นิชาภา

ผู้เขียน : นิชาภา

อัพเดท: 05 ต.ค. 2009 08.30 น. บทความนี้มีผู้ชม: 9800 ครั้ง

บทความนี้ มุ่งนำเสนอและทบทวนความเข้าใจเกี่ยวกับองค์ความรู้ด้านการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ในแง่มุมต่าง ๆ อันได้แก่ ความหมายและความสำคัญของการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ ความเป็นมาของการนำระบบดังกล่าวมาใช้ในภาคราชการไทย หลักการของการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ องค์ประกอบของการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ และอื่น ๆ โดยเฉพาะความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยที่จะส่งผลต่อความสำเร็จของการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ ความเชื่อมโยงกับการบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์ และสิ่งสำคัญที่พึงระวังซึ่งเป็นปัญหาและอุปสรรคให้เกิดความล้มเหลวต่อการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์นี้ และยังชี้ให้เห็นเป็นการทบทวนถึงการปรับใช้องค์ความรู้เรื่องดังกล่าวในระบบบริหารภาครัฐไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยองค์ความรู้ในเรื่องนี้ปัจจุบันนับได้ว่ามีพลวัตที่ค่อนข้างสูง ตามกระแสความนิยมและความเปลี่ยนแปลงไปของหลักการพื้นฐานด้านรัฐประศาสนศาสตร์หรือการบริหารจัดการภาครัฐ รวมตลอดจนถึงแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศของภาคเอกชนที่หลายหน่วยงานภาครัฐใช้เป็นต้นแบบและนำมาปรับใช้กับองค์การภาครัฐเพื่อเป็นกลไกและเครื่องมือสร้างความสำเร็จในการบริหารกิจการสาธารณะ อย่างไรก็ดี บทความนี้ ไม่ได้มุ่งเนื้อหาในเชิงทฤษฎีมากนักเนื่องจากมักเป็นที่เข้าใจยากโดยเฉพาะในแง่ของการทบทวน หรือการขยายขอบเขตไปวิพากษ์แนวคิดทฤษฎี และการวิพากษ์ผลการนำระบบการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ไปใช้ในระบบราชการไทย เนื่องจากสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ย่อมมีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายเห็นต่างกันไปบ้าง และในประการหนึ่งนั้น แม้ในความเป็นจริงที่แนวคิดเรื่องการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์จะได้รับการกล่าวถึงกันอย่างกว้างขวางในรอบหลายปีที่ผ่านมา แต่สำหรับบุคลากรภาครัฐไทยในแง่ผู้ปฏิบัติเอง กลับน่าจะมีไม่มากนักที่จะเข้าใจกับมันอย่างลึกซึ้งมากไปกว่าการรับคำสั่งจากหน่วยเหนือหรือผู้บังคับบัญชาระดับบนมาปฏิบัติ


การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ให้สัมฤทธิ์ผล ตอนที่ 4

หลักการพื้นฐานของการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์

 

                ในอดีตนั้นการบริหารงานขององค์การภาครัฐจะเน้นที่การบริหารปัจจัยนำเข้า (Inputs) ซึ่งได้แก่ทรัพยากรที่องค์การภาครัฐจะใช้ในการปฏิบัติงาน ซึ่งได้แก่ คน เงิน วัสดุอุปกรณ์ และอื่น ๆ โดยใช้วิธีการเน้นการปฏิบัติงานตามกฎ ระเบียบ และความถูกต้องตามกฎหมาย มาตรฐานที่วางไว้ รวมทั้งการควบคุมตรวจสอบก่อนการดำเนินการ (สุพจน์ ทรายแก้ว, 2545: 29)    ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการยึดติดทฤษฎีองค์การระบบราชการ เพื่อเสริมสร้างเอกภาพของการบังคับบัญชา ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้การบริหารงานของระบบราชการเป็นไปอย่างปลอดจากระบบอุปถัมภ์ (Patronage System) มีความเป็นกลางทั้งในเชิงการเมืองและการส่งมอบบริการสาธารณะ ซึ่งการคิดเช่นนี้มีผลทำให้ระบบราชการในอดีตตั้งหน่วยงานกลางด้านการบริหารงานบุคคล  การวางแผนงาน การงบประมาณ เพื่อทำหน้าที่ออกกฎระเบียบสำหรับใช้เป็นกรอบในการปฏิบัติงานของหน่วยงานราชการขึ้น (Peters, 1995 อ้างถึงในสุพจน์ ทรายแก้ว, 2545: 29) ดังเช่นกรณีประเทศไทย ซึ่งมีสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณ  ทำหน้าที่เช่นที่กล่าวตามลำดับ  การถูกวางกรอบเช่นนี้  ส่งผลให้ระบบราชการเต็มไปด้วยกรอบในเชิงกฎหมาย ระเบียบและข้องบังคับที่มากหลาย มีการควบคุมตรวจสอบก่อนการดำเนินการที่เข้มงวดและรวมถึงการมีโครงสร้างองค์การที่มีลำดับขั้นลดหลั่นกันมาใหญ่โตต่อเนื่อง และสุดท้ายได้ส่งผลให้ระบบราชการและข้าราชการมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปจากหลักการที่พึงประสงค์ (Goal Displacement) กล่าวคือมีการปฏิบัติงานที่ไม่ได้ยึดเอาผลลัพธ์ของงานแต่กลับไปถือเอากฎระเบียบที่วางไว้เป็นเป้าหมาย ทั้งที่ระเบียบนั้นบางครั้งไม่ได้สอดคล้องกับสถานการณ์  อันส่งผลต่อเนื่องให้เกิดความล่าช้าของการปฏิบัติงาน และเกิดการเลือกปฏิบัติในบางเรื่อง ไม่อาจตอบสนองความต้องการของประชาชนที่มารับบริการได้อย่างเกิดประสิทธิภาพ (สุพจน์ ทรายแก้ว, 2545: 29)  และก่อให้เกิดกระแสเรียกร้องให้ระบบราชการเองต้องทบทวนบทบาทการปฏิบัติภารกิจเพื่อให้สอดรับกับบทบาทที่ควรจะเป็นตามความคาดหวังของสังคมและประชาชนผู้รับบริการดังขั้นตามลำดับนับแต่ประเทศไทยเติบโตก้าวหน้าในหนทางแห่งทุนนิยม และเป็นสดมภ์หลักของการพัฒนาประเทศ   

Canadian International Development Agency หรือ CIDA (2000) ได้นำเสนอหลักการพื้นฐานของนโยบายและการปฏิบัติที่สำคัญของการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ไว้ 6 ประการดังนี้

1) การมีส่วนร่วม (participation)  การมีส่วนร่วมในการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์นี้ จะเสริมให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมาย นอกจากนี้ ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นควรมาจากการยอมรับร่วมกันของผู้มีส่วนได้เสีย นอกจากนี้ผลสัมฤทธิ์ของการทำงานที่เกิดขึ้นมาจากเงื่อนไขประการนี้ควรมาจากความคาดหวังร่วมกัน โดยอาจจะมีขบวนการสร้างประชามติ อันจะเป็นการสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ บุคลากรมีคำมั่นต่อการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์อย่างต่อเนื่อง และเป็นแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล 

2) ความรับผิดชอบหรือความพร้อมรับผิด (accountability) บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วม ซึ่งพบว่าการมีส่วนร่วมนั้น เป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดความรู้สึกรับผิดชอบในการปฏิบัติงานตามโครงการ

3) ความโปร่งใส (transparency) ของรายงานผลการดำเนินงานต่าง ๆ ผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวังและตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องสามารถวัดได้  สามารถตรวจสอบได้

4) ความเรียบง่าย (simplicity) แนวทางในการปฏิบัติตามรูปแบบและระบบการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ ควรมีลักษณะที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจและนำไปปรับใช้กับการทำงาน ระบบการเก็บรวบรวมข้อมูลและการวัดผลที่ซับซ้อนเกินไปมักพบว่าเป็นปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงานเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ทั้งนี้ CIDA แนะนำไว้ว่า การวัดผลสัมฤทธิ์นั้น ควรเริ่มต้นจากตัววัดผลสัมฤทธิ์ที่มีจำนวนน้อยก่อน เพื่อให้เราสามารถติดตามประเมินผลได้ดีกว่า

5) การเรียนรู้จากการปฏิบัติ (learning by doing) หมายถึงการทำซ้ำ ๆ เพื่อให้เกิดประสบการณ์และการเรียนรู้ ประสบการณ์จากการปฏิบัติโดยทั่วไปมักเป็นเรื่องของการลองผิดลองถูก ซึ่งจัดว่าเป็นบทเรียนที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาความสามารถ รวมทั้งการปรับปรุงวิธีการและเครื่องมือที่ใช้ในการปฏิบัติงาน

6) การนำไปใช้อย่างกว้างขวาง (broaden application) หมายถึงโครงการทุกโครงการขององค์การหนึ่ง ๆ  ควรมีการกำหนดกรอบการปฏิบัติงานและการกำหนดผลสัมฤทธิ์ของโครงการให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ขององค์การ นอกจากนี้แล้ว โครงการต่าง ๆ ที่กำลังดำเนินงานอยู่  ซึ่งก็ควรจะใช้หลักการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์เช่นเดียวกัน


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที