นิชาภา

ผู้เขียน : นิชาภา

อัพเดท: 05 ต.ค. 2009 08.58 น. บทความนี้มีผู้ชม: 6532 ครั้ง

บทความนี้ มุ่งนำเสนอและทบทวนความเข้าใจเกี่ยวกับองค์ความรู้ด้านการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ในแง่มุมต่าง ๆ อันได้แก่ ความหมายและความสำคัญของการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ ความเป็นมาของการนำระบบดังกล่าวมาใช้ในภาคราชการไทย หลักการของการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ องค์ประกอบของการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ และอื่น ๆ โดยเฉพาะความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยที่จะส่งผลต่อความสำเร็จของการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ ความเชื่อมโยงกับการบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์ และสิ่งสำคัญที่พึงระวังซึ่งเป็นปัญหาและอุปสรรคให้เกิดความล้มเหลวต่อการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์นี้ และยังชี้ให้เห็นเป็นการทบทวนถึงการปรับใช้องค์ความรู้เรื่องดังกล่าวในระบบบริหารภาครัฐไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยองค์ความรู้ในเรื่องนี้ปัจจุบันนับได้ว่ามีพลวัตที่ค่อนข้างสูง ตามกระแสความนิยมและความเปลี่ยนแปลงไปของหลักการพื้นฐานด้านรัฐประศาสนศาสตร์หรือการบริหารจัดการภาครัฐ รวมตลอดจนถึงแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศของภาคเอกชนที่หลายหน่วยงานภาครัฐใช้เป็นต้นแบบและนำมาปรับใช้กับองค์การภาครัฐเพื่อเป็นกลไกและเครื่องมือสร้างความสำเร็จในการบริหารกิจการสาธารณะ อย่างไรก็ดี บทความนี้ ไม่ได้มุ่งเนื้อหาในเชิงทฤษฎีมากนักเนื่องจากมักเป็นที่เข้าใจยากโดยเฉพาะในแง่ของการทบทวน หรือการขยายขอบเขตไปวิพากษ์แนวคิดทฤษฎี และการวิพากษ์ผลการนำระบบการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ไปใช้ในระบบราชการไทย เนื่องจากสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ย่อมมีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายเห็นต่างกันไปบ้าง และในประการหนึ่งนั้น แม้ในความเป็นจริงที่แนวคิดเรื่องการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์จะได้รับการกล่าวถึงกันอย่างกว้างขวางในรอบหลายปีที่ผ่านมา แต่สำหรับบุคลากรภาครัฐไทยในแง่ผู้ปฏิบัติเอง กลับน่าจะมีไม่มากนักที่จะเข้าใจกับมันอย่างลึกซึ้งมากไปกว่าการรับคำสั่งจากหน่วยเหนือหรือผู้บังคับบัญชาระดับบนมาปฏิบัติ


การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ให้สัมฤทธิ์ผล ตอนที่ 10

  แผนองค์การและแผนกลยุทธ์ ซึ่งในองค์การภาครัฐนิยมเรียกว่า “แผนยุทธศาสตร์”  จะเป็นการกำหนดกรอบกว้าง ๆ ให้แก่การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ โดยแผนองค์การและแผนกยุทธ์ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างวัตถุประสงค์ระดับสูงขององค์การกับเป้าหมายของโรงการในระดับปฏิบัติ และยังสามารถใช้ในการประสานแผนงานระดับกรม กระทรวง เพื่อให้ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ การวางแผนองค์การและแผนกลยุทธ์นี้ โดยทั่วไปเรามักจะคุ้นเคยกับคำเหล่านี้ในแนวคิด การบริหารเชิงกลยุทธ์  (Strategic management) ซึ่งผู้เขียนขอสรุปกล่าวถึงไว้อย่างสังเขปเพื่อประกอบการทำความเข้าใจที่ลึกซึ้งมากขึ้นตามลำดับ

                 การบริหารเชิงยุทธศาสตร์ เป็นแนวคิดการบริหารงานที่เน้นการวางแผนที่สามารถวัดผลผลิตได้และเป็นการวางแผนที่คำนึงถึงบริบทขององค์การทั้งภายในและภายนอกขององค์การเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลให้องค์การก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลง (พูลสุข หิงคานนท์, 2549) โดยกระบวนการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย  (1) การวิเคราะห์ศักยภาพและความพร้อมขององค์การ โดยพิจารณาจุดอ่อน จุดแข็งขององค์การ โอกาสในการพัฒนาและภัยคุกคามหรืออุปสรรคจากภายนอกองค์การซึ่งเป็นปัจจัยเงื่อนไขความสำเร็จขององค์การ  การวิเคราะห์ศักยภาพและความพร้อมขององค์การมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้บริหารได้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับองค์การครบทุกด้านที่จะใช้ในการวางทิศทางขององค์การ การระบุสมรรถนะและปัจจัยหลักของความสำเร็จขององค์การ พร้อมกับการพิจารณาค่านิยมของสังคมและองค์การที่สามารถนำไปสู่การตัดสินใจเลือกและกำหนดกลยุทธ์หรือ กลวิธีที่มั่นใจได้ว่ามีความสอดคล้องกันที่สุดกับศักยภาพและความพร้อมขององค์การ  สำหรับเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ศักยภาพและความพร้อมขององค์การที่นิยมใช้กันได้แก่ ตัวแบบ SWOT (Strength, weakness, opportunity and threat ) และ ตัวแบบแรงดึงดูดของ Porter (Porter’s Five Forces Model ) เป็นต้น  (2) การจัดวางทิศทางขององค์การโดยการกำหนดวิสัยทัศน์ คุณค่าและพันธกิจขององค์การ  โดยที่วิสัยทัศน์คือความใฝ่ฝันที่เป็นอุดมคติหรืออนาคตขององค์การ ตัวอย่าง คำถามในการระดมสมองในกลุ่มการพยาบาลเพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ของกลุ่มงานพยาบาลเช่นระบบบริการพยาบาลในอุดมคติควรมีลักษณะอย่างไร   คุณค่า เปรียบเสมือนหัวใจแห่งองค์การหมายถึงสิ่งที่องค์การเชื่อมั่นได้แก่คุณค่าส่วนบุคคลและคุณค่าในหน้าที่การงาน  พันธกิจ หมายถึงภารกิจตามเป้าประสงค์หรือจุดมุ่งหมายและเหตุผลของการมีอยู่ขององค์การ (3) การกำหนดเป้าหมายขององค์การเพื่อการกำหนดกลยุทธ์โดยจะต้องกำหนดผลลัพธ์  ที่สะท้อนระดับความสำเร็จของการบริหารตามเป้าหมายและต้องกำหนดตัวชี้วัดผลลัพธ์ที่มีลักษณะที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ มีความหมายและสามารถวัดได้  ตัวอย่าง ผลลัพธ์ของการบริการพยาบาลที่ต้องการคือ คุณภาพชีวิตและภาวะสุขภาพของประชาชนผู้รับบริการ ตังชี้วัดผลลัพธ์คือคุณภาพชีวิตระดับดีซึ่งต้องอาศัยเครื่องมือวัดคุณภาพชีวิตที่สร้างขึ้นจากงานวิจัยมาใช้เป็นต้น ซึ่งเมื่อได้กำหนดเป้าหมาย ผลลัพธ์และ ตัวชี้วัดผลลัพธ์ขององค์การแล้ว จะต้องมีการกำหนดวัตถุประสงค์ซึ่งเป็นเป้าหมายเฉพาะด้านของภารกิจขององค์การที่วัดได้และมีกรอบเวลาในสิ่งที่ต้องการสัมฤทธิผล (4) การกำหนดยุทธศาสตร์ขององค์การ โดยพิจารณายุทธศาสตร์ที่เหมาะสมสามารถนำไปกำหนดแผนงานหรือโครงการปฏิบัติได้จริงในองค์การ   ยุทธศาสตร์นั้น กล่าวอย่างง่ายได้ว่าเป็นวิธีการที่จะทำให้วัตถุประสงค์ที่วางไว้สามารถบรรลุผล การกำหนดกลยุทธ์จะกำหนดโดยใช้ถ้อยคำที่บ่งบอกการกระทำ ระบุระยะเวลาที่ต้องการให้กระทำงานนั้นให้เสร็จสมบูรณ์ รวมถึงการระบุหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่และรับผิดชอบต่อการกระทำนั้น ดังนั้นผลงานของการวางแผนได้แก่แผนยุทธศาสตร์  (5) การนำยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ   โดยการนำเอาแผนกลยุทธ์ที่เป็นชุดของแผนงานหรือแผนปฏิบัติงานเป็นรายปีไปดำเนินงาน และต้องคำนึงถึงโครงสร้างและวัฒนธรรมองค์การ (6)  สร้างกลไกการกำกับ ติดตามหรือการควบคุมและการประเมินผลแผนยุทธศาสตร์  การประเมินผลควรดำเนินการทั้งในระยะสั้นและประจำปีและเมื่อสิ้นสุดแผนยุทธศาสตร์  ทั้งนี้  สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และคณะ (2545) ได้เคยนำเสนอข้อควรพิจารณาถึงลักษณะที่ดีของยุทธศาสตร์หรือกลยุทธ์ไว้หลายประการได้แก่ เป้าหมายของยุทธศาสตร์ที่กำหนดขึ้นมาจะต้องสมารถบรรลุได้  นโยบายและวิธีการในทางปฏิบัติที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ ครอบคลุมถึงทุกเป้าหมายที่วางไว้  ยุทธศาสตร์มีการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่แล้วหรือไม่  ความเหมาะสมของยุทธศาสตร์เมื่อเทียบกับระดับความเสี่ยงที่มีอยู่  สมรรถนะความสามารถในการบรรลุตามเป้าหมายในยุทธศาสตร์ ตลอดจนค่านิยม ความเชื่อ ทัศนคติของผู้นำองค์การและผู้รับผิดชอบต่อการนำยุทธศาสตร์ไปปฏิบัติ เป็นต้น                    

                     สำหรับองค์การภาครัฐไทยปัจจุบัน  การบริหารเชิงยุทธศาสตร์ยังมีเทคนิควิธีที่เข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อการวัดผลยุทธศาสตร์ ได้แก่  Balanced Scorecard ซึ่งเป็นเครื่องมือทางด้านการจัดการที่ช่วยนำยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติโดยอาศัยการวัดหรือประเมินที่จะช่วยให้องค์การเกิดความสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวและมุ่งเน้นในสิ่งที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จขององค์การ (พสุ  เดชะรินทร์,  2544  อ้างถึงในพูลสุข หิงคานนท์, 2549) และที่สำคัญยิ่งคือการที่จะบรรลุวิสัยทัศน์ขององค์การหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถหรือศักยภาพในการแปลงแผนยุทธศาสตร์ไปสู่แผนปฏิบัติการของกลุ่มงานต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่  ดังนั้นบทบาทของผู้บริหารที่สำคัญคือการถ่ายทอดให้ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องทุกคนให้เข้าใจแผนยุทธศาสตร์ และเป็นผู้นำให้เกิดการบริหารแผนยุทธศาสตร์ทุกขั้นตอน ตลอดจนกระตุ้นให้ทุกส่วนมีส่วนร่วมในกระบวนการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ อันจะนำไปสู่ความสำเร็จและประสิทธิผลขององค์การ (organizational effectiveness) ตามที่มุ่งหวังต่อไป (สุจิตรา เหลืองอมรเลิศ,  ศุภวัฒนากร วงส์ธนวสุ และอภิญญา จำปามูล, 2549; พูลสุข หิงคานนท์, 2549) 

                 ในการพัฒนาระบบบริหารภาครัฐตามแนวทางเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ภายใต้ความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบนำมาใช้เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2548 เพื่อยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐให้สอดคล้องกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546  นั้น ได้กำหนดให้การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ เป็นหมวดองค์ประกอบหมวดหนึ่งใน 7 หมวดที่เป็นแนวทางในการประเมินตามเกณฑ์ดังกล่าว  การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ตามเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐนี้  ประกอบไปด้วย 2 ส่วนคือ (1) การจัดทำยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ที่มุ่งพิจารณาใน 2 เรื่องคือ กระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ ตลอดจนการนำปัจจัยที่เกี่ยวข้องมาใช้ในการวางแผน และพิจารณาเป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ เทียบกับกรอบเวลาในการบรรลุผล และความสมดุลระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียฝ่ายต่าง ๆ และ (2) การนำยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติ  ซึ่งพิจารณาใน 2 เรื่องได้แก่ การจัดทำแผนปฏิบัติงานและการนำแผนนั้นไปปฏิบัติ  การจัดสรรทรัพยากร  การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง และแผนงานหลักด้านทรัพยากรบุคคล รวมทั้งการคาดการณ์ผลการดำเนินงาน เกณฑ์เปรียบเทียบที่สำคัญ   การวางแผนยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ที่ปรากฎในเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐดังกล่าว สะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดีถึงการสร้างเข็มมุ่งที่เด่นชัดขององค์การภาครัฐเพื่อที่จะพัฒนาระบบการบริหารจัดการให้เน้นไปที่ผลสัมฤทธิ์ในเชิงการดำเนินงาน 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที