นิชาภา

ผู้เขียน : นิชาภา

อัพเดท: 05 ต.ค. 2009 08.46 น. บทความนี้มีผู้ชม: 9804 ครั้ง

บทความนี้ มุ่งนำเสนอและทบทวนความเข้าใจเกี่ยวกับองค์ความรู้ด้านการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ในแง่มุมต่าง ๆ อันได้แก่ ความหมายและความสำคัญของการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ ความเป็นมาของการนำระบบดังกล่าวมาใช้ในภาคราชการไทย หลักการของการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ องค์ประกอบของการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ และอื่น ๆ โดยเฉพาะความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยที่จะส่งผลต่อความสำเร็จของการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ ความเชื่อมโยงกับการบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์ และสิ่งสำคัญที่พึงระวังซึ่งเป็นปัญหาและอุปสรรคให้เกิดความล้มเหลวต่อการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์นี้ และยังชี้ให้เห็นเป็นการทบทวนถึงการปรับใช้องค์ความรู้เรื่องดังกล่าวในระบบบริหารภาครัฐไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยองค์ความรู้ในเรื่องนี้ปัจจุบันนับได้ว่ามีพลวัตที่ค่อนข้างสูง ตามกระแสความนิยมและความเปลี่ยนแปลงไปของหลักการพื้นฐานด้านรัฐประศาสนศาสตร์หรือการบริหารจัดการภาครัฐ รวมตลอดจนถึงแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศของภาคเอกชนที่หลายหน่วยงานภาครัฐใช้เป็นต้นแบบและนำมาปรับใช้กับองค์การภาครัฐเพื่อเป็นกลไกและเครื่องมือสร้างความสำเร็จในการบริหารกิจการสาธารณะ อย่างไรก็ดี บทความนี้ ไม่ได้มุ่งเนื้อหาในเชิงทฤษฎีมากนักเนื่องจากมักเป็นที่เข้าใจยากโดยเฉพาะในแง่ของการทบทวน หรือการขยายขอบเขตไปวิพากษ์แนวคิดทฤษฎี และการวิพากษ์ผลการนำระบบการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ไปใช้ในระบบราชการไทย เนื่องจากสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ย่อมมีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายเห็นต่างกันไปบ้าง และในประการหนึ่งนั้น แม้ในความเป็นจริงที่แนวคิดเรื่องการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์จะได้รับการกล่าวถึงกันอย่างกว้างขวางในรอบหลายปีที่ผ่านมา แต่สำหรับบุคลากรภาครัฐไทยในแง่ผู้ปฏิบัติเอง กลับน่าจะมีไม่มากนักที่จะเข้าใจกับมันอย่างลึกซึ้งมากไปกว่าการรับคำสั่งจากหน่วยเหนือหรือผู้บังคับบัญชาระดับบนมาปฏิบัติ


การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ให้สัมฤทธิ์ผล ตอนที่ 7

เทคนิคของการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์

 

  สุพจน์ บุญวิเศษ (2549: 8-9) เสนอไว้ว่า การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ครอบคลุมเทคนิคในการบริหารงานหลายเรื่องดังต่อไปนี้

                   1) การวัดผลการปฏิบัติงาน (Performance Measurement) เป็นการตรวจสอบสถานะขององค์การว่าขณะนี้เป็นอย่างไร  เรากำลังอยู่ที่ไหน  และเรากำลังจะไปที่ใด   เครื่องมือที่จะทำให้ผู้บริหารตัดสินใจคือ  การมีระบบการวัดผลซึ่งเปรียบเหมือนการบัญชาการรบ  มี  War  room  เพื่อช่วยให้สามารถกำหนดยุทธศาสตร์   หรือควบคุมการดำเนินงานให้เป็นไปในทิศทางที่พึงประสงค์  จึงกล่าวได้ว่า  การวัดผลเป็นเครื่องมือที่ทำให้ผู้บริหารรู้สถานะขององค์การ  และเมื่อเปรียบเทียบกับองค์การอื่นแล้วเป็นอย่างไร เป็นเครื่องมือในการติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานที่ผู้บริหารกำหนดหรือเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลว่าขณะนี้อยู่ตรงไหน  เข้าใกล้เป้าหมายมากน้อย  โดยการวัดผลการดำเนินงานมีองค์ประกอบหลักได้แก่   การกำหนดเป้าหมายและการเทียบผลการปฏิบัติงานกับเป้าหมายที่วางไว้  นอกจากนี้  การวัดผลการปฏิบัติงานอาจจะใช้วิธีการวัดแบบที่ใช้ตัวชี้วัดอย่างง่าย หรือใช้ระบบการวัดที่ซับซ้อน  สามารถวัดได้หลายแง่มุมเช่น ความประหยัด ความมีประสิทธิภาพ ความมีประสิทธิผล หรือคุณภาพการบริการ โดยวัตถุประสงค์ของการวัดผลการปฏิบัติงานนั้นก็เพื่อเป็นการสนับสนุนการตัดสินใจที่ดีขึ้นของผู้บริหาร และเพื่อให้ปฏิบัติงานโครงการบรรลุผลที่เกิดประโยชน์ตามความคาดหวังของประชาชน และยังสามารถใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงการปฏิบัติงานขององค์การ ปรับปรุงวิธีการมอบอำนาจและการกระจายความรับผิดชอบภายใน การจัดสรรงบประมาณและการให้แรงจูงใจการปฏิบัติงานแก่เจ้าหน้าที่ด้วย  กรอบตัวแบบที่นิยมนำมาใช้ในการวัดผลการปฏิบัติงานตามแนวทางการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ ผู้เขียนจะได้นำเสนอในหัวข้อต่อไป  อย่างไรก็ตาม การวัดผลการดำเนินงานนั้น มีข้อควรคำนึงที่ผู้บริหารจะต้องตอบคำถามอันได้แก่  อะไรคือสิ่งที่องค์การจะต้องประสบความสำเร็จ  การที่จะประสบความสำเร็จนั้นได้เกี่ยวโยงกับสินค้าหรือบริการอย่างไร รวมไปถึงอะไรคือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้องค์การประสบความสำเร็จตามที่ต้องกา  นอกจากนี้  การวัดผลการปฏิบัติงาน  ยังจะต้องพิจารณาจากวัตถุประสงค์ขององค์การรวมทั้งกิจกรรมที่กำลังดำเนินการ  หากไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรและไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อไป  ในอนาคตก็ไม่รู้ว่าจะวัดผลได้อย่างไร  กล่าวอย่างสังเขปได้ว่า  การวัดผล จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่แน่ชัดก่อน  ตัวอย่างเช่น หากเป็นกรณีของการวัดผลการพัฒนาจังหวัดตามยุทธศาสตร์การพัฒนาของรัฐบาลที่ย่อยลงมาในระดับจังหวัด   ผู้บริหารงานในระดับกรมและจังหวัดจำเป็นที่จะต้องพิจารณาวิสัยทัศน์  ภารกิจ  วัตถุประสงค์  เป้าหมาย  ยุทธศาสตร์ของจังหวัด  หากมองอีกด้านหนึ่งเปรียบเทียบกับการทำงานของบุคคลก็นับว่าเป็นการมุ่งต่อการตอบคำถามว่า  เราจะไปที่ไหน (วิสัยทัศน์)  และต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้เราสามารถก้าวไปถึงที่หมาย  (ภารกิจ/ วัตถุประสงค์/เป้าหมาย)  และเราจะไปถึงที่หมายที่กำหนดไว้นั้นได้อย่างไร  (กลยุทธ์/แผนงาน/แผนปฏิบัติงาน)  นั่นเอง

     การวัดผลการปฏิบัติงานตามแนวทางการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์นั้น  จัดได้ว่าเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับการกำหนดเป้าหมาย ตัวบ่งชี้วัดผลสำเร็จของกิจกรรม การจัดเก็บข้อมูลและเปรียบเทียบผลงานกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ล่วงหน้า การวัดผลการปฏิบัติงานจะช่วยให้องค์การ/ผู้ปฏิบัติงานได้รับข้อมูลและสารสนเทศย้อนกลับที่แสดงถึงผลสำเร็จของการดำเนินงาน ปัญหาหรือความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การแสดงถึงการมีพันธะ หน้าที่และความรับผิดชอบต่อสาธารณะ ผู้กำหนดนโยบาย แหล่งสนับสนุนงบประมาณ ฯลฯ การเสริมสร้างการเรียนรู้ให้แก่บุคลากรและองค์การเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงการบริหาร การพัฒนาองค์การ การออกแบบ/ทบทวนโปรแกรม กระบวนการดำเนินงานขององค์การหรือของทีมงานที่รับผิดชอบกิจกรรมการดำเนินงาน รวมทั้งช่วยให้การจัดสรรทรัพยากรเพื่อการสนับสนุนการดำเนินงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การวัดผลการปฏิบัติงานเป็นกระบวนการที่พึงต้องดำเนินการคู่ขนานหรือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการจัดการผลงาน มีกิจกรรม/กระบวนการที่สำคัญ

     ตัวบ่งชี้วัดผลงานตามแนวทางการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ ประกอบด้วยตัวบ่งชี้ที่สำคัญดังต่อไปนี้ (ทศพร ศิริสัมพันธ์,2543 :148-150 และสุพจน์ ทรายแก้ว ,2543:137-138)

       ตัวบ่งชี้วัดปัจจัยนำเข้า (Input Indicators) ได้แก่ จำนวนทรัพยากรโดยรวมที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรมหรือบริการ เพื่อก่อให้เกิดผลผลิตผลลัพธ์ เช่น จำนวนเงินที่ใช้ จำนวนบุคลากรที่จำเป็นในการให้บริการ จำนวนวัตถุดิบและอุปกรณ์การผลิต เป็นต้น

       ตัวบ่งชี้วัดผลผลิต (Output Indicators) เป็นตัวบ่งชี้ที่แสดงถึงปริมาณ จำนวนสิ่งของที่ผลิตได้จากการดำเนินกิจกรรม  เช่น จำนวนผู้เข้ารับอบรมการพัฒนาอาชีพ จำนวนนักเรียนที่รับเข้าเรียน จำนวนบัณฑิตที่จบการศึกษา เป็นต้น

       ตัวบ่งชี้วัดผลลัพธ์ (Outcome Indicators) หมายถึง ตัวชี้วัดที่แสดงถึงผลสัมฤทธิ์ของกิจกรรม เช่น จำนวนผู้จบการศึกษาที่มีงานทำ จำนวนกิโลเมตรของทางด่วนที่มีสภาพอยู่ในเกณฑ์ดี และยังรวมถึงตัวบ่งชี้วัดผลลัพธ์คุณภาพของการบริการ (Quality Indicators) เช่น จำนวนสินค้าที่บกพร่อง จำนวนใบแจ้งหนี้ที่ผิดพลาด จำนวนหนี้ค้างชำระ ระดับความพึงพอใจของประชาชนที่มีต่อการทำงานขององค์การ เป็นต้น

       ตัวบ่งชี้วัดประสิทธิภาพ (Efficiency Indicators) หมายถึง ตัวบ่งชี้วัดผลงานที่แสดงค่าใช้จ่ายต่อหน่วยของผลผลิต หรือระยะเวลาในการให้บริการต่อรายการ เช่น ค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักเรียนสำเร็จการศึกษา เวลาการทำงานในการปรับสภาพพื้นผิวถนน 1 กิโลเมตร

       ตัวบ่งชี้วัดความคุ้มค่า (Cost-Effectiveness) หมายถึง ตัวบ่งชี้ที่แสดงค่าใช้จ่ายของผลลัพธ์ที่แสดงถึงความคุ้มค่า (Value for money) ที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรม เช่น ต้นทุนเฉลี่ยในการช่วยให้ผู้ว่างงานได้งานภายหลังการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการซ่อมบำรุงรถยนต์ให้พร้อมใช้งาน

       ตัวบ่งชี้วัดปริมาณงาน (Workload Indicators)  หมายถึง ข้อมูลที่แสดงถึงความต้องการในการใช้บริการ หรือภาระงานในหน้าที่ของบุคลากร เช่น จำนวนแพทย์ต่อประชากร จำนวนพยาบาลต่อคนไข้ใน จำนวนใบสมัครงานที่ได้รับในแต่ละวัน เป็นต้น

       ตัวบ่งชี้สารสนเทศเชิงอธิบาย (Explanatory Information) หมายถึง ข้อมูลที่อธิบายถึงองค์ประกอบที่มีผลกระทบต่อผลการปฏิบัติงานขององค์การ ซึ่งอาจจะอยู่ภายใต้หรืออยู่นอกเหนือการควบคุมขององค์การก็ได้ เช่น อัตราส่วนของนักเรียนต่อครู อายุการใช้งานของอุปกรณ์ที่ใช้ในการซ่อมถนน ร้อยละของนักเรียนที่นับถือศาสนาพุทธ เป็นต้น

ในกระบวนการบริหารงานแบบมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ การวัดผลการปฏิบัติงานจะมีวัตถุประสงค์หลักอยู่ที่การทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลสารสนเทศสนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหาร เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงการปฏิบัติงานขององค์การให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น ระบบการวัดผลการปฏิบัติงานที่ดีจึงควรเป็นระบบที่สามารถผลิตข้อมูลสารสนเทศที่แสดงถึงความก้าวหน้าของผลการดำเนินงานที่มีความครอบคลุม ครบถ้วน สมบูรณ์และทันกาล  และเมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบและหลักการพื้นฐานของการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์อย่างถี่ถ้วนแล้วก็จะเห็นได้ว่า การบริหารแบบนี้  แท้จริงนั้นเชื่อมโยง เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารเชิงกลยุทธ์เนื่องจากการที่องค์การใช้วิสัยทัศน์ พันธกิจ วัตถุประสงค์ และ               กลยุทธ์ซึ่งอยู่ในแผนกลยุทธ์ขององค์การเป็นกรอบในการกำหนดปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จ (Critical Success Factors-CSF) และตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลัก (KPI) เป็นกรอบวัดผลการปฏิบัติงานขององค์การเทียบกับเป้าหมาย เพื่อให้รู้ถึงความก้าวหน้าของการบรรลุวิสัยทัศน์ หากผลงานยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ผู้บริหารองค์การควรปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้เหมาะสม

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที