หากเราเปรียบเทียบตราสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานครกับจังหวัดอื่นๆ เราจะเห็นได้ว่า ตราสัญลักษณ์ทั้งหมดล้วนมีลักษณะเป็นภาพวาดเหมือนจริง ที่ดึงเอาเอกลักษณ์สำคัญของแต่ละจังหวัดมาปรากฏ เช่น ตราสัญลักษณ์ของจังหวัดภูเก็ต เป็นภาพอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร ตราของจังหวัดเชียงใหม่ เป็นรูปช้างเผือกยืนอยู่ในเรือนแก้ว ส่วนของจังหวัดขอนแก่น เป็นรูปพระเจดีย์ก่อไว้บนตอไม้ (หมายถึงพระธาตุขามแก่น) เป็นต้น
แต่เมื่อวันที่กรุงเทพฯ ของเราได้พ่อเมืองอย่างคุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน (อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2547 - 2551) ผู้มีประสบการณ์คร่ำหวอดด้านการตลาดและการสร้างแบรนด์ ตราสัญลักษณ์ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงหลายชั่วอายุคนของกรุงเทพฯ ก็ถึงเวลาได้รับการปรับปรุงพัฒนาอีกครั้ง โดยสิ่งที่เกิดขึ้นคือ กทม. ได้สร้างตราสัญลักษณ์ที่โดดเด่นตัวใหม่ขึ้น
ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ตราสัญลักษณ์ใหม่อันนี้จะถูกนำไปแทนที่ตราสัญลักษณ์พระอินทร์ทรงช้างอันเดิม หากแต่การออกแบบครั้งนี้มีเป้าหมายเฉพาะชัดเจน เพื่อสร้างภาพลักษณ์แห่งความทันสมัยให้กับกรุงเทพฯ โดยได้นำ ลายประจำยาม อันเป็นลายไทยที่สำคัญมาดัดแปลงเป็นรูปกลีบดอกไม้ 4 กลีบ ทั้ง 4 กลีบมีจุดร่วมตรงกลางอันเป็นจุดแห่งดุลยภาพ แสดงถึงความสมดุลของการเติบโต และยังสอดคล้องกับวิสัยทัศน์การบริหารงานที่แบ่งออกเป็น 4 มิติ โดยกลีบสีเขียวของดอกไม้ หมายถึง มิติด้านคุณภาพชีวิต, สีฟ้า แทนมิติด้านสิ่งแวดล้อม, สีชมพู แทนมิติด้านวัฒนธรรม, และท้ายที่สุดกับสีส้ม ที่สื่อถึงมิติทางเศรษฐกิจที่สมดุล โดย กทม. คาดว่า การนำเสนอตราสัญลักษณ์ใหม่นี้ จะช่วยดึงความร่วมมือร่วมใจจากภาคประชาชน ให้มาร่วมกันสร้างชีวิตดีๆ ที่ลงตัวให้กับคนกรุงเทพฯ