นิชาภา

ผู้เขียน : นิชาภา

อัพเดท: 02 ต.ค. 2009 12.21 น. บทความนี้มีผู้ชม: 4352 ครั้ง

ความไว้วางใจ (Trust) เป็นคำที่เข้าใจความหมายได้ง่าย แต่สร้างได้ยาก ที่ว่าความไว้วางใจนั้นสร้างยาก เพราะต้องอาศัยปัจจัยที่ทำให้เชื่อมั่นอย่างน้อย 2 ด้านประกอบกัน คือ 1. ความเก่ง มีประสบการณ์ ความสามารถที่น่าเชื่อถือ และ 2. ความดี คือ มีคุณลักษณะส่วนบุคคลที่น่านับถือ และทั้งสองด้านนี้ต้องใช้เวลาและความต่อเนื่องเป็นเครื่องพิสูจน์ยืนยันด้วย


เริ่มต้นพัฒนาองค์กรด้วยการสร้างความไว้วางใจ ตอนที่ 3

ในประการที่กล่าวไปนี้  ความไว้วางใจเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะช่วยให้เกิดการสื่อสารอย่างเปิดเผย มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล(Share information) ช่วยลดความขัดแย้ง เกิดความราบรื่น เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ และบรรลุเป้าหมาย หากปราศจากความไว้วางใจ จะทำให้เกิดการสูญเสียเวลา และทรัพยากรจำนวนมาก กว่าจะประสบผลสำเร็จ  ในแง่เศรษฐศาสตร์ ความไว้วางใจมีความสำคัญในระบบเศรษฐกิจ และช่วยเสริมให้ระบบเศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้ หากปราศจากความไว้วางใจต่อระบบเศรษฐกิจ ก็ย่อมไม่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลในตลาด หรือในสังคม การติดต่อในกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหลายก็น่าจะมีมีแนวโน้มที่จะต้องใช้ต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างมหาศาล และในท้ายที่สุดมักส่งผลต่อประสิทธิภาพของงานในภาพรวมที่ลดลง 

ส่วนในทางการเมืองการปกครอง  ความไว้วางใจนั้น ถือเป็นทุนทางสังคมที่มีความสำคัญ และทำให้ประชาธิปไตยนั้นทำงานได้ เพราะความไว้วางใจที่เรามีต่อระบบนั้น ทำให้สถาบันทางการเมืองมีประสิทธิภาพตอบสนอง และมีความเป็นตัวแทนเพื่อดูแลประชาชน นอกจากนี้ ความไว้วางใจนั้นจะนำไปสู่การยอมปฏิบัติตาม(obligation) และนำไปสู่การเกิดความร่วมมือ (cooperation) ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญในการปกครองและการจัดระเบียบทางสังคม  และในแง่สังคมศาสตร์ได้มีนักสังคมวิทยาหลายท่านได้สรุปว่า "หากปราศจากความไว้วางใจแล้ว ชีวิตสังคมที่ทุกคนเป็นอยู่ในปัจจุบันก็จะเป็นไปไม่ได้อีกเลย  ความไว้วางใจ จึงกลายเป็นองค์ประกอบที่จำเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมที่ไม่มีวันสูญหายไป จากที่กล่าวไปนี้  ความไว้วางใจ จึงนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเพิ่มการสนับสนุนในการดำเนินงาน กระบวนการตัดสินใจ  การทำงานเป็นทีม และในการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตามจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความเชื่อมั่นและความไว้วางใจ  แต่กระนั้น ความไว้วางใจก็ไม่ใช่สิ่งที่สร้างขึ้นมาได้ในทันทีทันใด แต่จะเกิดขึ้นได้เมื่อทุกคนเห็นความสำคัญของความไว้วางใจและสร้างความไว้วางใจ ความชื่อมั่น ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความสำเร็จตามมา และหากขาดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ก็จะไม่เกิดแบ่งปันข้อมูลให้กันและกัน บรรยากาศในกลุ่มในองค์กร ย่อมมักจะมีความกังวลว่า อาจมีการพูดหรือกระทำในสิ่งที่ไม่คาดหวังลับหลังได้  ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในหลายเรื่องขององค์กรตามมา

Glasser (1997) มองว่า ความไว้วางใจ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากเรื่องหนึ่งขององค์กร เพราะหากปราศจากเสียซึ่งความไว้วางใจนี้แล้ว ความสามัคคี ความคิดสร้างสรรค์ การทำงานเป็นกลุ่มเป็นทีม ย่อมเป็นไปหรือเกิดขึ้นได้ยาก และยังส่งผลต่อเนื่องเป็นลูกโว่ไปถึงกระบวนการตัดสินใจที่ขาดประสิทธิภาพ  อัตราการลาออกของบุคลากรขององค์กรสูงขึ้น มีข่าวลือ  การให้ร้ายนินทากันภายในองค์กรมากขึ้น  ในทัศนะของเขา  ความไว้วางใจที่มีในองค์กร อาจจะเป็นเสมือนกับกำแพงที่กั้นกลางความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลสองฝ่ายในองค์กรก็ได้ หรือในทางบวก ความไว้วางใจ อาจจะเป็นปัจจัยพื้นฐานที่เกื้อกูลต่อการมีภาวะผู้นำ และการนำการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในองค์กร โดยเรามักจะพบว่า ในองค์กรที่คนทำงานด้วยกันขาดความไว้วางใจกัน ย่อมไม่สามารถผลักดันงานเพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายได้อย่างราบรื่น และบ่อยครั้งที่ต้องล้มเหลวลง  

ในแง่ความสำคัญนั้น กล่าวอย่างสรุปได้ว่า ความไว้วางใจ  เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการบริหาร และเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้เกิดความสำเร็จ ซึ่งจากสภาพความเป็นจริงในการแข่งขันและการประกอบธุรกิจปัจจุบัน ไม่เกินเลยไปนักหากจะกล่าวว่า ความไว้วางใจเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากขึ้นทุกขณะ   โดยจะเห็นได้ว่า การที่บุคลากรมีความไว้วางใจในองค์กรหรือไว้วางใจในผู้นำ  ย่อมเป็นปัจจัยเชิงบวกที่จะทำให้ทีมสามารถปรับตัวต่อสถานการณ์ที่มากระทบได้ดี  อย่างไรก็ตาม การที่จะรักษาความไว้วางใจระหว่างกันของคนในองค์กรให้คงเส้นคงวา โดยเฉพาะในแง่ของคำพูดและการกระทำ ตลอดจนการแสดงออกนั้น  จำต้องอาศัยพื้นฐานของความเอื้ออาทร เอาใจใส่ซึ่งกันและกัน  พร้อมกับการที่ผู้บริหารหรือผู้นำขององค์กรจะต้องบริหารจัดการให้โครงสร้างและวัฒนธรรมองค์กรให้สอดคล้องรองรับกันไปด้วย  ในส่วนขององค์กรเอง จะต้องอาศัยการเสริมกิจกรรมสร้างพลังอำนาจ การเติมเต็มความสัมพันธ์และการเรียนรู้ที่หลากหลายที่จะทำให้บุคลากรเกิดสภาพการทำงานที่เอื้อกับการมีความไว้วางใจในองค์กรให้ได้  ความไว้วางใจที่มีต่อกันไม่ว่าจะเป็นระหว่างบุคลากรขององค์กรฝ่ายใด ย่อมมีผลคาบเกี่ยวไปถึงความพึงพอใจในงาน และความยึดมั่นผูกพันต่อองค์การ รวมถึงการมีพฤติกรรมองค์กรที่พึงประสงค์ประการอื่น

ความไว้วางใจเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้องค์การดำรงอยู่และประสบผลสำเร็จ เนื่องจากการทำงานร่วมกันต้องพึ่งพาอาศัยกัน แนวโน้มในปัจจุบันมีความหลากหลายขององค์ประกอบในการทำงานมากขึ้น ความไว้วางใจกันระหว่างสมาชิกในองค์การมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ความไว้วางใจเป็นแหล่งทรัพยากรที่มาจากความร่วมมือเป็นพื้นฐาน (Shaw, 1997) และความไว้วางใจซึ่งกันและกันของบุคคลในองค์การก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพต่อองค์การ (Reynolds, 1997) ความไว้วางใจเปรียบเสมือนหมุดหรือสลักที่ยึดส่วนต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน และสามารถเอื้ออำนวยให้องค์การบรรลุเป้าหมายพร้อมกับความเจริญเติบโตขององค์การ หากองค์การใดปราศจากความไว้วางใจของบุคคลในองค์การจะทำให้เสียเวลา เสียทรัพยากรในการบริหารจัดการเป็นจำนวนมากจนกว่าองค์การจะประสบผลสำเร็จได้ ซึ่งความไว้วางใจมีความสำคัญในหลายทางและเป็นส่วนประกอบที่จำเป็นในทุกประเภทในสัมพันธภาพของมนุษย์ ซึ่งยังผลให้เกิดความราบรื่นและเกิดคุณค่าในการแลกเปลี่ยนต่าง ๆ ในวิธีการที่มีประสิทธิภาพ (Luhmann, 1979) สอดคล้องกับคำกล่าวของ Lieberman (1981) ที่เสนอว่าความไว้วางใจเป็นความสัมพันธ์ระหว่างกันและมอบหมายให้ทำหน้าที่ด้วยความเชื่อถือและซื่อสัตย์ต่อกัน  นอกจากนี้  พสุ เดชะรินทร์ (2549) ความไว้วางใจเป็นสิ่งที่ช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้าและลูกน้องเป็นไปอย่างราบรื่น  ซึ่งหากลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาขาดสิ่งนี้กับผู้บังคับบัญชาของเขาแล้ว ย่อมเป็นการยากที่ผู้นำจะนำองค์กรและบริหารคนไปสู่ความสำเร็จได้อันเนื่องจากมาจากการขาดความร่วมมือ ความจริงใจ เสียสละ ทุ่มเทในการปฏิบัติงานจะมีให้เห็นมาจากฝ่ายผู้ใต้บังคับบัญชาทั้งที่สังเกตเห็นหรือประเมินได้โดยตรง กับส่วนที่เป็นนามธรรมค่อนข้างสูง ซึ่งได้แก่ การขาดความรักและผูกพันต่อองค์กร   

ภูเบศร์ สมุทรจักร นำเสนอให้เห็นว่า ความไว้ใจซึ่งกันและกันในองค์กรแล้ว ย่อมจะทำให้ผลิตภาพ (productivity) ขององค์กรเพิ่มสูงขึ้น และเป็นการทำให้คนในองค์กร “อยู่เย็น เป็นสุข” รู้สึกสบายใจในการทำงาน และรู้สึกรักและผูกพันกับองค์กร  อันแตกต่างจากการเพิ่มผลิตภาพ ด้วยการทำงานหามรุ่งหามค่ำ เอาเป้าหมายและค่าคอมมิชชั่นเป็นปัจจัยจูงใจ เนื่องจากการจูงใจประการหลักนี้ แม้จะทำให้องค์กรสามารถเพิ่มผลิตภาพตามที่คาดหวังได้ในระยะสั้น หากแต่มักจะบั่นทอนความจงรักภักดีของผู้คนที่อยู่ในองค์กรในระยะยาว

นอกเหนือไปจากนี้  ความไว้วางใจ ยังส่งผลถึงการมีส่วนร่วมในเครือข่ายหรือการทำงานร่วมกันของคนทำงานที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องอาจจะในลักษณะทำงานเป็นทีม หรือทำงานข้ามสายงาน (cross-functional)  ช่วยลดความขัดแย้งและลดต้นทุนของการทำงานที่มักจะเกิดขึ้นเสมอจากการทำงานแบบต่างคนต่างทำ หรือทำงานเฉพาะในอาณาจักรของตัวเอง  แต่กระนั้น  ความไว้วางใจก็ยังจัดเป็นแนวคิดที่ซับซ้อนอยู่ไม่น้อย เนื่องจากเป็นแนวคิดที่เกี่ยวกับสัมพันธภาพระหว่าง 2 คนอย่างสม่ำเสมอไม่ใช่เป็นบุคลิกภาพของบุคคลบางคนเกิดขึ้นระหว่างบุคคล ไม่ใช่ภายในบุคคลเท่านั้น สิ่งที่บุคคลกระทำเป็นผลกระทบของระดับความไว้วางใจระหว่างผู้ให้ความไว้วางใจและผู้ถูกไว้วางใจ ซึ่งเกิดได้จากความน่าเชื่อถือเป็นการยอมรับและสนับสนุนที่ผู้ถูกไว้วางใจกระทำให้บุคคลอื่นโดยการเปิดเผยความคิด ความรู้สึกและปฏิกิริยา (Johnson, 1997)

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที