้นเป็นการเมืองภายในองค์การ และปัญหาของระบบการให้รางวัลและตอบแทนที่สอดคล้องกับผลงานและความคาดหวังของบุคลากร (สรุปจาก Julnes and Holzer, 2001; Brewer et al., 2005) จากที่ได้กล่าวมานี้ ผู้เขียนเชื่อว่า หากผู้บริหารได้นำไปทบทวนพิจารณาประกอบกับสถานะของผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินงานตามแนวระบบบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์แล้ว จะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนเพื่อเข้าไปแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งในคาบเวลาปัจจุบันและอนาคตที่คาดหมายได้ยาก สร้างทางเลือกในการปรับกลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ อันสอดคล้องรองรับการดำเนินงานให้บรรลุผลตามเป้าหมายขององค์การในท้ายที่สุด
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที