นิชาภา

ผู้เขียน : นิชาภา

อัพเดท: 05 ต.ค. 2009 08.29 น. บทความนี้มีผู้ชม: 7561 ครั้ง

บทความนี้ มุ่งนำเสนอและทบทวนความเข้าใจเกี่ยวกับองค์ความรู้ด้านการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ในแง่มุมต่าง ๆ อันได้แก่ ความหมายและความสำคัญของการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ ความเป็นมาของการนำระบบดังกล่าวมาใช้ในภาคราชการไทย หลักการของการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ องค์ประกอบของการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ และอื่น ๆ โดยเฉพาะความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยที่จะส่งผลต่อความสำเร็จของการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ ความเชื่อมโยงกับการบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์ และสิ่งสำคัญที่พึงระวังซึ่งเป็นปัญหาและอุปสรรคให้เกิดความล้มเหลวต่อการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์นี้ และยังชี้ให้เห็นเป็นการทบทวนถึงการปรับใช้องค์ความรู้เรื่องดังกล่าวในระบบบริหารภาครัฐไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยองค์ความรู้ในเรื่องนี้ปัจจุบันนับได้ว่ามีพลวัตที่ค่อนข้างสูง ตามกระแสความนิยมและความเปลี่ยนแปลงไปของหลักการพื้นฐานด้านรัฐประศาสนศาสตร์หรือการบริหารจัดการภาครัฐ รวมตลอดจนถึงแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศของภาคเอกชนที่หลายหน่วยงานภาครัฐใช้เป็นต้นแบบและนำมาปรับใช้กับองค์การภาครัฐเพื่อเป็นกลไกและเครื่องมือสร้างความสำเร็จในการบริหารกิจการสาธารณะ อย่างไรก็ดี บทความนี้ ไม่ได้มุ่งเนื้อหาในเชิงทฤษฎีมากนักเนื่องจากมักเป็นที่เข้าใจยากโดยเฉพาะในแง่ของการทบทวน หรือการขยายขอบเขตไปวิพากษ์แนวคิดทฤษฎี และการวิพากษ์ผลการนำระบบการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ไปใช้ในระบบราชการไทย เนื่องจากสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ย่อมมีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายเห็นต่างกันไปบ้าง และในประการหนึ่งนั้น แม้ในความเป็นจริงที่แนวคิดเรื่องการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์จะได้รับการกล่าวถึงกันอย่างกว้างขวางในรอบหลายปีที่ผ่านมา แต่สำหรับบุคลากรภาครัฐไทยในแง่ผู้ปฏิบัติเอง กลับน่าจะมีไม่มากนักที่จะเข้าใจกับมันอย่างลึกซึ้งมากไปกว่าการรับคำสั่งจากหน่วยเหนือหรือผู้บังคับบัญชาระดับบนมาปฏิบัติ


การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ให้สัมฤทธิ์ผล ตอนที่ 3

              ในการบริหารงานภาครัฐไทย  แม้รัฐบาลหลายสมัยต่างให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบราชการหรือระบบการบริหารงานภาครัฐ เพื่อให้เป็นกลไกส่งเสริมการพัฒนาประเทศ  แต่ระบบราชการยังคงมีปัญหาความในการบริหารงานหลากหลายประการแง่มุม   เมื่อประเทศไทยประสบปัญหาภาวะวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อต้นทศวรรษ พ.ศ.2540 ประกอบกับการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับที่ 16 พ.ศ.2540  ได้ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญให้รัฐบาลที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนประเทศไทยในยุคต้นทศวรรษดังกล่าว แสวงหามาตรการหรือแนวทางในการจัดการให้ระบบราชการสามารถทำหน้าที่เป็นกลไกที่คาดหวังได้มีการบริหารขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวต่อไปได้  และผลกระทบจากสิ่งต่าง ๆ ดังได้กล่าวมาข้างต้น รัฐบาลในสมัยต้นของช่วงวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนั้นจึงได้ทำการกำหนดมาตรการการปรับหน่วยงานภาครัฐในสภาวะวิกฤต ซึ่งเป็นทั้งมาตรการระยะสั้นและมาตรการระยะยาว ซึ่งในระยะสั้นนั้น ทุกหน่วยงานภาครัฐจะต้องจัดทำแผนงานเพื่อให้ตอบสนองต่อการทบทวนภารกิจและบทบาทของหน่วยงานภาครัฐ โดยการลด ตัดทอน หรือการยกเลิกภารกิจที่ภาครัฐต้องดำเนินการเอง  หรือที่เห็นควรให้หน่วยงานภาคเอกชน องค์การเอกชน หรือหน่วยงานปกครองท้องถิ่น  การปรับปรุงรูปแบบ ขั้นตอนและวิธีการทำงานที่โปล่งใส สามารถตรวจสอบได้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของหน่วยงานภาครัฐ โดยให้มีการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดผลงานในด้านต่าง ๆ ให้ชัดเจนเป็นรูปธรรม รวมทั้งการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ อันเป็นผลต่อเนื่องตามกันมา

สุพจน์  บุญวิเศษ (2549: 2-3) ชี้ให้เห็นว่า คณะรัฐมนตรี ซึ่งได้มีมติเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2542 เห็นชอบแผนการปฏิรูประบบบริหารภาครัฐ ซึ่งเป็นการปฏิรูปในลักษณะองค์รวมเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารภาครัฐให้ไปสู่รูปแบบการจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management) ที่เน้นการทำงานโดยยึดผลลัพธ์ของงานเป็นหลัก อันจะเปลี่ยนการทำงานภาครัฐเพื่อเน้นไปสู่การทำงานเพื่อประชาชน และเป็นระบบที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง  โดยเฉพาะรัฐบาลสมัยที่มีพันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี  ได้กำหนดให้การปฏิรูประบบราชการเป็นวาระแห่งชาติ (National Agenda) ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามรูปแบบการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ และแผนปฏิรูประบบบริหารภาครัฐรวม 5 แผนงาน  อันมีจุดมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ประการสำคัญที่ให้ระบบราชการมีความคล่องตัวในการบริหารงาน และเพื่อให้การบริหารราชการเกิดผลสัมฤทธิ์ตอบสนองความต้องการของประชาชน ด้วยการปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารของรัฐบาลไปสู่แนวทางการบริหารงานแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนบทบาทภารกิจยังปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารงานขององค์การภาครัฐ ด้วยการให้มีการทบทวนบทบาท หน้าที่ เพื่อให้มีความชัดเจนไม่ซ้ำซ้อน อันจะนำไปสู่ขนาดขององค์การที่มีขนาดเล็กลงและมีความสมดุล โดยต้องมีการจัดกระบวนการทำงานใหม่ภายใต้กรอบของระบบบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ 

ส่วนกฎหมายการบริหารราชการแผ่นดินฉบับหลักที่กำหนดให้ระบบการบริหารงานภาครัฐเป็นการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์กล่าวคือ  พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) .. 2545  ในมาตรา 3/1 ซึ่งบัญญัติให้ “ การบริหารราชการตามพระราชบัญญัตินี้ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจภาครัฐ ความมีประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าในเชิงภารกิจแห่งรัฐ  การลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน การลดภารกิจและยุบเลิกหน่วยงานที่ไม่จำเป็น การกระจายภารกิจและทรัพยากรให้แก่ท้องถิ่น การกระจายอำนาจตัดสินใจ การอำนวยความสะดวกและการตอบสนองความต้องการของประชาชน ทั้งนี้ โดยมีผู้รับผิดชอบต่อผลงาน....

ในการปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการ ต้องใช้การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้คำนึงถึงความรับผิดชอบของผู้ปฏิบัติงาน การมีส่วนร่วมของประชาชน การเปิดเผยข้อมูล การติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ตามความเหมาะสมของแต่ละภารกิจ”

การบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์เป็นกิจกรรมสำคัญของแผนการปรับเปลี่ยนบทบาท ภารกิจและวิธีการบริหารงานของภาครัฐ ซึ่งกำหนดว่าภาครัฐจะต้องเปลี่ยนแนวทาง การบริหารไปสู่การบริหารที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ โดยยึดประชาชนเป็นเป้าหมายหลักในการทำงาน การบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์เป็นเครื่องมือการบริหารที่มาพร้อมกับแนวคิดการจัดการภาครัฐแนวใหม่   การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ที่ให้ความสำคัญกับการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ วัตถุประสงค์ เป้าหมายที่ชัดเจน และการกำหนดผลผลิต  ผลลัพธ์   ที่สอดคล้องกัน  รวมถึงมีการกำหนดตัวชี้วัดผลการดำเนินงานที่ชัดเจนในการวัดความก้าวหน้าในการปฏิบัติงานเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล มีความรับผิดชอบต่อประชาชน และเกิดความคุ้มค่าในการใช้ภาษีของประชาชนและงบประมาณแผ่นดิน  ภายใต้สิ่งท้าทายของการบริหารภาครัฐ อันกระทบต่อสิ่งแวดล้อมการบริหารและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่ายเช่นที่กล่าวถึงไปนี้  ได้เกิดเป็นคำถามสำคัญตามมาว่า นโยบายและโครงการต่าง ๆ ที่ภาครัฐกำหนดไว้นั้น ได้ดำเนินไปโดยเกิดผลตามที่คาดการณ์หรือถูกทิศทางแล้วหรือไม่ มีปัญหาอุปสรรคประการใดเกิดขึ้น มีการวัดความคืบหน้าหรือไม่และอย่างไร พร้อมกับอีกประเด็นสำคัญหนึ่งที่ว่า เราจะสรุปได้หรือไม่ว่าการดำเนินการทั้งหลายที่ทำมาประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้  คำถามอย่างสังเขปนี้ Kusek และ Rist (2004) ได้เน้นย้ำให้นักบริหารงานภาครัฐ จำเป็นต้องตระหนักถึงให้มั่นคง  หรือให้ความสำคัญต่อการประเมินถึงความสำเร็จอันเป็นผลสัมฤทธิ์จากการบริหารที่ได้กระทำ


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที