องค์ประกอบของการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์
ในงานเขียนของ Louisette Bizier และ Bruno Lefèvre เรื่อง INF.12: Result-Based Management Framework and Roadmap ซึ่งนำเสนอต่อ World Heritage Centre, UNESCO ในเดือนพฤษภาคม 2006 ที่ผ่านมา ได้กล่าวถึงการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ไว้ว่าเป็นข้อเสนอพื้นฐานที่กล่าวถึงการสร้างผลการปฏิบัติงานและการใช้ข้อมูลเกี่ยวกับผลการปฏิบัติงานในด้านต่าง ๆ ตอบสนองต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอกและภายในองค์การในลักษณะที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้เชิงการบริหารและการตัดสินใจ (management learning and decision-making) โดยที่ระบบการบริหารแบบนี้ ก็จะมีระดับที่แตกต่างไปในแต่ละองค์การ โดยในกระบวนการของการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์นี้ มีองค์ประกอบในแง่ของขั้นตอนของการนำไปดำเนินการ
หากจะทำความเข้าใจถึงองค์ประกอบของแนวคิดของการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ให้ได้อย่างละเอียดมากขึ้นแล้ว ผู้เขียนเห็นว่า เราควรลงลึกเข้าไปทำความเข้าใจถึงบริบทของการบริหารงานแบบนี้ที่มุ่งมองถึงการบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างประหยัด (Economy) อันได้แก่ ทรัพยากรในการดำเนินงานด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตั้งแต่จำนวนบุคลากร วัสดุอุปกรณ์เครื่องมือ การบริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ (Efficiency) เป็นการเปรียบเทียบระหว่างปัจจัยนำเข้า (Inputs) กับผลผลิต (Output) ได้แก่ การสร้างผลผลิตในระดับที่สูงกว่าปัจจัยนำเข้าได้ผลลานที่บรรลุเป้าหมายขององค์การ (Effectiveness) คือ การเปรียบเทียบระหว่างวัตถุประสงค์กับผลลัพธ์ตามที่ตั้งไว้ โดยปัจจัยหลักพื้นฐานที่จะทำให้การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์สามารถประสบผลสำเร็จได้ก็คือ การมีระบบข้อมูลที่เที่ยงตรงเชื่อถือได้ ไม่ว่าจะเป็นระบบข้อมูลตัวชี้วัดผลงานเพื่อให้ทราบความคืบหน้าของงาน หรือการมีระบบการเงินและบัญชีเพื่อให้ทราบต้นทุนค่าใช้จ่ายในแต่ละงาน โดยการได้รับข้อมูลที่ถูกต้องนี้เองจะช่วยให้ผู้บริหารทุกระดับสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง (สุพจน์ บุญวิเศษ, 2549: 6) พร้อมกับ เป็นรูปแบบการบริหารที่เน้นความรับผิดชอบในการนำงบประมาณของแผ่นดินที่ได้จากภาษีประชาชนมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลงานที่เป็นรูปธรรม และเหนือสิ่งอื่นใดประชาชนทั่วไปเป็นผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการที่องค์การมีการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ เพราะจะได้รับบริการที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการยิ่งขึ้น
โดยอาศัยทัศนะของนักวิชาการและผู้รู้หลายท่าน การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ มีองค์ประกอบที่สำคัญจำแนกได้เป็นประการต่าง ๆ ได้แก่
1) การกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายองค์การ วัตถุประสงค์และเป้าหมายขององค์การ คือ ผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวัง ดังนั้นการกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง และเป็นส่วนสำคัญของการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ภายใต้วิสัยทัศน์และ พันธกิจของหน่วยงาน (Vision and
2) การกำหนดตัวชี้วัดการบรรลุเป้าหมายและผลการปฏิบัติงาน (Performance Indication and Key Result Area Determination) การกำหนดปัจจัยหลักและตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงานเพื่อใช้ในการติดตามและประเมินผลงาน เช่น ด้านสมรรถนะภายในองค์การ ได้แก่ บุคลากร โครงสร้าง กระบวนการ ด้านการเงิน ได้แก่ ประสิทธิภาพ ความคุ้มค่า ประหยัด ซึ่งในแต่ละด้านต้องมากำหนดตัวชี้วัดและรายละเอียดต่างๆเพื่อให้มีความสมดุลกัน ตัวอย่างที่เป็นตัวแบบของการจัดทำหรือกำหนดตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ของงานภาครัฐได้แก่ กรอบแนวคิดการพัฒนาตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลักตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด ซึ่งประกอบด้วยวิสัยทัศน์ ภารกิจ วัตถุประสงค์ เป้าหมาย ยุทธศาสตร์เป็นตัวตั้ง แล้วจึงพัฒนาตัวชี้วัดเบื้องต้นโดยการวิเคราะห์จากแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา จังหวัด และสืบค้นจากเอกสารทางวิชาการ รายงานผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนนำไปให้หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดพิจารณาให้ความเห็น เป็นต้น ทั้งนี้ ตัวชี้วัดตามกรอบตัวแบบของการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ที่สามารถนำมาใช้วัดความสำเร็จขององค์การหรือองค์การ มีหลายประการได้แก่ ปัจจัยนำเข้า (Input) ผลผลิต (Output) ผลลัพธ์ (Outcome) ประสิทธิภาพ (Efficiency) ประสิทธิผล(Effectiveness) ความคุ้มค่า/ความประหยัด (Cost-Economy Effectiveness) ปริมาณงาน (Workload) สารสนเทศเชิงอธิบาย (Explanatory Information) ทุนมนุษย์ (Human Capital) นวัตกรรม (Innovation) ความพึงพอใจของลูกค้า (Customer Satisfaction) ความพึงพอใจของทีมงาน (Employees Satisfaction) ผลการดำเนินการ (Organization Result) เป็นต้น ซึ่งจะได้นำเสนอต่อไป (ทศพร ศิริสัมพันธ์,2543 :148-150; สุพจน์ ทรายแก้ว, 2543:137-138)
3) การจัดทำข้อตกลงเพื่อให้รับรู้ถึงเป้าหมาย (Performance Agreement) การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์เน้นเรื่องภาระความรับผิดชอบต่อการบรรลุเป้าหมาย อำนาจหน้าที่ทรัพยากรที่ใช้ สิ่งตอบแทนที่จะได้รับ ระยะเวลาของสัญญา
4) การจัดระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology System) เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อช่วยในการจัดทำฐานข้อมูล เพื่อนำมาสนับสนุนการตัดสินใจ การวางแผน การควบคุมงานและการประเมินผล ที่ต้องอาศัยข้อเท็จจริงและตัวเลขต่างๆมากขึ้น ความรู้และเครื่องมือของเทคโนโลยีสารสนเทศสามารถทำให้การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์มีประสิทธิภาพขึ้น
5) การปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement) การปรับปรุงงานถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งในกระบวนการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ เพราะการดำเนินงานย่อมมีปัญหาและอุปสรรคเกิดขึ้น หรือแม้จะไม่พบปัญหาอุปสรรคก็อาจจะพบวิธีการปฏิบัติงานใหม่ๆที่ดีขึ้นกว่าเดิม
6) การวัดและประเมินผลงาน (Performance Measurement and Evaluation) เป็นการวัดผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจริงเปรียบเทียบกับเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ เมื่อพบความแตกต่างก็นำมาวิเคราะห์หาสาเหตุเพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาต่อไป
7) การจัดวางกลไกการตรวจสอบ (Accountability Mechanism) การบริหารแนวนี้จำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นในการบริหารสำหรับการปรับตัวขององค์การภายใต้การเปลี่ยนแปลง
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที