การปรับใช้ระบบการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ในภาครัฐไทย
จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า ระบบการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ เป็นระบบที่ผู้บริหารสามารถใช้เพื่อปรับปรุงผลการปฏิบัติงานและเป็นกุญแจสำคัญ ที่ช่วยให้ส่วนราชการรู้ข้อมูลความต้องการของประชาชน ผู้รับบริการมีโอกาสปรับวิธีการทำงาน และจัดสรรทรัพยากรทางการบริหารที่มีอยู่จำกัด ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้งานจริง ตลอดจนมีคำตอบยืนยันแก่รัฐบาลว่าผลการปฏิบัติงานขององค์การบรรลุวัตถุประสงค์ตามนโยบายรัฐบาล วิสัยทัศน์ และพันธกิจขององค์การเพียงใด การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์เป็นการบริหารแนวใหม่ ที่มีแนวคิดหลักเหมือนกับการบริหารรูปแบบต่างๆ หรือจะเรียกได้ว่าการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์เป็นการประยุกต์แนวคิดหรือเทคนิคที่เป็นจุดเด่นของการบริหารรูปแบบต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อนำมาปรับใช้กับการบริหารราชการให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้นซึ่งรูปแบบการบริหารและการจัดการรูปแบบต่าง ๆ ที่ภาครัฐ ได้นำมาปรับใช้ได้แก่
1) การบริหารที่เน้นภารกิจ (Mission-oriented)
การบริหารที่เน้นภารกิจ (Mission-oriented) เป็นการบริหาร/การจัดการที่เน้นภารกิจที่องค์การจะต้องดำเนินการเป็นหลัก โดยจะมีการกำหนดว่าจะทำอะไรกลุ่มเป้าหมายและพื้นที่เป้าหมายที่จะเข้าไปดำเนินการอย่างชัดเจน
2) การบริหารเพื่อพัฒนาคุณภาพทั่วทั้งองค์การ (Total Quality ManagementTQM)
การให้ความสำคัญต่อเรื่องระบบบริหารคุณภาพทั่วทั้งองค์การ กล่าวได้ว่า ได้รับอิทธิพลจากนักคิดนักวิชาการที่สำคัญหลายท่านได้แก่ W. Edward Deming, Joseph M. Juran, Philip Crosby และ Genichi Taguchi เป็นต้น ซึ่งปรากฏว่า แนวคิดเรื่องการบริหารคุณภาพทั่วทั้งองค์การนี้ได้รับการยอมรับอย่างมากจากภาคธุรกิจเอกชนเนื่องจากการแข่งขันทางธุรกิจที่เรียกร้องในเรื่องคุณภาพของสินค้าและบริการอันเกิดจากกระบวนการดำเนินงานขององค์การมากขึ้นเป็นลำดับ กล่าวโดยสรุปแล้ว ความหมายของการบริหารคุณภาพทั่วทั้งองค์การหมายความถึง การมุ่งให้องค์การมีระบบและกระบวนการที่มีการเชื่อมโยงการทำงานกันอย่างบูรณาการ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของบุคลากรในการปรับปรุงและการพัฒนาคุณภาพให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์การ (เทพศักดิ์ บุณยรัตพันธ์, 2549: 15) สุวรรณี แสงมหาชัย (2444: 39) อธิบายว่า การบริหารเพื่อพัฒนาคุณภาพทั่วทั้งองค์การ เป็นการบริหารงานที่เน้นการบริการที่ต้องตรงตามความต้องการของผู้รับบริการ การนำการบริหาร TQM มาประยุกต์ใช้ในองค์การภาครัฐนั้น องค์การต้องตั้งวิสัยทัศน์ วัตถุประสงค์ เป้าหมายขององค์การเพื่อกำหนดแนวทางการนำไปปฏิบัติและทำการกำหนดแผนงานเพื่อพัฒนา โครงสร้างองค์การให้เอื้ออำนวยต่อการปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่องและมีกระบวนการจัดการที่เป็นระบบสามารถวัดทบทวนและตรวจสอบได้ มีการให้ข้อมูลย้อนกลับเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขและหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อเพิ่มคุณภาพของงาน การบริหารเพื่อพัฒนาคุณภาพทั่วทั้งองค์การ (TQM) นี้ มีเป้าหมายที่สำคัญเชื่อมโยงไปถึงคุณภาพของการบริหารราชการที่เน้นการให้บริการแก่ประชาชนโดยที่บุคลากรที่ปฏิบัติที่ต้องมีการพัฒนาความรู้และทักษะกระบวนการทำงานที่เน้นการใช้กลยุทธ์และเทคนิคต่างๆ การลดขั้นตอนการทำงานให้กระชับและรวดเร็ว และวัสดุอุปกรณ์ในการที่จะช่วยเสริมการปฏิบัติงานให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
รัฐประศาสนศาสตร์หรือการบริหารงานภาครัฐสมัยใหม่ ได้หันมาให้ความสนใจกับการนำระบบการบริหารคุณภาพทั่วทั้งองค์การมาใช้ในการบริหารงานภาครัฐอย่างมีแนวโน้มเข้มข้นขึ้นตามลำดับ ในบริบทของการปฏิรูประบบบริหารภาครัฐของไทย ซึ่งจัดว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างเข้มข้นนับจากสมัยรัฐบาลพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี การปรับเปลี่ยนระบบการบริหารงานภาครัฐไทยดังกล่าว ได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางว่าเป็นการปรับเปลี่ยนระบบเพื่อรองรับกระแสโลกาภิวัตน์ และเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งในเชิงโครงสร้างและพฤติกรรมที่สั่งสมอยู่ในระบบราชการไทยมาอย่างยาวนาน และเพื่อให้ระบบราชการสามารถทำหน้าที่เป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้อย่างเกิดผล โดยเริ่มปรากฎเป็นรูปธรรมเมื่อได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2545 เมื่อเดือนตุลาคมปีดังกล่าว อันเป็นผลให้มีการปรับโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการใหม่จาก 14 กระทรวง 1 ทบวง ไปเป็น 20 กระทรวง พร้อมกับได้มีการกำหนดให้มีคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) เป็นหน่วยงานตรงรับบทบาทขับเคลื่อนการปฏิรูประบบราชการ แทนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนหรือ ก.พ. แต่เดิม ในการปฏิรูประบบบริหารงานภาครัฐหรือระบบราชการในยุคนี้ที่นักวิชาการเรียกกันว่า การพัฒนาระบบราชการ ได้นำหลักการและเครื่องมือในการพัฒนาองค์การหลายประการ มาประยุกต์ใช้เป็นกรอบแนวทางในการบริหารจัดการหลายประการ ซึ่งในเรื่องของการปรับปรุงระบบการบริหารงานบุคคลปรากฎในข้อกำหนดที่สำคัญคือ แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย (พ.ศ. 2546-พ.ศ. 2550) แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทยดังกล่าว ได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ให้รัฐบาลต้องดำเนินการ พัฒนาระบบราชการไทยให้มีความเป็นเลิศ สามารถรองรับกับการพัฒนาประเทศในยุคโลกาภิวัตน์ โดยยึดหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และประโยชน์สุขของประชาชน จากวิสัยทัศน์ดังกล่าวนี้ นับได้ว่าเป็นความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนระบบราชการให้สามารถปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทั้งทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองในกระแสโลกาภิวัตน์ ด้วยการทำให้ระบบราชการไทยมีความเป็นเลิศในแง่การบริหารงาน โดยแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย (พ.ศ. 2546-2550) ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทยที่จะสามารถตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลกาภิวัตน์ และสร้างศักยภาพในการแข่งขันได้ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการหรือสำนักงาน ก.พ.ร. กำหนดไว้ 7 ยุทธศาสตร์ประกอบด้วย 1) การปรับเปลี่ยนกระบวนการและวิธีการทำงาน 2) การปรับปรุงโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดิน 3) การรื้อปรับระบบการเงินและการงบประมาณ 4) การสร้างระบบบริหารงานบุคคลและค่าตอบแทนใหม่ 5) การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม และค่านิยมของระบบราชการ 6) การเสริมสร้างระบบราชการไทยให้ทันสมัย 7) การเปิดระบบราชการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม
ในการนำยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทยดังกล่าวไปใช้ให้ได้ผล รัฐบาลได้สร้างเครื่องมือเพื่อให้เกิดแนวทางการนำยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทยไปสู่การปฏิบัติไว้ประกอบด้วย (1) การตราและบังคับใช้พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารราชการที่ดี ตามมาตรา 3/1 วรรคท้ายแห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 เพื่อเป็นแนวปฏิบัติแก่หน่วยงานต่าง ๆ (2) การใช้วิธีสร้างแรงจูงใจในรูปของตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน เพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานปรับปรุงประสิทธิภาพประสิทธิผลการทำงาน (3) การสร้างกระแสแรงกดดันจากบุคคลภายนอกโดยเฉพาะสื่อมวลชน นักวิชาการ ธุรกิจเอกชน องค์กรประชาสังคมและประชาชน เพื่อเร่งรัดให้หน่วยงานปรับปรุงการทำงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง (4) การติดตามและประเมินผล โดยจัดทำรายงานประจำปีเสนอคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา สำหรับภาคผนวกเป้าหมายการทำงานตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย (พ.ศ. 2546-2550)
ภาครัฐไทย ได้นำแนวคิดแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพทั่วทั้งองค์การดังกล่าวมาใช้ในชื่อใหม่คือ การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งเป็นการกำหนดที่ให้สอดคล้องกับแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2548-2551 ในประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 6 ด้านการพัฒนาระบบราชการ ซึ่งได้กำหนดให้มีเข็มมุ่งไปในเรื่องการเสริมสร้างความเป็นเลิศในการปฏิบัติราชการโดยให้ยกระดับและพัฒนาคุณภาพมาตรฐานของการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนผู้รับบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล การนำแนวคิดเรื่องการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งก็คือ TQM ภาครัฐ มาใช้นั้น จึงจัดว่าเป็นเครื่องมืออันหนึ่งที่ได้รับการนำมาใช้โดยมุ่งหมายให้เป็นสิ่งที่ช่วยยกระดับคุณภาพมาตรฐานของการทำงานและการให้บริการอย่างมีผลสัมฤทธิ์
3) การบริหารโดยการกำกับดูแล (Regulatory)
การบริหารโดยการกำกับดูแล (Regulatory) เป็นการบริหารโดยการออกกฎหมายหรือระเบียบเพื่อกำหนดกรอบหรือขอบข่ายในการดำเนินงานขององค์การ โดองค์การจะมีความเป็นอิสระในการบริหารและดำเนินงาน การบริหารรูปแบบนี้นำมาประยุกต์ใช้ในระบบราชการที่มีการจ้างเหมาบริษัทเอกชนที่รับงานของรัฐไปดำเนินงานแทน
4) การบริหารและการจัดการโดยจัดทำสัญญาว่าจ้างให้เอกชนดำเนินการแทน (Management by Contract)
การบริหารและจัดการแบบนี้สิ่งสำคัญที่สุด ก็คือ เงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญา (Term of Reference-TOR) ซึ่งจะต้องกำหนดให้ชัดเจนสามารถปฏิบัติได้ สามารถตรวจสอบและวัดได้ และสมประโยชน์ของทางราชการและเป็นหน้าที่ขององค์การซึ่งเป็นเจ้าของสัญญาจะต้องกำกับดูแล ติดตาม ตรวจสอบให้มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาโดยเคร่งครัด
5) การทบทวนการบริหารและการจัดการ (Management Review)
การทบทวนการบริหารและการจัดการ (Management Review) เป็นการทบทวนการบริหารและจัดการ การจัดโครงสร้างองค์การ และการกำหนดอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ในภาพรวมทั้งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ทั้งนี้เพื่อที่จะได้ปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคตได้
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที