ปรารพ

ผู้เขียน : ปรารพ

อัพเดท: 22 ก.ย. 2009 09.36 น. บทความนี้มีผู้ชม: 4886 ครั้ง

ตลาดผู้สูงวัย โอกาสใหม่ในอนาคต(อันใกล้)


1

นักวิชาการจากทั่วโลกเปิดเผยว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ ประชากรผู้สูงวัยจะมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นภาวะที่รัฐต้องกำหนดแผนและนโยบายต่างๆเพื่อรับมือ เช่น ภาวะขาดแคลดแรงงาน หรือการดูแลด้านสาธารณะสุขและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่หลายๆฝ่ายต้องร่วมมือกันต่อไป

แต่ในทางการตลาด มันกลับเป็นโอกาสในการ ผลิตสินค้าและบริการใหม่ออกมาสู่ตลาดผู้สูงวัย ที่มีจำนวนมากขึ้นและมีกำลังซื้อสูง ในเมืองไทยได้มีผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวหลายแห่งที่เริ่มออกแบบสินค้าและบริการ ตลอดจน สถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงวัยบางแล้ว หากภาครัฐร่วมด้วยโดยการ ออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกในสถานที่ท่องเที่ยวต่างให้ผู้สูงวัยใช้งานได้อย่างสะดวกสบาย ไม่ใช่แค่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่เป็นการ เปิดโอกาสให้ คุณลุง คุณป้า คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย ได้ท่องเที่ยวเมืองไทย อย่างสุขใจมากขึ้น หลังจากทำงานหนักมาเกือบทั้งชีวิต


ได้มีโอกาสอ่านบทความแนะนำ นักออกแบบและผู้เชี่ยวชาญด้านผู้สูงอายุ (Gerontologist) จากเว็บ www.tcdcconnect.com
จึงนำมาฝากกันครับ


แพททริเชีย มัวร์ ผู้บุกเบิกการออกแบบเพื่อผู้สูงวัย
September 10th, 2009
 patmoore.jpg

แพทริเชีย มัวร์ (Patricia Moore) คือ นักออกแบบและผู้เชี่ยวชาญด้านผู้สูงอายุ (Gerontologist) ที่เป็นที่รู้จักกันดี ด้วยเธอเป็นผู้รอบรู้เรื่องความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคสูงวัย และเป็นคนแรกๆ ที่ให้ความสนใจว่า โลกในอนาคตที่จะเต็มไปด้วยคนชราจะเป็นอย่างไร ก่อนหน้าที่แพทริเชียจะเริ่มศึกษาถึงการออกแบบเพื่อผู้สูงอายุ ในปี ค.ศ.1974 เธอเริ่มต้นด้วยการเป็นนักออกแบบอุตสาหกรรมหญิงเพียงคนเดียวของบริษัทออกแบบชั้นนำแห่งหนึ่งในนครนิวยอร์ก ครั้งหนึ่งในที่ประชุม เธอตั้งคำถามขึ้นว่า “เราจะไม่ลองออกแบบมือจับประตูตู้เย็น ที่จะช่วยให้คนป่วยเป็นโรคข้อต่ออักเสบเปิดได้ง่ายๆ หรือ” ทุกคนเงียบกริบ กลอกตาก่อนที่จะตอบว่า “เราไม่ออกแบบเพื่อคนพวกนั้นหรอก” นั่นเป็นทัศนคติของบริษัทออกแบบที่ได้ชื่อว่าอยู่แถวหน้าในสมัยนั้น ซึ่งนับเป็นจุดผลักดันหนึ่งที่ทำให้แพทริเชียหันมาสนใจการออกแบบเพื่อ “คนพวกนั้น” อย่างจริงจัง เธอหันธงรบสู่การออกแบบเพื่อโลกส่วนรวม จากคนเจ็บไปสู่คนแก่

แพทริเชีย มัวร์ ใช้เวลาสามปี (ค.ศ.1979 - 1982) ทำการทดลองพิเศษขึ้นมาอย่างหนึ่ง โดยเธอปลอมตัวเป็นหญิงชราวัย 80_กว่า เดินทางไปทั่วสหรัฐอเมริกาและแคนาดา (ดูวิดีโอเกี่ยวกับการทดลองของแพทริเชียได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=B4eOyBki3cE) การทดลองครั้งนี้ไม่ใช่แค่การปลอมตัวชนิดผิวเผิน เช่น แต่งหน้าแก่หรือย้อมผมขาวเท่านั้น แต่เธอลงทุนเอาเทปมาพันนิ้วมือให้ขยับได้ลำบาก พันธนาการตัวเองบางส่วนเพื่อลดความคล่องแคล่วของร่างกาย ฯลฯโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจการใช้ชีวิตของผู้สูงวัยให้ได้มากที่สุด ทั้งในแง่ความสะดวกส่วนตัว และการสังเกตปฏิกิริยาจากสังคมโดยรอบที่มีต่อคนชราด้วย

ข้อมูลที่แพทริเชียได้รับมาจากประสบการณ์ “แก่” ทำให้เธอเข้าใจเรื่องผู้สูงอายุได้ลึกซึ้ง จนสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ บริการ และสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่ตอบสนองการใช้ชีวิตในช่วงที่เหลืออยู่ของคนชราได้อย่างตรงจุดที่สุด เธอได้จัดตั้ง Moore Design Associates ขึ้นเพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกแก่องค์กรเพื่อผู้สูงอายุ โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย หรือบริษัทที่ต้องการผลิตสินค้าเพื่อผู้สูงอายุ รวมทั้งยังจัดสัมมนาให้ความรู้แก่นักศึกษาและนักออกแบบ เขียนบทความและหนังสือน่าอ่านหลายเล่ม เช่น DISGUISED: A True Story, The Business of Aging และ OUCH! Why Bad Design Hurts เป็นต้น

patricia_moore.jpg

แพทริเชียสามารถประยุกต์ “ความเข้าใจผู้ใช้เฉพาะกลุ่ม” ของเธอให้เกิดเป็นงานได้ในหลายสาขา ตั้งแต่การทำวิจัย ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ ออกแบบสภาพแวดล้อม ออกแบบการขนส่ง การวิเคราะห์ตลาดและวางตำแหน่งสินค้าในตลาด ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์กับหน่วยงานบริการสังคมต่างๆ เท่านั้น ในโลกธุรกิจ แพทริเชียยังเป็นที่ไว้วางใจของลูกค้ารายใหญ่มากมาย ตั้งแต่ AT&T, General Electric, Johnson & Johnson, Kimberly-Clark, Kraft General Foods, NASA, OXO, Personal Products Company, Procter & Gamble, 3M, Whirlpool และอื่นๆ

ถึงวันนี้ แพทริเชีย มัวร์ได้รับรางวัลเกียรติยศจากผลงานที่เธอทำมานับไม่ถ้วน อาทิ รางวัลบริการสังคมดีเด่น จาก the American Rehabilitation Association ในปี ค.ศ.1996 ในสาขาการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการออกแบบ และ Nova Award ในปีเดียวกันจาก the American Hospital Association’s สำหรับโครงการศูนย์สุขภาพ “Family Road”  ผลงาน OXO Good Grips? มีดปอกเปลือกผลไม้ที่จับได้กระชับมือ ซึ่งเธอเป็นผู้ออกแบบเอง ก็ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง จนได้รับรางวัล the Professional Recognition Award จาก the Arizona Design Institute ในปี ค.ศ.1997 ในสาขาการสนับสนุนงานออกแบบและการศึกษาด้านการออกแบบยอดเยี่ยม นอกจากนั้นในปี ค.ศ. 2000 นิตยสารไอดี (I.D. Magazine) ยังได้เสนอชื่อแพทริเชีย มัวร์เป็น 1 ใน 40 นักออกแบบที่ตระหนักถึงสังคมมากที่สุดในโลกอีกด้วย


อ่านต่อ...........

ข้อมูลอ้างอิงและเครดิตรูป
http://www.universalpackage.msu.edu/speakers/speakers_moore.asp
http://www.cowc.org/news-events/features/patricia-moore-provides-cgsp-distinguished-lecture
http://www.sgiquarterly.org/feature2005Jly-8.html

ขอขอบคุณบทความดีๆ จาก www.tcdcconnect.com นะครับ


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที